Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เพื่อพักสมอง—หลีกหนีวาทกรรมทางเพศที่แสนจะอื้อฉาวทั้งในและนอกสภาอภิปราย โดยเฉพาะในสภาอันมีชายคนหนึ่งฝันว่านอนกับผู้หญิงคนนี้ ชายอีกคนหนึ่งฝันว่าผู้นำหญิงไป “เล่นหูเล่นตาเล่นท่า” กับผู้นำชายต่างประเทศคนนั้น เป็นต้น

เพื่อเลิกถอนใจนับครั้งไม่ถ้วนเมื่อได้ยินคุณนายใหญ่และตัวละครผู้หญิงอื่นๆ ในละครเรื่อง กี่เพ้า พูดว่าเกิดเป็นหญิงนั้นแสนลำบาก ต้องจัดการแย่งความรักจากสามีที่ “ยามรัก… แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน ครั้นรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล” วรรคทองที่ตัดตอนมาจาก พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ 

และ

เพื่อล้างตาจากที่ได้เห็นฉากที่วีกิจข่มขืนมุตตา/มุนินทร์ อันนำมาซึ่งการทดสอบความบางของเยื่อพรหมจรรย์และความหนาของเยื่อความอดทนแห่งความเป็นสุดยอดสตรีไทย (ถูกข่มขืนแล้วยังอะมิโนโอเค ลุกขึ้นมาให้อภัยฝ่ายชายได้ตามแบบฉบับยอดมนุษย์เพศหญิง ใจสีขาวผุดผ่อง ไม่ “ดำ… แต่ดูดี” เช่น จิตใจของคุณกะละแมร์) อันนำมาซึ่งเยื่อความกระจ่างเรื่องตัวตนที่แท้จริงของเงาพี่ที่แม้จะแค้นแรงกว่าคนน้อง แต่กลับเป็นสาวเวอร์จิ้นที่ถูก “เปิดซิง”

อีกทั้ง เพื่อต้านทานแรง(งี่)เง่าของโครงเรื่องที่กำหนดให้บทลงโทษที่รุนแรงที่สุดที่ผอ. ได้รับคือการมีลูกผู้หญิงที่ยินยอมถูกเปิดซิงและท้องกับผู้ชายก่อนแต่งงาน และการมีลูกผู้ชายที่เป็นเกย์ (แต่ไม่ท้องกับผู้หญิง) ในละครเรื่อง แรงเงา และโบนัสที่ว่าวาทกรรมทั้งหมดแบคอัพด้วยปรัชญาพุทธแบบป๊อปปูลาร์อันว่าด้วยเรื่องกรรมที่ว่า เกิดเป็นหญิงนั้นเป็นกรรม มีลูกเป็นเกย์ก็เป็นกรรมของพ่อแม่ที่ส่งผ่านมายังลูก ที่หญิงโดนข่มขืนก็เป็นเรื่องกรรม อะไรก็เป็นกรรมไปหมด หากปรัชญาจอมปลอมนี้ถูกฝังอยู่ในหัวมนุษย์ทุกเพศทุกชนชั้นในประเทศนี้ ก็ไม่ต้องแปลกใจที่ใครจะไม่รู้สึกรู้สมอะไรเมื่อสิทธิสตรีถูกทิ้งขว้างกลางทะเลทราย มีการข่มขืนกันเป็นว่าเล่น หญิงหมกมุ่นทาครีมฟอกผิวอย่างสนุกสนาน ส.ส. ชายฝันว่านอนกับส.ส. หญิงก็คงเป็นเรื่องกรรมของส.ส. หญิงด้วยสินะ ทำไมโลกนี้มันช่างเข้าใจง่ายดายเสียเหลือเกิน (หากจะมีคนมองว่าเป็นเกมการเมือง พรรคของฝ่ายตรงข้ามเคยทำ “กรรม” ไม่ดีมาก่อนในอดีต หรือพูดแบบบ้านๆ ว่าส.ส. จ่า-อยาก-ดัง คนนี้มันก็ทำตัวบ้านๆ สมฐานะของมันแล้ว ผู้เขียนจะบอกว่าคิดอย่างนี้แหละ สิทธิสตรีมันถึงถูกขว้างทิ้งกลางดินกลางทรายหรือถูกตีความแบบมั่วๆ ซั่วๆ การต่อสู้อันยาวนานเพื่อและของผู้หญิงในประวัติศาสตร์โลกนั้นชี้ให้เห็นว่า The Personal is always the Political การต่อสู้ทางการเมืองที่ตั้งบนฐานวาทกรรมกดขี่สิทธิสตรี ไม่ว่าจะสังกัดพรรคใด ก็ไม่ควรค่าที่จะให้อภัยทั้งนั้น) เมื่อไหร่เราจะลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า อะไรคือ “ผิดเพศ” เป็นเกย์ มันผิดด้วยหรือ ท้องก่อนแต่ง ทำแท้ง มันเป็นเรื่องหนักหนาเพียงพอที่จะส่งผู้หญิงลงนรกทั้งเป็นด้วยหรือ การ “ใจแตก” และ “เสียตัว” ของผู้หญิงมันหนักหัวของใคร การที่ตัวละครผู้หญิงเอ่ยเอื้อนวจีออกมาว่า “ไม่มีใครอยากเสียคนตั้งแต่เริ่มเป็นนางสาว…ไม่มีใครอยากเกิดมาผิดเพศหรอก” นั้นมันมิใช่บทพูดที่ไร้ความคิดที่สุดแล้วหรือ นักคิดที่ชื่อ Jacques Derrida กล่าวไว้ว่าภาษาเป็น Pharmakon (รากที่มาของคำว่า Pharmacology) คือเป็นได้ทั้งยาพิษและยารักษา ภาษามันเป็นเยี่ยงนี้ ความหมายวิ่งไปมาระหว่างขั้วคู่ตรงข้าม différance เช่น ดี-เลว ถูกเพศ-ผิดเพศ โสเภณี-นางฟ้าในเรือน คำต่างๆ ความหมายไม่หยุดนิ่ง แถมไม่พ้นวาทกรรมอำนาจ คำว่า "เสียพรหมจรรย์" ที่มักใช้แปะป้ายประณามผู้หญิง และคำว่า "ผิดเพศ" ที่ใช้เป็นคำด่า นั้นมักใช้เพื่อสนองวาทกรรมเหยียดเพศทั้งสิ้น โดยที่คนพูดอาจทั้งรู้และไม่รู้ตัว เรามักกลืนยาพิษของความไม่รู้ และมักมองไม่เห็นหรือเลือกที่จะไม่คิด ไม่มองว่าภาษา -การใช้ภาษา- เป็นการเล่นของวาทกรรมอำนาจทั้งนั้น บทลงโทษที่ร้ายที่สุดของครอบครัวผอ.ไม่ใช่การมีลูกสาวที่ "เสียสาว" (อันเป็นอีกคำหนึ่งที่สร้างขึ้นมาจรรโลงความไม่เท่าเทียมทางเพศและปิตาธิปไตย เพราะผู้ชายมีเสียหนุ่มเสียชายเสียหายที่ไหน) และไม่ใช่การมีลูกชายที่ผิดเพศหรอก แต่โทษหนักที่สุดคือการรับความคิดเหยียดเพศมาเต็มๆ โดยที่ไม่รู้ตัวต่างหาก

ที่พูดมายืดยาวก็เพื่อจะเล่าว่า เมื่อวานนี้ผู้เขียน ด้วยสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ได้ตัดสินใจชวนเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกสองคนเดินไปตึกใหม่ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อไปดูหนังอิตาเลียนเรื่อง Il Deserto Rosso (แปลเป็นไทยคือ “ทะเลทรายสีแดง”) อันมีเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับกางเกงในชายยี่ห้อ Rosso แต่ก็ใกล้เคียง เพราะมันเป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่รู้สึกหลงทางสับสนในสังคมสมัยใหม่ที่เจ้า(ของ)โลกเพศชายนั้นยังถือครองอำนาจเบ็ดเสร็จ กุมทั้งเป้า(หมาย)ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโรงงานที่พยายามสร้างให้สูงใหญ่ทิ่มแทงทะลุเยื่อขาวแห่งท้องฟ้า (แต่ผลิตอะไรไม่ผลิต ผลิตแต่ก๊าซพิษสีเหลือง—เหมือนฉี่สุนัขที่ร่ำๆ จะเป็นนิ่ว—ของความไม่เท่าเทียมทางเพศ) และแปรสภาพพื้นที่ภูมิทัศน์ของธรรมชาติและเมืองเล็กให้กลายเป็นเมืองร้างหรือโรงงานขนาดใหญ่ และกุมทั้งเป้าความ(หมาย)ของคุณค่าสตรี ทำให้สตรีไร้คุณค่าความหมายเมื่อเธอเลือกจะแยกตัวออกจากระบบภาษาชายเป็นใหญ่ไปเป็นเอกเทศ

Il Deserto Rosso ซึ่งฉายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1964 เป็นคันฉ่องสะท้อนประเทศอิตาลีในช่วงทศวรรษที่ 60 สมัยนั้นเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของอิตาลีบูม ประชาชนย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าเมือง—จากภาคใต้ขึ้นมาภาคเหนือ—มากเป็นประวัติการณ์ จนทำให้ประเทศเกษตรกรรมอย่างอิตาลี กลายร่างเป็นประเทศอุตสาหกรรมในชั่วพริบตา เหมือนหมาป่าหน้าท้องซิกซ์แพคและแวมไพร์หน้าซีดใน ทไวไลท์ ที่แปลงร่างสำเร็จก่อนหนังตาของเราจะกระทบขอบตาเสียอีก ผู้กำกับของหนังเรื่อง ทะเลทรายสีแดง คือ Michelangelo Antonioni ซึ่งเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1912 ตายเมื่อปี ค.ศ. 2007 (อาจารย์สอนภาษาอิตาเลียนที่เมื่อวานเข้ามาเปิดวีซีดีให้ดูก่อนหายตัวไปอย่างลึกลับพอๆ กับสิ่งมีชีวิตในทไวไลท์ บอกว่ากิจกรรมนี้ส่วนหนึ่งของเทศกาลภาษาอิตาเลียน และที่ฉายหนังของผู้กำกับคนนี้ก็เพราะปีนี้จะเป็นปีที่ครบรอบร้อยปีชาตกาลของเขานั่นเอง) Michelangelo Antonioni นั้นนับว่าเป็นผู้ที่บุกเบิกการทำหนังที่เรียกว่า “ภาพยนตร์แห่งโอกาสความเป็นไปได้” (cinema of possibilities) ที่ท้าทายขนบการถ่ายหนังแนวสัจจนิยม หรือหนังที่มีการเล่าเรื่องแบนๆ โครงเรื่องเป็นขั้นตอนเส้นตรง ตัวละครแบนราบไร้มิติ เขาท้าทายขนบนี้โดยการหลีกวาทกรรมหลัก เค้าโครงเรื่องหลัก เข้าไปในกระแสสำนึกของตัวละครที่มีมิติชวนพิศวง คือชวนให้ผู้ชมท้าทายเยื่อบางๆ ที่กั้นโลกความเป็นจริงและโลกแห่งความฝัน

เปิดเรื่องมา ฉากคือเมือง Ravenna ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลี เราเห็น Giuliana หญิงสาวตัวเอกของเรื่องและลูกชายเล็กๆ ชื่อ Valerio กำลังเดินมุ่งหน้าไปยังโรงงานปิโตรเคมีของ Ugo ผู้เป็นสามี เธอสวมเสื้อโค้ทสีเขียวสดตัดฉากสีเทาหม่นของโรงงานที่ปล่อยเปลวเพลิงออกมาจากปล่องเจ้าโลก จะเห็นว่าทั้งชื่อเรื่องและการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ เน้นเล่นสีอย่างมาก ถนนและตึกนั้นทาสีพาสเทลตัดกับเสื้อผ้าตัวละครสีสด ทั้งนี้เพราะ ทะเลทรายสีแดง เป็นหนังเรื่องแรกของ Antonioni ที่ใช้ฟิล์มสี สีสันต่างๆ นั้นเป็นตัวไฮไลท์สภาพบ้านเมืองของอิตาลีที่กำลังฟื้นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ในโรงงาน ผู้ชายสองคนกำลังคุยกันเรื่องงานท่ามกลางเสียงอึกทึกครึกโครมของเครื่องจักรในโรงงาน Corrado Zeller มาเยี่ยม Ugo เพื่อหาแรงงานคนที่จะไปทำงานโรงงานอุตสาหกรรมที่ Patagonia ส่วนที่เป็นของประเทศอาร์เจนตินา (อีกส่วนเป็นของชิลี) อันเป็นภูมิภาคที่ว่ากันว่ามีความสวยงามและหลากหลายทางภูมิศาสตร์ ที่ผู้เขียนคิดว่าสำคัญคือ ภูมิภาค Patagonia นี้ได้มีชื่อจารึกในประวัติศาสตร์ครั้งแรกในปีค.ศ. 1520 ในบันทึกการเดินทางของนักเดินเรือสำรวจชาวโปรตุเกส Ferdinand Magellan (เกิดปีค.ศ. 1480 ตายปี ค.ศ. 1521) ที่ออกเดินทางสำรวจเส้นทางที่จะมุ่งหน้าไปยังหมู่เกาะเครื่องเทศ หรือ หมู่เกาะโมลุกกะ ในประเทศอินโดนีเซีย โดยเลือกที่จะเดินเรือไปทางทิศตะวันตก ออกจากโปรตุเกสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เลียบอเมริกาใต้ ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แทนการมุ่งหน้าออกจากยุโรปไปทางทิศตะวันออกข้ามแหลมกู๊ดโฮป Magellan ไปจบชีวิตอยู่ที่เกาะ Mactan ที่ฟิลิปปินส์ เพราะไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายใน พยายามจะไปเปลี่ยนศาสนาเจ้าครองเกาะคือ Datu Lapu-Lapu จนถูกบรรดานักรบของผู้ครองเกาะฆ่าตายในสงคราม ที่ผู้เขียนว่าเกร็ดทางประวัติศาสตร์นี้สำคัญก็เพราะ ทะเลทรายสีแดง ใช้เรือขนสินค้าเป็นภาพลักษณ์และสัญลักษณ์แทนการดำรงชีวิตในโลกสมัยใหม่ อีกทั้งเน้นแนวคิดเรื่องการเดินทางและการหลงทาง ผู้เขียนจะวกกลับมาประเด็นเรื่องเรือและกระแสสำนึกตัวละครในภายหลัง

นอกจากเรื่องงานแล้ว ผู้ชายสองคนก็ยังคุยกันเรื่องผู้หญิงอีกด้วย โดย Ugo ได้เล่าให้เพื่อนฟังว่า Giuliana ผู้เป็นภรรยานั้นเพิ่งผ่านอุบัติเหตุรถยนต์มาสดๆ ร้อนๆ และแม้กายจะรอดปลอดภัยดี แต่จิตของเธอนั้นไม่ปกตินัก พอ Corrado พบ Giuliana เขาก็ถึงบางอ้อ รู้ทันทีว่า Ugo พูดถูก เธอดูหน้าตาเบลอๆ สับสนงุนงงยิ่งนัก บางเวลาก็เพ้อ เห้นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น บางเวลาก็พูดจาพอรู้เรื่อง แต่ยิ่งไปกว่านั้น เขาดันมาปิ๊งผู้หญิงคนนี้

เมื่อทั้งคู่สนิทสนมกันมากขึ้น เขาก็ได้ล่วงรู้ว่าแท้จริงแล้ว Giuliana ไม่ได้ประสบอุบัติเหตุอะไรหรอก แต่เธอได้พยายามฆ่าตัวตายต่างหาก เหตุผลน่ะหรือ? Giuliana เองไม่ได้เล่ารายละเอียดอย่างตรงไปตรงมา แต่ใช้วิธีการเล่าเรื่องซ้อนเรื่อง คือเธอเล่าว่าตอนไปนอนโรงพยาบาลเนี่ย เธอไปพบกับหญิงสาวคนหนึ่งที่เล่าให้ฟังอีกต่อหนึ่งว่าหมอแนะนำให้หัดรักใครสักคนและอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสามี ลูกชาย อาชีพการงาน หรือสุนัขเลี้ยง หญิงสาวผู้นั้นบอกว่าเธอรู้สึกว่าพื้นดินที่เธอกำลังยืนกำลังเดินอยู่นั้นยวบยุบหายไป ทำให้รู้สึกเหมือนลื่นหล่นลงไปในห้วงสมุทร รู้สึกเหมือนกำลังจะจมน้ำ แน่นอน ไม่ต้องเดา เราๆ ท่านๆ ก็คงถึงบางอ้อว่าจริงๆ แล้ว Giuliana กำลังพูดถึงตัวเอง และพูดถึงชะตากรรมของผู้หญิงทั่วโลก ปิตาธิปไตยนานนับศตวรรษได้ทำให้โลกและแม้แต่ผู้หญิงด้วยกันชินชารับแนวคิดที่ว่าความเป็น อยู่ คือ หรือตัวตนของผู้หญิงนั้นถูกบัญญัตินิยามบนฐานของสามีและลูกเป็นหลัก นอกเหนือจากความรักในตัวสามีและลูกแล้ว การงานอาชีพก็เป็นตัวนิยามตัวตนของผู้หญิง (แต่เป็นอันดับรองนะ เมื่อดูจากการจัดลำดับของหมอนิรนามในหนัง) แน่นอนผู้หญิงตั้งแต่กำเนิดอารยธรรมมนุษย์ชาติใช่ว่าจะไม่มีอาชีพการงานเลย โสเภณีเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดไม่ใช่หรือ อาชีพแต่งงานตั้งท้อง ดูแลลูกและสามี ทำกับข้าวและทำงานบ้านแม้ไม่ใช่งานที่ quantify ออกมาเป็นเม็ดหน่วยเม็ดเงินตอบแทนหรือมีที่ยืนในสังคม แต่มันก็เป็นอาชีพไม่ใช่หรือ ในช่วงสงครามโลก แรงงานหญิงได้ก้าวเข้ามาเสริมแรงงานชายที่ขาดหายเพราะไปรบกันหมด พวกผู้หญิงในอดีตก็ได้ลิ้มรสเสรีภาพและสถานะมนุษย์เงินเดือนจากประสบการณ์ทำงานหาเงินนอกบ้านเป็นครั้งแรก แต่กระนั้นพวกเธอก็ถูกเฉดหัวส่งกลับบ้านช่วงหลังสงคราม เมื่อพวกผู้ชายแบบสภาพลากสังขารกลับจากศึกสงคราม ทุกวันนี้ผู้หญิงทั้งที่มีงานนอกบ้านเป็นทุนเดิมก็มักต้องก้มหน้าก้มตาทำงานในบ้านไปเรื่อย ขาดตกบกพร่องมิได้ เพราะหากขาดตกอะไรไปอย่างนพนภา ก็จะถูกตีตราว่าไร้ประสิทธิภาพ สมแล้วที่สามีไปมีบ้านเล็กบ้านน้อย สมแล้วที่มีลูกที่ท้องก่อนแต่ง สมแล้วที่มีลูกเป็นเกย์ หรือเหมือนนางเอกหลายๆ เรื่องที่ละครเวทีแห่งสังคมไทยชี้ชวนให้เราพูดว่าสมแล้วที่โดนข่มขืน สมแล้วที่โดนพูดจาแทะโลมในที่สาธารณะถ่ายทอดสดทั่วประเทศ เป็นต้น ตามแบบฉบับละครไทยในศตวรรษที่ 21 ที่สะท้อนสังคมที่ล้าหลังทางปัญญา ค่านิยมมืดดำ…ที่ดูยังไงก็ดูไม่ดี…แบบที่คุณกะละแมร์จะต้องร้องอี๋ ครีมฟอกผิวพอกความขาวอะไรบนโลกใบนี้ก็แก้ไม่ได้

ขอวกกลับมาเรื่องเรือสักนิด หากจะมองว่าตัวละครหลักใน ทะเลทรายสีแดง เทียบได้กับนาวาล่องสมุทร คือจะมองว่าเหมือนเรือล่าปลาวาฬอย่างในเรื่องโมบี ดิกของ เฮอร์มัน เมลวิลล์ (เกิดปีค.ศ. 1819 ตายปี ค.ศ. 1891) ที่ออกตามล่าความหมายของการมีชีวิต เราจะเห็นว่า Corrado เชื่อว่าความหมายนั้นมันหาได้จากการไม่อยู่กับที่ ตัวเขาเองเป็นเรือที่ล่องไปมาในมหาสมุทรแห่งความเปลี่ยนแปลง เขาไม่พอใจที่อยู่ที่นี่ (here) หรือที่นั่น (there) แต่มีความสุขที่ได้เดินทางระหว่างที่นี่และที่นั่นร่ำไป จุดหมายไม่สำคัญ ในขณะที่ Giuliana ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในลำเรือของจิตใจที่แตกเป็นเสี่ยงๆ บอกว่าความหมายมันจะอยู่ที่ไหนได้เล่าในเมื่อตัวเราเองยังไม่รู้เลยว่าจะพุ่งสายตาไปที่ใด ไม่รู้จะโฟกัสอะไร ("I can't look at the sea for long or I lose interest in what's happening on land" – “ฉันมองทะเลนานๆ ไม่ได้ ไม่งั้นฉันจะไม่ใส่ใจสนใจเหตุการณ์ที่กำลังเกิดบนบก”) เธอเปรียบเสมือนเรือที่ไร้ ไจโรสโคป (Gyroscope) อันเป็นอุปกรณ์ที่ Ugo อธิบายให้ลูกชายคือ Valerio ฟัง (ในฉากพ่อลูกเล่นของเล่นด้วยกัน โดยมีแม่คอยดูอยู่ห่างๆ) ว่าเป็นอุปกรณ์ล้อหมุนเร็วบรรจุในกรอบที่หมุนได้เรื่อยๆ อาศัยแรงเฉื่อยของล้อ มีโมเมนตัมที่รักษาสมดุล ทำให้อุปกรณ์นี้แม้เอียงไปมาก็ไม่ล้ม อุปกรณ์นี้มักใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเรือใหญ่ เพื่อพยุงประคองไม่ให้เรือจม ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าเพราะ Giuliana ถูกริบ ไจโรสโคป จากนาวาของความเป็นแม่และเมีย เพราะความเชื่อของเธอถูกสั่นคลอน ทำให้คิดสงสัยว่าทำไมเธอถึงอยู่อย่างไร้สุขในสังคมขนบชายเป็นใหญ่ เมื่อขาด ไจโรสโคปของความหน้ามืดตามัว จรรโลงอำนาจนำ ก็ทำให้เธอเสียสมดุลครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่แปลกที่เธอรู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยว และแม้จะแสวงหาความรักและความเข้าใจจาก Corrado ถึงขั้นมีสัมพันธ์ทางกายด้วยกัน แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้ช่วยอะไร

จะช่วยอะไรได้เล่า? ในเมื่อผู้หญิงเป็นระบบสัญญะที่พังมาตั้งแต่ต้น มันยากที่จะเยียวยาด้วยความอนุเคราะห์ของการคิดแบบปิตาธิปไตย อันสะท้อนในความคิดของ Corrado ที่ว่าเขาสามารถซ่อมผู้หญิงคนนี้ได้หากเขาพาเธอขึ้นเตียง (ซิกมันด์ ฟรอยด์คงเห็นดีเห็นงาม รีบวิ่งมาปูเตียงให้ทันที เพราะเชื่อว่าผู้หญิงอิจฉาผู้ชายเพราะผู้ชายมี –และเป็น- เจ้าโลก) แนวคิดชายเป็นใหญ่ทั้งหมดนี้ถูกท้าทายใน ทะเลทรายสีแดง ทั้งสิ้น

ฉากที่ Giuliana ค้นพบข้อความจริงที่ว่า Valerio ลูกชาย แกล้งทำเป็นอัมพาตเดินไม่ได้ เพื่อเรียกร้องความสนใจแม่ ทำให้ Giuliana รู้สึกโดดเดี่ยวไปใหญ่ แม่หลายคนที่มีลูกไม่ได้ดั่งใจคงคิดว่าทำไมหนอทำไม ฉันอุตส่าห์เสียสละร่างกายอุทิศเวลาและพลังงานให้ลูก ใยลูกจึงไม่รักดีและมาหักหัวอกหัวใจของฉัน ไม่แปลกที่ Giuliana รู้สึกงุนงงสับสน อับจนหนทาง จนต้องร่อนเร่เข้าไปยังบริเวณท่าเรือ ที่นั่นเธอได้พบกับคนเรือชาวต่างชาติ (หากฟังไม่ผิด คนเรือนั้นพูดภาษาตุรกี) พยายามสื่อสารกันในระดับภาษาก็ฟังกันไม่รู้เรื่อง ฉากนี้เป็นฉากที่งดงาม เพราะแสดงให้เห็นถึงสภาพชีวิตของคนสมัยใหม่ที่คุยกันไม่รู้เรื่อง (แม้จะพูดภาษาเดียวกันก็เถอะ) เมื่อยืนอยู่ตรงหน้าคนเรือ Giuliana ก็เริ่มร่าย Soliloquy บทพูดรำพึงรำพันคนเดียว ที่สรุปใจความได้ว่า "We are all separate" (เราทุกคนล้วนแตกแยกแตกต่าง)

หนังที่ Antonioni สร้างนั้น ขึ้นชื่อว่าดูยากดูเย็นชวนเคลิ้มหลับ เรื่อง ทะเลทรายสีแดง นี้ ผู้เขียนก็ว่าจริงในบางจังหวะโอกาส โดยเฉพาะเมื่อหน้าท้องตึงจากการรับประทานหมูทอดตลาดนัดจุฬาฯ ในปริมาณเบาๆ คือสองขีดบวกข้าวเหนียวสองถุง แต่เมื่อพินิจดูดีๆ โปรเจคของผู้กำกับที่หากมีชีวิตอยู่ก็จะมีอายุครบศตวรรษในปีนี้นั้น มีโปรเจคพุ่งชนอันเดียวกันกับโปรเจคของพวกนักเขียนวรรณกรรม Modernism ชาวอังกฤษ อเมริกัน และนักคิดภาคพื้นทวีปยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หลายคน ไม่ว่าจะเป็น เจมส์ จอยซ์ (ค.ศ. 1882-ค.ศ. 1941) และเพื่อนผู้เป็นสหชาติคือ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (ค.ศ. 1882-ค.ศ. 1941) ต่างเป็นนักเขียนผู้สำรวจกระแสสำนึกของมวลมนุษย์และเปิดโปงความล้มเหลวของระบบภาษาอันเป็นสัญญะสื่ออำนาจและสังคมที่ไม่เท่าเทียมในสังคมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ที.เอส. เอลเลียต (ค.ศ. 1888-ค.ศ. 1965) ที่มองว่าโลกสมัยใหม่นั้นเป็นทะเลทรายที่แห้งผากเพราะสงครามโลกได้ทำให้บ่อน้ำทิพย์อารยธรรมนั้นแห้งเหือดหดหายไป หรือมาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (ค.ศ. 1889-ค.ศ. 1976) ที่สนใจประเด็นเดียวกับ Corrado ผู้เฝ้าถามตัวเองตลอดทั้งเรื่อง อะไรคือ “คือ” (What is “is”?) อะไรคือการมีตัวตน อะไรคือวิถีและวิธีการที่เราพึงจะใช้ชีวิตบนโลกนี้ เป็นต้น แล้วโปรเจคของคนพวกนี้ก็ยังส่งเสียงร้องเหมือนเสียงผู้หญิงนิรนามในหนังเรื่อง ทะเลทรายสีแดง ที่ตามมาหลอกหลอนพวกเราที่อาศัยและเร่ร่อนกลางทะเลทรายสีแดงแห่งศตวรรษที่ 21

"We are all separate" (เราทุกคนล้วนแตกแยกแตกต่าง) เป็นคำพูดที่หลุดมาจากปากของผู้หญิงที่ตัวตนและห้วงคำนึงแตกเป็นเสี่ยงๆ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะเลิกลุกขึ้นมาจับ คัด แยกชิ้นส่วนความแตกต่างของอัตลักษณ์หญิงแต่ละคนราวแยกขยะ เลิกเอามันมาใส่ถุงมัดรวมเป็นกลุ่มก้อน เลิกเอาถุงมาวางรวมกันในโกดังของเรือสินค้าเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทที่ชื่อว่าอำนาจความไม่เป็นธรรมในวาทกรรมเรื่องเพศ? ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะตั้งคำถามความคิดเรื่องเพศที่แพร่สะพัดในสื่อทั้งสื่อบันเทิงและการเมือง และร่วมกันทำลาย ไจโรสโคปจอมปลอม ของ status quo สังคม หากประชาธิปไตยตั้งอยู่บนฐานของความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ สิทธิสตรีไม่ควรมาเป็นที่สองรองการเมือง สิทธิสตรีคือการเมือง ความเสมอภาคทางเพศคือประชาธิปไตย

บางทีเราอาจต้องเผาเรือแห่งอำนาจนำ เอาดินไปถมทะเลแห่งอคติ และเมื่อทะเลกลายเป็นทะเลทราย ก็หวนกลับไปกู้ซากสิทธิสตรีที่จนถึงทุกวันนี้ยังคงรอคอยให้เราทำความเข้าใจมันอย่างแจ่มแจ้งและจริงจัง

คุณเริ่มแล้วหรือยัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net