Skip to main content
sharethis

จับเครือข่ายหลอกแรงงานไปค้ากามโอมาน

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ ผบก.ปคม. แถลงข่าวจับกุม น.ส.ไอศิกา เคางาม หรือ มายด์ อายุ 32 ปี หุ้นส่วนร้านนวดแผนไทยแห่งหนึ่งในกรุงมัสกัต ประเทศโอมาน ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1851/2555 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 55 ข้อหา ร่วมกันค้ามนุษย์โดยแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี หลังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้รับหญิงสาวผู้เสียหายซึ่งถูกหลอกว่ามีงานนวดแผนไทย รายได้ดีที่ประเทศโอมานให้ทำแต่เมื่อมาถึงกลับถูกบังคับค้าประเวณี

สำหรับคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ผู้เสียหายสาวอายุ 30 ปี ชาวกรุงเทพฯ โทรศัพท์ทางไกลจากประเทศโอมานมายัง บก.ปคม.เพื่อขอความช่วยเหลือหลังถูกขบวนการค้ามนุษย์หลอกลวงไปค้าประเวณีที่ กรุงมัสกัต ตำรวจ ปคม.จึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศช่วยเหลือออกมาได้ ภายใน 24 ชั่วโมง จากนั้นได้แจ้งความดำเนินคดีกับขบวนการดังกล่าวซึ่งที่ผ่านมามีการขออนุมัติ หมายจับและติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นนายหน้าได้แล้ว 2 คน คือ นางวรรณวิภา หรือ ณัฎฐ์ธยาน์ วัฒนาพงษากุล และนายพิบูลย์ ละภักดี หรือ เจนนี่ ได้แล้วก่อนหน้านี้

(เนชั่นทันข่าว, 19-11-2555)

 

เด็กไทยเยี่ยม! คว้าเหรียญทองช่างเชื่อม แข่งฝีมือแรงงานอาเซียน ที่อินโดนีเซีย

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 15-19 พฤศจิกายน มีการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่จาการ์ตา คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ปีนี้มีชาติสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ส่งเยาวชนร่วมแข่งขันประมาณ 300 คน และประเทศไทยส่งเยาวชน 34 คน ร่วมแข่งใน 17 สาขา เยาวชนไทยจำนวน 2 คน สามารถคว้า 2 เหรียญทองแรกในสาขาช่างเชื่อม ได้แก่ นายประเวศน์ บุญศรี อายุ 20 ปี จากวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก และนายปรีชา หาญชนะ อายุ 21 ปี จากศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จ.สระแก้ว โดยทำคะแนนนำชาติอื่นจนถึงวันสุดท้ายของการแข่งขัน และได้อีก 2 เหรียญทองแดงในสาขาเมคคาทรอนิกส์ ส่วนสาขาอื่นยังต้องรอการประกาศผลอย่างเป็นทางการ ในพิธีมอบรางวัลและปิดการแข่งขัน วันที่ 19 พฤศจิกายนนี้

นายปรีชา หาญชนะ เจ้าของเหรียญทองสาขาช่างเชื่อม กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้เหรียญนี้ไปฝากคนไทย เพราะเหรียญทองสาขาช่างเชื่อมเป็นเหรียญบังคับที่ไทยต้องได้ เนื่องจากเป็นแชมป์มา 7 สมัย ทุกคนจึงคาดหวังไว้มาก ซึ่งในระหว่างแข่งขัน รู้สึกกดดันบ้างเหมือนกัน เพราะในระดับอาเซียน ถือว่าฝีมือคนไทยยังเหนือกว่าชาติอื่น โดยโจทย์ในการแข่งขันกำหนดให้ทำงานเชื่อมทั้งหมด 4 ชิ้น และทำได้ดีทุกชิ้นและได้คะแนนเต็มในงานเชื่อมอะลูมิเนียม ส่วนงานเชื่อมท่อที่ต้องมีการเอกซเรย์ดูชิ้นงานอย่างละเอียดก็ผ่านได้ด้วยดี ในขณะที่หลายชาติไม่ผ่าน ทำให้มีกำลังใจทำงานชิ้นที่เหลือจนประสบความสำเร็จ โดยก่อนหน้านี้ได้รับการฝึกฝีมือที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จ.สมุทรปราการ นาน 5 เดือน และเคยได้รับเหรียญเงินในการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 24

(ประชาชาติธุรกิจ, 19-11-2555)

 

เครือข่าย"พนง.มหาวิทยาลัย"ประท้วง ชวดโบนัส-เงินเดือนไม่เป็นธรรม

นายวีรชัย พุทธวงศ์ ประธานหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในฐานะเลขานุการเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา เปิดเผยว่า ปัจจุบันพนักงานมหาวิทยาลัยมีอยู่สองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับการจ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินที่มหาวิทยาลัยได้รับจากสำนัก งบประมาณทุกๆ ปี และกลุ่มที่มหาวิทยาลัยจ้างโดยใช้เงินรายได้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่านอกจากพนักงานที่จ้างด้วยเงินงบประมาณ ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยไม่ยอมให้เงินเดือนเต็มตามมติคณะรัฐมนตรี 1.5-1.7 เท่าแล้ว พนักงานที่จ้างด้วยเงินรายได้ ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมยิ่งกว่าด้วยสัญญาจ้างปีต่อปี และหลายคนทำงานมากว่า 15 ปี จบปริญญาโท แต่เงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท ส่วนระดับปริญญาตรี เงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น

นายวีรชัยกล่าวต่อว่า ครม.ได้มีมติให้จ้างพนักงาน ทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี 2545 โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าข้าราชการ คือ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า สำหรับ สาย ก และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า สำหรับ สาย ข และ สาย ค ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ดังนั้น พนักงานไม่ว่าจะจ้างด้วยเงินงบประมาณ หรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย ควรได้รับเงินเดือนเท่ากัน

"ความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำที่ปฏิบัติต่อพนักงาน ได้ทยอยเปิดเผยเรื่อยๆ แม้ในมหาวิทยาลัยรัฐจำนวนมากมีสัดส่วนพนักงานมากกว่า 80% แต่ผู้บริหารส่วนใหญ่ก็ยังเป็นข้าราชการ และเมื่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ ครม. ให้โบนัสบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา เป็นเงินรางวัลให้กับบุคลากรที่สร้างสรรค์ผลงานให้สถาบันตนเอง โดยให้เป็นเงินพิเศษโบนัส แต่โบนัสเหล่านี้กลับห้ามแจกจ่ายให้พนักงาน ส่วนผู้บริหารรับหลักหลายแสนบาท เลขานุการเครือข่ายกล่าว

(ประชาชาติธุรกิจ, 19-11-2555)

 

'สมศักดิ์' พร้อมนำสหภาพแรงงานฯ ประกาศร่วมม็อบ 'เสธ.อ้าย'

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ อดีตหนึ่งในห้าแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศเข้าร่วมชุมนุมกับองค์การพิทักษ์สยาม นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม ในวันที่ 24-25 พ.ย.นี้พร้อมทั้งจะนำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมชุมนุมด้วย

(ว๊อยซ์ทีวี, 19-11-2555)

 

สรส.ยังไม่มีมติร่วมม็อบ "เสธ.อ้าย" หรือไม่

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การไปร่วมการชุมนุมกับกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามนั้น ยังมีความเห็นที่หลากหลายต่างกันไปของแต่ละสหภาพ ซึ่งยังไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจน ว่าจะเป็นการเข้าไปร่วมในนามองค์กรสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เพราะสหภาพแต่ละแห่งมีอิสระ ดังนั้น จะต้องไปพูดคุยกันอีกครั้ง

ส่วนการที่ถอนตัวออกจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตยนั้น นายสาวิทย์ ชี้แจงว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ถอนตัวก่อน เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่บุคคลก็ขึ้นกับองค์กร

อย่างไรก็ตาม นายสาวิทย์ กล่าวว่า การชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม ต้องสามารถตอบข้อกล่าวหาของรัฐบาลได้ เพื่อดึงมวลชน โดยควรมีเหตุผลที่ชัดเจน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19-8-2555)

 

ก.แรงงานแก้ระเบียบลดปัญหาค่าหัวคิวไปต่างประเทศให้ถูกลง

กรุงเทพฯ 20 พ.ย.- ก.แรงงาน เตรียมแก้ไขระเบียบการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายของบริษัทจัดหางานที่เรียกเก็บจาก คนไปทำงานต่างประเทศให้ถูกลง ลดช่องโหว่บริษัทฯ  เอาเปรียบแรงงาน  เตรียมนัดชี้แจงระเบียบที่แก้ใหม่ให้เจ้าหน้าที่และบริษัทฯ เข้าใจตรงกัน พร้อมสั่งทุกกรมศึกษาจุดอ่อนข้อบังคับเสร็จใน 30 วัน

นายสง่า ธนสงวนวงศ์  เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน  เปิดเผยว่า  หลังจากที่มีการร้องเรียนจากแรงงานที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอิสราเอล และไต้หวัน ที่บริษัทจัดหางานเรียกเก็บเงินเกินความเป็นจริง  เตรียมแก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าบริการและค่าใช้ จ่ายที่เรียกเก็บจากคนหางาน พ.ศ.2547 โดยกระทรวงฯ ให้กฤษฎีกาตีความ ข้อความในระเบียบกระทรวงฯ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และเข้าใจที่ถูกต้องในการเรียกเก็บเงิน ให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน  เนื่องจากกฎกระทรวงและระเบียบใช้มานานหลายปีแล้ว ทำให้เนื้อหาบางส่วนไม่ทันสมัย และมีช่องโหว่ให้บริษัทจัดหางานเอารัดเอาเปรียบแรงงานไทยโดยมีการเรียกเก็บ ค่าใช้จ่าย ค่าบริการในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสูงเกินกว่าความเป็นจริง  เดิมบริษัทจัดหางานกำหนดเรียกเก็บค่าบริการ 1 เดือน ของเงินเดือนที่แรงงานได้รับ

ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บริษัทเรียกเก็บจากแรงงานถึง 4 เท่า  บางแห่งเรียกเกินที่ระเบียบกำหนด ซึ่งได้รับการร้องเรียนมาเป็นจำนวนมาก  แต่หลังจากกฤษฎีกาตีความได้กำหนดให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน คือ ให้บริษัทเรียกเก็บค่าบริการตามที่กฎหมายกำหนด 1 เดือน ของเงินเดือนที่ได้รับ  ส่วนค่าใช้จ่ายต้องเป็นเงินที่เรียกเก็บตามจริงมีเอกสารหลักฐานยืนยันได้  ทั้งนี้  มอบหมายให้อธิบดีกรมจัดหางาน เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงทำความเข้าใจในระเบียบใหม่ให้เพื่อ ไม่เกิดความสับสนแล้ว

นายสง่า กล่าวอีกว่า ได้ให้ทุกกรมในกระทรวงกลับไปศึกษาระเบียบข้อบังคับที่แต่ละกรมใช้อยู่ว่ามี จุดอ่อนตรงไหนที่ต้องแก้ไขให้เป็นรูปธรรม ให้มีความทันสมัย โดยให้เวลาไปศึกษา 30 วัน แล้วมารายงานรัฐมนตรีรับทราบอีกครั้ง

(สำนักข่าวไทย, 20-11-2555)

 

ครม.ไฟเขียวขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วปท. เริ่ม 1 ม.ค.′56 ตั้ง"กิตติรัตน์"หามาตรการเยียวยาช่วยภาคเอกชน

วันนี้ ( 20 พ.ย.)  ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบในการขึ้นค่าแรง 300 บาท ทั่วประเทศ โดยจะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค. 2556 นี้ แล้ว พร้อมกับหามาตรการในการช่วยเหลือภาคเอกชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากมาตราการ ดังกล่าว  โดยแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการการะทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการในการหามาตราการช่วยเหลือ ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อหามาตราการในการเยียวยาผู้ประกอบการต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมไม่ได้มีการหารือกองทุนตั้งตัวได้ 5 พันล้านบาท เพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่
 
วานนี้(19 พฤศจิกายน) มีการประชุมคณะกรรมการติดตามเรื่องผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ ของคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ที่เมืองทองธานี โดยนายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้า ไทย เปิดเผยผลประชุมว่า เป็นการประชุมครั้งที่สองเพื่อหาทางออกต่อปัญหาดังกล่าว โดยครั้งนี้มีมติให้แยกผลกระทบจากค่าแรงเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรกคือหามาตรการลดภาระด้านต้นทุน แบ่งเป็น 11 ข้อ และสอง เรื่องการหามาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ พร้อมทั้งมีการจัดกลุ่มผลกระทบเป็นระดับสูงถึงต่ำ เนื่องจากแต่ละภาคธุรกิจได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน โดยรายละเอียดต่างๆ ที่ประชุมให้ 3 สถาบันหารือกับสมาชิกอีกครั้งหนึ่ง

นายสมเกียรติกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังรอภาครัฐเรียกหารือเพื่อจัดตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไข ปัญหา หลังจากเอกชนยื่นเสนอไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อจากภาครัฐ มีแต่การประสานงานอย่างไม่เป็นทางการ ผ่านเวทีสัมมนาต่างๆ

นายสมเกียรติกล่าวถึงตัวอย่างมาตรการที่อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือ เช่น มาตรการด้านต้นทุนอยากให้ลดอัตราเงินนำส่งประกันสังคมทั้งฝ่ายนายจ้างและ ลูกจ้าง มาตรการด้านการเงินอยากให้ภาครัฐสนับสนุนวงเงินกู้ 0% เป็นเวลา 3 ปี โดยให้เพิ่มวงเงินสนับสนุนจาก 20,000 ล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาท

ที่กระทรวงอุตสาหกรรม นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ต้องเดินหน้าแน่นอน ไม่สามารถเลื่อนตามข้อเสนอของ ส.อ.ท.ได้ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลจะมีมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบผู้ประกอบการแน่นอน โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวบรวมผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือ ส่วนความขัดแย้งภายใน ส.อ.ท.มั่นใจว่านายพยุงศักดิ์จะสามารถแก้ไขได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าไปจัดการ แม้ว่าจะมีอำนาจปลดประธาน ส.อ.ท.ก็ตาม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวยอมรับว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือแล้ว โดยเฉพาะมาตรการทางด้านการเงินและภาษี เช่น สินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 2.4 พันล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน วงเงินกู้ยืม 42,000 บาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี โดยมีวงเงินในโครงการทั้งหมด 570 ล้านบาท และสินเชื่อส่งเสริมการจ้างงาน จากกองทุนประกันสังคมอีก 1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อรองรับค่าแรงสูงด้วย

(มติชน, 20-11-2555)

 

เผดิมชัยสั่งเฝ้าระวังเลิกจ้างรับมือค่าจ้าง 300 บ.

วันที่ 21 พ.ย.2555 นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.รง.)กล่าวถึงกรณีที่นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ออกมาคาดการณ์ว่าในช่วงเดือนธันวาคมนี้จะมีการเลิกจ้างจำนวนมาก เนื่องจากนายจ้างจะเลิกจ้างงานก่อนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเพื่อจ่ายเงินชดเชยน้อยกว่าการหลังปรับขึ้นค่าจ้าง พร้อมทั้งเสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาโปะเงินที่หายไปจากกองทุนประกัน สังคม เนื่องจากการขยายเวลาใช้มาตรการลดเงินสมทบทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเพื่อ ความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมว่า ตนเชื่อว่าในเดือนธันวาคมนี้ มีความเป็นไปได้ที่ภาคธุรกิจต่างๆ อาจจะเลิกกิจการก่อนการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทใน 70 จังหวัด เพราะนายจ้างสามารถจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างในอัตราที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับ ช่วงที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีการปรับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทครั้งแรกขึ้นไปแล้วใน 7 จังหวัด ภาคธุรกิจก็ได้มีการปรับตัวระดับหนึ่ง ดังนั้น ตนจึงไม่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน อีกทั้งขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานรวมกว่า 300,000 คน และประเทศต่างๆก็มีความต้องการแรงงานไทยไปทำงานด้วยและจ่ายค่าจ้างในอัตรา ที่สูง

"อยากขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ปรับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทให้แก่แรงงานตามที่กฎหมายกำหนด เพราะหากบริษัทอื่นปรับค่าจ้างสูงกว่าวันละ 300 บาท จะส่งผลให้มีการย้ายงานไปทำงานในสถานประกอบการที่ได้รับค่าจ้างสูงกว่า จึงอยากให้บรรดาผู้ประกอบการเห็นใจและคำนึงด้วยว่า แรงงานคือผู้ที่ทำให้บริษัทมีความมั่นคงและมีรายได้ หากแรงงานอยู่ไม่ได้ สถานประกอบการต่างๆก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน" รมว.แรงงาน กล่าว

นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการในการเฝ้าระวังการเลิกจ้างนั้นได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด กระทรวงแรงงานทั่วประเทศเร่งสร้างความเข้าใจและเฝ้าระวังสถานการอย่างใกล้ ชิด โดยเฉพาะใน 29 จังหวัดที่มีการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดด ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานมีศูนย์โปร่งใสในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งคอยรับเรื่องร้องเรียนปัญหาต่างๆจากแรงงาน รวมทั้งรับเรื่องราวร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท โดยได้สั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานเร่งรวบรวมปัญหาและสรุปผลมา รายงานตนภายในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อเสนอรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม

นายเผดิมชัย กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีการขยายเวลาใช้มาตรการการลดเงินสมทบเข้ากองทุน เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบนั้นก็เพื่อเป็นมาตรการจูงใจและ ช่วยเหลือนายจ้างเพื่อปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท แต่รัฐบาลยังคงจ่ายเงินสมทบ 2.75 % เช่นเดิม รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนได้รับไม่ได้ลดน้อย ลงและไม่ได้มีการไปลดเงินสมทบในส่วนขอสิทธิประโยชน์ในกรณีชราภาพ ทั้งนี้ โดยภาพรวมการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ส่งผลให้การส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้นถึง 45 % จึงไม่อยากให้แรงงานกังวลว่ามาตรการนี้จะกระทบต่อสถานะของกองทุนประกันสังคม

นายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้สั่งการไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานใน 70 จังหวัดให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับสถานประกอบการต่างๆในจังหวัดเพื่อรวบรวม ปัญหาและข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือเสนอมายังกสร.เพื่อจะได้สรุปข้อมูลเสนอต่อ รมว.แรงงาน

อธิบดีกสร. กล่าวอีกว่า กสร.ได้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์การเลิกจ้างในช่วงเดือนม.ค.จนถึงวันที่ 20 พ.ย.2555 โดยแยกเป็น 3 ประเภทกิจการได้แก่ 1.สถานประกอบการเลิกจ้างเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้น ต่ำเป็นวันละ 300 บาท มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบ 5 แห่งเป็นกิจการประเภทสิ่งทอ ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออก ผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารามีลูกจ้างรวมทั้งหมด 1,908 คนในจำนวนนี้ถูกเลิกจ้าง 1,072 คน

2.สถานประกอบการเลิกจ้างเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบ 12 แห่งเป็นกิจการประเภทประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตเสื้อผ้า เครื่องประดับส่งออก เครื่องปั้นดินเผา บริการขนส่ง มีลูกจ้างทั้งหมด 3,747 คนในจำนวนนี้ถูกเลิกจ้าง 2,524 คน

3.สถานประกอบการการเลิกจ้างในกรณีอื่นๆ เช่น การขาดทุนสะสมตนต้องปิดกิจการ คำสั่งซื้อลดลง ประสบภัยน้ำท่วม มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบ 33 แห่งเป็นกิจการประเภทโรงแรม ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขนส่งสินค้า ผลิตชิ้นส่วนรองเท้า ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รับเหมาก่อสร้าง ประกันภัย มีลูกจ้างทั้งหมด 7,567 คนในจำนวนนี้ถูกเลิกจ้าง 2,508 คน และสถานประกอบการที่มีแนวโน้มเลิกจ้างมี 33 แห่งเป็นกิจการประเภทโรงแรม ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ผลิตสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ มีลูกจ้าง 46,872 คน

"การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทใน 7 จังหวัด เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา มีแรงงานถูกเลิกจ้างน้อยมาก แต่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทใน 70 จังหวัดซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ม.ค.2556 คิดว่าคงจะมีผลกระทบต่อสถานประกอบการมากกว่าครั้งที่แล้วอย่างแน่นอน แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีแรงงานได้รับผลกระทบถึงขั้นถูกเลิกจ้างจำนวน เท่าไหร่ แต่โดยภาพรวมของประเทศคงไม่กระทบต่อภาคธุรกิจอย่างรุนแรงเพราะนายจ้างมีเวลา ปรับตัวล่วงหน้าถึง 1 ปี สถานประกอบการบางพื้นที่เช่น จ.พระนครศรีอยุธยาก็ปรับตัวได้แล้วและให้ค่าจ้างสูงถึงวันละ 320 บาท เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน อย่างไรก็ตาม กิจการประเภทใช้แรงงานแบบเข้มข้นอาจจะได้รับผลกระทบมากเช่น โรงงานผลิตเสื้อผ้า รองเท้า ทั้งนี้ อยากให้แรงงานปรับตัวโดยขยันทำงานมากขึ้น ไม่หยุดงานบ่อยเพื่อให้การทำงานคุ้มค่ากับการปรับค่าจ้าง" นายปกรณ์ กล่าว

นายปกรณ์ กล่าวต่อไปว่า หากแรงงานถูกเลิกจ้างจำนวนมาก ทางกระทรวงแรงงานได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้วโดยรมว.แรงงานให้ทุกหน่วยงาน ในกระทรวงแรงงานทำร่วมกันแบบบูรณาการทั้งการเฝ้าระวังการเลิกจ้างและแก้ ปัญหา เช่น นายจ้างงดส่งเงินสมทบ หรือ แรงงานในพื้นที่ใดไปสมัครงานมากเป็นพิเศษ ก็แสดงถึงสัญญาณการเลิกจ้าง และหากแรงงานถูกเลิกจ้าง กระทรวงแรงงานก็จะเข้าไปดูแลโดยกสร.ดูแลให้ได้รับเงินชดเชยการถูกเลิกจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำนักงานประกันสังคม(สปส.)จ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน กรมการจัดหางาน(กกจ.)จัดหาตำแหน่งงานรองรับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.)เข้าไปพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเข้าไปทำงานในสถาน ประกอบการแห่งใหม่

"ในเรื่องของตำแหน่งงานรองรับแรงงานถูกเลิกจ้างนั้นไม่น่าห่วงเพราะขณะ นี้ภาคอุตสาหกรรมเช่น ผลิตรถยนต์ขาดแคลนแรงงานกว่า 1 แสนคน และบริษัทญี่ปุ่นก็ต้องการแรงงานจำนวนมาก รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกก็ยังมีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีแรงงานในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เช่น ภาคเหนือหรืออีสาน ถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเท่าที่ดูตัวเลขส่วนต่างของค่าจ้างที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่า พื้นที่อื่นๆ ทางกระทรวงแรงงานคงจะต้องเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบเพราะแรงงานต้อง เคลื่อนย้ายพื้นที่ทำมาหากินโดยต้องจัดหาตำแหน่งงานรองรับ ฝึกอบรมทักษะการทำงานในตำแหน่งงานใหม่และประสานนายจ้างจัดหาที่พักรองรับ" อธิบดีกสร. กล่าว

(คมชัดลึก, 21-11-2555)

 

อธิบดี กสร.ย้ำห้ามร่วมชุมนุมในนามกลุ่มแรงงาน-สหภาพ

กระทรวงแรงงาน 21 พ.ย. - นายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงกรณีที่อาจมีกลุ่มแรงงานเข้าร่วมชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) นำโดย พล.อ บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ. อ้าย ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ว่า เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนหากกระทำในฐานะบุคคลย่อมสามารถกระทำได้  แต่หากกระทำการในฐานะกลุ่มแรงงานหรือสหภาพนั้น จะขัดกับวัตถุประสงค์ตามกฎหมายการจัดตั้งสหภาพแรงงาน

ก่อนหน้านี้ กสร. ได้ทำความเข้าใจกับกลุ่มสหภาพแรงงานต่าง ๆ ถึงข้อระเบียบปฏิบัติแล้ว  และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าจะมีกลุ่มแรงงานใดเข้าร่วมการชุมนุม  จึงขอประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มสหภาพแรงงานปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฏหมาย ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นความผิด หากกระทำการดังกล่าวและกระทรวงแรงงานมีอำนาจในการดำเนินการจัดการได้

ทางด้าน นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงกรณีที่อาจมีแรงงานต่างด้าวเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ในวันดังกล่าวว่า ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ กรรมกรและแม่บ้าน ซึ่งวัตถุประสงค์คือการเข้ามาทำงาน ห้ามไม่ให้เข้ามาประกอบธุรกิจหรือชุมนุมทางการเมือง ต้องมีการจำกัดพื้นที่  หากนายจ้างนำลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวออกนอกพื้นที่ถือว่ากระทำผิด กฎหมาย ลูกจ้างต้องถูกยึดวีซ่า และถูกนำตัวส่งกลับประเทศทันที ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มแรงงานทั่วไป มักมาในนามของประชน หากกระทำการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้.

(สำนักข่าวไทย, 21-11-2555)

 

จับผู้ต้องหาตุ๋นแรงงานไปทำงานต่างประเทศ

(22 พ.ย.) ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) เมื่อเวลา 14.00 น. พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ ผบก.ปคม. นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน นายเชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล ผอ.กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แถลงข่าวจับกุม นายเรวัตร ผาริการ อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 69 หมู่ 4 ต.คึมชาด อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น ตามหมายจับศาลจังหวัดพระโขนง ที่ ส.419/2553 และ ส.420/2553 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2553 ข้อหาจัดหางานให้คนงานไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน โดยการหลอกลวงได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง จับกุมได้ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาบางนา แขวงและเขตบางนา กทม.
      
ทั้งนี้ เมื่อปี 2552 ผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลอกลวงแรงงานว่า สามารถพาไปทำงานในประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฯลฯ โดยเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรายละ 100,000 บาท ที่ผ่านมาผู้ต้องหาได้ออกวีซ่าให้กับกลุ่มผู้เสียหายเป็นเพียงวีซ่านักท่อง เที่ยว หรือบางรายก็เป็นเพียงหนังสือเดินทางและวีซ่าปลอม จึงไม่สามารถทำงานในประเทศนั้นๆ ได้ ซึ่งมีผู้เสียหายหลงเชื่อถูกหลอกลวงกว่า 30 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3 ล้านบาท
      
ต่อมาผู้เสียหายได้เข้าร้องทุกข์ที่กรมการจัดหางาน จึงมีการประสานข้อมูลมายัง บก.ปคม.ก่อนวางแผนสืบสวนติดตามจับกุมผู้ต้องหาดังกล่าว นอกจากนี้ จากการตรวจสอบประวัติผู้ต้องหาพบว่าเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้มา แล้วหลายครั้ง โดยมีหมายจับของ สน.บางนา ติดตัวอยู่ 8 หมาย
      
สอบสวนเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า ได้ชักชวนแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ โดยเสนอว่าจะออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้จริง แต่หลังจากได้เงินค่าดำเนินการแล้วก็จะลอยแพคนงานผู้เสียหายก่อนจะหลบหนี ทั้งนี้ ชุดจับกุมได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน บก.ปคม.รับไว้ดำเนินคดีต่อไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22-11-2555)

 

พยาบาลลูกจ้าง ขู่หยุดงานประท้วง! หากหลัง ม.ค.56 ไม่ได้บรรจุ ขรก.

รศ.จินตนา ยูนิพันธุ์ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างแถลงข่าว “คุณภาพของระบบบริการกับกรณีพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข” ภายในการประชุมพยาบาลระดับเอเชีย และภาคพื้นแปซิฟิก ในหัวข้อปัญหากำลังคนด้านพยาบาล ว่า รัฐบาลมีนโยบายจำกัดกำลังคนข้าราชการมาตั้งแต่ปี 2547 ทำให้เกิดการจ้างงานไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะไม่มีความไม่มั่นคง ขาดโอกาสในการพัฒนาและความก้าวหน้าในวิชาชีพ ที่สำคัญ มีภาระงานหนักมากและเป็นปัญหาสะสมยาวนาน 7-8 ปี นอกจากนี้ รัฐบาลและ สธ.ยังไม่ให้ความสำคัญ แต่กลับเปลี่ยนประเด็นให้ปรับเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พนักงาน กสธ.) แทน ซึ่งมองว่าแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทั้งนี้ หากพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวยังไม่ได้รับความเป็นธรรม จะเกิดวิกฤตพยาบาลไหลออกนอกระบบภาครัฐ ไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนและต่างประเทศ โดยเฉพาะหากมีการเปิดการค้าเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 จะเกิดผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน
      
รศ.จินตนา กล่าวอีกว่า สมาคมพยาบาลฯ ประธานชมรมพยาบาล และหัวหน้าพยาบาลตามโรงพยาบาลต่างๆ จึงขอเรียกร้องแทนพยาบาลน้องๆ ดังนี้ 1.ต้องมีการบรรจุพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวจำนวน 17,000 คน เป็นข้าราชการสังกัด สธ.ทั้งหมด ภายในเดือนมกราคม 2556 ซึ่งทางสมาคมฯ และตัวแทนพยาบาลทั่วประเทศได้ลงชื่อสนับสนุน รวมทั้งสิ้น 32,874 รายชื่อ เพื่อต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้ตรงจุด หรือกำหนดให้ชัดเจนว่า จะสามารถให้อัตราการบรรจุจำนวนเท่าไร และเมื่อใด ซึ่งจะมีการนำรายชื่อทั้งหมดเสนอให้นายกรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ 2.ให้ สธ.ผลักดันการกำหนดกรอบอัตรากำลังพยาบาลใหม่เป็นการเฉพาะสำหรับกลุ่มกำลังคน ด้านการพยาบาล 3.ตำแหน่งพยาบาลที่เกษียณอายุราชการทั้งหมด ขอสงวนไว้สำหรับบรรจุเฉพาะพยาบาลเท่านั้น และ 4.ให้ สธ.ทบทวนวิชาชีพพยาบาล ต้องยังคงสถานะของการเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลนตามมติคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกับ แพทย์และทันตแพทย์ และยังเป็นสาขาที่รัฐบาลไทยได้ลงนามในข้อตกลงบังคับร่วมให้เป็นสาขาวิชาชีพ ที่มีการเคลื่อนย้ายพยาบาลไปทำงานในประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซียนได้อีกด้วย
      
“ขอให้เยียวยาพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการทั้งหมด เพราะเป็นระบบที่มั่นคงที่สุด ส่วนที่สธ.คิดระบบใหม่ อย่างการเป็นพนักงาน กสธ.ยังไม่ชัดเจน และเป็นกระบวนการแก้ปัญหาระยะยาว เหมาะสำหรับพยาบาลจบใหม่ ไม่ใช่รวมพยาบาลรุ่นเก่า เพราะขนาดกระทรวงศึกษาธิการยังสามารถบรรจุครูได้ถึง 12,000 ตำแหน่ง พยาบาลก็สำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน จึงฝากความหวังที่รัฐมนตรี สธ.เพราะต้องข้ามหน่วยงานจากสำนักงบประมาณ และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)” นายกสมาคมพยาบาลฯ กล่าว
      
น.ส.วรรณวิภา ศรีหอมชัย ประธานภาคกลางเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กล่าวว่า หาก สธ.ไม่สามารถบรรจุพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมดเป็นข้าราชการได้หลัง ม.ค.2556 พยาบาลลูกจ้างวิชาชีพทั้ง 17,000 คน จะนัดหยุดงานพร้อมกันทั่วประเทศ โดยจะทำหนังสือผ่านโรงพยาบาลต้นสังกัด ไปยัง สธ.เพื่อให้เตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบก่อนหยุดงานด้วย ส่วนการพนักงาน กสธ.ทางเครือข่ายฯ ไม่ขอรับข้อเสนอ เพราะเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ
      
นายจักรี กั้วกำจัด สมาคมศิกษ์เก่าวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพฯ กล่าวว่า ปัจจุบันพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวทำงานหนักมากประมาณ 16 ชั่วโมงต่อวัน การปฏิบัติงานก็ไม่ได้มาตรฐาน อย่างห้องไอซียูพยาบาลมีสัดส่วนต่อผู้ป่วยที่ 1 ต่อ 4 ทั้งที่ตามมาตรฐานสากลต้อง 1 ต่อ 1 ถึงจะให้บริการได้ดีที่สุด ขณะที่การบริการผู้ป่วยทั่วไปมีสัดส่วนพยาบาลต่อเตียงผู้ป่วย 1 ต่อ 8 เตียง หากในพื้นที่ชนบทอาจสูงถึง 1 ต่อ 12 เตียง ทั้งที่สัดส่วนที่เหมาะสมคือ 1 ต่อ 6 เตียง นอกจากนี้ อัตราเงินเดือนของพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวก็ไม่เท่ากัน เพราะเป็นการให้เงินเดือนโดยใช้เงินบำรุงจากโรงพยาบาล หากโรงพยาบาลใดมีเงินบำรุงมาก ก็ได้ค่าตอบแทนสูง อาจถึงเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท แต่บางแห่งได้แค่ 12,000 บาท ร้ายสุดเดือนละ 9,000 บาทก็มี ส่วนค่าเวรและค่าโอทีบางแห่งจ่ายข้ามปี ซึ่งการจะเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงาน กสธ.ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเป็นแค่การเปลี่ยนแค่ชื่อเท่านั้น นังคงใช้เงินบำรุงจากโรงพยาบาลจ้างงานเหมือนเดิม การบริหารก็ไม่แตกต่าง มีความเสี่ยง และไม่มั่นคง หากยังเป็นแบบนี้สุดท้ายผลกระทบจะตกที่ผู้ป่วย เพราะพยาบาลลาออก อย่างข้อมูลปี 2548 พบลาออกมากถึงร้อยละ 48
      
ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ.กล่าวว่า การบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการไม่สามารถทำได้หมดในครั้งเดียว เนื่องจากต้องดูแลทั้ง 21 สายงาน และขณะนี้ประเทศมีภาระหลายอย่างที่ต้องดูแล จึ่งต้องรอแต่ระหว่างรอก็จะมีการปรับสถานะเป็นพนักงาน กสธ.ซึ่งจะมีสวัสดิการที่ไม่แตกต่างจากข้าราชการ เบื้องต้นได้เสนอร่างระเบียบการปรับสถานภาพดังกล่าว โดยเน้นความมั่นคงในการทำงาน ขยายเวลาสัญญาการจ้างงาน ส่วนกรณีที่มีพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวจะหยุดงานทั้งหมดหากไม่ได้รับการบรรจุ นั้น ถือว่าเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ และ สธ.ก็คงไม่สามารถห้ามได้ แต่ยืนยันว่า มีแผนรองรับเอาไว้แล้ว หากหยุดงานจริง รับรองว่าไม่เกิดผลกระทบต่อโรงพยาบาลแน่นอน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23-11-2555)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net