วิเคราะห์ TPP (1): ไทยกลาง ‘เขาควาย’ 2 ขั้วอำนาจ ‘จีน-สหรัฐ’

เสวนาวิชาการ ‘วิเคราะห์ TPP ประเทศไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร’ ผอ.อาเซียนศึกษา มธ.ชี้ สหรัฐฯ ถูกสั่นคลอนจากทางเศรษฐกิจจาก ‘จีน-อาเซียน’ TPP คือการรุกทางยุทธศาสตร์ครั้งใหม่สู่การครองผู้นำเศรษฐกิจ ผอ.ศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ เตือนไทยเตรียมแสดงท่าที หวั่นปมปัญหาทะเลจีนใต้ปะทุได้ทุกขณะ

 
 
นับจากการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เพื่อคัดค้านความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหรัฐ ช่วงปี 2549 ซึ่งในที่สุดการเจรจาดังกล่าวก็เข้าสู่ภาวะชะงักงัน กรณีนายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีสหรัฐสหรัฐฯ จะแถลงข่าวร่วมในการประกาศการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และการรื้อฟื้นการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐ (TIFA JC) ในวันอาทิตย์ที่ 18 พ.ย.นี้ นำมาสู่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ด้วยว่านี่คือการรื้อฟื้น ‘FTA ไทย-สหรัฐ’ ครั้งใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม รวมทั้งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิมด้วย
 
เพื่อทำความเข้าใจต่อรายละเอียดของข้อห่วงใยต่างๆ วันนี้ (17 พ.ย.55) แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ ‘วิเคราะห์ TPP ประเทศไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร’ ณ ศศนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
 
สหรัฐฯ ในวันที่อำนาจถูกสั่นคลอนจากการเติบโตของ ‘จีน-อาเซียน’
 
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนายการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็น TPP ในสังคมไทยไม่ตื่นตัวนักรวมทั้งในส่วนของนักวิชาการเองด้วย แต่โดยส่วนตัวเล็งเห็นว่าตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ และถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐสหรัฐฯ ในด้านเศรษฐกิจ หลังจากที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของสหรัฐฯถดถอย GDP ซึ่งเคยอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของ GDP โลก เมื่อปี 1950 ขณะนี้ได้ลดลงมาเหลือไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ญี่ปุ่นและจีนได้ผงาดขึ้นเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในเอเชีย และมีการทำนายว่าในอนาคตจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่สหรัฐฯ
 
นอกจากนั้นสหรัฐฯ ยังต้องการครองความเป็นผู้นำทางการทหารในภูมิภาคเอเชีย โดยการดำเนินนโยบายล่าสุดคือการปิดล้อมจีนซึ่งไม่ยอมสยบให้และกำลังจะมาท้าทายสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน
 
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือการผงาดขึ้นมาของเอเชีย ซึ่งในอนาคตศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลกจะย้ายฐานจากตะวันตกมาตะวันออกนั่นคือเอเชียตะวันออก เพราะฉะนั้นพื้นที่นี้จึงกลายมาเป็นแหล่งผลประโยชน์สำคัญของสหรัฐฯ ที่ไม่อาจละเลยได้ และในช่วง 10 ที่ผ่านมามีแนวโน้มว่าประเทศในเอเชียจะมีการรวมตัวกันโดยไม่มีสหรัฐฯ เกิดการทำ FTA ในกรอบอาเซียน เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-อินเดีย และกำลังจะมีการทำเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก (East Asia Free Trade Area: EAFTA) หรือ FTA อาเซียน+3 คือ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จะเป็น FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และจะกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐฯ ปีละ 25,000 ล้านเหรียญ ซึ่งผลกระทบตรงนี้จะมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
 
“สหรัฐฯ มองวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้อย่างวิตกกังวลว่าแนวโน้มเหล่านี้จะทำให้สหรัฐฯ ลดบทบาทลงเรื่อยๆ แล้วสหรัฐฯ จะถูกกีดกันจากปฏิสัมพันธ์ต่างๆ โดยเฉพาะ FTA ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคโดยไม่มีสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ และจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อผลประโยชน์ทั้งทางด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เพราะฉะนั้น TPP จึงเกิดขึ้น” รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าว
 
 
 
TPP การรุกทางยุทธศาสตร์ครั้งใหม่ของสหรัฐฯ สู่การครองเจ้าเศรษฐกิจ
 
ผู้อำนายการศูนย์อาเซียนศึกษา มธ.กล่าวด้วยว่า TPP คือความต้องการของสหรัฐฯ ที่จะป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่มและทำให้การรวมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของกรอบที่ใหญ่กว่า คือเป็นส่วนหนึ่งของ TPP โดย TPP เริ่มจากสมาชิก 9 ประเทศ ประกอบด้วยชาติอาเซียน 4 ประเทศ คือ บรูไน เวียดนามมาเลเซีย สิงคโปร์ และอีก 6 ประเทศประกอบด้วย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่มีทีท่าจะเข้าร่วมประกอด้วย ญี่ปุ่น แคนนาดา และแม็กซิโก โดย TPP มุ่งจะขยายจำนวนสมาชิกให้ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมดยกเว้นจีนซึ่งถือเป็นคู่แข่งสำคัญ
 
“สหรัฐฯ เล็งเห็นว่า TPP จะเป็นกลไกสำคัญในการที่จะใช้แข่งกับ FTA ของอาเซียน จะใช้ในการที่จะปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ จะใช้ในการที่จะเปลี่ยนขั้วจากการที่อาเซียนจะเป็นแกนกลางของ FTA ให้สหรัฐฯ กลายมาเป็นแกนกลางเสียงเอง TPP มีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะทำให้อเมริกากลับมาผงาดทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้อีกครั้งหนึ่ง” รศ.ดร.ประภัสสร์ วิเคราะห์ถึงยุทธศาสตร์การเดินหน้า TPP ของสหรัฐฯ
 
 
ดู ‘ผลดี’ เทียบ ‘ผลเสีย’ หากไทยเดินหน้าร่วม TPP
 
รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวด้วยว่า การตัดสินใจของรัฐบาลทั้งที่มีท่าทีรีรอมานานร่วม 3-4 ปีครั้งนี้ เชื่อว่าเป็นเพราะต้องการเอาใจโอบามาในโอกาสที่มาเยือนไทย และรัฐบาลก็หวังว่าไทยจะได้ประโยชน์ในแง่การค้า-การส่งออก และหวังผลจากการเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นมากยิ่งขึ้นกับสหรัฐฯ ซึ่งยังถือเป็นผู้คุมเกมโลกอยู่
 
อย่างไรก็ตาม ในแง่ประโยชน์จากการส่งออกหากมองประเทศสมาชิก TPP จะพบว่า 4 ประเทศอาเซียนนี้เราจะไม่ได้อะไร เพราะกำลังจะมีการรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อยู่แล้ว ส่วนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็มีการทำ FTA กับไทยอยู่แล้ว ชิลีและเปรูเราก็กำลังทำ FTA กันอยู่ แล้วการค้าขายก็น้อยมาก สำหรับญี่ปุ่นเรามี FTA อยู่แล้ว ขณะที่แคนนาดากับแมกซิโกก็ค้าขายกันน้อยมาก สรุปแล้วการเข้าร่วม TPP ของไทยในที่สุดก็จะไปได้ที่สหรัฐฯ
 
นอกจากนี้สิ่งที่รัฐบาลไทยกังวลใจคือกลัวตกรถไฟขบวน TPP หากประเทศอื่นเข้าร่วมแต่ไทยไม่เข้าเราจะเสียเปรียบ และหากเข้าร่วมช้าจะต้องมีกระบวนการเช่นเดียวกับ องค์การการค้าโลก หรือ WTO (World Trade Organization) ซึ่งต้องมีการเจราจากับประเทศสมาชิกต่างๆ เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนจึงจะเข้าร่วมได้
 
รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวต่อมาถึง ผลกระทบในเชิงลบที่น่ากังวลซึ่งทำให้ต้องคิดอย่างรอบคอบ อาทิ การที่ TPP ซึ่งมีมาตรฐานสูงจะมีผลกระทบต่อสาขาเกษตร การค้าภาคบริการ มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม และเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในประเด็นสิทธิบัตรยา อีกทั้ง อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในอาเซียน ลดบทบาทของอาเซียนลง ในขณะเดียวกันก็อาจก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างสมาชิกในอาเซียน ทำให้เขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออกรวมกลุ่มไม่สำเร็จ และกระทบต่อ FTA ที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน
 
“อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า TPP คือยุทธศาสตร์การโดดเดี่ยวจีนทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นการที่ได้เข้าร่วม TPP นั้นก็แสดงให้เห็นจุดยืนที่ชัดเจนว่าไทยเราเองเข้าข้างอเมริกา แล้วกำลังจะเป้นพวกเดียวกับอเมริกาในการโดดเดี่ยวจีนทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ไทยจีน” รศ.ดร.ประภัสสร์กล่าว
 
 
ไทย-จีน การเดินหน้าสู่ความสัมพันธ์อันเปราะบางหลัง TPP
 
วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการเจรจาการค้าเสรีแต่สิ่งเหล่านี้มันต้องเกิด และเกิดอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 มาจนถึงฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีมาตราหนึ่งที่ระบุว่าให้รัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนการค้าเสรี ดังนั้นไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลจะขัดขวางการค้าเสรีไม่ได้ ดังนั้น หากจะมีการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศใดก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือเสรีแล้วประเทศไทยได้เปรียบหรือเสียเปรียบ และสำหรับTPP นั้นส่วนตัวถือว่าเป็นกลไกหนึ่งของการค้าเสรีซึ่งขยับขึ้นมาอีกก้าวหนึ่งจากที่มีมาแต่เดิมแล้ว โดยมีสหรัฐฯ เป็นฝ่ายรุก หลังจากใน 10 ปีที่ผ่านมาปล่อยให้จีนเป็นฝ่ายรุกในภูมิภาคนี้
 
อาจารย์สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวถึงสิ่งที่ไทยควรคำนึงถึงด้วยว่า หลายปีที่ผ่านมา การเปิดการค้าเสรีของจีนที่รุกคืบเข้ามาในอาเซียน จีนได้ทำหลายๆ สิ่งที่เป็นเสรีจริงๆ และเป็นประโยชน์ไม่น้อย ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณว่าจะถดถอยเมื่อปี 2552 จนกระทั้งประสบปัญหา ในปีนั้นจีนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกที่อลังการ ส่วนตัวคิดว่านั่นคือสัญลักษณ์ของมหาอำนาจใหม่ที่จะมีพฤติกรรมระหว่างประเทศที่แตกต่างไปจากมหาอำนาจตะวันตก และการดำเนินการเสรีของจีนในอาเซียน จีนก็ได้เตรียมพร้อมในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะต่อการเตรียมรับ AEC อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการคมนาคมขนส่ง ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่สหรัฐต้องคิดหนัก
 
 
ขณะที่ จีนก็มีปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้กับฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งมีการประทะกันเกิดขึ้นในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา และจีนยังมีความขัดแย้งกับญี่ปุ่นในทะเลจีนตะวันออก กรณีหมู่เกาะเตียวหยู หรือเซนกากุ ตรงนี้เป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางการทหารอย่างชัดเจน และอาจเป็นปมปัญหาให้สหรัฐฯ เข้ามาอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ฟิลิปปินส์และเวียดนามเห็นชอบ และถึงจุดหนึ่งไทยอาจต้องแสดงท่าทีต่อปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ในฐานสมาชิกอาเซียน
 
“สำหรับผมแล้ว เรื่องของ TPP ที่สหรัฐเป็นโต้โผใหญ่ในครั้งนี้นี่ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแท้ที่จริงแล้วคือนโยบายที่ต้องการปิดล้อมจีน” วรศักดิ์กล่าว
 
วรศักดิ์ประเมินด้วยว่า ในมิติทางการเมืองจีนนั้นพร้อมที่จะทำสงคราม แม้จะเมินแล้วว่ามีแสงยานุภาพด้อยกว่า ขณะที่ในทางการทูตจีนจะบอกว่าไม่ต้องการการสู้รบ ส่วนการที่ TPP จะไม่เอาจีนเข้าร่วมนั้น เหมือนละครที่ขาดตัวแสดงหลัก และจีนจะออกมาพูดอย่างสวยงามว่าพร้อมที่จะเข้าร่วม TPP ซึ่งจะทำให้สหรัฐต้องคิดหนักว่าจะตัดจีนออกไปหรือไม่ และในส่วนประเทศอาเซียนที่เข้าร่วม TPP ก็ต้องคิดตรงนี้ด้วย
 
 
แจงแม้แถลงข่าวร่วมไม่เข้า ม. 190 แต่ผูกพันทางการเมือง ทั้งสร้างเงื่อนไขปิดปากคนเห็นต่าง
 
จักรชัย โฉมทองดี โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (FOCUS) กล่าวว่า TPP มีนัยทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจมหาศาล ทั้งในเรื่องฐานการผลิตและทรัพย์สินทางปัญญา การที่ ครม.มีมติที่จะแถลงว่าจะแสดงเจตจำนงร่วมเจรจา TPP จึงเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจ เพราะยังไม่เคยมีการทำความเข้าใจ ไม่เคยมีการหารือ การศึกษาที่รัฐบาลใช้มีอยู่เพียงชิ้นเดียว จากการที่กระทรวงพาณิชย์จัดจ้าง บริษัทไบรอัน เครฟ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนให้ทำการศึกษาความคุ้มค่าทางธุรกิจ สำเร็จไปเมื่อตอนเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ไม่ทราบว่าในการประชุมครม.ที่ผ่านมามีผู้ศึกษารายละเอียดเรื่องนี้ก่อนหรือไม่
 
ตัวแทนจากโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนากล่าวด้วยว่า เครือข่ายภาคประชาชนที่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ เรายืนยันว่าประเทศไทยไม่ควรหยุดหยุดนิ่งในเรื่องประเด็นทางการค้า เราไม่ควรหยุดนิ่งในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราควรมีความกล้าหาญในการร่วมตัดสินใจที่จะร่วมเข้าเป็นภาคีใดภาคีหนึ่งในกลางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการค้าหรือความมั่นคง แต่ทั้งหลายทั้งมวลนี้จะเป็นต้องยืนอยู่บนหลักการธรรมาภิบาล และยืนอยู่บนองค์ความรู้ ถ้ามีกระบวนการที่ดี ถ้าเรามีองค์ความรู้เพียงพอ เราตัดสินใจร่วมกัน คิดว่าประชาชนพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาล
 
“ณ ขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลทำนั้นเป็นการไม่ให้เกียรติประชาชน ไม่ให้เกียรติแม้แต่ประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งเราจะไปหารือด้วย ถ้าเกิดว่าเราจะกลับคำหลังจากนี้อีกไม่กี่เดือนว่าเราจะไม่เดินหน้า ภาพลักษณ์ของประเทศไทยจะเสียหาย”จักรชัยกล่าว พร้อมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีใช้ความกล้าหาญที่มีทบทวนและชะลอเรื่องดังกล่าวไปก่อน จนกว่าจะมีกระบวนการที่เหมาะสมเพียงพอ
 
จักรชัย กล่าวว่า แม้ขณะนี้การดำเนินการของรัฐบาลยังไม่เข้ามาตรา 190 เพราะยังไม่มีผลผูกพันในทางกฎหมาย แต่ก็จะมีผลผูกพันทางการเมือง อีกทั้งรัฐบาลยังตัดตอนกระบวนการตามมาตรา 190 มัดปากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจา สร้างความกังวลหากจะทำการคัดค้าน เนื่องจากการแสดงเจตนารมณ์นั้นเป็นการประกาศในฐานะตัวแทนประชาชนทั้งประเทศ หากเหตุการณ์ต่อมาไม่ได้เป็นไปตามที่แถลงการณ์ร่วมแล้วอาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศได้
 
ทั้งนี้ ตามมาตรา 190 คือ กระบวนการภายในประเทศเมื่อรัฐบาลริเริ่มกรอบการเจรจาแล้วจะมีการนำไปหารือกับประชาชน จากนั้นจะนำเข้าสู่สภาเพื่อให้ความเห็นชอบ จึงนำไปเริ่มกระบวนการนอกประเทศจนได้ร่างการเจรจา แล้วนำกลับมาในประเทศเพื่อผ่านการให้ความเห็นชอบกระบวนการเจรจามีผลผูกพัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท