ก.แรงงาน เตรียมประกาศรองรับคนงานพ่อลูกอ่อนลาเลี้ยงลูกได้ ธ.ค.นี้

เล็งออกประกาศรองรับให้คนงานพ่อลูกอ่อนลางานช่วยภรรยาเลี้ยงลูก คาดประกาศใช้ภายในเดือนนี้ ด้านนักสหภาพแรงงานหนุนถือเป็นก้าวแรก ชี้กำหนดวันให้ชัดและไม่มีเงื่อนไขจดทะเบียนสมรส

6 ธ.ค.55 ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอของหน่วยงานรัฐและเอกชน ขอให้กระทรวงแรงงาน แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยกำหนดให้ลูกจ้างชายสามารถลางานได้ถึง 90 วันติดต่อกัน เพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูกที่เพิ่งคลอดนั้นว่า ยอมรับว่าข้อเสนอดังกล่าวทำได้ยาก เพราะกระทรวงแรงงานไม่สามารถไปบังคับสถานประกอบการให้ทำตามได้ อีกทั้งข้อเสนอที่จะให้แก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ต้องใช้เวลานาน เพราะฉะนั้น ก.แรงงาน ได้เตรียมออกเป็นประกาศกระทรวงแรงงาน เพื่อรองรับเรื่องนี้แทน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้มอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ไปจัดทำร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขอความร่วมมือสถานประกอบการอนุญาตให้ลูกจ้างลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตร ซึ่งต้องเป็นภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังกล่าวด้วยว่าเรื่องดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายจ้างว่าจะอนุญาตให้ลาได้กี่วันโดย หากเป็นไปได้ตนอยากขอความร่วมมือสถานประกอบการเปิดโอกาสให้ลูกจ้างชายสามารถขอลาหยุดงานได้ 15 วันติดต่อกัน เช่นเดียวกับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อไปช่วยภรรยาที่เพิ่งคลอดบุตรเลี้ยงลูก ทั้งนี้ คาดว่า ร่างประกาศฉบับดังกล่าวจะเริ่มประกาศใช้ได้ภายในเดือนธันวาคม 2555 นี้

“ผมอยากขอความเห็นใจและขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการต่างๆ เปิดโอกาสให้ ลูกจ้างชายพ่อลูกอ่อน สามารถลาหยุดงานได้ติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน เพื่อไปช่วยภรรยาเลี้ยงลูก โดยไม่มีการเอาผิดลูกจ้างในภายหลัง ซึ่งอยากให้มองว่าเราช่วยกันสร้างสังคมให้อบอุ่น เพราะการที่สามีภรรยาหยุดงานแล้วมาช่วยกันเลี้ยงลูกที่เพิ่งเกิด จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครอบครัว อีกทั้งทุกวันนี้สามีภรรยาต่างก็ต้องแยกย้ายไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวโอกาสที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาเป็นเวลานานๆ มีน้อยมาก” นายเผดิมชัย กล่าว

“จิตรา” หนุนถือเป็นก้าวแรก ชี้กำหนดวันให้ชัด ไม่ควรมีเงื่อนไขจดทะเบียนสมรส

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่เคยรณรงค์เรียกร้องสิทธิในการลาคลอดของคนงานชายทั้งต่อรัฐและบริษัท และเป็นสหภาพฯที่สมาชิกส่วนใหญ่หลายพันคนเป็นผู้หญิง กล่าวถึงความสำคัญของสิทธิในการลาคลอดของคนงานชายว่า เนื่องจากในสังคมคนงานหรือในเมือง คนงานมักอยู่กันแบบครอบครัวเดี่ยว มีเพียง สามี-ภรรยา ดังนั้นเวลาที่ผู้หญิงคลอดลูกคนที่จะเป็นผู้ช่วยได้ดีก็คือคนที่เป็นสามี อีกทั้งการที่สามีคอยดูแลยังเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย ทางสหภาพฯ จึงเห็นความสำคัญของสิทธิตรงนี้จึงได้เคยเรียกร้องต่อทั้งบริษัทและรัฐบาลในอดีต

ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่จะมีการประกาศรับรองคนงานชายลาคลอดได้ เพราะถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลเห็นความสำคัญของคนงานที่มีปัญหาตรงนี้ และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเรียกร้องจำนวนวันลาเพิ่มในอนาคต แต่ในเบื้องต้นอยากให้กระทรวงประกาศกำหนดจำนวนวันลาได้ไปเลย เช่น 15 วันให้เสมอภาคกับข้าราชการ ไม่ใช่ให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายจ้าง เพราะถ้าคนงานที่ไหนอำนาจต่อรองน้อยก็อาจจะไม่ได้วันลาเลยก็ได้

ส่วนเงื่อนไขที่จะได้สิทธิในการลาจะได้ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายนั้น จิตรา มองว่า น่าจะใช้หลักเกณฑ์ของประกันสังคมที่ไม่จำเป็นต้องจำทะเบียน แต่ถ้าอยู่กันอย่างเปิดเผยโดยพฤตินัยก็น่าจะรับสิทธิได้ เพราะส่วนมากในสังคมคนงานจะอยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส

ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ยังเรียกร้องเกี่ยวกับการลาหยุดและการคลอดบุตรด้วยว่า อยากให้รัฐเพิ่มค่าดูแลบุตร เพราะค่านมเด็กปัจจุบันราคาแพง และต้องมีสวัสดิการในการคลอดบุตรฟรีและได้รับการดูแลที่ดีมีประสิทธิภาพ รวมถึงการลาหยุดในช่วงที่คนงานหญิงมีประจำเดือน ซึ่งไม่ควรเป็นการลาป่วย ให้เป็นการลาพิเศษสำหรับผู้หญิงที่ได้รับค่าตอบแทน ซึ่งประเด็นนี้ทางสหภาพแรงงานได้เคยยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทแล้ว แต่บริษัทยังไม่ได้ตกลง

ทั้งนี้สำหรับสิทธิการลาคลอดของข้าราชการชายที่ว่านั้น ได้มีการปรับแก้ตามพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บําเหน็จ บํานาญ และเงินอื่น ในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555(คลิกอ่านทั้งฉบับ) ของข้าราชการ ที่พึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 19 ก.ย. 55 ที่ผ่านมา ระบุสิทธิข้าราชการชายที่สามารถลาไปช่วยภรรยาที่คลอดบุตรได้ 15 วัน ภายใน 30 วันหลังคลอด โดยได้รับเงินเดือนระหว่างลา จากมาตรา 28/1 ระบุว่า “ข้าราชการซึ่งลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรภายในสามสิบวันนับแต่วัน ที่ภริยาคลอดบุตร ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกินสิบห้าวันทําการ แต่ถ้าเป็นการลาเมื่อพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่ภริยาคลอดบุตร ไม่ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลา เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ตําแหน่งอธิบดีหรือตําแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปเห็นสมควรจะให้จ่ายเงินเดือนระหว่างลานั้นก็ได้ แต่ไม่เกินสิบห้าวันทําการ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท