Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากเวทีเสวนา"ห้องเรียนประชาธิปไตยเรื่อง สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย" เมื่อวันที่24 พ.ย.ที่ผ่านมาโดยร้าน Book Re:public โดยมี"ศศิน เฉลิมลาภ" และ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" เป็นวิทยากรได้เกิดกรณีวิวาทะที่น่าสนใจระหว่างนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนักธุรกิจรุ่นใหม่โดยเฉพาะในประเด็นการเมืองและความเท่าเทียมซึ่งประชาไทได้รายงานไปแล้ว ต่อมาศศินได้เขียนบทความที่มีความต่อเนื่องจากการเสวนาดังกล่าวข้างต้นลงใน นสพ.มติชน และทางร้านBook Re:public ได้เขียนแย้งกับศศินในเฟซบุ๊ค ประชาไทเห็นว่ามีเนื้อหาที่น่าสนใจ จึงได้รวบรวมมานำเสนอ

โดยทั่วๆ ไป ผมไม่ค่อยได้ศึกษาเรื่องการเมืองในเชิงแนวคิดทฤษฎีต่างๆ ลึกซึ้งอะไรมากนัก อาจจะเนื่องเพราะพื้นฐานที่เรียนมาทางวิทยาศาสตร์ 

แต่เมื่อราว 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ถูกนักกิจกรรมสายการเมือง จ.เชียงใหม่ กลุ่มหนึ่งชวนไป "วิวาทะ" (เขาเชิญตามศัพท์นี้จริงๆ) กับนักธุรกิจหนุ่มที่เก่งกาจเชี่ยวชาญทางการเมือง โดยมีผู้ร่วมฟังร่วมคุยเป็นนักศึกษา และนักวิชาการสายสังคมศาสตร์ที่ออกไปทางแนว "ก้าวหน้า" เกือบทั้งห้อง เลยได้รู้ว่าตัวเองไม่รู้เรื่องอะไรแบบทฤษฎีทางการเมืองพอที่จะไปคุยให้ความเห็นเขาได้ แต่ได้ความรู้และความเข้าใจแนวคิดพวกนี้กลับมาอย่างหนักหัวพ่วงหนักใจ

สำนักคิดทางการอนุรักษ์ เราก็เชื่อกันโดยทั่วไปว่า โลกนี้มีทรัพยากรจำกัด และก็มักท่องมักเชื่อคำคมของท่านคานธีที่ว่า โลกนี้มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับทุกคน แต่ไม่เพียงพอสำหรับคนโลภเพียงคนเดียว มานาน... และก็เชื่อว่า โลกเรามีขีดความสามารถในการรองรับการพัฒนาอย่างจำกัด เมื่อเสียสมดุลก็เกิดปัญหาตามมา ตั้งแต่ภาวะมลพิษจนกระทั่งปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากโลกร้อน ตลอดจนกังวลเรื่องความขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ

บนเวทีวิวาทะ นักธุรกิจหนุ่มผู้ซึ่งบริหารกิจการค้าขายรถยนต์รายใหญ่ บอกกับผมว่า เขารู้ว่าการพัฒนามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากธุรกิจหยุดการบริโภค หรือ "แช่แข็ง" (ช่วงนั้นม็อบ เสธ.อ้าย พอดี) ก็จะมีผลกระทบโดยตรงต่อคนยากคนจน เนื่องจากจะเกิดผลกระทบโดยตรง คนงานจะตกงาน เกษตรกรจะขายผลผลิตจำนวนมากๆ ไม่ได้ เพราะการบริโภคจำกัด การพัฒนาความสะดวกสบายต่างๆ ที่คนมีตังค์เข้าถึงจะไม่สามารถกระจายไปถึงคนจน เนื่องจากของจะแพง และคนรากหญ้าจะเข้าถึงความสะดวกสบายต่างๆ รวมถึงใช้พลังงานไม่ได้ 

ผมคิดตามจึงเข้าใจได้ว่า นโยบายประชานิยมประเภทคืนภาษีรถป้ายแดงคันแรก ที่ทำให้ยอดขายรถเพิ่มขึ้นมันเป็นกลไกอย่างนี้เอง โดยไอ้ผลกระทบที่รถมันมากจนแทบไปไหนไม่ได้ฉับพลันในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ผมและคุณได้รับผลกระทบทางตรงบนถนน จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไอ้ที่เขาทำ (ขายรถ) มันคือ การช่วยขยายการบริโภคให้คนไม่ตกงาน ระบบเศรษฐกิจต่างๆ เติบโต นอกจากนั้นแล้ว กลิ่นอายความคิดของเวทีก็คล้ายๆ กับผลักการอนุรักษ์ไปรวมอยู่กับเรื่องยอดฮิตเศรษฐกิจพอเพียง

ดังนั้น ทางสำนักที่ประกาศตัวว่า "ทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย" (ในวงเสวนาพูดถึงศัพท์นี้กันหลายครั้ง ทำให้ผมเข้าใจว่าสายการเมืองที่ผมเข้าไปร่วมนั้นกำลังเชื่ออย่างยิ่งกับระบบระบอบนี้) ก็คือการยอมที่จะต้องจำนนเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่จะตามมา ในแง่ของทุนนิยมก็ต้องทำหน้าที่ทางสังคมของมันไป ส่วนสิ่งแวดล้อมและพลังงานก็หวังว่าวันหนึ่งจะมีเทคโนโลยีมาจัดการ ประเภทว่าเมื่อไหร่ใช้แสงอาทิตย์ได้ก็จบ แต่เขาก็ไม่ปฏิเสธการทำงานของภาคประชาสังคม ที่จำเป็นต้องมีในการผลักดันให้อำนาจรัฐออกนโยบายให้นายทุนร่วมกันจัดการสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ก็ต้องทำทั้งระบบ เนื่องจากหากบริษัทใดทำที่เดียว มันก็จะเพิ่มต้นทุนจนแข่งขันไม่ได้

ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้ ผมก็หนักหัวอึ้งกับแนวคิดของเพื่อนมนุษย์สายก้าวหน้า ผมรู้แล้วว่า...เวทีต่อสู้ครั้งนี้ สมรภูมิในการอนุรักษ์และทุนนิยมเสรีจะมีใครอยู่ตรงไหนในสมรภูมิที่ไม่ใช่แค่เรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แต่ขยายวงใหญ่ไปถึงระบบการเมือง

 

Book Re:public

อ่านสิ่งที่คุณศศินเขียนลงมติชนออนไลน์เกี่ยวกับงานเสวนา ที่เราได้เชิญมาดีเบตกับคุณธนาธรในประเด็นสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา เราเห็นว่าคุณศศินมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในจุึดยืนของ Book Re:public 

ในทางการเมือง--เราสนับสนุนระบอบการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ในทางเศรษฐกิจ--เรามองระบบทุนนิยมด้วยเครื่องหมายคำถาม และพวกเราก็ต้องการให้มีการดีเบตในเรื่องนี้อย่างกว้างขวางและครอบคลุม พวกเราได้จัดการคุยเรื่องทุนนิยมหลายครั้ง หลังจากงานเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็ได้จัดคุยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุนนิยมอีกหลายเรื่อง เช่น อาหารกับการเมือง, วิพากษ์ระบอบเสรีนิยมใหม่ ประเด็นที่พวกเราอยากชี้ให้เห็นคือ ทุนนิยมที่มักอ้างตนว่านำมาซึ่งเสรีนิยมนั้น แท้จริงแล้ว มีลักษณะผูกขาดในหลายๆ ด้านด้วยกัน แต่ในขณะเดียวกัน ความโยงใยของระบบทุนนิยมกับชีวิตของผู้คนในหลากหลายชนชั้น ก็เป็นสิ่งที่ซับซ้อนและจำเป็นต้องคำนึงถึง 
พวกเราก็อยากฟังมุมองของนักอนุรักษ์ในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งนี่อาจเป็นที่มาของคำถามที่ชวนถกเถียงในวงคุยวันก่อน 

ส่วนประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น เราเห็นข้อจำกัดสำคัญของงานอนุรักษ์ที่ผ่านมาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการเชื่อมโยงประเด็นสิ่งแวดล้อมเข้ากับประเด็นที่ใหญ่กว่าในระดับมหภาค อาทิ ระบบทุนนิยม เราเข้าใจดีว่า นักอนุรักษ์ในไทยนั้น มีหลายเฉด ตั้งแต่เขียวไม่เอาผู้คน  ไปจนถึงเขียวที่เข้าใจดีในประเด็นนเรื่องสิทธิและความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม แต่เราอยากตั้งข้อสังเกตว่า ความเสื่อมถอยของขบวนการอนุรักษ์ในไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความไม่สามารถพาขบวนการให้สามารถเชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมือง และชีพจรว่าด้วยประชาธิปไตยในหลายปีที่ผ่านมาในไทยได้ ในขณะที่การถกเถียงในเรื่องดังกล่าว ก็เป็นไปอย่างจำกัดในแวดวงนักอนุรักษ์ และเราเองก็ไม่แน่ใจว่า นักอนุรักษ์เองจะยอมรับข้อจำกัดในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน 

เราก็ไม่ได้เห็นด้วยว่า ปัญหาทั้งหลายของสิ่งแวดล้อม จะจบลงได้เพียงการลงทุนเรื่องพลังงานทางเลือก โดยที่ทุนใหญ่ไม่มีการปรับตัว (คุณธนาธรก็ถูกตั้งคำถามนี้ด้วย) แต่ขณะเดียวกัน นักอนุรักษ์ก็มีความจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการตอบโจทย์ที่ซับซ้อนไปกว่าการรณรงค์ให้เปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกชน ไม่ใช่ว่ามันผิด แต่เพราะมันไม่พอ และไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง

ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของการจัดเสวนาในเชิงตั้งข้อถกเถียงและให้เกิดวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุและผล หากเวทีถกเถียงนี้ทำให้รู้สึกว่านักอนุรักษ์ถูกล้อมกรอบ เราต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น เราเข้าใจว่า คำถามเชิงท้าทายทั้งหลายที่เกิดขึ้นในวงคุย ไม่ว่าจะมีต่อนักอนุรักษ์หรือนักธุรกิจ ก็เพราะอยากเห็นการแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจังและน่าจะเป็นประโยชน์ในการคิดต่อของแต่ละฝ่าย.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net