สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 9 - 15 ธ.ค. 2555

 

ก.แรงงานเตรียมตั้งศูนย์รองรับผลกระทบปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงเตรียมตั้งศูนย์อำนวยการ เพื่อรองรับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อประชาสัมพันธ์แนวทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบนโยบายนี้ และรับเรื่องร้องเรียนจากเอสเอ็มอี เพื่อหามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในอนาคต

ขณะที่ นางสมศจี ศิกษมัต ผู้อำนวยการ สำนักงานสถิติ ฝ่ายสถิติและข้อสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยปัจจุบัน ที่ต่ำกว่าระดับการใช้จ่ายตามอัตภาพ จึงจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่การปรับแบบก้าวกระโดดเป็น 300 บาท เป็นการช็อกเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ โดยผลการศึกษาปีที่แล้ว(2554) ระบุว่า ควรทยอยปรับในอัตราร้อยละ 11 หรือเพียงพอต่อการใช้จ่ายตามอัตภาพที่วันละ 195 บาท จากเดิม 176 บาท บนสมมติฐานที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 5.7 และปีหน้าที่ร้อยละ 4.6 ไทยต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงานอีกร้อยละ 8 จากปัจจุบันร้อยละ 4 รวมถึงประสิทธิภาพโดยรวมสูงขึ้นร้อยละ 2.5 เช่น ใช้เครื่องจักรลดต้นทุนแรงงาน ขยายช่องทางการตลาด และมีมาตรการช่วยเหลือทางภาษีระยะสั้น เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจติดลบ ส่วนระยะยาวต้องปรับแนวคิดการพึ่งพาแรงงานราคาถูก เพื่อรักษาขีดความสามารถสินค้าไทย

(สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 9-12-2555)

 

กระทรวงแรงงานเตรียมแก้ กม. ขยายอายุการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40

กระทรวงแรงานงานเดินหน้าดูแลคุณภาพชีวิตผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เฉพาะกลุ่มที่อยู่ในระบบ แต่ผู้ที่อยู่นอกระบบก็ได้รับการดูแลไม่ต่างกัน ล่าสุดจะขยายอายุแรงงานนอกระบบที่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่อการดูแลที่เท่าเทียมและครอบคลุมมากขึ้น สืบเนื่องการประชุมผู้บริหารกระทรวงแรงงานเพื่อผลักดันแผนยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2555-2559 นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงฯ จากเดิมที่แรงงานนอกระบบจะเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 ต้องมีอายุไม่เกิน 55 ปี ขยายเป็นไม่เกิน 60 ปี ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งกลุ่ม แม่ค้า เกษตรกร ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างและอื่นๆเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้มากขึ้น

ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมตามมาตรา 40 แล้วกว่า 1.2 ล้านคน และตั้งเป้าเพิ่มอีก 1.4 ล้านคนเป็น 2.6 ล้านคนในปี 2556 นอกจากนี้ได้ประสานไปยังอาสาสมัครแรงงาน(อสร.)ทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ต่างๆที่จะได้รับในการเข้าสู่ระบบประกันสังคมให้ ประชาชนรับทราบแล้ว

(ประชาชาติธุรกิจ, 11-12-2555)

 

พนักงานฟาร์อีสปั่นทอบุรีรัมย์หวั่นถูกลอยแพพิษค่าแรง 300 บาทหลังบริษัทบีบไปทำงานต่างสาขา

พนักงานและลูกจ้างบริษัท ฟาร์อีสปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 ตั้งอยู่เลขที่ 391 หมู่ที่ 1 บ้านพุทไธสง ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 99 คน นำโดยนางคำปัน ก่ำแก้ง แกนนำ ได้รวมตัวกันที่โรงอาหารของบริษัทฯ ยื่นหนังสือให้กับนายพันธ์ศักดิ์ ศรีนุชศาสตร์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ และ ว่าที่ร้อยตรี อภินันท์ เผือกผ่อง นายอำเภอพุทไธสง ช่วยเหลือกรณี บริษัท ฟาร์อีสปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 จะโยกย้ายพนักงานไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 ในเขต อ.เมืองบุรีรัมย์ โดยที่พนักงานไม่เต็มใจไป ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ตามที่บริษัท ฟาร์อีสปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 ได้มีประกาศให้พนักงานไปช่วยงานชั่วคราวที่ การ์เมนท์ 5 โดยที่พนักงานไม่เต็มใจไป อีกทั้งประกาศที่ทางนายจ้างแจ้งให้ทราบนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่า 30  วัน คือหนังสือประกาศลงวันที่ 7  ธ.ค. ตัวแทนของนายจ้างยื่นต่อตัวแทนของลูกจ้างให้ทราบในวันที่ 10 ธ.ค.โดยให้พนักงานย้ายไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้นายจ้างอ้างว่าทางบริษัทมีการสั่งซื้อสินค้าลดลงทำให้ปริมาณ ของงานลดลง ไม่เพียงพอกับการทำงานของพนักงานเป็นการลดค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิตสินค้าและ ด้านพลังงานเพื่อที่จะให้พนักงานทำงานอย่างทั่วถึง ซึ่งการอ้างเหตุผลดังกล่าวนี้ทางฝ่ายลูกจ้างเห็นว่ามิใช่เหตุผลอันควร เนื่องจากการโยกย้ายพนักงานไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 ในครั้งนี้นั้นทางบริษัทฯ ของนายจ้างไม่มีสวัสดิการทางรถรับ-ส่งให้พนักงานเลย

นางคำปัน กล่าวว่า การโยกย้ายพนักงานไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 อ.เมืองบุรีรัมย์เป็นการบีบพนักงานลูกจ้างทางอ้อม เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 300 บาทต่อวัน ที่จะเริ่มให้เดือน ม.ค.2556 นี้ จึงทำให้ทางบริษัทพยายามปรับลดพนักงานลง แล้วอ้างเหตุให้พนักงานไปช่วยงานชั่วคราวแทนซึ่งปัจจุบันพนักงานได้ค่าจ้าง วันละ 232 บาท หากบริษัทฯยังยืนยันจะให้พนักงานไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 ตามประกาศพวกเราคงต้องเรียกร้องสิทธิตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541บอกเลิกสัญญาจ้างขอให้ทางฝ่ายนายจ้าง จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้ รับ
 
ด้าน นายพันธ์ศักดิ์ ศรีนุชศาสตร์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวภายหลังรับหนังสือร้องเรียนว่า จะเรียกทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างของบริษัท ฟาร์อีสปั่นทอฯมาเจรจาเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน จะดำเนินการอย่างไรกับข้อเรียกร้องคือพนักงานไม่มีความประสงค์จะไปช่วยงาน ชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 แต่ขอให้ทางบริษัทฯเอางานมาทำที่บริษัท ฟาร์อีสปั่นทอ ตามเดิมแต่หากบริษัทไม่ยินยอม ทางพนักงาน ลูกจ้างขอใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บอกเลิกสัญญาจ้าง ขอให้ทางฝ่ายนายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับซึ่งคาดว่าจะทราบผลภายในวันที่ 26 ธ.ค. นี้ยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

(โพสต์ทูเดย์, 11-12-2555)

 

สาธารณสุขจ่อบรรจุลูกจ้าง

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด(สธ.)กล่าวการเตรียมพร้อมภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบบรรจุลูกจ้างชั่วคราวสธ.21 สาขาวิชาชีพเป็นข้าราชการจำนวน 22,641 อัตรา จากทั้งหมด 30,188 คน โดยตำแหน่งที่ได้จะเฉลี่ยตกปีละ 7,547 อัตราจนครบ 3 ปี ส่วนที่เหลือระหว่างรอการบรรจุจะเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณ สุข(ก.สธ.)ว่าจะหารือเพื่อกำหนดสัดส่วนการบรรจุแต่ละวิชาชีพต่อไป โดยใช้เกณฑ์พิจารณา คือความขาดแคลนพื้นที่ห่างไกล และภาระงาน ขอให้มั่นใจว่าการพิจารณาจะอิงความเป็นธรรมทุกฝ่ายและพร้อมจะบรรจุได้ใน เดือนมกราคม 2556

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวที่รอการบรรจุรวมไปถึงลูกจ้างชั่วคราวสายสนับ สนุน มีอยู่1แสนกว่าคนจะถูกยกสถานะเป็นพนง.ก.สธ.จะเน้นเรื่องสิทธิสวัสดิการที่ สูงขึ้นกว่าเดิม ส่วนการปรับอัตราเงินเดือนจะเป็นในกลุ่มสายวิชาชีพ 21 สายงาน สำหรับสายสนับสนุน อาทิ พนง.เข็นเปล พนง.ทำความสะอาด ธุรการ ผู้ช่วยพยาบาล ฯลฯ การจะปรับอัตราเงินเดือนนั้นต้องอยู่ที่ระเบียบซึ่งเป็นไปตามวุฒิการศึกษา หากเพิ่มวุฒิการศึกษาก็จะปรับขึ้นเงินเดือนได้ แต่ในร่างระเบียบพนง.ก.สธ.จะมีการขึ้นเงินเดือนให้สายสนับสนุนอยู่แล้วจะ เลื่อนค่าจ้างปีละ 1 ครั้งโดยเพิ่มวงเงินร้อยละ 6 ต่อปีเท่ากับข้าราชการ ที่เรียกร้องค่าเสี่ยงภัยโดยเฉพาะลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนที่ทำงานในสาม จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นต้องแยกออกจากกันคนละส่วน ค่าเสี่ยงภัยอยู่ระหว่างพิจารณา

นางกนกพร สุขสนิท ประธานภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเบื้องต้นอยู่ระหว่างขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขถึงการ ให้ความเป็นธรรมกับลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนคาดว่าจะได้ความชัดเจนภายใน สัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตามหากไม่เป็นผลยังคงยืนยันตามเดิมจะขอหยุดงานวันที่ 1-3 ม.ค. 2556

(ข่าวสด, 12-12-2555)

 

พนง.บริษัทไมเออร์ฯ เรียกร้องสวัสดิการ

(12 ธ.ค.) ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดชลบุรี กลุ่มพนักงานบริษัท ไมเออร์ อินดัสตรีส์ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง มีการรวมตัวชุมนุมที่หน้าโรงงานซึ่งมีพนักงานทั้งสิ้นกว่า 3,000 คน และได้ส่งตัวแทนมาร่วมเจรจากับนายจ้าง และเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อหาข้อยุติในข้อเรียกร้องที่ เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลาย
      
ที่ผ่านมา ทางพนักงานได้เจรจากับนายแจ้งมาแล้ว 3 ครั้ง และยื่นข้อพิพาทมาแล้ว 2 ครั้งโดยยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่ผ่านมายื่นข้อเรียกร้องทั้งสิ้น 16 ข้อ แต่ขณะนี้ตัดเหลือเพียง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอค่าเช่าบ้านให้แก่พนักงาน 1,000 บาทต่อเดือน 2.ข้อค่าครองชีพเป็น 1,000 บาทต่อเดือน จากที่ได้รับเพียง 650 บาท และขอโบนัส 5 เดือน ซึ่งไม่เคยได้รับเลย หลังทำงานมานานถึง 20 ปีแล้วไม่เคยเรียกร้องอะไรเลย โดยรวมตัวเรียกร้องในครั้งนี้เป็นครั้งแรก
      
นายประเสริฐ ทองดี ตัวแทนพนักงานบริษัทฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางพนักงานไม่เคยออกมารวมตัวเรียกร้องแต่อย่างใด แต่ระยะหลังมีแรงกดดันจากโรงงาน และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพนักงาน จึงต้องออกมารวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องสิทธิเหมือนโรงงานอื่นๆ บ้าง
      
การเรียกร้องในครั้งนี้ ถือว่าไม่ได้เรียกร้องอะไรมาก เพราะที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ ไม่เคยให้ความสนใจพนักงานมานานถึง 20 ปี ซึ่งเมื่อออกมาเรียกร้องแล้ว ทางบริษัทมองว่า ขาดรายได้จากการจ่ายค่าสวัสดิการต่างๆ โดยไม่มองว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ได้กำไรไปเท่าไรแล้ว เพราะหากไม่มีกำไร โรงงานจึงขยายโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
      
ด้านนายฐิติพงศ์ ประยูรพาณิชย์ ตัวแทนพนักงานกล่าวว่า ครั้งนี้ตนออกมาเป็นตัวแทนเพื่อต้องการช่วยเหลือน้องๆ ที่ทำงานอยู่ในขณะนี้ เพราะปัจจุบัน สวัสดิการต่างๆ ไม่สามารถสู้โรงงานอื่นๆ ได้ แต่พนักงานไม่สามารถจะออก หรือย้ายไปอยู่โรงงานอื่น เนื่องจากหลายคนมีอายุมากแล้ว จะย้ายไปอยู่ที่อื่นคงไม่มีโรงงานไหนรับเข้าทำงาน
      
การรวมตัวในครั้งนี้ เนื่องจากต้องการให้ทางบริษัทออกมาช่วยเหลือพนักงานบ้าง เพราะได้ช่วยเหลือบริษัทมานานแล้ว ก็ควรที่จะตอบแทนให้พนักงานมีกำลังใจในการทำงานบ้าง ล่าสุดการเจรจาเหลือเพียงเรื่องโบนัสเท่านั้น ที่อยู่ระหว่างการต่อรอง เพราะพนักงานเรียกร้องไป 5 เดือน ทางบริษัทว่าสูงไป และลดเหลือ 3.25 เดือน แต่บริษัทว่าสูงไป และจะให้เหลือเพียง 1.2-1.8 เดือน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-12-2555)

 

เครือข่ายพยาบาลลูกจ้างฯพอใจ สธ.เร่งบรรจุเป็นข้าราชการ

น.ส.ศิริรัตน์ วงษ์บุดดา ศรีหอมชัย เลขานุการเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวน 21 สายวิชาชีพ เป็นข้าราชการจำนวน 22,641 อัตรา จากทั้งหมด 30,188 คน เฉลี่ยปีละ 7,547 อัตราจนครบ 3 ปี ส่วนที่เหลือระหว่างรอการบรรจุจะเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พนักงาน กสธ.) ตามที่ สธ.เสนอ ว่า ทางเครือข่ายฯรู้สึกพึงพอใจกับการแก้ไขปัญหากำลังคนของ สธ. แม้อาจจะไม่ทั้งหมด 100% เพราะเดิมที่เราขอให้บรรจุพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมดภายในครั้งเดียว แต่อย่างน้อยก็เห็นว่า สธ.และรัฐบาลมีแนวทางการแก้ปัญหาจริง ซึ่งเราก็เห็นใจเพราะการบรรจุข้าราชการต้องใช้งบประมาณเยอะ การที่รัฐบาลรับปากจะบรรจุลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมด 21 สายวิชาชีพให้เป็นข้าราชการภายใน 3 ปี ก็ถือว่ามีความพอใจในระดับหนึ่ง
      
น.ส.ศิริรัตน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ ยังไม่เห็นสัดส่วนที่แน่ชัดว่าแต่ละสายวิชาชีพจะได้บรรจุเป็นข้าราชการมาก น้อยเท่าใด รวมถึงจะถูกปรับสถานะเป็นพนักงาน กสธ.เท่าไร ตรงนี้ต้องรอการประชุมร่วมกับ สธ.อีกครั้งหนึ่ง สำหรับร่างระเบียบพนักงาน กสธ.ได้เห็นคร่าวๆบ้างแล้ว ว่ามีสิทธิประโยชน์เทียบเท่าข้าราชการ แต่ก็ยังไม่มีความแน่ชัด ตรงนี้ทางเครือข่ายฯจะต้องมีการศึกษาถึงความเหมาะสมอีกที
      
สำหรับกรณีภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย เตรียมนัดหยุดงานวันที่ 1-3 ม.ค. 2556 หากไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียม พนักงาน กสธ.สายวิชาชีพ น.ส.ศิริรัตน์ กล่าวว่า ทางภาคีฯไม่ได้เข้ามาปรึกษาหารือกับทางเครือข่ายฯ จึงไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัด ที่สำคัญทางเครือข่ายฯไม่ทราบว่าการทำงานของสายสนับสนุนมีปัญหาอย่างไรบ้าง แต่หากกลุ่มสายสนับสนุนมีความเดือดร้อนจริง การออกมาเรียกร้องก็เป็นเรื่องที่ทำได้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-12-2555)

 

เตรียมบรรจุลูกจ้างชั่วคราวกว่า 1 แสนคนเป็นพนง.สธ.

ที่โรงพยาบาลสูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานแก่แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสูงเม่น และสมาชิกสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย

นายแพทย์ชลน่าน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีการแก้ไขปัญหากำลังบุคลากรของกระทรวงสาธารณ สุข ว่า ในภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุขขณะนี้ มีกำลังบุคลากรทั้งข้าราชการและลูกจ้างปฏิบัติงานในหน่วยบริการของกระทรวงฯ ที่มีกว่า 10,000 แห่ง รวมประมาณ 320,000 คน ประกอบด้วยข้าราชการ 180,000 คน ที่เหลืออีก 140,000 คนเป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพ 21 สายงาน เช่นพยาบาลวิชาชีพ เภสัชกร นักจิตวิทยา นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักรังสีการแพทย์ นักการแพทย์แผนไทยที่ปฏิบัติงานตั้งแต่พ.ศ. 2549-2555 รวมทั้งหมด 30,188 คน ล่าสุดนี้มติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 เห็นชอบการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวที่เป็นสายวิชาชีพ จำนวน 21 สายงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยได้อนุมัติตำแหน่งข้าราชการให้กระทรวงสาธารณสุขเพื่อบรรจุลูกจ้างดัง กล่าวรวม 22,641 อัตรา ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วน ภายในระยะ 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556-2558 เฉลี่ยบรรจุปีละ 7,547 อัตรา ในปีงบประมาณ 2556 นี้ จะบรรจุทั้งหมด 8,446 อัตรา และปี 2557-2558 บรรจุปีละ 7,547 ตำแหน่ง

นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า สำหรับกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนที่อยู่นอกเหนือ 21 สายงานวิชาชีพ และลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งมีประมาณ 117,000 คนทั่วประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมมาตรการรองรับเพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจและความมั่นคงในอาชีพ โดยจะรับเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขหรือ พกส. ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ฉบับที่ 1 ได้แก่ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. .... ซึ่งจะมีคณะกรรมการบริหารหลักเกณฑ์ต่างๆ 6 ชุด ได้ แก่ 1.ชุดกำหนดประเภทตำแหน่งลักษณะงานและคุณสมบัติเฉพาะของกลุ่มงาน 2.กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการสรรหาและการเลือกสรรพนักงานฯ 3.ชุดกำหนดค่าจ้างพนักงาน 4.ชุดสิทธิประโยชน์ 5.ชุดการประเมินผลการปฏิบัติงาน และ6.หลักเกณฑ์การลาออกจากการปฏิบัติงานระหว่างสัญญาจ้าง

ฉบับที่ 2 คือ การปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินบำรุงหน่วยบริการใน สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ขณะนี้ได้เสนอขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง คาดว่าจะได้รับการตอบกลับมาในเร็วๆนี้ และเมื่อได้รับความเห็นชอบตอบกลับมาแล้วก็จะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงนามเพื่อประกาศใช้ต่อไป คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือนมกราคม 2556 นี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข

ด้านนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ถือว่าจะมีความมั่นคงในอาชีพมากขึ้น มีอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าข้าราชการ 1.2 เท่า จะได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่าข้าราชการ เช่น มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถลาศึกษาต่อได้ มีการประเมินขึ้นเงินเดือน มีโบนัส ได้รับค่าจ้างระหว่างลา มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลางาน มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าเบี้ยประชุม เป็นต้น

(เนชั่นทันข่าว, 15-12-2555)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท