Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


หมายเหตุ: สมบัติ บุญงามอนงค์ นำเสนอหัวข้อ "การก่อตัวของสถาบันของการเมืองในโลกดิจิทัล: บทบาทของสื่อใหม่ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน" ในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “First Digital Democracy Conference Bangkok” จัดโดย ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Siam Intelligence Unit เครือข่ายพลเมืองเน็ต และ Noviscape Consulting Group เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 55 ณ ตึกมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

สิ่งที่ผมเห็นการก่อตัวในอินเทอร์เน็ตล่าสุดแบบข้ามคืน ซึ่งผมว่าน่าตกใจมากคือในหัวค่ำวันหนึ่ง กรุ๊ปที่สื่อสารภายในวอลล์ของผมมีการรายงานว่าเกิดมีปรากฏการณ์น่าสนใจมาก เค้าเขียนลงไปว่ามันคือ “แก่ ใจดี สปอร์ต กทม.” แม้แต่ผมในฐานะคนที่อยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ผมยังงงมากเลยว่ามันคืออะไร ผมเลยโพสลงไปในหัวค่ำนั้นว่า “คุณรายงานอะไร ผมไม่เข้าใจ” แล้ววันนั้นผมก็กลับไปนอน ตื่นเช้ามาอีกทีผมก็เข้ามาดูอีก ปรากฏว่าภายในหนึ่งคืนมันขึ้นมาเป็นสี่หมื่น (ไลค์?)

ปรากฏการณ์นี้เราเรียกกันทางการตลาดว่า viral marketing มันเกิดปรากฏการณ์ไวรอลขึ้นมา ผมคิดว่าไวรอลนี่มันเร็วมาก ในภาวะปกติมันไม่น่าจะเกิดสิ่งนี้ได้ ในยุคก่อนดิจิทัลนี่ผมนึกไม่ออกว่ามีอะไรที่มันสามารถเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ได้เกิดจากการใช้สื่อขนาดใหญ่ ที่เป็น airborne เป็นสงครามทางอากาศที่ใช้สื่อกระแสหลักยิงลงมาทำให้เกิดการกระเพื่อมขึ้นมาได้ขนาดนี้ หรือถ้าย้อนกลับไปอีกหน่อยก็เกิดปรากฏการณ์อย่างเช่น "ครูอังคณา" ก็เป็นไวรอลที่ผมว่ามันเกิดขึ้นได้ หมายความว่าในสภาพแวดล้อมใหม่ในโลกใหม่แบบนี้มันมีการก่อตัวประเภทที่ว่าคุณนอนข้ามคืนแล้วมันก็เกิดปรากฏการณ์ที่ตื่นขึ้นมาแล้วคุณงงเลยเพราะมีคนคลิกเป็นแสน ทำให้เรามั่นใจได้เลยว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการก่อพายุ

ก่อนหน้านี้ก็มีการพูดถึงการก่อพายุของพายุปีกผีเสื้อใช่ไหม ที่ผีเสื้อตัวหนึ่งขยับปีกแล้วทำให้ผีเสื้ออีกจำนวนหนึ่งก็ขยับปีกเกิดทฤษฎีไร้ระเบียบขึ้นมา (Chaos theory)* มันเกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมที่เป็นดิจิทัล มันเป็นเรื่องของนักการตลาดจำนวนหนึ่งที่พยายามจะทำการตลาดอาศัยโดยสิ่งนี้เป็นการตลาดแล้วก็ทำมันขึ้นมา

คำถามต่อเนื่องเกี่ยวกับมิติทางสังคมหรือการเมืองหรือภาคประชาชนก็คือว่าเราเห็นสภาพแวดล้อมแบบนี้แล้วเราจะใช้มันยังไงให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนกลายเป็นการเมืองภาคประชาชน ในโลกอินเทอร์เน็ตมันเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับสองสิ่ง มันมีปรากฏการณ์คล้ายกันแต่ไม่ใช่ไวรอลนะครับ แต่มันคือ ไวรัส คือหมายความว่าภายใน 24 ชั่วโมง คอมพิวเตอร์ในโลกนี้เป็นร้อยล้านเครื่องสามารถติดไวรัสได้อย่างรวดเร็ว มันเป็นสภาพแวดล้อมของไวรัสและเป็นสภาพแวดล้อมของ “แอนตี้ไวรัส”

ในทัศนะผมความคิดทางการเมืองหรือชุดคิดทางการเมืองคือ package ของชุดคำสั่งในระบบคอมพิวเตอร์ มันเป็นเรื่องเดียวกันเลย การเขียนซอฟต์แวร์หรือตัวไวรัสคอมพิวเตอร์นั้นก็คือการเขียนชุดคิดว่าเมื่อคุณได้รับชุดคิดนี้หรือสัมผัสชุดคิดหรือไวรัสตัวนี้แล้วมันจะเข้าไปสั่งการ คือผู้ที่เข้าไปสร้างไวรัสหรือสร้างชุดคิดนี้มันทำการส่งความคิดนั้นออกมา แล้วเราจะแยกแยะออกได้ยังไงว่าอันไหนเป็นไวรัส อันไหนเป็นแอนตี้ไวรัส เพราะมันเป็นคำสั่งทั้งคู่ คุณจะแยกออกได้ก็ต่อเมื่อคุณดูว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ก้าวหน้ากว่าล้าหลังกว่า สิ่งใดเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นเผด็จการ มันดูกันตรงที่ว่าชุดความคิดนั้นมันสั่งให้คุณลดทอนประสิทธิภาพของระบบของตนเองหรือไม่

ถ้าชุดคิดนั้นมันกดหัวคุณให้ต่ำลง กดหัวคุณเองให้ยอมรับหรือกดสภาพคุณลงแบบนี้มันเรียกว่าไวรัส และสังคมเราก็เต็มไปด้วยไวรัส เรามีไวรัสทางความคิดอยู่ในสังคมก่อนจะมียุคดิจิทัลเต็มไปหมด ฝังไว้ในตัวเราเรียบร้อย เราเป็นประชากรที่เต็มไปด้วยไวรัสเต็มไปด้วยชุดความคิดที่ถูกเค้ากำหนดว่าให้ทำแบบนี้ กดคุณตลอดเวลา ถ้าเรามองว่านี่เป็นยุคทองของผู้ต่อต้านคือเป็นยุคเสรีนิยมและต่อต้าน ผมเสนอว่าให้เราจับไวรัสให้เจอ เราต้องหาไวรัสในโลกของอินเทอร์เน็ตอย่างเช่น Hate speech เมื่อกี้ที่มีคนพูดถึง ค้นหาชุดความคิดใดที่มันกดตัวคุณและคุณเขียน package ขึ้นมาอีกชุดหนึ่งไปตอบโต้และปลดชนวนความคิด ปลดปล่อยระบบหรือประสิทธิภาพของมนุษย์หรือประชาชนในสังคมนั้น นี่ผมพูดเรื่องดิจิทัลหรือเรื่องอะไรอยู่ (หัวเราะ)

ผมกำลังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงชุดใหญ่ๆ นั่นเป็นเรื่องมิติทางวัฒนธรรม ผมว่าปัจจัยสำคัญอันหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงเรื่องเศรษฐศาสตร์ คือดิจิทัลมันไม่ใช่สิ่งหนึ่งที่เพิ่งงอกออกมาจากเมล็ดแต่มันเป็นต้นไทรที่มีนกตัวหนึ่งบินมาแล้วก็ขี้ลงมาแล้วก็มีเม็ดไทรเกาะอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง หลังจากนั้นก็ขยายตัวแล้วก็ครอบโครงสร้างที่มีอยู่เดิมทั้งหมดแล้วก็เปลี่ยนทุกอย่างเป็นดิจิทัล รัฐบาลดิจิทัล เศรษฐศาสตร์ดิจิทัล เรายังใช้ฟิล์มในการถ่ายรูปอยู่ไหม เราใช้ระบบอะไรในการส่งข้อความถึงกัน คุณยังใช้เอสเอ็มเอสอยู่หรือเปล่า หรือคุณใช้ไลน์ (Line) วอทส์แอป (WhatsApp) ทวิตเตอร์หรืออะไร มันเป็นดิจิทัลหมดแล้ว อะไรที่ยังไม่เป็นดิจิทัลตอนนี้คุณคิดว่าอนาคตมันจะไม่เป็นดิจิทัลหรือ ก็ในเมื่อมันเป็นดิจิทัลคุณก็ทำสำเนาดอทคอมอันหนึ่งกับทำสำเนาล้านอันแต่ต้นทุนมันก็เท่าเดิม เศรษฐศาสตร์ดิจิทัลคือต้นทุนเฉียดศูนย์ มันเปลี่ยนการผลิตของโลก เมื่อมันเปลี่ยนวิธีการผลิต สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในโลกมันก็ค่อยๆ เปลี่ยน

พูดเรื่องเศรษฐศาสตร์ดิจิทัลแล้วก็โยงไปยังวัฒนธรรมดิจิทัล ว่าด้วยอัตราเร่งที่ต่างกันของคนที่โดดขึ้นรถไฟขบวนดิจิทัล อัตราการเร่งบนโลกดิจิทัลเป็นอัตราเร่งแบบยกกำลังและมันเร็วมาก ในขณะที่เราอยู่ในช่วงเวลาของโลกตอนนี้ที่คนจำนวนหนึ่งวิ่งด้วยรถหรือรถไฟความเร็วสูง เดินทางด้วยเครื่องบิน ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งยังค่อยๆ เดินต๊อกแต๊กๆ 

การเมืองเป็นปัญหานี้เลย ปัญหาของการเมืองไทยตอนนี้ไม่ใช่มีปัญหาที่คนในสังคมอยากจะถอยหลังนะ ถึงแม้ว่าผมจะแซวว่าพวกไดโนเสาร์ทั้งหลาย แต่ผมไม่เชื่อหรอกนะว่าคนที่คิดต่างทางการเมืองกับผมเป็นพวกที่อยากจะย้อนเวลากลับไป เขาไม่ได้อยากจะย้อนกลับไปจริงๆ แต่พวกเขาตามไม่ทันพวกที่เกาะขบวนรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งด้วยอัตราเร่งดิจิทัลต่างหาก โลกมันจึงเกิดช่องว่างดิจิทัลและเมื่อคุณรับรู้กันแบบดิจิทัลคือคนเข้าวิกิพีเดียอ่านกันมากมาย มีการถกเถียงกันเกิดเป็นประชาคมดิจิทัล สิ่งเหล่านี้ทำให้โลกเราถูกแบ่งแยกด้วยความเข้าใจด้วยอัตราเร่งที่ต่างกัน 

เมื่อคนสองกลุ่มเดินทางอยู่ในอัตราเร่งที่ต่างกันจึงเกิดความคาดหวังที่ต่างกัน คนหนึ่งบอกว่าคุณเร็วไป คนหนึ่งบอกว่าคุณช้าไป มันอยู่แค่นี้เอง แต่จริงๆ แล้วสายพานมันกำลังวิ่งไป เราต้องหาจุดพอดีตรงจุดนี้ ถ้าหาจุดพอดีระหว่างสิ่งที่เรียกว่าเร็วไปและช้าไปได้แล้วสงครามก็จะไม่เกิดขึ้น

สุดท้ายด้วยเวลาที่จำกัด ผมเข้าเรื่องเมื่อกี้อีกที คือผมไม่เคยสงสัยเรื่องนี้มาประมาณซักยี่สิบปี ตั้งแต่เริ่มโครงการในวงการอินเทอร์เน็ตวงการเอ็นจีโอนะครับ คือเมื่อก่อนขบวนรถไฟที่มันถูกสร้างในสหรัฐอเมริกามันถูกพวกคาวบอยไล่ยิง ขบวนรถไฟขบวนแรกๆ ที่มันควบไปโดนไล่ยิงเพราะว่าคาวบอยมีวิถีชีวิตจากการขนส่งเป็นระบบโลจิสติกส์ในยุคนั้น แล้วรถไฟมันทำให้วัฒนธรรมของคาวบอยล่มสลายคาวบอยเลยเอาปืนไล่ยิงรถไฟ ตอนนั้นคนยังคิดอยู่ว่าธุรกิจรถไฟอาจจะไปไม่รอดเพราะถูกไล่ยิง แต่ทุกวันนี้ยังมีคาวบอยหลงเหลืออยู่ไหมนอกจากในฟาร์มโชคชัย (หัวเราะ)

เรื่องสุดท้ายนะครับ ที่ว่าการเมืองในโลกดิจิทัลนี่มันจะเกิดประชาธิปไตยหรือไม่นั้น ประชาธิปไตยมันวัดกันด้วยสองจุดด้วยกัน จุดที่หนึ่งเวลาคุณสู้กันทางความคิดว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายประชาธิปไตยมันดูกันว่าจุดยืนและเป้าหมายที่คุณกำหนดนั้นเป็นเพื่อใคร ถ้าจุดยืนและเป้าหมายของคุณไปเพื่อประชาชน นั่นคือประชาธิปไตยครับ แต่ถ้ามันไปทางอื่นหรือเป็นประชาชนที่น้อยกว่านั่นก็จะลดทอนลงมา เวลามันวัดกันมันไม่ได้วัดกันที่ตัวคำว่าประชาธิปไตย มันวัดกันที่เป้าหมาย

อันที่สองในวัฒนธรรมประชาธิปไตยโดยเฉพาะในอินเทอร์เน็ต คุณจะได้สิ่งสองสิ่งซึ่งผมว่ามันสำคัญมากคือปรากฏการณ์พุ่งระเบิด ปรากฏการณ์ที่หนึ่งก็คือว่าอินเทอร์เน็ตมันช่วยทำให้ใจเรามันใหญ่ขึ้น ทำให้เรายอมรับมองเห็นคนอื่นมากขึ้น จิตใหญ่ใจกว้างมากขึ้น ถ้าเราได้ประโยชน์จากเน็ตเวิร์กหรือวัฒนธรรมดิจิทัลได้ เราต้องชี้วัดตรงนี้ว่าเมื่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้วมันส่งเสริมประชาธิปไตยหรือไม่ มันส่งเสริมให้เรากว้างขึ้นหรือเปล่า ไม่ใช่ทำให้ตัวใหญ่ขึ้นแต่ใจกว้างขึ้น แต่ถ้าเราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้วฟัดกัน ทำให้พวกเราโลกแคบลงเรื่อยๆ เหลือแต่พวกตัวเองหรือสีตัวเองหรือพวกกลุ่มเล็กๆ เหมือนตัวเอง อันนี้มันไม่ใช่ประชาธิปไตยครับ อันนี้มันส่งเสริมให้คุณแคบลงเล็กลงแล้วก็หลุดโลกไปวิเวก ขอบคุณครับ

 

 


* ผู้พูดน่าจะหมายถึง butterfly effect ที่กล่าวว่า “ผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Chaos theory

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net