Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พระบาทสมเด็จนโรดม สีหนุ ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่สละราชสมบัติถึง 2 ครั้ง และในฐานะประมุขแห่งรัฐ พระองค์ยังปล่อยให้บัลลังก์กัมพูชาไร้พระนามรัชทายาทนานถึง 33 ปี

เจ้าชายรณฤทธิ์ photo Courtesy Frank Tatu

กษัตริย์สีหนุ และพระราชินีโมนิก

ครอบครัวกษัตริย์: พระบาทสมเด็จนโรดม สีหนุ พระชายาโมนิก และพระโอรส

เจ้าชายรณฤทธิ์ ซึ่งเป็นโอรสองค์โตของกษัตริย์สีหนุ เล่าว่าพระบิดาของท่านไม่เคยสนใจที่จะแต่งตั้งหรือแม้กระทั่งไล่เรียงจัดลำดับโอรสที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาท

กษัตริย์สีหนุประกาศสละราชสมบัติให้พระบาทสมเด็จนโรดม สุรมฤตในปี พ.ศ.2498 โดยที่พระองค์เปลี่ยนสถานะไปเป็นนักการเมือง ทรงตั้งพรรคการเมืองและได้รับการเลือกตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ  เมื่อกษัตริย์สุรมฤตสิ้นพระชนม์ในปี 2503 นั้น เจ้าชายรณฤทธิ์มีอายุ 16 ชันษากำลังศึกษาอยู่ที่ฝรั่งเศส แต่เจ้าชายสีหนุในฐานะประมุขแห่งรัฐก็ไม่ยอมแต่งตั้งรัชทายาท แม้เจ้าชายรณฤทธิ์จะบอกว่าตนไม่ได้อยากเป็นรัชทายาท แต่มีสิ่งที่ยังคงค้างคาอยู่ในใจถึงเหตุผลที่พระบิดาไม่ยอมแต่งตั้งรัชทายาท  เพราะเจ้าชายสีหนุทรงเคยบ่นดังๆกับคนรอบข้างว่าเจ้าชายรณฤทธิ์นั้นสนใจแต่เรื่องขับรถแข่ง และยังชอบโวยวายใส่ตำรวจอีกด้วย

“ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งที่พ่อกล่าวหานั้นไม่ยุติธรรมสำหรับข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้าเลิกโวยวายใส่ตำรวจแล้ว คำกล่าวหาของพ่อทำให้ข้าพเจ้าปวดใจมาก ทำไมน่ะหรือ? ก็ดูสิ พ่อเองก็มีผู้หญิงตั้งเยอะแยะ ทั้งยังมีรถแข่งสวยๆตั้งหลายคัน มีหลายอย่างที่ข้าพเจ้าเรียนรู้มาจากพ่อ”

 

ความขมขื่นของเจ้าชายรณฤทธิ์ปรากฏชัดทุกครั้งที่เล่าย้อนอดีตนี้

“พ่อบอกว่าไม่แต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นรัชทายาทเพราะข้าพเจ้าเป็นเพล์บอย แต่พ่อไม่เคยพูดเลยว่าในบรรดาลูกๆทั้งหมดของพ่อ ข้าพเจ้าเป็นลูกคนเดียวของพ่อที่เรียนจบปริญญาเอก”

เจ้าชายรณฤทธิ์ได้รับปริญญาเอก (เกียรตินิยม) ด้านกฎหมายมหาชนจาก University of Law, Political Science and Economics of Aix-Marseille, France

ด้วยความประสงค์ของเจ้าย่า คือ พระราชินีกุสุมะนารีรัตน์ เจ้าชายรณฤทธิ์ถูกส่งไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศสตั้งแต่อายุ 14 ชันษา พร้อมกับเจ้าชายจักรพงษ์ ผู้เป็นน้องชายต่างมารดา เจ้าชายจักรพงษ์มีอายุน้อยกว่าเจ้าชายรณฤทธิ์สองปี เป็นโอรสกษัตริย์สีหนุที่เกิดกับเจ้าหญิงพงสานมุนี เมื่อพระบาทสมเด็จนโรดม สุรมฤต สิ้นพระชนม์ เจ้าชายทั้งสองถูกเรียกตัวกลับมาจากฝรั่งเศสเพื่อเป็นผู้เดินนำขบวนแห่พระศพ

แต่หากไม่มีเหตุการณ์สำคัญใดเกิดขึ้น เจ้าชายทั้งสองจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านช่วงปิดภาคเรียนปีละครั้งเท่านั้น โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีผลการเรียนที่ดี โชคดีที่ท่านสองทำคะแนนได้ดีตามเกณฑ์

เจ้าชายรณฤทธิ์เล่าว่าท่านไม่ได้มีรถยนต์ของตัวเอง ทุกครั้งที่กลับจากฝรั่งเศสในช่วงปิดเทอมนั้น ท่านใช้รถของพี่สาว คือ เจ้าหญิงบุปผาเทวี และรถของเจ้าหญิงรัศมีโสภาที่เลี้ยงดูท่านมา ข้อกล่าวหาของพระบิดาจึงไม่เป็นธรรมกับท่านมาก

เรื่องความสัมพันธ์อันห่างเหินระหว่างเจ้าชายรณฤทธิ์กับพระบิดา รวมทั้งการที่เจ้าชายสีหนุในฐานะประมุขแห่งรัฐไม่ยอมประกาศชื่อรัชทายาทนั้น เป็นเรื่องซุบซิบนินทาเล็ดรอดออกมาจากราชสำนักกัมพูชาว่าเป็นการเมืองเรื่องครอบครัวด้วย ถึงแม้เจ้าชายสีหนุจะอยากใกล้ชิดโอรสองค์โตมากกว่านี้ก็คงไม่อาจทำได้ เพราะพระองค์ทรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของพระราชินีโมนิก  บรรดาเชื้อพระวงศ์ทั้งสายราชสกุลนโรดม และราชสกุลสีสุวัตถิ์ มีความเชื่อไปในทางเดียวกันว่าพระราชินีโมนิกทำทุกวิธีทางเพื่อให้โอรสทั้งสองของพระนางคือ เจ้าชายสีหมุนี และเจ้าชายนรินทรพงษ์อยู่ใกล้ชิดกับพระบิดามากกว่าลูกคนอื่นๆ

แต่เจ้าชายรณฤทธิกลับเปิดใจกว้างในเรื่องนี้

“เป็นเรื่องธรรมดามากที่พระราชินีโมนิกจะพยายามสนับสนุนส่งเสริมลูกๆ ของพระนางมากกว่าลูกของคนอื่น ข้าพเจ้ามองไม่เห็นว่าจะมีความตั้งใจที่จะแยกพ่อออกไป”

เรื่องกระซิบกันให้แซ่ดจากราชสำนักกัมพูชาอีกเรื่องหนึ่งถึงสาเหตุที่ทำให้กษัตริย์สีหนุทรงห่างเหินกับบรรดาโอรสและธิดา คือพฤติกรรม “เพลย์บอย” ของพระองค์  ก่อนหน้าที่จะพบและเสกสมรสกับพระราชินีโมนิก กษัตริย์สีหนุมักจะทรงใช้เวลากับสาวๆไปพร้อมกับการบริหารราชการแผ่นดินจนไม่มีเวลาเหลือให้ลูกๆ

“นั่นเป็นวิถีชีวิตของพ่อในฐานะที่เป็นกษัตริย์”

เจ้าชายรณฤทธิ์ยังเล่าถึงชายาคนสุดท้ายของพ่อว่า ท่านเคารพพระราชินีโมนิกทั้งในฐานะมารดาเลี้ยงและฐานะที่เป็นพระราชินีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา แม้ว่าจะได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบเกี่ยวกับพระราชินีอยู่เสมอ

“แต่พระราชินีโมนิกอยู่เคียงข้างพ่อตลอดเวลา ช่วยเหลือพ่อ ยอมให้พ่อต่อสู้เพื่อประเทศชาติ”

เจ้าชายรณฤทธิ์อายุเพียงแปดขวบตอนที่กษัตริย์สีหนุพบและตัดสินใจอยู่ร่วมกับพระนางโมนิก กษัตริย์สีหนุเสกสมรสอย่างเป็นทางการกับพระราชินีโมนิกในปี 2498 ซึ่งเป็นปีที่กษัตริย์สีหนุทรงสละราชบัลลังก์ให้กับพระเจ้าสุรมฤต ผู้เป็นพระบิดา

พระบาทสมเด็จสุรมฤตสิ้นพระชนม์ปี 2503 ตอนนั้นเจ้าชายรณฤทธิ์อายุ 16 ปี เจ้าชายสีหมุนี 7 ชันษา และเจ้าชายนรินทรพงษ์ 6 ชันษา

ราชบัลลังก์กัมพูชาไร้กษัตริย์และรัชทายาทนับแต่นั้นมา อดีตกษัตริย์สีหนุเลือกที่จะต่อสู้ทางการเมืองแบบไร้บัลลังก์ยาวนานมาถึง 33 ปีโดยไม่ยอมแต่งตั้งรัชทายาท พระองค์ทรงตัดสินใจคืนสู่ตำแหน่งกษัตริย์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2536 และท้ายสุด เลือกที่จะสละตำแหน่งกษัตริย์เป็นครั้งที่ 2 ในปี 2547 ให้กับเจ้าชายนโรดม สีหมุนี โอรสที่ประสูติกับพระราชินีโมนิก ซึ่งไม่ได้ผิดไปจากความคาดหมายและเสียงซุบซิบนินทาที่แพร่สะพัดทั่วราชอาณาจักรกัมพูชาก่อนหน้านี้

เรื่องการสืบสันติวงศ์ของราชบัลลังก์กัมพูชานั้นซับซ้อนยิ่งนัก เพราะนอกจากการต่อสู้แย่งชิงกันของสองราชสกุล คือ ราชสกุลนโรดม และราชสกุลสีสุวัตถิ์แล้ว ยังมีอำนาจคุกคามแบบซ่อนเร้นจากภายนอกทั้งจากซีกโลกตะวันตกคือ ฝรั่งเศส และราชสำนักสยาม และเวียดนาม

ฝรั่งเศสสามารถจัดการให้กัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาได้โดยราบรื่น ในปี พ.ศ. 2406 จากการเชื้อเชิญอย่างลับๆของกษัตริย์นักองค์ด้วง (King Ang Duong) และเจ้านโรดม พระโอรสองค์โตของนักองค์ด้วง ทั้งสองพระองค์ได้ขอให้ฝรั่งเศสช่วยกัมพูชาให้เป็นอิสระจากอำนาจของสยามและเวียดนาม

ก่อนหน้านี้ องค์ด้วงถูกเชิญตัวมาประทับอยู่ที่ราชสำนักสยามนานถึง 27 ปีตั้งแต่พระองค์อายุ 16 ชันษาและถูกส่งกลับไปปกครองกัมพูชาในนามของสยาม กษัตริย์นักองค์ด้วงทรงส่งราชโอรสสองพระองค์ คือ เจ้าชายนโรดม และเจ้าชายสีสุวัตถิ์ มารับการศึกษาที่สยาม และทรงแต่งตั้งเจ้าชายนโรดมเป็นรัชทายาท เจ้าชายนโรดมเป็นโอรสที่เกิดจากชายาชาวสยามที่กษัตริย์องค์ด้วงพากลับไปที่ราชสำนักกัมพูชาด้วย

กษัตริย์องค์ด้วงสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2403 แต่เจ้าชายรัชทายาทต้องรอไปอีกเกือบสี่ปีกว่าที่จะสามารถประกอบพิธีราชาภิเษกได้ เพราะทางสยามยึดเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไว้

ทั้งนี้ หนังสือ “A History of Cambodia” ที่เขียนโดย David Chandler ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีราชาภิเษกของเจ้าชายนโรดมไว้ว่า

“...มีข้อมูลของฝรั่งเศสหลายชิ้นที่บันทึกถึงสิ่งที่น่าหัวร่อที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันระหว่างการประกอบพระราชพิธี นั่นคือฝ่ายสยามและฝ่ายฝรั่งเศสทะเลาะกับเกี่ยวกับลำดับ พิธีการ และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ในขณะที่เจ้านโรดมก็ทรงเพ้อฝันอย่างไม่เดียงสาด้วยการประกาศยอมสวามิภักดิ์ต่อทั้งกษัตริย์สยามและฝรั่งเศส เป็นครั้งสุดท้ายที่กรุงเทพฯเป็นผู้คัดเลือกและประกาศพระนามของพระมหากษัตริย์กัมพูชา”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net