ดูบทเรียนเยอรมนี ปรับใช้กำกับดูแลทีวีดิจิตอลไทย

(13 พ.ย.55) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การกำกับดูแลวิทยุโทรทัศน์ในยุคดิจิตอล การคุ้มครองผู้บริโภคและประโยชน์สาธารณะ (Broadcasting Regulation in the Digital Era: Consumer Protection and Public Interest) โดย สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าวว่า ปีหน้าจะมีการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้แก่บุคลากรของ กสทช. โดยจะพูดถึงภาพรวมของการกำกับดูแลสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ดิจิตอลในเยอรมนี เน้นที่การคุ้มครองผู้บริโภคและประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ ประเทศเยอรมนีมีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นประเทศที่ตระหนักในเสรีภาพของสื่อและเสรีประชาธิปไตย ทั้งยังผ่านบทเรียนที่เจ็บปวดจากสื่อโฆษณาชวนเชื่อและการเมืองที่สร้างความเกลียดชัง จนมีแนวคิดว่าสื่อจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม

สุภิญญา กล่าวว่า ประสบการณ์จากการประมูล 3G ที่ผ่านมา จะทำให้การเปิดประมูลช่องดิจิตอลในปีหน้าต้องละเอียดรอบคอบมากขึ้น โดยเน้นว่ารัฐต้องไม่เสียประโยชน์ ขณะที่ผู้ประมูลต้องมีเจตจำนงของสื่อสารมวลชนด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากการประมูล 3G ที่ได้คลื่นไปคนก็ไปโทรหากันเอง แต่ช่องโทรทัศน์นั้นจะมีเรื่องเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมได้

วูลฟ์กัง ชูลซ์ ผู้อำนวยการ สถาบันฮานส์ เบรโดว มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลในเยอรมนีนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีผู้รับชมทีวีดิจิตอล 77.8% อะนาล็อก 22.2% ด้านการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มีตั้งแต่ระดับสหภาพยุโรป สหพันธ์รัฐ รัฐ และท้องถิ่น โดยในแต่ละรัฐจะมีองค์กรในลักษณะเดียวกับ กสทช.คอยดูแล

ประเด็นที่กำกับดูแล อาทิ การโฆษณาในสื่อภาพและเสียง จะต้องชัดเจนว่าเป็นการโฆษณ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้บริโภคจะไม่ถูกหลอก ห้ามไม่ให้แทรกสินค้าในรายการ ยกเว้นรายการบันเทิง กีฬา หรือภาพยนตร์ ห้ามโฆษณายาประเภทที่ต้องให้แพทย์สั่งเท่านั้น บางกรณีอาจทำได้โดยต้องระบุคำเตือนลงไปในโฆษณาด้วย ไม่ให้ใช้ภาพลักษณ์ของพ่อแม่ในการขายสินค้าสำหรับเด็ก-เยาวชน เพราะจะมีอิทธิพลต่อการบริโภคของเด็ก

ส่วนกฎป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมนั้น เขาชี้ว่า จะให้เอกชนกำกับกันเอง ซึ่งจะเกิดการร้องเรียนคู่แข่งขึ้น ทำให้รัฐได้ข้อมูลจำนวนมาก นำไปสู่การพิจารณาและตัดสินคดีที่รวดเร็วของศาล ขณะที่กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคก็เข้ามาตรวจตราด้วย ทำให้เกิดการกำกับดูแลที่ดีได้

อย่างไรก็ตาม ดร.ชูลซ์ ระบุว่า การกำกับดูแลทั้งหมดต้องคำนึงเสรีภาพในการพูด โดยเฉพาะโฆษณาด้วย เนื่องจากเป็นฐานสำคัญของธุรกิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หากเข้มงวดมากเกินไป จะเป็นการคุกคามไม่ให้เกิดความหลากหลาย และกระทบต่อการเงินได้

ทั้งนี้ ดร.ชูลซ์ แสดงความเห็นว่า หากจะการกำกับดูแลร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและองค์กรกำกับดูแลนั้น ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนและมีการร่างระบบให้ดี โดยนำข้อได้เปรียบจากการกำกับโดยแต่ละฝ่ายมาใช้ และจัดการไม่ให้เส้นแบ่งความรับผิดชอบเบลอ 

ต่อคำถามว่า ประเทศที่มีใบอนุญาตจำนวนมาก เช่นประเทศไทย ที่ดาวเทียมและเคเบิล รวมแล้วอาจจะมีถึง 10,000 ราย ควรจัดการอย่างไร ดร.ชูลซ์ เสนอว่า อาจจัดทำระเบียบเฉพาะของแต่ละส่วนขึ้น และใช้การสุ่มตรวจในจุดเสี่ยง ว่าจะเจอปัญหาโฆษณา กระทบประโยชน์ผู้บริโภคไหม

พิรงรอง รามสูต ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การกำกับดูแลกันเองนั้น ทุกภาคส่วนต้องเข้มแข็ง ไม่เฉพาะองค์กรกำกับในลักษณะเดียวกับ กสทช. เท่านั้น โดยยกตัวอย่างในเยอรมนี ที่กลุ่มผู้ประกอบการดูแลกันเอง โดยเมื่อพบว่ามีผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎเรื่องการโฆษณา มากกว่า 90% ก็ยอมถอนโฆษณาออกไป ส่วนที่เหลือที่ไม่ทำตาม ก็เผยแพร่ให้สาธารณชนรู้ และภาคผู้บริโภคก็จะดำเนินการคว่ำบาตรเอง โดยที่ภาครัฐไม่ต้องเข้ามา

พิรงรอง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การออกกฎกำกับดูแล จะต้องมีงานวิจัยรองรับ และประเมินผลเป็นระยะ เช่น ข้อกำหนดของ Ofcom องค์กรกำกับดูแลของอังกฤษ เพื่อคุมการโฆษณาสินค้าที่มีไขมัน เกลือและน้ำตาลสูง (high fat, salt and sugar: HFSS) ในช่วงเวลาที่เด็กเปิดรับชมรายการจำนวนมาก เนื่องจากงานวิจัยพบว่า สื่อโฆษณาเป็น 1 ใน 4 ของปัจจัยที่ทำให้เด็กอ้วน หลังบังคับใช้ข้อกำหนดได้ 3 ปี พบว่าเด็กมากกว่า 40% ได้รับโฆษณาแนวนี้น้อยลง

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ กล่าวว่า การปฏิรูปสื่อแต่ละรอบนั้นมีความโกลาหลชุลมุน เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เสียงโกลาหลที่ว่าไม่ใช่เรื่องที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ต้องใช้เวลา ทั้งนี้ มองว่า ความชุลมุนที่เห็นเพราะมีความโปร่งใส ในอดีต การให้สัมปทานกับช่อง 3 ช่อง 7 ไม่ชุลมุน เพราะไม่มีใครรู้ แต่ปัจจุบัน เราเริ่มรู้จักผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะเข้าสู่ตลาดการแข่งขัน

อุบลรัตน์ กล่าวถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในสื่อวิทยุโทรทัศน์ว่า ปัจจุบัน มีการควบคุมกันเองของสมาคมธุรกิจโฆษณาได้ระดับหนึ่ง มีภาคีตรวจสอบพอสมควร แต่ที่น่ากังวลคือ โฆษณาแฝง ที่ให้ตรงไปที่สถานีหรือรายการ ซึ่งควรมีหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท