ศาลสั่งคดีที่ 3 ไต่สวนการตายเสื้อแดง ตายด้วยกระสุนจากกลุ่มทหาร

ระบุกระสุน ขนาด .223 สังหาร "ชาติชาย ชาเหลา" คืน 13 พ.ค.53 ถูกยิงมาจากกลุ่มเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด่านตรวจ ถ.พระราม 4 โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ ส่งสำนวนกลับไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป

วันนี้(17 ธ.ค.55) เวลา 10.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้อ่านคำสั่งชันสูตรพลิกศพ การเสียชีวิตของนายชาติชาย ชาเหลา ตามคดีหมายเลขดำ ช.6/2555 ที่อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพ การตายของ นายชาติชาย เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 53 เวลากลางคืน ในช่วงที่มีการกระชับพื้นที่การชุมนุมของ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) โดย ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ อัยการจึงขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

โดย ศาลได้มีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายชาติชาย ชาเหลา ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 53 เวลา 23.37 น. โดยเหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด ขนาด .223 (5.56 ม.ม.) เป็นเหตุให้สมองฉีกขาดร่วมกับกะโหลกศีรษะแตกอย่างมาก ซึ่งวิถีกระสุนปืนมาจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบ ถ.พระราม 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

ทั้งนี้ศาลยังได้พิเคราะห์ ถึงพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย ระบุข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. - 19 พ.ค.53 มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งใช้ชื่อว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ใหม่ แต่นายกปฏิเสธคำเรียกร้อง กลุ่ม นปช. จึงชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังสี่แยกราชประสงค์ ถนนเพลินจิต ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ จึงได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ กทม.และอีกหลายพื้นที่ โดยนายกฯ ได้ออกคำสั่งที่ พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ(นายสเทพ เทือกสุบรรณ) และมีข้าราชการทหาร ตำรวจและพลเรือน เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ และคำสั่งพิเศษที่ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และได้ออกข้อกำหนดโดยประกาศของ ศอฉ. ห้ามกระทำการต่างๆ เพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้

โดยระหว่างวันที่ 13 พ.ค.2553 เวลา 06.00 น. ถึงวันที่ 14 พ.ค.53 เวลา 06.00 น. ศอฉ.มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานซึ่งมีอาวุธประจำการ ได้แก่ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653 ปืนเล็กยาวแบบ 11(HK 33) ปืนลูกซองและปืนพก ออกไปตั้งด่านแข็งแรงบริเวณ ถนนพระราม 4 ซึ่งในวันที่ 13 พ.ค.53 เวลาประมาณ 21.00 น. ระหว่างเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ ผู้ตายกับพวกซึ่งเป็นผู้ชุมนุม นปช. ได้รวมตัวกัน ทยอยเคลื่อนที่เข้าหาด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน และได้ยิงพลุและตะไลเข้าใส่เจ้าพนักงาน ส่วนผู้ตายถือกล้องถ่ายวิดีโอถ่ายภาพระหว่างเคลื่อนที่เข้าหาด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน  ระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นกระสุนปืนถูกผู้ตายที่ศีรษะทะลุด้านหลัง ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

คำสั่งศาลระบุถึงปัญหาต้องวินิจฉัยมีเพียงว่า เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายเป็นอย่างไร โดยศาลเห็นว่าผู้ร้องมีประจักษ์พยาน(เจ้าหน้าที่กู้ชีพของวิชรพยาบาล)ยืนยันว่าว่าเห็นแสงที่เชื่อว่าเป็นกระสุนปืนมาจากแนวตั้งด่านของฝ่ายเจ้าพนักงาน ซึ่งพยานเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนมาจากทางแยกศาลาแดง แนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ทั้งปรากฏจากทางไต่สวนว่าจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้บริษัทกฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และอาคารอื้อจือเหลียง ถนนพระราม 4 ซึ่งบริเวณนั้นมีเพียงเจ้าพนักงาน ตั้งด่านตรวจแข็งแรงและเจ้าพนักงานมีอาวุธประจำกายได้แก่ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653 ปืนเล็กยาวแบบ 11(HK 33) ปืนลูกซองและปืนพก ดูแลพื้นที่ตามคำสั่ง ศอฉ. และด้านหลังแนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงานเป็นบังเกอร์ ซึ่งบุคลภายนอกไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ยกเว้รถพยาบาลเท่านั้น

เมื่อไม่ปรากฏจากการไต่สวนว่ามีบุคคลฝ่ายที่ 3 เข้ามาก่อเหตุใดๆ ทั้งกระสุนปืนขนาด .223 ที่ยิงมาถูกผู้ตายก็เป็นกระสุนปืนขนาด .223 ที่ยิงมาถูกผู้ตายก็เป็นกระสุนปืนขนาดเดียวกับกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653 ปืนเล็กยาวแบบ 11(HK 33) ซึ่งเจ้าพนักงานใช้ประจำการในการดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณที่เกิดเหตุ พฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่ากระสุนดังกล่าวถูกยิงมาจากกลุ่มเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด่านตรวจแข็งแรงดังกล่าว โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ

ศาลอ่านรายงานในวันนี้ด้วยว่าหลังจากศาลได้อ่านคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรค 11

ญาติและทนายญาตินายชาติชาย ชาเหลา

ในวันนี้ได้มีภรรยา แม่และญาติของผู้ตายเข้าร่วมฟังคำสั่งด้วย และภายหลังศาลมีคำสั่งแล้ว นางพลอน ขบวนงาม มารดานายชาติชายผู้ตาย ได้ถือรูปผู้ตายมาพร้อมให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวด้วยว่า รู้สึกดีใจเมื่อทราบคำสั่งของศาล แต่ก็ยังโกรธจากที่ลูกชายตัวเองต้องเสียชีวิต อย่างไรก็ตามถึงตอนนี้ถือได้ว่าคดีเดินมาในแนวที่ถูกต้อง จากการได้ทราบสาเหตุการณ์ตาย โดยครอบครัวได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลแล้ว อย่างไรก็ตามการเสียลูกชายไปส่งผลกระทบต่อครอบครัวอย่างมากเพราะเขาจะช่วยครอบครัวด้วยการขับรถแท็กซี่

พี่สาวของนายชาติชาย กล่าวด้วยว่าตนเองยังรู้สึกโกรธอยู่เพราะน้องชายตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด แต่กลับต้องมาถูกทำร้าย อยากถามถึงคนที่ยิงน้องชายตัวเองว่าถ้าเกิดกับครอบครัวตัวเองบ้างจะรู้สึกอย่างไร แต่ก็ภูมิใจที่น้องตนเองจากคำตัดสินวันนี้ และยังมีคนติดตามสนใจการเสียชีวิตของน้องตัวเอง ถือว่าน้องตัวเองไม่ได้เสียชีวิตฟรี พี่สาวนายชาติชายยังกล่าวถึงน้อยชายตัวเองด้วยว่าเขาเป็นคนสู้ แม้เป็นเพียงคนขับรถแท็กซี่ ขนาดแท็กซี่เขาถูกยึดไปเขายังสู้จนตัวเขาตาย คิดว่าคนที่ต้องรับผิดชอบกรณีนี้เขาก็คงรู้อยู่แก่ใจ

สำหรับคดีของนายชาติชาย ถือเป็นคดีที่ 3 ที่ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากการสลายการ ชุมนุมของ นปช. ช่วง เมษา – พ.ค. 53 โดยก่อนหน้านั้น ศาลได้มีคำสั่งไปแล้ว 2 คดีคือคดีของนายพัน คำกอง และนายชาญณรงค์ พลศรีลา ว่าเกิดจากการ กระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะคดีนายพัน ดีเอสไอได้นำพยานหลักฐานจากคำสั่งไปแจ้งข้อหาต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศอฉ. ในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

และหลังจากนี้ยังมีอีก 2 คดีที่ รอคำสั่งศาลคือ 20 ธ.ค.นี้ คดี ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือ “อีซา” อายุ 12 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนความเร็วสูงที่หลังทะลุเข้าช่องท้องทำ ให้เลือดออกมากในช่องท้อง เมื่อวันที่ 15 พ.ค. เวลาหลังเที่ยงคืน ที่บริเวณใต้แอร์พอร์ตลิงค์ ปาก ซ.หมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์ โอเอ ถนนราชปรารภ ซึ่งนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิต ยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกับ นายพัน คำกอง

และ 16 ม.ค.นี้ คดีของนายบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี ซึ่งถูกยิงที่ย่านบ่อนไก่ บริเวณท้อง ด้านซ้ายกระสุนตัดลำไส้เล็กขาดตอน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 และเสียชีวิตเมื่อ วันที่ 28 ก.ค.53

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท