Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ภาพยนตร์เรื่อง cloud atlas มีความยาวเกือบสามชั่วโมง เนื้อหาครอบคลุมช่วงเวลานับแต่ปี ค.ศ. 1849 ถึงปี ค.ศ. 2321 ตัวละครหลักหลากหลายทั้งเผ่าพันธุ์ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ชาติกระทั่งสปีชี่ส์ สร้างจากนวนิยายขายดีที่ได้รางวัลและเชื่อว่าเป็นนิยายที่ไม่อาจสร้างเป็นภาพยนตร์ได้

ทีมงานผู้สร้างมีความจัดเจนทางเทคนิคและศิลปะภาพยนตร์จนทำให้เรื่องราวดังกล่าวมานี้ไม่ยากเกินกว่าที่จะทำความเข้าใจ แน่นอนว่าเจ้าของบทประพันธ์มีประเด็นสื่อถึงผู้อ่าน ผู้กำกับมีสาระจะส่งผ่าน แต่ข้อดีของศิลปะคือผู้เสพย์ก็มีโอกาสที่จะทำความเข้าใจเรื่องในแบบของตน

“มนุษย์” ผู้ถูกลิขิต

หลากชีวิตของมนุษย์นั้นถูกกำกับไว้ด้วยโครงสร้างนานาประการและมนุษย์นั้นแม้จะเรียนรู้จากอดีตแต่ก็ยากที่จะไม่เดินทับรอยอดีต ประวัติศาสตร์ของมนุษย์จึงไม่ว่างเว้นจากความรุนแรง ทั้งทางด้านกายภาพ ทางจิตวิญญาณและด้วยโครงสร้างทางสังคม

ช่วงเวลาในภาพยนตร์นับจากศตวรรษที่ 19 จนถึงศตวรรษที่ 24 แสดงให้เห็นว่าสังคมได้ตีตรามนุษย์เพื่อจัดลำดับว่าใครควร “เป็นอะไร” “อยู่ที่ไหน” และจะต้อง “ทำอะไร”

ภายใต้โครงสร้างนี้มนุษย์ชาติพันธุ์หนึ่งจึงกลายเป็นทาส อยู่ในสถานะต่ำกว่าและทำงานรับใช้คนขาว มนุษย์บางคนกลายเป็นคนวิปริตทางเพศ ถูกริบสิทธิแสดงความรัก มนุษย์จำนวนหนึ่งกลายเป็นคนชราที่หมดประโยชน์สมควรถูกขังรอวันตาย ชุมชนมนุษย์หลายชุมชนกลายเป็นเหยื่อของการพัฒนา มนุษย์ชนชั้นหนึ่งกลายเป็นส่วนเกินของสังคม ถูกใช้สอยแต่ไม่ได้ส่วนแบ่ง มนุษย์เผ่าหนึ่งกลายเป็นอนารยะชน

นี่คือภาพลักษณ์ประการหนึ่งของมนุษย์ในยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมที่มนุษย์จะต้องถูกผนวกเข้ามาในสายการผลิตเพื่อผลิตอะไรบางอย่าง มนุษย์จำนวนหนึ่งต้องถูกกระทำถูกเอารัดเอาเปรียบในนามของความ “ถูกต้องเหมาะสม” ที่เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนรูปตามยุคสมัยและใครที่ไม่สามารถ “ผลิต” ได้ ย่อมหมดความเป็นคน

มนุษย์สามารถเป็นอิสระจากโครงสร้างเหล่านี้ได้ไหม? อย่างไร?

“มนุษย์” ผู้เขียนประวัติศาสตร์

แม้ว่าโครงสร้างจะมีส่วนกำกับชีวิตมนุษย์อย่างมากแต่มนุษย์เองก็มีส่วนที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่กำกับชีวิตของตนเองด้วย และแน่นอนว่าราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมไม่น้อย

การเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตของตนเองจากทาสเป็นไทนั้นนอกจากอาศัยความกล้าหาญ ทักษะฝีมือแล้วยังต้องการเพื่อนแท้ ในบางสังคม ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ราคาของความรักคือชีวิต เมื่อความชรามาเยือนการเปลี่ยนแปลงย่อมขับเคลื่อนด้วยปัญญามากกว่ากำลัง การต่อสู้เพื่อชุมชนอาจต้องการความอึดในการต่อสู้ แต่การต่อสู้เพื่อสังคมกลับต้องการขันติธรรม และเส้นทางสู่อารยะคือการเอาชนะใจตนเอง

การต่อสู้ให้พ้นจากโครงสร้างที่บังคับให้ผลิตก็คือการปฏิเสธที่จะผลิต/ปฏิเสธโครงสร้างการผลิต วิธีที่มนุษย์ในสังคมนำมาใช้ก็มีตั้งแต่ หนีจากนาย ตายจากโลก ป่วนองค์กร ปฏิเสธการพัฒนา ปฏิวัติ แต่สิ่งที่น่าสนใจในภาพยนตร์เรื่องนี้คือความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มชนเผ่ากับสาวอารยะ Prescients ที่ถึงจุดหนึ่งทางออกของ “ล้าหลัง” และ “ก้าวหน้า” อยู่ที่การหลวมรวมกันมากกว่าแบ่งแยก แต่คำถามคือ เป็นไปได้หรือ? อย่างไร?

เมื่อมนุษย์จะเขียนประวัติศาสตร์ด้วยตนเอง เส้นทางที่รออยู่จึงไม่ใช่เส้นทางที่ราบรื่นแต่ในขณะเดียวกันก็เหมือนจะเป็นเส้นทางที่บางครั้งมนุษย์ก็ไม่ได้เลือกด้วยตนเอง

 “มนุษย์” นิยาม?

นอกจากมนุษย์จะยกตนเหนือสัตว์ทั้งปวงแล้ว มนุษย์จำนวนมากยังจัดประเภทคนเหมือนกันด้วยว่าใครควรจะเป็น “มนุษย์”

คนดำ คนรักเพศเดียวกัน คนชรา คนจน คนประดิษฐ์ และคนหลังเขาล้วนเคยถูกและยังถูกจัดประเภทว่าไม่ใช่ “มนุษย์” อยู่เนือง ๆ ที่น่าสะเทือนใจคือ เหล่าคนที่ถูกจัดประเภทว่าไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็น “มนุษย์” นี่แหละ กลับเป็นวัตถุแห่งการตักตวงขูดรีดเอาประโยชน์โดยมนุษย์ผู้ถือตนว่าสูงส่งกว่า ยิ่งไปกว่านั้น คนที่ไม่ถูกจัดเป็น “มนุษย์” เหล่านี้ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อความอยู่รอดของสังคมที่สร้างโครงสร้างกดขี่ทารุณพวกเขาเอง

ถึงที่สุดแล้ว “ความเป็นมนุษย์” ประเมินกันด้วยอะไร สีผิว? รสนิยมทางเพศ? วัย? ฐานะ? กำเนิด? การศึกษา?

นอกจากนี้ ใช่หรือไม่ว่าสังคมมนุษย์เดินผ่านช่วงเวลาของการผลิต = “คุณค่า” ความเป็นมนุษย์ มาเป็น การบริโภค = “คุณค่า” ความเป็นมนุษย์

ก่อนยุคโลกาวินาศ-Neo Seoul ผู้ถูกจัดเป็น “มนุษย์” คือ ผู้ที่มีความสามารถในการบริโภค และศาสนาแห่งการบริโภคได้จัดวางศีลธรรมไว้หลังผลกำไร

“มนุษย์” ในทัศนะของมนุษย์

เมื่อพิจารณาจากประเด็นที่ภาพยนตร์ฉายออกมาในเวลาเกือบสามชั่วโมงอาจทึกทักได้ว่าทีมผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้มีจุดยืนทางการเมืองแบบเสรีนิยมแต่ก็ยังคงความเชื่อในศีลธรรมแบ่งแยกดีชั่วถูกผิดชัดเจน

เป็นเสรีนิยมในแง่ความเชื่อว่าโดยพื้นฐานแล้วมนุษย์นั้นเท่ากันแม้จะแตกต่างด้วยผิวเพศวัยฐานะชาติกำเนิดและการศึกษา (ขอแต่ว่าให้มีความสามารถให้การผลิตและการบริโภค)

มีความเชื่อในศีลธรรมกรรมดีกรรมชั่วว่าผู้ประพฤติดีย่อมเกิดในสถานะที่สูงกว่าเดิมขึ้นเรื่อย ๆ และผู้กระทำบาปย่อมตกต่ำลง ความเจริญในชีวิตของตัวละครหลักในเรื่องนี้ที่มีวิญญาณเดิมในร่างและเพศที่หลากหลายจากศตวรรษแรกจนศตวรรษจบขึ้นอยู่กับผลกรรมที่กระทำในชาติที่แล้ว เช่น ตัวละครที่แสดงโดยฮัลล์ เบอร์รี่เริ่มต้นศตวรรษแรกด้วยการเป็นทาสแต่จบศตวรรษสุดท้ายด้วยการเป็นเสมือนเป็นพระผู้ไถ่สำหรับเผ่าพันธุ์ของเธอเอง

อย่างไรก็ตาม ในทางการเมือง การนำศีลธรรมที่ควรจะเป็นเรื่องส่วนตัวมากำกับการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาปนกับจุดยืนแบบเสรีนิยมที่เน้นการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐแล้วอาจจะให้กำเนิดชุมชนการเมืองซึ่งพร้อมที่จะทำลายประชาธิปไตยเพื่อร้องหา “คนดี” มาปกครองบ้านเมืองได้

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไม Neo-Seoul จึงล่มสลายและ Sonmi-451 จึงกลายเป็นเทพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net