Skip to main content
sharethis

หลังการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระหว่างมิตต์ รอมนีย์ และบารัก โอบามาเสร็จสิ้นลง ASEAN Weekly สัปดาห์นี้ติดตามเรื่องนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาภายหลังการเลือกตั้ง โดยไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดี ยุทธศาสตร์หลักมุ่งสู่แปซิฟิกเพื่อปรับสมดุลอำนาจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาก็จะยังคงดำเนินในทิศทางเดิม

คลิปรายการ ASEAN Weekly: สหรัฐหลังเลือกตั้งและนโยบายต่อเอเชีย-แปซิฟิก (คลิกที่นี่เพื่อดูแบบ HD)

โดย อ.ดุลยภาค ปรีชารัชช กล่าวว่าผู้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา นอกจากประธานาธิบดีซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจในการกำหนดนโยบายต่างประเทศแล้ว ก็ยังมีกลุ่มอำนาจ กลุ่มอิทธิพล ที่จะแจกแจง หรือเจรจาต่อรองเพื่อคลอดชุดนโยบาย ตัวประธานาธิบดีอาจจะสามารถกำหนดนโยบายต่างประเทศได้จริง แต่ก็ต้องดูตัวแสดงอื่นด้วยทั้งรองประธานาธิบดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม แม่ทัพภาคของสหรัฐอเมริกาที่คุมฐานทัพต่างๆ ทั่วโลก ปีกทางเศรษฐกิจ เทคโนแครต สภาคองเกรส พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ที่จะเข้ามาล็อบบี้ทางนโยบาย

โดยหากเปรียบเทียบ สไตล์พรรครีพับลิกันสมัย จอร์จ ดับเบิลยู บุช นโยบายต่างประเทศพุ่งเป้าไปที่ตะวันออกกลาง อุตสาหกรรมการทหารก็ต้องการขยับงบประมาณด้านแสนยานุภาพผ่านสมรภูมิในตะวันออกกลาง กลุ่มชาวยิว กลุ่มบรรษัทข้ามชาติ ที่ดำเนินธุรกิจเรื่องน้ำมัน และเครือข่ายพวกพ้องวงศ์วานของบุชก็พร้อมจะเข้าไปเล่นในตะวันออกกลาง บุชก็พร้อมจะเล่นนโยบายนี้ ก็เลยมีการออก "Bush Doctrine" ขึ้นมา

เช่นเดียวกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาชุดต่อมา ก็ต่อดูบทบาทตัวแสดงที่แวดล้อมด้วย เช่น หากบารัก โอบามา จะมีนโยบายต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้ดูแค่ตัวประธานาธิบดี ต้องดูว่าฮิลลารี คลินตันจะกลับมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไหม ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีจะมีการปรับรูปโฉมไหม และกลุ่มอุตสาหกรรมการทหารพร้อมจะเพิ่มบทบาทในเอเชีย-แปซิฟิกมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้กลุ่มบรรษัทข้ามชาติจะเข้ามาลงทุนในลาวหรือพม่าหรือเปล่า ถ้าเขาต้องการก็จะเข้าไปล็อบบี้ผู้กำหนดนโยบาย เพราะฉะนั้นต่อให้เปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจากบารัก โอบามา หรือมิตต์ รอมนีย์ แต่กลุ่มต่างๆ เล็งเห็นความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเอเชียแปซิฟิกก็จะเข้ามาดำเนินนโยบายนี้ ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายไปบ้าง แต่ก็ยังรักษาความคงเส้นคงว่าของนโยบายของรัฐบาลชุดเก่าอยู่

ภาพพื้นที่รับผิดชอบของกองบัญชาการภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (USPACOM) ของสหรัฐอมริกา ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ฮาวาย แต่มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนียคิดเป็นพื้นที่ 1 ใน 3 ของโลก นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังมีการวางกำลังทางทหารที่ดูแลพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกด้วย (ที่มา: ปรับปรุงจากวิกิพีเดีย และ maps.google.com)

แผนที่แสดงภาคการทหารของสหรัฐอเมริกา (ที่มา: วิกิพีเดีย)

 

ต่อประเด็นเรื่องเรื่องนโยบายมุ่งสู่แปซิฟิก (America's Pacific Century) ที่สหรัฐอเมริกาประกาศออกมาในระยะหลังนั้น ดุลยภาคกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใด ผลประโยชน์หรือการธำรงความเป็นเจ้ามีความสำคัญเสมอต่อเสถียรการครองอำนาจของสหรัฐอเมริกา การมองโลกของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก มีการจัดลำดับความสำคัญต่างออกไป ตามบริบทและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของนโยบายต่างประเทศ สมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช อาจให้ความสำคัญกับตะวันออกลาง สมัยโอบามา หรือหลังจากนี้อาจจะเป็น "เอเชีย-แปซิฟิก" ซึ่งครอบคลุมภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย นักนโยบายต่างประเทศ นักนโยบายป้องกันประเทศของสหรัฐอเมริกา เวลามองการเมืองโลกจะไม่สะบั้นออกเป็นอนุภูมิภาค แต่จะมองทั้งหมดเป็นปีกของเอเชียแปซิฟิก ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าเอเชีย-แปซิฟิก รัฐที่มีทหารประจำการมาก ทั้งอินเดีย จีน เวียดนาม เกาหลีเหนือก็อยู่ที่นี่ รัฐที่มีนิวเคลียร์ก็อยู่ที่นี่ เขตเวลาของโลก 14 ชั่วโมงก็อยู่ที่นี่ 30% ของพื้นที่ของโลกก็อยู่ที่นี่ และ 60% ของประชากร ก็อยู่ที่นี่ ดังนั้นการพิจารณานโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจะไม่สามารถแยกอาเซียนออกจากเอเชียแปซิฟิก

ขณะเดียวกันทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนเองก็เป็นความร่วมมือและความขัดแย้งระคนปนเปไป ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาก็ทำทุกวิถีทางเพื่อปรับสมดุลอำนาจ หรือถ่วงดุลกับอำนาจที่เพิ่มขึ้นของจีนเป็นเรื่องปกติ ขึ้นอยู่กับจะใช้วิธีการใดเท่านั้นเอง ข้อได้เปรียบคือวิธีการทหาร ที่สหรัฐอเมริกาสามารถเพิ่มฐานทัพลอยน้ำ หรือปรับกำลัง แต่วิธีที่ยังสู้จีนไม่ได้คือขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ เพราะอยู่ในช่วงขาลง และความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ แม้จะเป็นยุคโลกาภิวัฒน์ แต่ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ก็ทำให้เหลี่ยมทางเศรษฐกิจระหว่างมหาอำนาจและชาติที่มีปฏิสัมพันธ์คล่องตัวนั้น สหรัฐอเมริกาก็ยังขาดเรื่องนี้อยู่

ดังนั้นสหรัฐอเมริกาก็จะเพิ่มขนาดกิจกรรมทางการทูตกับรัฐในอาเซียน ซึ่งคงมีรูปแบบหลากหลายออกไป โดยสหรัฐอเมริกาคงดูเวที APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) และ ARF (ASEAN Regional Forum) เป็นกรอบในการแผ่อิทธิพล และพยายามผลักดัน ASEAN+8 ให้สัมฤทธิ์ผล เพราะจะทำให้สหรัฐอเมริกากับรัสเซียเข้ามาด้วย ทำให้เข้ามาโลดแล่นสถาปัตยกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค

นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาก็มีการพัฒนากรอบความร่วมมือกับอาเซียนหลายทาง เช่น ในสมัยโอบามาเคยมีการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐอเมริกากับอาเซียน มีการพัฒนาขีดความร่วมมือสหรัฐอเมริกา-อาเซียน เช่น Trans-Pacific Partnership เพื่อเข้ามาทำ FTA กับประเทศในอาเซียนโดยรวม ซึ่งเป็นกรอบที่สหรัฐอเมริกาเตรียมไว้แล้ว นอกจากนี้มีแนวโน้มว่าสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับชาติในอาเซียน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคง การทหาร สหรัฐอเมริกาคงให้ความสำคัญกับไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และพม่า โดยเฉพาะพม่าหลังการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง สหรัฐอเมริกาน่าจะมีการขยับชุดนโยบายที่จะเข้าไปปฏิสัมพันธ์ด้วยอย่างน่าสนใจ ทั้งนี้พรรคเดโมแครตของโอบามาที่ค่อนไปในแนวทางเสรีนิยม มีท่าทีพอใจกับการปฏิรูปในพม่า และหากมองสหรัฐอเมริกาที่เป็นตัวแสดงหลักในเวทีระหว่างประเทศที่เข้าไปมีส่วนผลักความปรองดองในพม่า นี่คือบทบาทที่น่าสนใจมาก เพราะสหรัฐอเมริกาไม่เคยมีบทบาทด้านนี้เลย และยังมีเรื่องที่สหรัฐอเมริกาอาจจะดึงพม่าเข้ามาร่วมซ้อมรบในปฏิบัติการคอบบร้า โกลด์ด้วย

 
ที่มาของภาพปก: ดัดแปลงจาก Whitehouse.gov (public domain)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net