Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ลูกจ้างรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน เป็นหนี้นอกระบบอื้อ เงินไม่พอใช้แถมต้องส่งเสียครอบครัว ยอมจ่ายดอกโหด 8-10% ต่อเดือน เสนอรัฐขายพันธบัตรหนุนธนาคารออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้กู้รายย่อย

กรุงเทพธุรกิจ รายงานการเสวนา เรื่อง "วิกฤติหนี้นอกระบบ - ทางออกของสังคมไทย?" จัดโดยกระทรวงยุติธรรม โดย รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากรบรรยายว่า ปัจจุบันปัญหาหนี้นอกระบบเปลี่ยนจากปัญหาที่เคยแพร่หลายในชนบทและในภาคเกษตรกรรมมาเป็นปัญหาของผู้ที่มีรายได้ประจำในสังคมเมืองโดยเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ จากตัวเลขของผู้ที่รับค่าจ้างในรูปแบบเงินเดือนประมาณ 17 ล้านคนในปัจจุบัน มีจำนวน 14 ล้านคนที่ทำงานกับภาคเอกชน และมีกว่า 8-9 ล้านคน ที่มีรายได้ประจำเพียง 8,000-9,000 บาทต่อเดือน รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และเลี้ยงครอบครัวดังนั้นหากในเดือนใดที่ไม่มีรายได้จากการทำงานล่วงเวลา (เงินโอที) คนกลุ่มนี้ก็จะต้องกู้เงินนอกระบบ โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้จากหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงาน โดยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8-10 ต่อเดือน

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า หนี้นอกระบบที่กำลังคุกคามภาคแรงงาน ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศไทยพึ่งพาการผลิตในภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 88-90 % ของจีดีพี ขณะที่การผลิตในภาคเกษตรคิดเป็น 10 -12 % ของจีดีพีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีหลายรัฐบาลที่มุ่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในภาคชนบท โดยใช้วิธีให้เงินสินเชื่อผ่านกองทุนต่างๆเพื่อให้เป็นสินเชื่อภายในชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) กองทุนเอสเอ็มแอล เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 15 กองทุน ที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งปัจจุบันมีแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรเพียง 8 ล้านคน ทำให้ภาคเกษตรมีปัญหาหนี้นอกระบบลดลง แต่ในทางตรงกันข้ามหนี้นอกระบบในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศในระยะยาว

"ขณะนี้ต้องเข้าใจว่าหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่เข้ามาคุกคามสังคมเมืองมากขึ้น หากไปแถวโรงงานอุตสาหกรรม เช่น สมุทรปราการ ปราจีนบุรี จะเห็นโฆษณา ใบปลิวเรื่องเงินด่วนเป็นจำนวนมาก ขณะที่แรงงานเหล่านี้ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงเงินทุน ที่ผ่านมารัฐบาลช่วยเหลือสินเชื่อให้กับนายจ้างและผู้ประกอบการเท่านั้นแต่ลืมเรื่องการให้เงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือแรงงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญของภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน"รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว

เขากล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้กับผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ตนเสนอว่ารัฐบาลควรจะมีการออกพันธบัตรวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสินปล่อยกู้รายย่อยตามความจำเป็นให้กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยมีเงื่อนไขว่าคนที่จะกู้จะต้องฝากประจำ 10% ของมูลค่าเงินที่กู้ โดยอาจให้เจ้าของกิจการเป็นผู้หักเงิน ณ ที่จ่ายคืนธนาคารพร้อมเงินฝากประจำ จากนั้นภายใน 3 ปี จะมีเงินทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากเงินฝากประจำของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเงินทุนจำนวนนั้นจะสามารถนำมาจัดตั้งธนาคารเพื่อแรงงานซึ่งเป็นธนาคารที่จะเข้ามาดูแลเรื่องการปล่อยเงิน

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net