ลาเวียคัมเปซินา : ขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาโลก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ลาเวียคัมเปซินา (La Via Campesina) คือองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่รายย่อยจากทั่วโลก ที่เรียกร้องความเป็นธรรม ปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีของตน รวมถึงปกป้องภารกิจการผลิตอาหารเลี้ยงดูประชากรโลกของตนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ท่ามกลางสภาพทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมที่บั่นทอนศักยภาพและคุกคามต่อคนเล็กคนน้อยเหล่านี้

สมาชิกของลาเวียคัมเปซินามีทั้งชาวนา ชาวไร่ ชาวประมงพื้นบ้าน พราน คนเก็บหาของป่า คนเลี้ยงสัตว์ คนเผ่าเร่ร่อน คนเผ่าพื้นเมือง แรงงานภาคเกษตรไร้ที่ดิน ช่างหัตถกรรมเพื่อผลิตเครื่องมือทางการเกษตร และอื่นๆ ที่การทำมาหากินขึ้นอยู่กับธรรมชาติ มีความสัมพันธ์โดยตรง และสอดคล้องกับธรรมชาติ

ลาเวียคัมเปซินาก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2536 แต่จุดกำเนิดขององค์กรเกิดขึ้นกว่า 10 ปีก่อนหน้านั้น ในช่วงนั้นองค์กรที่ร่วมก่อตั้งลาเวียคัมเปซินาได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันทั้งในระหว่างภูมิภาคและระดับโลก ทำให้เกิดการรวมกลุ่มขององค์กรชาวนาในยุโรป อเมริกาใต้ อเมริกากลาง ภูมิภาคแคริบเบียน แคนาดา และสหรัฐอเมริกา จนในที่สุดก็เป็นขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาระดับโลกที่รวมองค์กรจากแอฟริกาและเอเชีย

กล่าวได้ว่า ลาเวียคัมเปซินา คือองค์กรของชาวนาชาวไร่กว่า 200 ล้านคนทั่วโลก จากสมาชิก150 องค์กรใน70 ประเทศ ทั้งโลกฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ทั้งหมดนี้มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน นั่นคือการปฏิเสธตัวแบบการพัฒนาชนบทแบบเสรีนิยมใหม่ การปฏิเสธการกีดกันชาวนาออกไปจากนโยบายด้านเกษตร การยืดหยัดอย่างมั่นคงที่จะไม่ยอมให้ชาวนาชาวไร่รายย่อยสูญสิ้นไป ความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวนาชาวไร่รายย่อย และการสร้างอิสรภาพให้กับระบบอาหาร แทนที่จะให้อาหารตกอยู่ภายใต้การยึดครองของบรรษัท บรรษัทข้ามชาติ และตลาดต่างประเทศ  ลาเวียคัมเปซินาดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยใช้ยุทธศาสตร์การสร้างความสมานฉันท์ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย

ภารกิจปกป้องชาวนาชาวไร่รายย่อยของลาเวียคัมเปซินา
ลาเวียคัมเปซินาทำงานในท้องทุ่งร่วมกับสมาชิกในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในประเด็นที่คุกคามต่อสมาชิกในระดับท้องถิ่น เช่น ต่อต้านการแพร่กระจายของเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม ต่อต้านการสร้างสนามกอล์ฟ ต่อต้านการปลูกยูคาลิปตัสแปลงใหญ่ และรณรงค์ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายในการเกษตร เป็นต้น รวมทั้งทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการเกษตรนิเวศของชาวนาชาวไร่รายย่อยในระดับนานาชาติ

นับตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งมีการลงนามในข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) รอบอุรุกวัย เป็นต้นมา ไม่ว่าสถาบันระหว่างประเทศเช่น ธนาคารโลก องค์การการค้าโลก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ จะจัดประชุมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ

อาหารและการเกษตรในที่ใด ที่นั้นก็จะมีสมาชิกของลาเวียคัมเปซินาชุมนุมกันเพื่อปฏิเสธการประชุมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นในท้องถนนในกรุงเจนีวา ปารีส ซีแอตเติล วอชิงตัน ควีเบค โรม บังกาลอร์ ปอร์โตอัลเลเกร แคนคูน ฮ่องกง เป็นต้น พร้อมกันนั้นก็นำเสนอแนวคิดที่ท้าทายตัวแบบเสรีนิยมใหม่อย่างซึ่งหน้า เช่น เรื่องอธิปไตยทางอาหาร สิทธิชาวนาชาวไร่ เกษตรนิเวศโดยชาวนาชาวไร่ เป็นต้น

นอกจากนี้จากการที่ชาวนาชาวไร่รายย่อยเป็นกลุ่มประชากรโลกที่มีความเปราะบางต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ลาเวียคัมเปซินาจึงเห็นว่า จะต้องมีกฎระเบียบสากลเพื่อปกป้องสิทธิของชาวนา จึงได้เสนอร่าง กฎบัตรสากลว่าด้วยสิทธิชาวนาชาวไร่ (The International Convention on the Rights of Peasants (ICRP)) กฎบัตรนี้จะรวมถึงสิทธิด้านที่ดินและอาณาเขต สิทธิด้านเมล็ดพันธุ์ สิทธิด้านความรู้การเกษตรดั้งเดิม สิทธิด้านการปกป้องคุณค่าด้านการเกษตร สิทธิด้านวิถีการผลิต สิทธิด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น และขณะนี้อยู่ระหว่างการรณรงค์ต่อองค์การสหประชาชาติ

ลาเวียคัมเปซินา : ขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาโลก
อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ ที่ผ่านมาโลกได้เผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับอาหารมาโดยตลอด ทั้งความหิวโหยที่สร้างความทุกข์ให้กับประชากรมากถึง 925 ล้านคนในโลก ภาวะทุพโภชนาการ การขาดแคลนอาหาร รวมถึงโรคภัยอื่นๆที่เกิดจากระบบอาหาร ความพยายามแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอาหารมีอยู่หลายแนวทาง แนวทางที่ได้รับความสนใจและการสนับสนุนเป็นอย่างมาก จากบรรษัทด้านการเกษตรที่ยึดตัวแบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่และรัฐ ก็คือแนวทางการเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นพัฒนาวิธีการผลิต พัฒนาปัจจัยการผลิต และเมล็ดพันธุ์ เป็นการปลูกพืชผลเชิงเดี่ยวในแปลงขนาดใหญ่ แต่แนวทางนี้เพียงแต่สร้างภาพลวงตาว่า นี่คือคำตอบต่อปัญหาเท่านั้น

ธุรกิจเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมล้มเหลวในการเลี้ยงดูโลก
หากภารกิจสำคัญคือการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงดูประชากรในปริมาณที่เพียงพอ ดีต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตแล้ว บรรษัทด้านเกษตรที่ทำการเกษตรแบบอุตสาหกรรมก็ประสบความล้มเหลวในภารกิจนี้อย่างสิ้นเชิง ภารกิจพื้นฐานของบรรษัทเหล่านี้คือการหากำไร ดังนั้นอาหารที่ตนผลิตขึ้นจะไหลเวียนผ่านพื้นที่ที่มีความยากจนและความหิวโหยไปสู่พื้นที่ที่มีความมั่งคั่งและเหลือเฟือ ทำให้ประชากรส่วนมากของโลกเข้าถึงอาหารได้ยาก

การผลิตอาหารเชิงอุตสาหกรรมอาศัยกระบวนการแปรรูปอาหารอย่างหนัก ไม่ว่าจะเพื่อยืดอายุสินค้ากว่าจะถึงมือผู้บริโภคในที่ห่างไกล หรือเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าก็ตาม อาหารถูกแปรรูปให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน นั่นคืออาหารจากโรงงานที่ส่วนมากแล้วประกอบด้วยไขมันผ่านกรรมวิธี น้ำตาล แป้ง สารเคมีตกค้างที่อาจก่อมะเร็ง เป็นต้น ดังนั้นอาหารที่มีจำหน่ายแก่ประชาชนจึงมีราคาแพงอย่างไม่จำเป็นและส่งผลเสียต่อสุขภาพ

ไม่เพียงล้มเหลวในปัจจุบันเท่านั้น การเกษตรแบบอุตสาหกรรมที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวยังจะสร้างความหายนะต่อการเกษตรเพื่อปลูกพืชอาหารในอนาคตอีกด้วย การเกษตรเชิงเดี่ยวใช้เครื่องจักรกลหนัก ใช้การชลประทานมากเกินไป ใช้สารเคมีเป็นพิษมากเกินไป และมีการดัดแปลงพันธุกรรม ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของดิน แหล่งน้ำ และทรัพยากรอื่นๆ รวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

บรรษัทด้านเกษตรทั้งในชาติและข้ามชาติ ยังคงสร้างแรงกดดันต่อรัฐให้ผ่อนคลายกฎระเบียบหรือเข้าสู่ข้อตกลงการค้าเสรีด้านการเกษตรอย่างไม่ลดละ เพื่อให้ตนได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ได้ทั่วโลก บรรษัทเหล่านี้ไม่มีความผูกพันกับผืนดิน จึงสามารถสูบเอาความอุดมสมบูรณ์ออกมาให้ได้มากที่สุดอย่างรีบด่วนที่สุด เพื่อที่จะทำกำไรอย่างรวดเร็วที่สุด เมื่อความอุดมสมบูรณ์หมดไป ก็รีบออกจากพื้นที่นั้นไปหาพื้นที่ใหม่ และทิ้งความหายนะไว้เบื้องหลัง อันจะทำให้ความสามารถของผืนดินที่จะปลูกพืชอาหารเพื่อคนรุ่นหลังหมดสิ้นไป

การขนส่งอาหารทางไกล และการใช้พลังงานในการผลิตพืชผลทางการเกษตรและแปรรูปอาหาร เป็นตัวการสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 30-40% ในโลก อันเป็นสาเหตุของวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลลบต่อการผลิตอาหารเป็นลูกโซ่ต่อไป

ยิ่งกว่านั้น นอกจากตนเองยังล้มเหลวในภารกิจเลี้ยงดูประชากรโลกแล้ว บรรษัทด้านเกษตรเหล่านี้ยังสร้างความทุกข์ยากให้กับชาวนาชาวไร่รายย่อยซึ่งเป็นผู้ป้อนอาหารแก่โลกตัวจริง เช่น การแย่งชิงที่ดินและทรัพยากรเพื่อการเกษตร การกว้านซื้อที่ดิน การกดราคาสินค้าเกษตรในขณะที่ขายปัจจัยการผลิตในราคาแพง ฯลฯ

ชาวนาชาวไร่รายย่อยคือผู้เลี้ยงดูโลกตัวจริง
มีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่า ที่จริงแล้วอาหารส่วนใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตประชากรโลกอยู่นั้น มาจากการผลิตของชาวนาชาวไร่รายย่อยตรงกันข้ามกับภาพลวงตาที่มากับโฆษณาชวนเชื่อของเกษตรอุตสาหกรรมอย่างสิ้นเชิง แม้ชาวนาชาวไร่รายย่อยทั่วโลกจำนวนราว 1,500 ล้านคน (ซึ่งรวมคนเผ่าพื้นเมืองอย่างน้อย 370 ล้านคน) จะถือครองที่ดินการเกษตรไม่ถึงครึ่งของที่ดินทั้งหมด แต่การศึกษาขององค์กร ETC พบว่า พวกเขาสามารถผลิตอาหารให้แก่โลกได้อย่างน้อย 70% ของอาหารโดยรวมโดยที่ 50% ของอาหารมาจากชาวนาชาวไร่ที่ทำการเกษตรในชนบท 12.5% มาจากการล่าสัตว์และเก็บของป่า และอีก 7.5% มาจากการทำการเกษตรในเขตเมือง (http://www.etcgroup.org /en/node/4921)

ในทางกลับกัน ธุรกิจเกษตรถือเอาการค้าการส่งออกเป็นอาชีพหลัก และมีแนวโน้มที่จะผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงสัตว์ ผลิตเอธานอลเพื่อเลี้ยงรถยนต์ หรือปลูกพืชผลเกษตรอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารโดยตรง

ด้วยเหตุที่การเกษตรของชาวนาชาวไร่รายย่อยอาศัยธรรมชาติโดยตรง พวกเขาจึงสั่งสมความรู้ด้านการเพาะปลูกที่ไม่รบกวนธรรมชาติ และการบำรุงรักษาผืนดินและธรรมชาติแวดล้อม แม้จะใช้สิ่งนำเข้าที่เป็นสินค้าของธุรกิจเกษตรน้อยหรือไม่ใช้เลย แต่การเกษตรนิเวศโดยชาวนาชาวไร่โดยประยุกต์ความรู้พื้นบ้านและวิธีการผลิตที่หลากหลายแบบดั้งเดิมนั้น มีศักยภาพล้นเหลือในการผลิตอาหารทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอีกทั้งการผลิตอาหารเพื่อตลาดในท้องถิ่นก่อน ยังทำให้ผู้คนเข้าถึงอาหารได้ง่ายกว่า

ลาเวียคัมเปซินา : ขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาเพื่อเลี้ยงดูโลก
ชาวนาชาวไร่รายย่อยทั่วโลกล้วนเผชิญปัญหารากเหง้าอย่างเดียวกัน นั่นคือการรุกคืบของธุรกิจการเกษตรที่ร่วมมือกับอำนาจรัฐ เพื่อดำเนินนโยบายการเกษตรเชิงธุรกิจและอุตสาหกรรม และเบียดขับชาวนาชาวไร่รายย่อยออกไป ซึ่งแสดงออกเป็นอาการของปัญหามากมาย เช่น การสูญเสียที่ดินจากการแย่งชิง การกว้านซื้อที่ดิน และการถูกบังคับให้ละทิ้งถิ่นฐานและอาณาเขต การใช้กำลังทหารหรือกองกำลังติดอาวุธละเมิดสิทธิของชาวนาในพื้นที่พิพาทด้านทรัพยากร การใช้ความรุนแรงและการดำเนินคดีอาญาต่อชาวนาชาวไร่รายย่อยที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนของตน การทำให้ชาวนาชาวไร่รายย่อยสูญเสียการเข้าถึงตลาด และสูญเสียการควบคุมด้านราคา การแปรรูป และการตลาดของอาหาร

การทำให้ชาวนาชาวไร่สูญเสียอิสรภาพและต้องไปเป็นลูกจ้างภาคการเกษตร การสูญเสียความรู้ดั้งเดิมในการทำการทำนาทำไร่ และอื่นๆ อีกมาก ปัญหาดังกล่าวนี้ ยิ่งสร้างความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีกในกลุ่มชาวนาชาวไร่รายย่อยที่เป็นชนกลุ่มน้อย ชนเผ่าพื้นเมือง เยาวชน ผู้หญิงและผู้สูงอายุ

บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ในฐานะผู้ประสานงานของลาเวียคัมเปซินา ในประเทศไทย กล่าวว่า เราจะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านจากเกษตรล้างผลาญโดยธุรกิจเกษตรมาเป็นเกษตรยั่งยืนโดยชาวนาชาวไร่รายย่อยได้อย่างไร การเปลี่ยนผ่านนี้ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนในประเด็นสำคัญระดับโครงสร้างของประเทศ เช่น การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร การทำให้การตลาดของอาหารกลับคืนสู่ท้องถิ่น การปกป้องตลาดในประเทศ การปฏิเสธการค้าเสรีและการเก็งกำไรด้านอาหาร รวมทั้งการเปลี่ยนกระบวนทัศน์และพฤติกรรม เช่น เคารพภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนพื้นเมือง ปฏิเสธอาหารจากบรรษัท สนับสนุนตลาดที่เชื่อมโยงชาวนากับผู้บริโภคทางตรง และสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้  

การประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 1 ว่าด้วยเกษตรนิเวศ โดย ลาเวียคัมเปซินา
ลาเวียคัมเปซินา จะจัดประชุมขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก ระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2555 ที่มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศ จังหวัดสุรินทร์ และกรุงเทพฯ  โดยสมัชชาคนจนซึ่งเป็นสมาชิกของลาเวียคัมเปซินาในประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ การประชุมช่วง 6-11 พฤศจิกายน เป็นการทบทวนสถานการณ์และแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค และร่างแผนปฏิบัติการรวมระดับนานาชาติ

วันที่ 12 พฤศจิกายน เป็นเวทีวิชาการสาธารณะ จัดที่ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นโอกาสดีที่ชาวนาไทย และสังคมไทยโดยรวม จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้นำชาวนาจาก 9 ภูมิภาคทั่วโลก กว่า 70 คน และนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ในประเด็นการเกษตรยั่งยืน และประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ส่งผลกระทบกับชาวนา อาหาร และการเกษตร ซึ่งยังคงเป็นประเด็นหลักในสังคมไทยที่ต้องจับตามองอย่างยิ่ง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท