Skip to main content
sharethis

‘วันทนา ศิวะ’ ปาฐกถามหาตมะคานธีอนุสรณ์ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 1 ชี้พืช GMO-ระบบสิทธิบัตรภัยคุกคามความยั่งยืนในโลกปัจจุบัน เผยการพึงตัวเอง ปฏิเสธกฎที่ไม่เป็นธรรมตามแนวทาง ‘มหาตมะคานธี’ คือเครื่องมือสู้

 
วันที่14 ธ.ค.55 ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดปาฐกถามหาตมะคานธีอนุสรณ์ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 1 (2555) ในหัวข้อ ‘ผืนดินไม่ใช่น้ำมัน: สารจากอินเดีย’ โดย ดร.วันทนา ศิวะ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและผู้ก่อตั้งนวธัญญา ซึ่งได้รับรางวัล ‘แกรนด์ ไพรซ์’ จากการประกาศรางวัลฟุกุโอกะ เอเชียน คัลเจอร์ ไพรซ์ส ซึ่งมอบให้แก่ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมในทวีปเอเชีย ประจำปี พ.ศ.2555 ณ ชั้น 9 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ดร.วันทนา กล่าวว่า มหาตมะคานธีมีอิทธิพลทางความคิดต่อการเคลื่อนไหวของเธอ ตั้งแต่เธอจำความได้ เมื่ออายุราว 6 ขวบ แม่ของเธอปั่นด้าย และมีการนำเข้าเสื้อผ้าไนลอนซึ่งผลิตจากโพลิเมอร์ หรือพลาสติกที่ได้มาจากน้ำมัน ซึ่งขณะนั้นมีคำพูดที่ว่า ‘ปั่นฝ้ายมีของกิน ใช้เสื้อผาไนลอนคนรวยมีรถยนต์’ ต่อมาเธอจึงเริ่มมีความคิดทางสังคมการเมือง การเชื่อมโยงเรื่องผลประโยชน์ และผลกระทบจากการพัฒนาที่ทิ้งไว้ให้กับโลก
 
นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากอินเดีย เล่าว่าในปี 1970 เธอได้เข้าร่วมขบวนการ ‘ชิปโก้’ หรือ ‘โอบกอด’ ซึ่งเป็นขบวนการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ป่าในเขตเทือกเขาหิมาลัยของอินเดีย โดยใช้วิธีการสันติ อหิงสา ด้วยความคิดว่า ดิน น้ำ และอากาศ คือพื้นฐานของชีวิตซึ่งล้วนมาจากป่าและมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งการต่อสู่ดังกล่าวส่งผลสะเทือนไปทั่วอินเดียและมีคนรุ่นใหม่ๆ เข้าร่วมตามมา ประกอบกับเหตุการณ์น้ำท่วมและดินถล่มเมื่อปี 1978 ซึ่งก่อความเสียหายอย่างมหาศาล ส่งผลให้รัฐบาลเกิดความตระหนักและปรับนโยบายป่าไม้ไปในทิศทางที่เน้นการอนุรักษ์ อีกทั้งมีการออกกฎหมายห้ามตัดไม้ทำลายป่า ในปี 1980
 
และในปี 1980 นั้นเอง ดร.วันทนาเล่าว่าเธอได้ถูกเชิญไปเข้าร่วมเวทีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีบริษัทผู้ผลิต GMO (สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม) และบริษัทผู้ผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าร่วมด้วย โดยช่วงเวลานั้นก็มีการเจรจาการค้าในเรื่องการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตด้วย ทั้งนี้โดยส่วนตัวเธอเห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีการตัดต่อยีน (Gene) และพันธุวิศวกรรมนั้นมุ่งหวังในเรื่องผลกำไร ทั้งยังอ้างการพัฒนานวัตกรรมใหม่ขอสิทธิบัตรเพื่อเป็นเจ้าของ นั่นคือความต้องการของอุตสาหกรรม
 
ต่อมาการเข้าเป็นภาคีสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ทำให้อินเดียต้องเข้าสู่กรอบกติกาสิทธิบัตรของ WTO โดยในการประชุมครั้งหนึ่งสหรัฐระบุท่าทีชัดเจนโดยใช้ข้อตกลงภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือต่อรอง ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดการผูกขาดสิทธิบัตรยา ส่งผลให้ยาราคาแพงและกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน อีกทั้งกรณีสิทธิบัตรพืชก็ทำให้เมล็ดพันธุ์ถูกผูกกับการค้า เกษตรกรไม่มีเมล็ดพันธุ์ของตนเอง ไม่มีทางเลือกในการเพาะปลูก และความหลากหลายทางชีวภาพถูกครอบครองโดยระบบสิทธิบัตร
 
 
ดร.วันทนา กล่าวว่าจากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เธอหวนคิดถึงการต่อสู้เพื่อให้ได้เอกราชจากจักรวรรดินิยมอังกฤษของมหาตมะคานธี โดยต่อสู้กับการครอบงำอุตสาหกรรมสิ่งท่อของอังกฤษด้วยการปลูกฝ้ายและทอผ้าด้วยตนเอง ซึ่งขณะนั้นอินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษส่งออกฝ้ายและนำเข้าเสื้อผ้าจากอังกฤษ ภายใต้ความคิดที่ว่าหากไม่มีอิสรภาพทางเศรษฐกิจก็ไม่มีเสรีภาพทางการเมือง ผ้าคาดี (Khadi) ผ้าทอมือพื้นเมืองของอินเดียจึงถูกให้ความสำคัญ และทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียกร้องเอกราชด้วยการปั่นด้าย ซึ่งทำให้พวกเขาพึงตนเองได้
 
นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากอินเดียกล่าวด้วยว่า การใช้เทคโนโลยีชีวภาพตัดแต่งพันธุกรรมพืชที่ทำให้ไม่สามารถใช้เมล็ดขยายพันธุ์ต่อได้นั้น จะต้องต่อสู้หยุดความรุนแรงจากเทคโนโลยีนี้ ด้วยการช่วยสนับสนุนการปลูกและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ของตนเอง โดยเธอระบุถึงความมุ่งหวังด้วยว่า ต้องการให้อินเดียเป็นแหล่งผลิตเกษตรอินทรีย์เลี้ยงคนทั้งโลก
 
ส่วนการควบคุมเมล็ดพันธุ์โดยใช้สิทธิบัตร จากการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชแล้วนำไปจดสิทธิบัตรเพื่อผูกขาด ทั้งที่ไม่ใช่การสร้างสายพันธ์ใหม่ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่คิดค้นใหม่ ถือเป็นโจรสลัดชีวภาพที่ใช้เครื่องมือคือกฎหมายมาปล้นชิงทรัพยากร ตรงนี้มีเครื่องมือของมหาตมะคานธีที่สามารถนำมาใช้ได้ นั่นคือการใช้วิธี ‘สัตยาคฤห (Satyagraha)’ จากสิ่งที่ครอบงำอยู่ นั่นคือ การไม่ร่วมมือในกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม โดยไม่มีการใช้กำลัง ดังกรณีการสัตยาคฤห ต่อต้านการถูกบังคับให้ปลูกต้นครามแล้วหันมาปลูกพืชอาหาร สัตยาคฤหเกลือโดยเดินขบวนรณรงค์ประท้วงการผูกขาดการผลิตเกลือจากกฎหมายเกลือของอังกฤษ
 
 
ดร.วันทนา กล่าวด้วยว่า เธอเขียนหนังสือ ‘ผืนดินไม่ใช่น้ำมัน ชีวิต อาหาร สิ่งแวดล้อม หรือน้ำมัน?’ ขึ้น เพื่อพูดถึงผลกระทบที่น่าเศร้าของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งเกิดจากการพึงพิงน้ำมัน และพูดถึงการที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดโดยมองน้ำมันว่าก่อให้เกิดมลภาวะ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนำมาสู่วิกฤติภัยธรรมชาติและความสูญเสียของชีวิตผู้คน
 
นอกจากนั้น การผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมเกษตรก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อในเกิดก๊าซเรือนกระจกที่ให้โลกร้อนและมีการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต อีกทั้งเกษตรอุตสาหกรรมต้องใช้สารเคมีซึ่งนอกจากจะฆ่าสิ่งมีชีวิตในดินแล้วยัง ก่อมลพิษ และเป็นอันตรายต่อคนกินด้วย ตรงนี้จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมเกษตรจึงเป็นการผลิตสินค้า ไม่ใช่อาหาร ส่วนการปลูกพืชน้ำมันซึ่งในอินเดียใช้พื้นที่กว่า 40 เปอร์เซ็นต์นั้นก็เพื่อผลิตน้ำมันให้รถวิ่งได้ ไม่ใช่เอาไว้กิน ซึ่งก็ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ขณะที่การเกษตรชิงนิเวศนั้นเน้นความหลากหลายทางชีวภาพและมุ่งผลิตสารอาหารเลี้ยงคนจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันการผลิตทางการเกษตรมุ่งเน้นปริมาณผลผลิตต่อไร่
 
ทั้งนี้ ดร.วันทนามีข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจเพื่อนำสู่ความกินดีอยู่ดี โดยการคิดผลิตอาหารด้วยตนเอง ซึ่งจากการที่ยุโรปกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจก็มีคนหนุ่มสาวในยุโรปที่หันมาสนใจแนวทางนี้
 
 
จากนั้นมีการเปิดตัวหนังสือ ‘ผืนดินไม่ใช่น้ำมัน ชีวิต อาหาร สิ่งแวดล้อม หรือน้ำมัน?’ ซึ่งเขียนโดย ดร.วันทนา ในฉบับภาษาไทย และการเสวนา “ขบวนการเกษตรอินทรีย์แห่งเอเชียมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจริงหรือ?” ในช่วงบ่าย โดยปาโบล ซาลอง จาก Focus on the Global South วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ จากเครือข่ายนิเวศวิทยาและพลังงานลุ่มน้ำโขง เดชา ศิริภัทร จากมูลนิธิข้าวขวัญ และวัลลภา แวนวิลเลี่ยนสวาร์ด จากบริษัทสวนเงินมีมา ผู้ประกอบการสังคม ดำเนินรายการโดยสุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net