Skip to main content
sharethis

ไต่สวนการตาย นายชาญณรงค์ พลศรีลา คนขับแท็กซี่เสื้อแดงที่เสียชีวิตในวันที่ 15 พ.ค.53 ศาลมีคำสั่งระบุชัดเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร นับเป็นคดีไต่สวนการตายคดีที่สองที่ศาลมีคำสั่งแล้ว รองฯ DSI ชี้ทำให้คดีที่เหลือชัดเจนมากขึ้น

ภาพนายชาญรงค์ ขณะถูกยิง

26 พ.ย.55 เมื่อเวลา 11.00 น.ที่ศาลอาญา รัชดา ศาลได้อ่านคําสั่งไต่สวนกว่า 1 ชม.ระบุว่า การตายของนายชาญณรงค์ พลศรีลา คนขับรถแท็กซี่เสื้อแดงที่ถูกยิงและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั้มเชลล์ ถนนราชปรารภ ช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 จากการกระชับวงล้อมของเจ้าหน้าที่ทหาร เป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารขณะควบคุมสถานการณ์การชุมนุม ตามคําสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ที่บริเวณถนนราชปรารภ ด้วยกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 หรือ 5.56 มิลลิเมตร ที่บริเวณช่องท้องและแขน เป็นเหตุให้เสียชีวิต แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นทหารคนใดหรือสังกัดใดที่ทำให้นายชาญณรงค์เสียชีวิต ทั้งนี้ การไต่สวนการตายครั้งนี้นับเป็นลำดับที่ 2 ต่อจากคดีนายพัน คํากอง ซึ่งศาลมีคําสั่งในทำนองเดียวกันไปเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา

โดยคำสั่งศาลระบุด้วยว่ากระสุนดังกล่าวเป็นกระสุนที่ใช้กับ ปืน HK33, M16 และ ปืนทราโว่ ทาร์ 21 ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกให้กับบุคคลทั่วไปได้ และมีใช้ในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ ทั้งนี้ประจักษ์พยานที่ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นนักข่าวชาวไทยและชาวต่างชาติยืนยันตรงกันว่ากระสุนถูกยิงมาจากฝั่งที่ทหารวางกำลังอยู่ รวมทั้งพยานที่เป็นพนักงานสอบสวนในดดีนี้เบิกความด้วยว่าในบริเวณที่ทหารวางกำลังอยู่นั้นไม่สามารถมีบุคคลอื่นใดเข้าออกได้ ทำให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่ากระสุนปืนที่มาจากฝั่งทหารนั้น จึงไม่มีใครที่อยู่ในพื้นที่นั้นได้นอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร อีกทั้งพยานยืนยันด้วยว่าผู้ตายไม่ได้มีการใช้อาวุธตอบโต้หรือยั่วยุเจ้าหน้าที่

ลูกสาวผู้ตายดีใจ ประเทศไทยยังยุติธรรมอยู่

นิพาดา พลศรีลา(ขวา)และน้องสาว

น.ส.นิพาดา พลศรีลา บุตรสาวนายชาญรงค์ กล่าวหลังฟังคำสั่งศาลว่า ดีใจ เราได้รู้ว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยยังยุติธรรมอยู่ แต่ยังต้องดำเนินต่อไปเพื่อให้สามารถทราบตัวผู้กระทำผิด ตามกระบวนการยุติธรรม เธอย้ำด้วยความมั่นใจด้วยว่ามาถึงขั้นนี้แล้ว สักวันมันก็จะถึงขั้นหาตัวผู้กระทำความผิดได้

ทนายฯ เผยต่อไปเป็นการสืบ-สอบหาตัวผู้กระทำความผิด

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิต กล่าวถึงกระบวนการต่อจากนี้ศาลจะส่งคำสั่งไปที่อัยการและอัยการจะส่งไปที่ พนักงานสอบสวนท้องที่และส่งต่อไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งคดีเหล่านี้จะเป็นคดีพิเศษทั้งหมด ซึ่งพนักงานสอบสวนของกรมสวบสวนคดีพิเศษก็จะสอบสวนเพิ่มเติม เพราะยังไม่ปรากฏชัดว่าใครบุคคลไหนเป็นผู้กระทำ ดังนั้นกระบวนการต่อไปก็จะเป็นการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด

ในการฟังคำสั่ง นอกจากครอบครัวพลศรีลาแล้ว ยังมี นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. และ นายแพทย์เหวง โตจิราการ เข้าร่วมฟังด้วย

รองอธิบดี DSI ชี้คำตัดสินทำให้คดีที่เหลือชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่าในวันเดียวกัน พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 99 ศพ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 กล่าวภายหลังจากที่ศาลพิพากษาให้คดีการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ พลศรีลา จะทำให้คดีที่เหลือที่อยู่ในชั้นศาลมีความชัดเจนมากขึ้น

ในส่วนขั้นตอนต่อไปคดีนายชาญณรงค์ พลศรีลา นั้นดีเอสไอก็จะเดินทางไปขอคัดสำนวนคำสั่งจากศาล เพื่อนำมาพิจารณาในรายละเอียดว่ามีกลุ่มบุคคลใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ แต่ยังไม่สามารถที่จะระบุได้ว่า จะออกหมายเรียกบุคคลใดมารับทราบข้อกล่าวหาบ้าง เพราะจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะพนักงานสอบสวนทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย พนักงานอัยการ ตำรวจ และดีเอสไอ ซึ่งก็จะเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนธันวาคม และพนักงานสอบสวนยังคงสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องอยู่ยังไม่เสร็จสิ้น

ภาพนายชาญณรงค์ ที่นิค นอสติทซ์ถ่ายไว้(คลิกดูเพิ่ม)

นายชาญรงค์ก่อนถูกยิงไม่กี่นาที

นายชาญรงค์หลังถูกยิงและมีผู้ช่วยเหลือหลบมาหลังปั้มเชลล์

 

หมายเหตุ : ประชาไทได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาเมื่อเวลา 22.30 น. 23 พ.ย. 55

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net