Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 2 พ.ย.55 ที่ร้านหนังสือ Bookmoby Shop ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 4 กรุงเทพฯ บริษัทเคล็ดไทย และบริษัทสำนักพิมพ์สยามปริทัศน์ ได้จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ ‘จากการปฏิวัติ ถึง โลกาภิวัตน์ :ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกสู่โลกภาพยนตร์’ ที่พึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ต.ค.ที่ผ่านมา โดยสำนักพิมพ์สยามปริทัศน์ เขียนโดย สรวิศ ชัยนาม อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ในวงเสวนานอกจากผู้เขียนหนังสือแล้วยังมี เก่งกิจ กิติเรียงลาภ นักวิชาการอิสระ และ ชญานิน เตียงพิทยากร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ร่วมเสวนาด้วย

หนังสือ ‘จากการปฏิวัติ ถึง โลกาภิวัตน์ :ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกสู่โลกภาพยนตร์’

การเมืองเรื่องการปลดแอกต้องนึกถึง ‘คอมมิวนิสต์’ ไม่ใช่ ‘ประชาธิปไตย’
วงเสวนาเริ่มต้นด้วยการแนะนำหนังสือโดยผู้เขียนคือ สรวิศ เสนอว่า เนื้อหาหลักๆ ของหนังสือเล่ม มี 4 ประเด็น โดยประเด็นแรกผ่านงานของ สลาวอย ชิเชค (Slavoj Zizek) และภาพยนตร์จำนวนหนึ่ง ที่เวลานึกถึงการเมืองเรื่องการปลดแอกเราต้องนึกถึงแนวคิดของ ‘คอมมิวนิสต์’ เป็นหลักไม่ใช่ ‘ประชาธิปไตย’ ซึ่งอันนี้เป็นประเด็นที่ล่อแหลมสุดและถูกโจมตีมากสุดของหนังสือ

สรวิศ ชัยนาม

อุดมการณ์มากมายที่สมานบาดแผลที่เกิดขึ้นจากทุนนิยม
ประเด็นที่ 2 ของหนังสือ ผู้เขียนอธิบายว่า เป็นการพยายามที่จะวิพากษ์อุดมการณ์มากมายที่ทำให้สามารถยอมรับทุนนิยมได้ หรือเป็นอุดมการณ์ที่สมานบาดแผลในทางสังคมมากมายที่เกิดขึ้นจากทุนนิยม โดยผู้เขียนได้ยกตัวอย่างว่า “พหุวัฒนธรรมนิยม ซึ่งคิดว่ามันตั้งโจทย์ผิด ไม่ใช่ว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญแต่มันไม่ใช่ความขัดแย้งหลักในหลายๆ สังคม ตรรกะและธรรมชาติของพหุวัฒนธรรมนิยมนั้น พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งให้เป็นความแตกต่างมากมายที่เราต้องเคารพอดทนอดกลั้นซึ่งกันและกัน ตรรกะอันนี้มันตรงกันข้ามกับตรรกะของการต่อสู้ทางชนชั้นที่พยายามเปลี่ยนแปลงความแตกต่างระหว่างชนชั้นให้กลายเป็นในทางปฏิบัตินั่นเอง” สรวิศ กล่าว

สรวิศ ได้อธิบายด้วยว่า ที่ต้องโยงกับคอมมิวนิสต์ ก็เพราะคำว่าการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างเดียวมันไม่เพียงพอ เพราะในความเป็นจริง คาร์ล มาร์กซ์ ไม่ได้เป็นคนคิดเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น แต่เป็นนักคิดกระฎุมพีของคาร์ล มาร์กซ์ เสียด้วยซ้ำ ที่ไม่พอใจชนชั้นที่สูงกว่าอย่างเจ้าศักดินา กลุ่มอำมาตย์ขุนนาง 

“ชนชั้นกระฎุมพียอมรับความคิดการต่อสู้ทางชนชั้นได้ ตราบเท่าที่มันไม่นำไปสู่เผด็จการของกรรมาชีพนั่นเอง” สรวิศ กล่าว และเขายังมองด้วยว่า สำหรับตนแล้ว หรือสำหรับ ชิเชค เราต้องสามารถพูดคำว่าคอมมิวนิสต์ได้ การต่อสู้ทางชนชั้น เผด็จการกรรมาชีพอะไรต่างๆได้ โดยที่ไม่ต้องเขินอาย

ผู้เขียนยังเสริมอีกว่า นอกจากพหุวัฒนธรรมนิยมแล้ว ยังมีอุดมการณ์อื่นๆ มากมาย ประชานิยม การเหยียดชาติพันธุ์ การที่มองว่าถึงแม้สังคมเรามันเลวก็อาจจะเลวน้อยกว่าเกาหลีเหนือ ทำให้เรายอมรับสิ่งที่เป็น รวมถึงอุดมการณ์ทุนนิยมที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราเปลี่ยนแปลงโลกได้โดยการบริโภคอย่างชาญฉลาดและถูกต้อง ช้อปปิ้งแล้วรักษาโลก คุณฉลาดซื้อของคุณก็สามารถกู้โลกนี้ได้

“ประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เรายึดติดกับทุนนิยมได้สนิทใจมากขึ้น ทุนนิยมเลวร้าย แต่คุณก็เลือกตั้งได้ ทุนนิยมเลวร้ายแต่อย่างน้อยคุณก็มีสิทธิ ทุนนิยมเลวร้ายแต่คุณก็สามารถพูดห่าเหวอะไรได้ทั้งหมดในโลกนี้” ผู้เขียนกล่าว

ชิเชค สนใจความขัดแย้งภายในขั้วเดียวกันเอง
ประเด็นที่ 3 ผู้เขียนอธิบายว่า คือรูปแบบการนำเสนอในหลายๆ บทก็มาในเชิงวิภาษวิธี (Dialectic) ในระดับที่ธรรมดาและในระดับที่ซับซ้อนขึ้นมา ในระดับที่ธรรมดา วิภาษวิธีก็ตรงไปตรงมา ซึ่งต้องยอมรับว่าความคิดหลังโครงสร้างนิยมก็จะวิจารณ์ว่าเป็นพวกทวินิยม แต่มันซับซ้อนกว่าหน่อยคือ สิ่งที่มันไดอะล็อก (Dialogue) กัน คือสิ่งที่เรียกว่าขั้วบวกขั้วลบ มันสับเปลี่ยนพื้นที่กันตลอดเวลา หนึ่งคือมันสับเปลี่ยนพื้นที่กัน สองคือขั้วบวกมันกลายเป็นขั้วลบ ขั้วลบอาจเปลี่ยนแปลงเป็นขั้วบวกได้

สรวิศ กล่าวว่า ชิเชค สนใจจริงๆ ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้ว แต่เป็นความขัดแย้งภายในขั้วเดียวกันเอง ซึ่งมันมีความขัดแย้งมากมาย เช่น ความเป็นสากลไม่ได้ตรงกันข้ามกับ ‘เฉพาะนิยม’ แต่ความเป็นสากลเกิดขึ้นได้เพราะมันต้องกีดกันอะไรบางอย่างออกไป มันจึงเป็นสากลได้ คือความขัดแย้งมันอยู่ในตัวของมันเอง ไม่ใช่ตรงกันข้ามกับความเฉพาะ และตนได้นำชุดของวิภาษวิธีนี้มาจับในหลายประเด็น

ผู้เขียนมองว่า สุดท้ายอย่าไปคาดหวังกับชิเชค ว่าจะเป็นคำตอบให้กับเรา เขาก็เป็นมาสเตอร์ที่เราควรเคารพในระดับหนึ่ง แต่เป็นมาสเตอร์ที่ค่อนข้างแตกต่าง เวลาอ่าน ชิเชค เขาจะถามอะไรมากมาย จะตั้งแนวคิด จะติงอะไรมากมาย มันสำคัญอย่างไร แต่วันหนึ่งอาจสำคัญกับเราก็ได้ โดยที่เขาตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

โจ๊กหมึกสีแดงของชิเชค ตั้งคำถามเพื่อเข้าใจสภาพปัญหา
สรวิศทิ้งท้ายด้วยว่า ที่สำคัญที่สุดคงจะเป็นโจ๊กอันหนึ่งที่ตัวชิเชค เคยใช้เป็นระยะๆ เรื่องของคนงานเยอรมันตะวันออกที่ถูกบังคับไปทำงานในไซบีเรีย ที่บอกกับทางบ้านว่า จะเขียนจดหมายกลับมาบ้าน ซึ่งรู้ว่าจดหมายทุกฉบับจะถูกเซนเซอร์ก่อน จึงเตรียมกับเพื่อนและญาติว่าถึงรหัสลับระหว่างกัน โดยถ้าเขียนด้วยหมึกสีน้ำเงินคือความจริง ถ้าเขียนด้วยหมึกสีแดง คือเรื่องหลอกลวง แล้วเขาก็ได้เขียนจดหมายกลับมาบ้านซึ่งเขียนด้วยหมึกสีน้ำเงิน แล้วก็บอกว่า ชีวิตที่นี่สบายที่อยู่ใหญ่โต เครื่องอำนวยความสะดวกดีมาก โรงภาพยนตร์มีหนังตะวันตกมากมาย มีหญิงสาวสวยงามมากมายที่พร้อมจะได้หลับนอน ห้างสินค้าเต็มไปหมด ทุกอย่างสะดวกสบายหาได้หมด ยกเว้นหมึกสีแดง ประเด็นคือ ชิเชคกำลังให้หมึกสีแดงกับเรา ตั้งคำถาม ภาษา แนวคิดต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเข้าใจสภาพปัญหาที่เราต้องเผชิญ

วีดีโอคลิปสรวิศ ชัยนาม แนะนำหนังสือ :

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

หนังสือเล่มนี้เป็นแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์
เก่งกิจ กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่า ทำหน้าที่อยู่ 2-3 อย่าง อันหนึ่งเป็นแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) ให้คนไทยได้อ่านว่า ในโลกตะวันตกนักวิชาการดีเบตเรื่องอะไร โดยเฉพาะฝ่ายซ้าย แต่หนังสือเล่มนี้อาจจะจำกัดอยู่ที่ความคิดของชิเชคและสิ่งที่ชิเชควิจารณ์ โดยเฉพาะพวกฝ่ายซ้ายด้วยกัน ซิเซคไม่ได้ด่าฝ่ายขวามากเท่าที่ด่าฝ่ายซ้าย จะเห็นว่า คนอย่างอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ด่าฝ่ายซ้ายด้วยกันมากกว่าที่ด่าฝ่ายขวา คิดว่าอันนี้เป็น tradition (ธรรมเนียม) แบบฝ่ายซ้าย

กรอบของหนังสือเล่มนี้ เก่งกิจมองว่า ถ้าเราดูงานของชิเชคเองก็จะมีหลายช่วง งานของอาจารย์สรวิศ ใช้งานที่เป็นงานการเมืองของชิเชคมากกว่าที่จะเป็นงานที่เกี่ยวกับการวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ใช้ทฤษฎีพวก psychoanalysis (ไซโคอะแนล'ลิซิส - จิตวิเคราะห์) เพราะฉะนั้น งานนี้เป็นงานการเมืองมากกว่างานในเชิงวัฒนธรรม และเป็นงานที่มองชิเชคในฐานะที่เป็นนักทฤษฎีการเมืองมากกว่าที่จะเป็นนักทฤษฎีในทางวัฒนธรรม

ระบบทุนนิยมมันดำรงอยู่ได้ เพราะว่าตัวเราเป็นส่วนหนึ่งที่ผลิตซ้ำมัน
เก่งกิจได้อธิบายถึงหัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้ว่า “ระบบทุนนิยมมันดำรงอยู่ได้เพราะว่าตัวเราเป็นส่วนหนึ่งที่ผลิตซ้ำมัน เราผลิตซ้ำระบบทุนนิยมในชีวิตประจำวัน ตัวอย่าง เมื่อเช้านี้เพื่อนได้โพสต์ในเพสบุ๊คว่า การที่เราคาดหวังว่าพ่อแม่ต้องดีกับเรานี่ ไม่ต่างอะไรที่เราคาดหวังว่าผู้ปกครองเป็นคนดีได้ เพราะฉะนั้นคิดว่าเราอยู่ในโลกที่เราผลิตซ้ำตรรกะ (logic) บางอย่างที่รับกับระบบอยู่ เพียงแต่ว่าเราไม่รู้ตัว  หน้าที่ชองชิเชคคือ ยื่นหมึกสีแดงให้กับเรา ให้เรารู้ว่ามันมีอะไรที่ผิดปกติอยู่”

ในแวดวงวิชาการไทย ถ้าเราดูในพวกมานุษยวิทยา สังคมวิทยา หรือรัฐศาสตร์ การพูดถึงเรื่องพหุวัฒนธรรม การพูดถึงประชาธิปไตย การพูดถึงการเลือกตั้งมันดูเหมือนเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติและควรจะเป็นโดยตัวของมันเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วความคิดเรื่องพหุวัฒนธรรมก็เป็นผลผลิตของยุคสมัยอะไรบางอย่าง

อันหนึ่งที่อาจารย์สรวิศบอกว่า เสรีนิยมมันถูกทำให้ตรงกันข้ามกับ ‘อิสลามิคฟันดะเมนทะลิสม์’ (การยึดมั่นในหลักการอิสลาม-Islamic Fundamentalism) หรือพวกที่เน้นเรื่องศาสนา เน้นชาติพันธุ์ แต่เอาเข้าจริงแล้วมันเป็นด้านกลับของกันและกัน ถ้าเราคิดถึง ‘การปะทะระหว่างอารยธรรม’ (The Clash of Civilizations) ของ ฮันติงตัน (Huntington) ก็อธิบายโลกผ่านความคิดเรื่องเชื้อชาติ ซึ่งงานของอาจารย์สรวิศก็ชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว ไม่ว่าฝ่ายขวาหรือฝ่ายเสรีนิยมต่างก็ใช้ตรรกะเดียวกันในการอธิบายสังคมหรือเสนอทางเลือกให้กับสังคม

สิ่งที่หนังสือไม่ได้เขียน คือ What’s Communism?
นอกจากนี้เก่งกิจยังได้กล่าวถึงส่วนที่ อ.สรวิศ หรือผู้เขียนไม่ได้อธิบายโดยมองว่าทั้งๆ ที่พูดเยอะมาก คือเรื่อง อะไรคือ ‘คอมมิวนิสต์’ (What’s Communism?) ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าจะถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้ว่า อะไรคือคอมมิวนิสต์ในโลกปัจจุบัน และมันมีความสำคัญอย่างไร นอกเหนือจากที่บอกว่า เสรีนิยม (Liberalism) มันไม่เพียงพอ ประชาธิปไตยมันไม่เพียงพอ ทุนนิยมมันไม่เพียงพอ พหุวัฒนธรรมมันไม่เพียงพอ งานของชิเชคเองก็ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าอะไรคือคอมมิวนิสต์

จึงคิดว่างานของฝ่ายซ้ายจำนวนมากก็จะมาเติมเต็มได้โดยเฉพาะงานของไมเคิล ฮาร์ด (Michael Hardt) และอันโตนิโอ เนกรี  (Antonio Negri) โดยคร่าวๆ จริงๆแล้วคอมมิวนิสต์มีรากมาจากคอมมอน คืออะไรที่เป็นร่วมกัน ถ้าแยกออก มีสาธารณะ(public) เอกชน (private) และคอมมอน (common) ซึ่งจะพบว่า ในโลกยุคปัจจุบันเราว่าแนวคิดไว้แค่ 2 ตัวแรกโดยไม่มีคอนเซปท์เรื่องคอมมอน เพราะเราไม่เคยชินกับอะไรที่เป็นส่วนรวม แต่เราชินกับส่วนตัวกับสาธารณะ คำว่าสาธารณะในที่นี้คือเป็นของรัฐ ถ้าไม่ใช่สมบัติของรัฐก็เป็นสมบัติของเอกชน ความคิดเรื่องคอมมิวนิสต์แบบนี้จำเป็นที่ฝ่ายซ้ายจะต้องขยายความมากขึ้นว่า ‘คอมมอน’ มันคืออะไร คอมมอนมาจากภาษาลาติน ซึ่งแปลว่า การแบ่งปัน หรืออีกความหมายคือ เป็นของพวกเราทุกคน คิดว่าความคิดแบบนี้ไม่ได้ถูกพูดถึงมากในสังคมไทย

งานคอมมิวนิสต์มานิเฟสโตของมาร์กซและเองเกลส์ (Friedrich Engels) เราอาจจะเรียกมันว่า เป็นวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ หัวใจของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์คืออะไร ประโยคแรกของแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ก็ขึ้นต้นว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติทั้งหมด คือประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางชนชั้น ระบบทุนนิยมเป็นคนที่ผลิตหลุมฝังศพให้กับทุนนิยม หรือพูดได้ว่า ระบบทุนนิยมผลิตคอมมิวนิสต์ขึ้นมาในฐานะที่เป็นผู้ขุดหลุมฝังศพของตนเอง และที่สำคัญคือ ระบบทุนนิยมเป็นสิ่งที่สร้างพลังของการปฏิวัติที่อยู่ในตัวของระบบเอง สิ่งที่ขาดไปในงานของชิเชคคือไม่สนใจ ‘เศรษฐศาสตร์การเมือง’

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำความเข้าใจระบบทุนนิยม คือโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของระบบทุนนิยมมันทำงานอย่างไร ความสัมพันธ์การผลิตในปัจจุบัน การศึกษางานของฝ่ายซ้ายอย่างไมเคิล ฮาร์ด (Michael Hardt) และอันโตนิโอ เนกรี (Antonio Negri) เดวิด ฮาวี่( David Harvey) ก็จะมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจกับเรื่องเหล่านี้

สิ่งที่สำคัญในงานของมาร์กซที่ต้องทำความเข้าใจคือ มาร์กซและเองเกลส์เสนอว่าเราจะต้องโค้นล้มทำลาย ‘ระบบกรรมสิทธิ์เอกชน’ ดังนั้นไอเดียของคอมมิวนิสต์ คำว่า ‘คอมมิวนิสต์’ จึงแปลว่า กรรมาสิทธิส่วนรวม คอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือ แต่เป็นการพูดถึงโลกทั้งโลกด้วย ซึ่งหมายถึงตัวตนของเราด้วยในความหมายที่ตัวเราเองเป็นผู้ผลิต พร้อมๆ กันกับที่เราเป็นผู้บริโภค แต่ในโลกทุนนิยม เราไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งที่เราผลิต เราไม่ได้เป็นเจ้าของตัวตนของเราเอง เพราะว่าถูกครอบโดยความสัมพันธ์การผลิตของทุนนิยมซึ่งวางอยู่บนทรัพย์สินเอกชน

ดังนั้นไอเดียเรื่อง ‘common property’ (ทรัพย์สินร่วม) จึงเป็นหัวใจของการวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ทุนนิยม รวมถึงวิจารณ์พวกสังคมนิยม ซึ่งวางอยู่บนความคิดเรื่องกรรมาสิทธิสาธารณะของรัฐ และวิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยมซึ่งวางอยู่บนกรรมสิทธิ์เอกชน ประเด็นเหล่านี้จึงต้องขยายความมากขึ้นโดยเฉพาะการกลับมาศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง

ประชาธิปไตยไม่เพียงพอต่อการวิพากษ์วิจารณ์ตัวระบบทุนนิยม
เก่งกิจได้กล่าวสรุปว่า เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตย งานของ อ.สรวิศ ก็ชี้ให้เห็นว่าเราพูดถึงประชาธิปไตยในฐานะความคิดสากลบางอย่างที่ทุกคนที่ว่าใครไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตยก็จะถูกเห็นเป็นตัวประหลาด ทั้งที่จริงๆ แล้ว ประชาธิปไตยที่อยู่ในความหมายแบบทุนนิยม มันเป็นประชาธิปไตยที่ปฏิเสธการมีทรัพย์สินคอมมอน การมีประชาธิปไตยไม่อนุญาตในเราพูดถึงระบอบกรรมสิทธิ์แบบอื่นที่ไม่ใช่ระบอบกรรมสิทธิ์แบบทุนนิยม ข้อเสนอของ อ.สรวิศ จึงมีความสำคัญที่ว่าประชาธิปไตยมันไม่เพียงพอต่อการวิพากษ์วิจารณ์ตัวระบบทุนนิยมเอง เพราะไม่ได้แตะตัว ‘private property’ (ทรัย์สินเอกชน) ซึ่งเป็นข้อเสนอสำคัญของมาร์ก

เนื่องจากงานของ ชิเชค ไม่ใช่งานเศรษฐศาสตร์การเมือง ดังนั้นจึงไม่อธิบายทุนนิยมในฐานะที่เป็นระบบเศรษฐกิจ ข้อสรุปของชิเชคที่น่าสนใจ และ อ.สรวิศใช้ในบทสุดท้ายคือ พลังที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือตัวแทน (agent) ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันไม่ใช่ชนชั้นกรรมาชีพแบบมาร์ก แต่ความที่จะเป็นพลังที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังที่อยู่ในสลัม อันนี้ก็เป็นสิ่งที่จะต้องตั้งคำถามว่า มันเป็นจริงอย่างนั้นไหม การเสนอแบบนี้โดยที่ไม่ได้อยู่บนฐานความรู้ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง หรือการวิเคราะห์การทำงานของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน  มันทำให้ถูกตั้งคำถามจำนวนมาก โดยเฉพาะงานหลังๆ ของชิเชคที่ไม่มีข้อเสนอว่า เราจะล้มระบบทุนนิยมได้อย่างไร นอกจาการเปิดโปงลิเบอรัลว่า ไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นประเด็นที่อาจต้องใช้งานของฝ่ายซ้ายอื่นๆ มาช่วยในการวิเคราะห์มากขึ้น อย่างงานของไมเคิล ฮาร์ด และอันโตนิโอ เนกรี ที่เสนอว่า ‘multitude’ (พลังสร้างสรรค์ของมหาชน) นี่ล่ะจะเป็นพลังที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

วีดีโอคลิปเก่งกิจ กิติเรียงลาภแนะนำหนังสือ :

ชญานิน เตียงพิทยากร

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่การวิจารณ์ภาพยนตร์
ชญานิน เริ่มต้นการแนะนำหนังสือด้วยการกล่าวถึงหนังสือว่า มันทำให้เราคิดได้เยอะและรอบด้าน รวมทั้งรวบรวมทฤษฏีข้อเสนอ ดีเบตต่างๆ ซึ่งอาจไม่ค่อยได้รับการพูดถึงมากหรือแพร่หลายมาก นอกจากในวงวิชาการ เราจะได้รู้จากสิ่งที่ผู้เขียนสรุปมาให้เห็นว่า ชิเชคเสนออะไร ชิเชคดีเบตอะไร ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี และสรุปให้เราเข้าใจง่ายเป็นลำดับขั้นตอน ทำให้ผู้อ่านเห็นว่า มีการคุยอะไรกันมาบ้าง เสนออะไรกันมาบ้าง กำลังโจมตี ล้มหรือยกอะไรขึ้นมา เป็นข้อเสนอหลักเป็นจุดที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลก พลิกกลับค่านิยมบางอยู่ที่เราอยู่กับมันมาโดยตลอด

หนังสือนอกจากจะถามกับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเราแล้ว ยังถามกลับไปยังตัวหนังสือเองด้วย อย่างในบทที่เขียนถึงเรื่อง Capitalism: A Love Story ที่พูดถึงไมเคิล มัวร์ (Michael Moore) ที่ทำตัวเสมือนกับว่า เขากำลังทำสารคดีที่กำลังต่อต้านทุนนิยมโค่นล้มทุนนิยม แต่จริงๆมันผิด เพราะว่าสิ่งที่เขาต้องการกลายเป็นจะค้ำจุนทุนนิยม ในทางเดียวกัน เราสามารถมองชิเชคและบรรดานักทฤษฎีฝ่ายซ้ายอื่นๆในสถานะเดียวกับไมเคิล มัวร์ ได้หรือเปล่า เป็นคนที่ตั้งคำถาม เป็นคนที่พยายามที่จะบอกว่าทุนนิยมเลวร้าย เป็นปีศาจหรือมีข้อที่จำต้องทำให้ทุนนิยมล่มสลาย แต่ในทางหนึ่งแล้ว การดำรงอยู่ของเหล่าบรรดานักทฤษฎีเหล่านี้มันไปส่งเสริมทุนนิยมอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นคำถามที่สำคัญที่หนังสือเล่มนี้วางเอาไว้

ชญานิน ยังมองอีกว่า อีกทางหนึ่งหนังสือเล่มนี้ให้ภาพที่ชัดเจนและค่อนข้างรอบด้านเกี่ยวกับทฤษฏีทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่นอกจากวงวิชาการสำหรับตนเองแล้ว เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงค่อนข้างบาง แต่อย่างในบทที่ อ.สรวิศ เขียนถึงโอซาม่า ที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสตรีนิยมได้ชัดเจนครอบคลุม และทำให้เห็นว่า 2 อย่างที่ในความรับรู้ของคนทั่วไปดูไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ก็ถูกชี้ให้เห็นว่ามันเกี่ยวข้องกันได้อย่างไรในงานชิ้นนี้

“หนังสือเล่มนี้ถ้าดูตามแบบแผนอย่างเคร่งคัดจะไม่ใช่การวิจารณ์ภาพยนตร์ ที่จะพูดถึงข้อดีข้อด้อยและสิ่งอื่นๆ แต่ใจปัจจุบัน การวิจารณ์ภาพยนตร์อย่างเดียวมันเป็นเรื่อล้าสมัย แต่ยังคงมีคนทำอยู่” ชญานิน กล่าว และเขาอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าการวิจารณ์ภาพยนตร์มันจำเป็นต้องอยู่บนคุณค่าอะไรบางอย่าง แต่สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ทำ คือการเปิดมุมมองต่อภาพยนตร์ ซึ่งโดยมากการวิจารณ์ภาพยนตร์ก็เอาสังคมการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว แต่ในการที่จะเอาการเมืองและสังคมมาจับกับภาพยนตร์อย่างซีเรียสจะไม่ค่อยปรากฏในการวิจารณ์ภาพยนตร์ในปกติในสังคมไทย เพราะสิ่งที่ขาดในวงวิจารณ์ภาพยนตร์คือ เราไม่มีความลึกมากเท่าที่ควร การพูดถึงอุดมการณ์ที่ฝังอยู่ในภาพยนตร์อย่างซีเรียสไม่ค่อยปรากฏ แต่หนังสือเล่มนี้เอาทฤษฎีการเมืองของฝ่ายซ้ายมาจับได้อย่างลุ่มลึก และทำให้เราเห็นว่าภาพยนตร์ในฐานะสื่อกลางมันสามารถนำเราไปสู่อะไรได้บ้าง

วีดีโอคลิปชญานิน เตียงพิทยากร แนะนำหนังสือ

 

วีดีโอคลิปช่วงถาม-ตอบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net