Skip to main content
sharethis

คนส่วนใหญ่อาจเห็นว่านางแบบเป็นอาชีพที่ดูหรูหรา แต่ในสหรัฐฯ ยังมีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบคนทำงานในฐานะตัวแทนเรือนร่างในอุดมคตินี้อยู่ ตั้งแต่กรณีถูกบังคับให้อดอาหารเพื่อ 'ความผอมที่ผิดปกติ' ถูกบังคับถ่ายนู้ด ไปจนถึงกรณีใช้เสื้อผ้าแทนค่าจ้าง ซาร่า ซิฟฟ์ นางแบบผู้จัดตั้งองค์กรสหพันธ์นางแบบนำเสนอความเห็นต่อ BBC
29 พ.ย. 2012 - สำนักข่าว BBC นำเสนอความคิดเห็นของซาร่า ซิฟฟ์ นางแบบอเมริกัน โดยถอดความจากรายการวิทยุของสถานี Radio Four ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมนางแบบแฟชั่นเรื่องการกดขี่ที่ไม่เป็นธรรม

ซาร่า ซิฟฟ์ เป็นนางแบบและนักทำสารคดี ผู้ก่อตั้งสหพันธ์นางแบบ (Model Alliance) ซึ่งเป็นองค์กรที่เน้นทำงานเป็นปากเสียงให้กับนางแบบและพัฒนาสภาพการทำงานที่ดีขึ้น

ซาร่า กล่าวว่าผู้คนมักมองว่านางแบบเป็นงานที่เลิศหรู และเวลาที่คนเรานึกภาพของคนที่มีสภาพการทำงานแย่ ก็คงไม่นึกถึงนางแบบ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น

ซาร่าเล่าประสบการณ์ว่าเธอได้เป็นนางแบบตั้งแต่อายุ 14 เมื่อมีแมวมองช่างภาพมาเจอเธอที่โรงเรียน เธอบอกว่ารู้สึกโชคดีและสนุกกับงาน ทำให้เธอสามารถใช้เงินส่งตัวเองเรียนจบจากโรงเรียนได้

"ส่วนใหญ่แล้วงานนี้สนุกมาก ดังนั้นฉันจึงไม่มีเหตุผลที่จะพูดให้ร้ายอุตสาหกรรมนางแบบที่ให้กับฉันมากขนาดนี้" ซาร่ากล่าว

"แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฉันตัดสินใจว่าฉันไม่สามารถเงียบเฉยต่อเรื่องการกดขี่อย่างเป็นระบบที่ฉันกับเพื่อนร่วมงานเจอมากับตัวเองได้อีกต่อไป" ซาร่ากล่าว

ซาร่าเล่าว่าเธอเคยทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับประสบการณ์ของนางแบบชื่อเรื่อง 'Picture Me' เผยแพร่ในปี 2010 เธอถ่ายทำด้วยกล้องขนาดเล็กตามที่ต่างๆ รวมถึงแฟชั่นโชว์ เพื่อบันทึกเบื้องหลังวงการโมเดลทั้งในแง่ดีและในแง่ไม่ดี

เรื่องราวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องเกิดขึ้นเป็นปกติในวงการนี้ ซาร่ากล่าว เธอยกตัวอย่างกรณีของผู้หญิงคนหนึ่งที่รับงานกับช่างภาพที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในวงการแฟชั่น ช่างภาพคนนั้นสั่งให้เธอถอดเสื้อออก หลังจากนั้นเขาเองก็ถอดเสื้อและบอกให้เธอแตะต้องร่างกายเขาในเชิงกามารมณ์

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องดังกล่าวนำเสนอนางแบบผ่านเลนส์กล้องในอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งบางครั้งก็ทำให้ผู้ชมอย่างเราๆ พูดไม่ออก


ร่างกายใต้บงการของภาพลักษณ์

ในบทความของ BBC ยังได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องการที่นางแบบกลายเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของเรือนร่างและน้ำหนักตัว มีนางแบบร่างบางแบบผิดปกติเดินอยู่บนเวทีดาษดื่น นอกจากนี้แล้วอุตสาหกรรมแฟชั่นยังได้อาศัยแรงงานเด็กในการเดินแบบเนื่องจากเด็กมีเรือนร่างผอมแบบที่พวกเขาต้องการ

"เด็กอายุ 13 จะมีหุ่นหอมแห้งเหมือนไม้ค้ำถั่วก็เป็นเรื่องปกติ แต่กับผู้หญิงที่โตแล้ว ที่มีสะโพกและหน้าอก เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ และไม่ควรจะมีใครอยากให้เป็นเช่นนั้น" ซาร่ากล่าว

"แล้วฉันก็คิดว่า พวกเราควรจะถามตัวเองว่าทำไมมันต้องกลายเป็นภาพลักษณ์ในอุดมคติด้วย ทำไมเราต้องชื่นชมภาพลักษณ์ผิดเพี้ยนของเด็กผู้หญิงที่ยังเล็ก ไร้ประสบการณ์ และบอบบางด้วย" ซาร่ากล่าว

ซาร่าเล่าว่ามีอาการที่เรียกว่าปีเตอร์แพนซินโดรม (อาการของคนที่ไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่) ในโลกแฟชั่น เมื่อนางแบบเริ่มแก่ตัวขึ้น ก็จะเริ่มเผยให้เห็นการเติบโต พวกเขาจะถูกสั่งให้ไดเอทอย่างหนักหลายต่อหลายครั้ง ไม่เช่นนั้นแล้วพวกเราจะถูกทิ้งและถูกแทนที่โดยนางแบบที่เด็กกว่า

"พวกเราไม่ได้รับอนุญาตให้โตเป็นผู้ใหญ่" ซาร่ากล่าว

ซาร่าเล่าถึงกรณีของซูเปอร์โมเดลเพื่อนของเธอที่ชื่อเอมี่ เลมอนส์ ที่เริ่มเข้าสู่วงการตั้งแต่อายุ 12 ปี ก้าวขึ้นสู่สถานะซูเปอรืโมเดลโดยการขึ้นหน้าปกนิตยสาร Vogue ของอิตาลีด้วยวัยเพียง 14 ปี และสามปีต่อมาเธอก็เริ่มอ้วนขึ้น เอเย่นต์ในนิวยอร์กก็แนะนำให้เธอทานข้าวพองแผ่น (Rice Cake) แค่วันละ 1 แผ่น และถ้าหากยังไม่สำเร็จก็ให้ลดเหลือแค่วันละครึ่งแผ่น

จากนั้นเอมี่ก็คิดได้ เธอบอกกับซาร่าว่า "พวกเขาบอกให้ฉันเป็นโรคชอบอดอาหาร (anorexic) อย่างตรงไปตรงมา"

"โดยส่วนตัวแล้วฉันคิดว่าควรมีแต่คนเป็นผู้ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับงานเดินแบบเสื้อผ้าของผู้ใหญ่" ซาร่ากล่าว


จ่ายด้วยเสื้อผ้า

ซาร่าบอกว่าเรื่องที่สำคัญในตอนนี้คือสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ของนางแบบ เธอเล่าว่าขณะที่เธอออกทัวร์ฉายภาพยนตร์ Picture Me มีนางแบบพากันออกมาเล่าเรื่องราวของตนเอง ในขณะที่คนส่วนมากคิดว่านางแบบรายได้ดี แต่นางแบบส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนมากนัก

"มีบางรายบอกว่าพวกเธอเสียเงินเก็บของตนเองให้กับเอเย่นส์ฉ้อฉล มีอีกหลายคนที่ถูกบังคับให้ถ่ายนู้ดโดยที่ไม่ได้ต้องการ" ซาร่ากล่าว

ซาร่าเล่าว่า ในนิวยอร์ก ดีไซน์เนอร์หลายคนไม่ได้จ่ายเป็นเงินให้นางแบบแต่ใช้วิธีแลกเปลี่ยนการทำงานกับเสื้อผ้า ซึ่งการทำเช่นนี้ไม่ถือว่าผิดกฏหมาย เนื่องจากนางแบบถือว่าเป็นผู้รับจ้างอิสระ ไม่ใช่ลูกจ้าง ดังนั้นกฏหมายค่าแรงขั้นต่ำถึงไม่จำเป็นต้องถูกนำมาใช้

"แต่คุณคงไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้ด้วยเสื้อ และมันก็เป็นสิ่งที่คั่งค้างฝังรากลึกเกี่ยวกับการที่แบรนด์บางแบรนด์ที่มีความมั่งคั่งและมีอำนาจในโลกแฟชั่นได้จ้างคนตัวเล็กตัวน้อยแล้วไม่สามารถเกื้อหนุนทางการเงินให้พวกเขาได้" ซาร่ากล่าว เธอบอกอีกว่านางแบบที่เธอพูดคุยด้วยบอกว่าชอบงานของพวกเธอ แต่ก็ไม่ได้ชอบความไม่เป็นธรรมและบางครั้งก็ปฏิบัติต่อพวกเธออย่างผิดกฏหมาย


มองนางแบบในฐานะมนุษย์

จากความคิดของซาร่าที่คิดว่าพวกเธอควรรวมตัวกันเพื่อที่จะมีพลังเข้มแข็งกว่าปัจเจกบุคคล ในเดือน ก.พ. 2012 เธอจึงก่อตั้งสหพันธ์นางแบบ (Model Alliance) ขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากสถาบันกฏหมายแฟชั่นของวิทยาลัยกฏหมายฟอร์ดแฮม ซึ่งเป็นองค์กรสำหรับนางแบบที่ทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นอเมริกัน

เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ไม่นานหลังจากที่ซาร่าเข้าพบกับกองบรรณาธิการของ Vogue นิตยสารฉบับนี้ในทั้ง 19 ประเทศก็ยอมตกลงว่าจะไม่จ้างงานคนอายุต่ำกว่า 16 หรือคนที่ดูมีปัญหาพฤติกรรมการทานอาหารผิดปกติ (eating disorder) ซึ่งซาร่าบอกว่าเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมนางแบบ

ซาร่ากล่าวว่าองค์กรของเธอได้จัดให้มีระบบการร้องทุกข์ และมีการทำงานกับกลุ่มผู้นำในอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสทางการเงินของเอเจนซี่ และจัดตั้งนโยบายความเป็นส่วนตัวหลังเวที ที่ นิวยอร์กแฟชั่นวีคส์ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีช่างภาพบุกรุกขณะที่นางแบบเปลี่ยนเสื้อผ้า

"พวกเรายังต้องก้าวต่อไปอีกไกล" ซาร่ากล่าว เธอบอกว่าทางองค์กรกำลังทำงานเรื่องการคุ้มครองทางกฏหมายสำหรับนางแบบเด็กในสหรัฐฯ การตั้งนโยบายต้องมีการบอกล่วงหน้าและมีการยินยอมจากนางแบบหากมีการถ่ายภาพนู้ด และส่งเสริมให้นางแบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี

"ภาพถ่ายนางแบบกระจายไปทั่ววัฒนธรรมของเรา และเราคงไม่สามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ของสุขภาพทีดีได้หากไม่เริ่มต้นที่การปกป้องหน้าตาของธุรกิจนี้เสียก่อน" ซาร่ากล่าว "ฉันรู้ว่าแฟชั่นเป็นเรื่องของการหลบหนีจากโลกความจริง และคนส่วนใหญ่อาจไม่คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้เวลาที่เปิดผ่านหน้านิตยสาร"

"แต่การแก้ปัญหาการกดขี่ต้องเริ่มจากการมองนางแบบด้วยเลนส์ที่ต่างออกไป ไม่ใช่ด้วยภาพลักษณ์ที่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่สมควรได้รับสิทธิ์และการคุ้มครองเช่นเดียวกับคนทำงานอื่นๆ" ซาร่ากล่าว


เรียบเรียงจาก
Viewpoint: Do models need more rights?, BBC, 29-11-2012
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net