ไต่สวนการตาย ‘อากง’ หมอพยาบาลเบิกความ-ภรรยาหวังพัฒนาระบบดูแลนักโทษ

17 ธ.ค.ที่ผ่านมามีการไต่สวนการตายนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ผู้ต้องขังคดีหมิ่นสถาบันที่เสียชีวิตในเรือนจำเมื่อวันที่ 8 พ.ค.55 ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์

17 ธ.ค.55 ที่ศาลอาญา รัชดา มีการไต่สวนการเสียชีวิตของ นายอำพล ตั้งนพกุล หรือ "อากง" วัย 61 ปี ผู้ต้องขังคดีหมิ่นสถาบันซึ่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 8 พ.ค.55 ที่ผ่านมา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150  เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคืออะไร โดยการไต่สวนครั้งนี้มีหัวหน้าพยาบาลและแพทย์เจ้าของไข้ จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์มาเบิกความ ส่วนนัดไต่สวนครั้งต่อไป จะมีขึ้นในวันที่ 23-24 เมษายน 2556

รสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยานายอำพล มาศาลด้วย โดยนั่งรออยู่ภายนอกห้องพิจารณาคดีเนื่องจากเธอเป็นพยานที่จะต้องเบิกความในครั้งหน้า เธอกล่าวว่า อันที่จริงแล้วโดยส่วนตัวไม่ติดใจเอาความอะไร เพราะไม่สามารถเรียกร้องสามีคืนมาได้แล้ว แต่ที่ต้องการให้มีการไต่สวนและสืบสวนเรื่องนี้ก็เพราะอยากให้ได้เห็นจุดบกพร่องที่มีอยู่ในระบบการรักษาพยาบาลนักโทษ และให้กรณีของอากงได้เป็นกรณีตัวอย่างที่จะทำให้มีการพัฒนาให้ดีขึ้น

"พวกนักโทษเขาป่วยก็ดูแลเขาหน่อย กว่าเขาจะกระเสือกกระสนให้มีการส่งตัวมาโรงพยาบาลได้ก็แสนลำบาก เขาขาดอิสรภาพแล้ว อย่าเพิ่งให้เขาต้องขาดใจด้วยเลย" รสมาลิน กล่าว

รัชนี หาญสมสกุล หัวหน้าพยาบาลจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เบิกความต่อศาลว่า อำพลถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในวันศุกร์ที่ 4 พ.ค. เวลาประมาณ  15.30 น. ซึ่งเป็นเวลาปิดห้องขังพอดี โดยมีการส่งประวัติเบื้องต้นมาด้วยว่าคนไข้มีอาการปวดท้อง ท้องอืด เขาถูกส่งมาที่ชั้น 5 ซึ่งมี 40 เตียง แต่แบ่งพื้นที่โซนพิเศษ 10 เตียงที่จะอยู่ใกล้ลูกกรงเพื่อที่ผู้ป่วยหนักจะได้อยู่ในสายตาของพยาบาล และอำพลก็นอนรักษาตัวในส่วนนี้

ทั้งนี้ การเข้าไปตรวจเยี่ยมผู้ป่วย พยาบาลจะเข้าได้เฉพาะเมื่อมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าไปด้วยเฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ และในเวลาที่กำหนดเท่านั้น หลังจากนั้นจะปิดห้องซึ่งเป็นลูกกรง แต่พยาบาลเวรก็ยังสามารถมองเห็นผู้ป่วยในโซน 10 เตียงได้ค่อนข้างชัดเจน

รัชนี กล่าวว่า หลังจากถูกส่งมาในวันศุกร์เย็น จากนั้นก็ติดวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ และวันจันทร์ซึ่งเป็นวันหยุดชดเชยวันฉัตรมงคล ซึ่งเจ้าหน้าที่จะไม่มาทำงาน มีเพียงพยาบาลเวรชาย 1 คน ดูแลผู้ป่วยทั้งตึก

โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาลที่รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยจาก 7 เรือนจำ มี 8 ชั้น มีผู้ป่วยอยู่ในชั้น 4-8 เฉพาะชั้น 5 ซึ่งรับกรณีป่วยหนัก มีผู้ป่วย 65-70 คน และเต็มตลอด มีพยาบาลประจำชั้น 5 จำนวน 6 คน ทั้งโรงพยาบาลมีพยาบาลประมาณ 50 คน แพทย์ 10 กว่าคน  และเภสัชกร 1 คน

รัชนี กล่าวต่อว่า วันอังคารที่ 8 พ.ค. มาทำงานที่โรงพยาบาลในเวลา 8.30 น. จากนั้นประมาณ 9.10 น. มีพยาบาลวิ่งมาแจ้งว่า คนไข้เสียชีวิต หลังจากตอนเช้ามีการเจาะเลือดเพื่อเตรียมไปตรวจแล้ว นอกจากนี้รายละเอียดที่ได้รับแจ้งด้วยคือ คนไข้อาเจียนออกมาและหยุดหายใจ จึงมีทีมผู้ช่วยเข้าไปทำการปั๊มหัวใจและย้ายเตียงคนไข้มายังจุดที่มีสายออกซิเจนช่วยหายใจและมีการดูดเสมหะ แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ จึงโทรแจ้งแพทย์เจ้าของไข้ ทั้งนี้ รัชนีกล่าวด้วยว่าก่อนหน้านี้คนไข้ยังเดินเองได้และรับประทานอาหารได้ สังเกตจากที่อาเจียนออกมาเป็นข้าวต้ม

รัชนี กล่าวด้วยว่า ที่โรงพยาบาลไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งและไม่มีเครื่องมือต่างๆ และการส่งตัวไปรักษายังสถาบันมะเร็งหรือโรงพยาบาลข้างนอกไม่สามารถกระทำได้ในวันหยุด และผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจส่งตัวก็มีเพียงผู้อำนวยการโรงพยาบาลเท่านั้น

นพ.กิตติบูลย์ เตชะพรอนันต์ แพทย์เจ้าของไข้นายอำพล เบิกความว่า เป็นศัลยแพทย์ที่ รพ.ราชทัณฑ์มา 13 ปี วันที่ 4 พ.ค.อยู่ที่แผนกผู้ป่วยนอกทำหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยที่ถูกส่งมา นายอำพลถูส่งตัวมาในเวลาประมาณ 10.30-11.00 น. โดยไม่มีแฟ้มประวัติการรักษาส่งมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพด้วยแต่อย่างใด แต่ผู้ป่วยก็ได้แจ้งด้วยตนเองว่าแน่นท้อง ท้องโตขึ้น จึงได้ทำการตรวจเช็คเบื้องต้น สันนิษฐานว่ามีอาการตับโต ซึ่งเป็นไปได้สูงที่จะมีการแพร่กระจายของมะเร็ง เบื้องต้นจึงให้ยาขับปัสสาวะเพื่อขับน้ำออกจากร่างกาย ให้ยาแก้ปวดลดไข้ และสั่งให้ส่งชั้น 5 เพื่อดูอาการและให้มีการเจาะเลือดในวันถัดไป เพราะการเจาะเลือดจะทำในช่วงเช้า แต่อำพลมาถึงเลยเวลา จะสามารถเจาะเลือดส่งตรวจได้อีกครั้งในวันทำการคือวันอังคารที่ 8 พ.ค.

ทั้งนี้ นพ.กิตติบูลย์ระบุด้วยว่าก่อนหน้านี้ผู้บัญชาการเรือนจำได้โทรประสานผู้อำนวยการโรงพยาบาลก่อนแล้วว่าจะมีการส่งตัวผู้ป่วยรายนี้มาให้ช่วยรับไว้รักษาโรค

นพ.กิตติบูลย์ กล่าวต่อว่า ในวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ และจันทร์นั้น ตนเข้ามาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ทุกวันเนื่องจากต้องมาดูแลคนไข้ผ่าตัด นอกจากนี้ตนยังไปเยี่ยมนายอำพลที่ชั้น 5 ด้วยแม้จะเข้าเยี่ยมถึงเตียงไม่ได้เนื่องจากเป็นวันหยุดแต่ก็ได้สอบถามกันผ่านลูกกรง ในวันเสาร์นายอำพลสามารถเดินมาบอกอาการกับตนได้โดยแจ้งว่าอาการแน่นท้องทุเลาลงแล้ว แต่ท้องยังโตมากอยู่ ส่วนวันอาทิตย์ ไม่ได้เดินออกมา แต่นั่งบนเตียงแล้วแจ้งอาการผ่าน “ผู้ช่วยเหลือ” ซึ่งเป็นนักโทษด้วยกันที่โรงพยาบาลให้มาช่วยงาน โดยอำพลแจ้งว่าอาเจียน 1 ครั้ง ส่วนวันอาทิตย์ตนได้สั่งน้ำเกลือแบบชงให้คนไข้ และผู้ช่วยเหลือได้ไปสอบถามอาการอีกครั้งแล้วแจ้งว่า อาการอาเจียนหยุดแล้ว จึงให้การรักษาแบบเดิม เพราะต้องรอผลตรวจเลือดและเอ็กซเรย์ช่องท้องในลำดับต่อไป

นพ.กิตติบูลย์ กล่าวอีกว่า ต่อมาวันอังคาร เมื่อตนมาทำงานได้เข้าไปหารือภารกิจกับผู้อำนวยการ จากนั้นเวลา 9 โมงกว่าได้รับโทรศัพท์แจ้งว่าคนไข้เสียชีวิต จึงได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตในเบื้องต้นก่อนที่ตนจะลงไป แต่หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็แจ้งมาอีกว่าอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะเข้ามาเยี่ยมคนไข้รายนี้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจึงแจ้งให้ตนไปรับอธิบดี จากนั้นได้รับรายงานจากทีมงานว่า ได้พยายามช่วยชีวิตเบื้องต้นแล้ว ผ่านไป 15-20 นาทีก็ยังวัดสัญญาชีพจรไม่ได้  

นพ.ยังระบุอีกว่า เขาเคยเป็นแพทย์ประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้และเคยเจอนายอำพลครั้งหนึ่งเมื่อแรกรับ เพราะต้องมีการคัดกรองผู้ป่วยที่เพิ่งเข้ามาเรือนจำ และทราบจากการบอกเล่าของนายอำพลว่าเคยเป็นมะเร็งในช่องปาก ในครั้งนั้นได้บอกให้ผู้ต้องขังแจ้งญาติให้นำประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเดิมมาด้วยเพื่อดูว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท