‘แรงเงา’ กับวัฒนธรรมกฎแห่งกาม กฎแห่งกรรม (และธรรมะเข้าแทรก)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ว่าจะไม่เขียนเกี่ยวกับละคร “แรงเงา” ตามกระแสที่กำลังมาแรง แต่เห็น อ.วอร์ม (ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์) ‘อิน’ กับเรื่องนี้แบบดุเดือดเลือดพล่านเหลือเกินใน FB ทุกคืนวันจันทร์ อังคารก็เลยลองดูละครเรื่องนี้บ้าง บังเอิญว่าตอนที่ผมดูนั้นเห็นเพื่อนนางเอกพูดนางเอก (ประมาณ) ว่า “เธอเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมไหม ถ้าเชื่อใครมันทำอะไรไม่ดีเอาไว้กรรมจะตามสนองเอง ...” แล้วฉากต่อมาก็เห็นพระเอกกับครอบครัวใส่บาตรทำบุญวันเกิด ผมก็เลยถามเมียที่ดูแรงเงาแบบติดหนึบมาตลอดว่า เรื่องราวมันเป็นยังไง จึงเกิด “ซาโตริ” ว่า อ๋อ นี่มันเป็นเรื่องราวของ “วัฒนธรรมกฎแห่งกาม กฎแห่งกรรม (และธรรมะเข้าแทรก)” ในสังคมบ้านเรานี่หว่า

“วัฒนธรรมกฎแห่งกาม” ในบ้านเรานั้นเป็นวัฒนธรรมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้ชายเป็นผู้กำหนดกฎและคุมกฎเอง ฉะนั้น “ผู้มีอำนาจทำอะไรไม่ผิด” เพราะเรื่อง “ชู้สาว” ผู้ชายมีแต่ได้ไม่มีเสีย เขามักจะบอกกับเมียหลวงว่า “คุณอย่าคิดอะไรมากน่า เมียน้อยมันก็แค่ของเล่นชั่วคราวของผมเท่านั้นเอง” และบอกกับเมียน้อยว่า “ผมเบื่ออีแก่ที่บ้านเต็มทน” หรือถ้าดีขึ้นมาหน่อยคือ “ผมรับผิดชอบทั้งสองฝ่ายได้น่า ไม่มีปัญหาอะไร ขอให้เชื่อผม” หมายความว่าในวัฒนธรรมกฎแห่งกาม ผู้ชายทำอะไรไม่ผิดและจะไม่มีปัญหาอะไร ถ้าเมียหลวง เมียน้อยยอมเดินตามกฎที่เขากำหนดและควบคุมมัน

ผมเคยถามอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ว่า “สมัยโบราณกษัตริย์ก็มีสนมมากไม่ผิดศีลข้อกาเมหรือครับ แล้วทำไมถึงยกย่องกันกษัตริย์ที่มีสนมเยอะๆว่าทรงทศพิธราชธรรม” (ศีลเป็นหนึ่งในทศพิธราชธรรม 10 ข้อ) อาจารย์สุลักษณ์ตอบแค่ว่า “ไม่ได้ค้นดู แต่พระเจ้าพิมพิสาร (ที่เป็นโสดาบัน) ก็มีสนมหลายคนนะ” ผมก็เลยเข้าใจเองว่า เรื่องสนมห้าร้อยนี่อาจอ้างว่า เป็นความยินยอมพร้อมใจกันทุกฝ่ายชาวพุทธจึงเห็นว่าไม่ผิดศีลข้อกาเม แต่ก็นั่นแหละครับ หากมีกษัตริย์เป็นผู้หญิงและมีผัวน้อยห้าร้อยคนบ้าง (โทษทีไม่รู้จะใช้คำอะไรแทน “สนมห้าร้อย”) สังคมก็ประณามอยู่ดี เพราะเอาเข้าจริงกฎแห่งกามเป็นเรื่องของผู้ชายเป็นฝ่ายกำหนดมาตรฐานถูก-ผิดทางศีลธรรม เป็นทั้งฝ่ายสร้างกฎและฝ่ายคุมกฎ

ส่วนเมียหลวง เมียน้อยก็จะมี “วัฒนธรรมกฎแห่งกรรม” เข้ามาเกี่ยวข้อง เมียหลวงนั้นอ้างความชอบธรรมทางศีลธรรมเพื่อที่จะ 1) ยืนยันสิทธิความเป็นเจ้าของสามี 2) ประณามเมียน้อยว่าเป็นคนเลวแย่งผัวชาวบ้าน และ 3) สำหรับคนเลวแล้วคือคนที่สมควรถูกขจัดอย่างไม่จำเป็นต้องเลือกวิธีการที่ถูกหรือผิด เช่น อาจจะจ้างคนไปทำร้ายร่างกาย ข่มขืน หรือฆ่าเมียน้อย เป็นต้น สำหรับเมียน้อยนั้นไม่มีความชอบธรรมทางศีลธรรมรองรับเลย สังคมไม่อยู่ข้างเธอ กฎแห่งกรรมสำหรับเมียน้อยก็เป็นข้ออ้างเพื่อ 1) ยอมรับชะตากรรม เพราะทำกรรมเก่ามาไม่ดีชีวิตถึงได้เป็นแบบนี้ 2) หากถูกเมียหลวงตามทำร้ายด้วยวิธีที่ผิดกฎหมายก็ไม่ควรตอบโต้ ปล่อยให้กรรมตามสนองเขาเอง และ 3) หรือไม่ก็พลิกตัวเองมาเป็นผู้กำหนดเกมในกฎแห่งกาม

มุตตาในแรงเงาคือเหยื่อของกฎแห่งกามที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ทำอะไรไม่ผิด และมีเมียหลวงที่อ้างศีลธรรมในฐานะเจ้าของสามีที่สามารถใช้วิธีการใดๆก็ได้เพื่อกำจัดเมียน้อยซึ่งเป็น “คนเลว” ส่วนมุนินทร์ที่มาแก้แค้นแทนน้องสาวนั้น คือผู้ที่พยายามเข้าไปเป็นผู้กำหนดเกมในกฎแห่งกาม และพระเอกคือคนดีที่นำธรรมะเข้ามาแทรกอยู่ตรงกลางระหว่าง “ผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่”

สำหรับชายผู้นั้น (เจนภพ) ผู้ซึ่งทำอะไรไม่ผิด และไม่ต้องรับผิดชอบในการทำอะไร แม้เป็นทั้งผู้กำหนดกฎและผู้คุมกฎ แต่ในความเป็นจริงเขากลับคุมกฎหรือคุมเกมไม่ได้เลย เขาหลอกตนเองว่ามีอำนาจเหนือกว่าทั้งเมียหลวง เมียน้อย แต่การหลอกตัวเองเช่นนั้นทำให้เขาถูกคนที่แสร้งเชื่อในอำนาจของเขาปั่นหัวตลอดเวลา จนครอบครัวล่มสลาย ลูกติดยา เมียประสาทแดก

ดูๆ ไป แรงเงาออกจะคล้ายๆ เรื่องราวละครการเมืองในประเทศนี้ เพราะวัฒนธรรมกฎแห่งกามไม่ใช่เรื่องเพศเท่านั้น แต่ศัพท์ว่า “กาม” หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ชวนปรารถนา น่าอยากได้ อยากเอา เช่น อำนาจ ผลประโยชน์ ในบ้านเราฝ่ายอำมาตย์เป็นฝ่ายกำหนดกฎแห่งกามเกี่ยวกับเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ และเสื้อแดงคือฝ่ายที่พยายามต่อสู้ ต่อรองเพื่อเข้ามามีอำนาจกำหนดกฎและคุมกฎให้เป็นประชาธิปไตยอย่างอารยประเทศ

แต่ในสถานการณ์ที่ดุลอำนาจยังสับสน ความขัดแย้งระหว่าง “ผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่” ดำเนินมาจนผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และยังดำเนินต่อไปอย่างอาจสุ่มเสี่ยงต่อความสูญเสีย “ธรรมะ” ก็เข้ามาแทรกเป็นระยะๆ ตั้งแต่ธรรมะไล่คนเลว (แบบเมียหลวง) ธรรมะทำตัวเป็นกลาง สมานฉันท์ สงบสันติ สามัคคีประเทศไทย กระทั่งธรรมสุญญตาแห่งอำนาจ ปล่อยให้กฎธรรมชาติลงโทษ ให้เข้าใจ ให้อภัย ลืมๆ มันไปเสีย (แบบพระเอก)

แน่นอน ในละครแรงเงา และละครการเมืองแทบไม่มีการพูดถึง “ระบบอำนาจที่เป็นปัญหา” อย่างตรงไปตรงมาแบบจริงๆ จังๆ ปัญหาแทบทุกอย่างถูกทอนลงเป็นเรื่อง “ดี – เลว” ของ “ตัวบุคคล” และตัวบุคคลกลายเป็นภาระของมวลชน (หรือสังคมทั้งสังคม) ที่ทั้งต้องออกมาพิทักษ์ปกป้อง และ/หรือทั้งต้องออกมาขับไล่!

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท