Skip to main content
sharethis

ศาลได้อ่านคําสั่งไต่สวนการตายระบุ "ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ" หรือ "อีซา" เด็กกำพร้าซึ่งถูกยิงเมื่อ 15 พ.ค. ปากซอยหมอเหล็ง เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ศอฉ. ปธ.นปช.วอนรัฐเยียวยาพี่ชายและองค์กรเด็กกำพร้าที่อีซาเคยอยู่

วันนี้ (20ธ.ค.55)เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 804 ศาลอาญารัชดา ศาล ได้อ่านคําสั่งไต่สวนการตายตามป.วิฯ อาญา ม.150 คดีเลขที่ อช. 3/2555 ที่ พนักงานอัยการจากสํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 สํานักงานอัยการสูงสุด ยื่นคํารองขอให้ศาลไต่สวนการเสีย ชีวิตของ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณหรือ “อีซา” อายุ 12 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนความเร็วสูงที่หลังทะลุ เขาชองท้องทําให้เลือดออกมากในช่องท้องเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลาหลังเที่ยงคืน ที่บริเวณใต้แอร์พอร์ตลิงก์ ปากซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารภ ช่วงที่มีการกระชับวงล้อมผู้ชุมนุมเสื้อแดงโดยศูนย์อํานวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

โดยศาลมีคำสั่งว่าผู้ตายคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ตายระหว่างถูกนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พ.ค.53 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่

นับเป็นคดีที่ 4 ต่อจากคดีนายพัน คํากอง ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับคดีนี้ คดีนายชาญณรงค์ พลศรีลาและคดีนายชาติชาย ชาเหลาที่ศาลมีคําสั่งในลักษณะ ดังกล่าว

ซึ่งศาลได้อ่านคำสั่งระบุด้วยว่าในวันเวลาเกิดเหตุตามคำร้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ  รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ ซึ่ง ศอฉ. ได้ออกประกาศควบคุมเส้นทางคมนาคมเข้าออกบริเวณถนนราชปรารภ และถนนเส้นทางอื่น โดยบริเวณถนนราชปรารภตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำถึงสี่แยกมักกะสันมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาเข้าปฏิบัติหน้าที่ควบคุมพื้นที่ทั้ง 2 แนวฝั่งถนน และตามแนวบังเกอร์ ประกอบด้วยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็ก รักษาพระองค์ และจัดวางลวดหนาม

วันที่ 14 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 23.00 น. เศษ นายคมสัน ทองมาก ผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวผู้ชุมนุม นปช. บริเวณถนนราชปรารภ พบเห็นผู้ตายวิ่งเล่นอยู่บริเวณบังเกอร์ที่เจ้าหน้าที่ทหารวางไว้ใต้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ทลิ้งค์ ฝั่งโรงภาพยนตร์โอเอ ต่อมาเวลาประมาณเที่ยงคืนนายสมร ไหมทอง ขับรถตู้ ออกจาก ซ.วัฒนวงศ์ เลี้ยวขวามุ่งหน้าไปสี่แยกมักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร  ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล ซึ่งประจำอยู่บริเวณด้านหน้าร้านอาหารอินเดียฟู๊ดจึงได้แจ้งไปยังชุดตรวจที่อยู่ใกล้ปากซอย ให้ประกาศห้ามรถตู้ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ควบคุม แต่นายสมรยังคงขับรถยนต์ตู้ต่อไปทางสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ เมื่อแล่นผ่านจุดที่ ร.อ.เสริมศักดิ์ กับพวกประจำอยู่จึงมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดมาจากหลายทิศทาง นายสมร พยายามขับรถยนต์ตู้ต่อไปจนข้ามทางรถไฟไปถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ เมื่อสิ้นเสียงปืนก็พบว่านายสมร ถูกกระสุนปืนที่เอวและท้อง นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ถูกกระสุนปืนยิงใส่อีก 2 คน คือนายพัน คำกอง  และ ผู้ตายในคดีนี้(ด.ช.คุณากร)โดยมีบาดแผลถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่ด้านหลังบริเวณกึ่งกลางลำตัวทะลุช่องท้อง ซึ่งพบผู้ตายได้รับบาดเจ็บนอนอยู่ที่พื้นถนน ซ.โรงภาพยนตร์โอเอ ห่างจากปากซอยที่ติด ถ.ราชปรารภ ประมาณ 20 เมตร โดยถัดจากปากซอยไปไม่ไกล รถตู้ที่นายสมรขับจอดอยู่

สำหรับสาเหตุที่ผู้ตาย(ด.ช.คุณากร) ถูกยิงนั้น ได้ความจากนายสมร คนขับรถตู้คนดังกล่าว ระบุว่า เมื่อขับเลี้ยวขวาออกจากซอยได้ประมาณ 30 เมตร ก็มีเสียงปืนดังขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ทหารทั้งสองฝั่งระดมยิงมาที่รถตู้ของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่าเห็นทหารจำนวน 3 คนยิงปืนมาที่รถ นอกจากนี้ยังได้ความจากนายคมสันติ ผู้สื่อข่าวด้วยว่า ก่อนที่รถตู้จะแล่นเข้ามา เจ้าหน้าที่ทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่าขอให้ผู้ขับหยุดรถไม่เช่นนั้นจะยิงสกัด เมื่อสิ้นเสียงประกาศก็มีเสียงปืนดังมาจาก 2 ฝั่งถนนที่มีเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำถึงสี่แยกมักกะสัน ซึ่งพยาน(นายคมสันติ)ได้บันทึกภาพเหตุการณ์รถยนต์ตู้เข้าไปในพื้นที่จนกระทั่งถูกยิงสกัดไว้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ พยานอัยการผู้ร้อง ก็เบิกความตรงกันสรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 มีหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่ สี่แยกมักกะสัน ไปจนถึงซอยราชปรารภ 6 ฝั่งซ้ายมุ่งหน้าที่ สี่แยกประตูน้ำ แบ่งกำลังคุมพื้นที่ 4 แห่ง แต่ละแห่งมีเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 6 คน โดยก่อนเกิดเหตุพยานแต่ละคนได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ห้ามไม่ให้รถยนต์ตู้ที่นายสมรขับแล่นผ่านเข้าไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ แต่รถตู้ยังแล่นต่อไป จากนั้นมีเสียงปืนดังหลายนัดมาจากหลายทิศทาง

แม้พยานผู้ร้องจะไม่มีใครสามารถระบุตัวได้แน่ชัดว่า ผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นใคร แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันเกิดเหตุ ถ.ราชปรารภตั้งแต่ สี่แยกประตูน้ำไปจนถึง สี่แยกมักกะสัน เป็นพื้นที่ควบคุม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์นำโดย พ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูล และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ประจำอยู่ตลอดแนวถนนราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง โดยหน่วยของ พ.ท.วรการ มีทหารถึง 150 คน มีกองบัญชาการอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ จึงเป็นการยากที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำการอยู่พบเห็น อีกทั้งพล.อ.ต.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม แพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายได้เบิกความรับรองว่าพบโลหะชิ้นเล็กที่บาดแผลของผู้ตาย สันนิษฐานว่าเป็นโลหะจากหัวกระสุนปืนความเร็วสูงซึ่งเป็นปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ประเภท เอ็ม16 หรืออาก้า ซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานผู้ร้องและภาพที่ปรากฏในแผ่นดีวีดีหลักฐาน จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการบริเวณที่เกิดเหตุหลายคนมีอาวุธปืนเอ็ม16 อยู่ด้วย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังเป็นประการอื่นได้

จึงต้องรับฟังว่า คืนเกิดเหตุขณะนายสมร ขับรถยนต์ตู้เข้าไปบนถนนราชปรารภ มุ่งหน้าสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมตามประกาศของ ศอฉ. เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารประจำการอยู่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงห้ามไม่ให้เข้าไปในพื้นที่แล้ว นายสมร ยังขับรถยนต์ตู้ต่อไป เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำอยู่บริเวณที่เกิดเหตุจึงได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่รถยนต์ตู้ของนายสมร เป็นเหตุให้ลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายจนถึงแก่ความตาย

ผู้ปกครอง ด.ช.อีซา, ธิดา ถาวรเศรษฐ์และ นพ.เหวง โตจิราการ

โดยในวันนี้มีนายสมศักดิ์ วันแอเลาะห์ เจ้าหน้าที่ฝายปกครององค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ที่ตั้งอยู่เขตสวนหลวง ซึ่งเป็นผู้ปกครองของ ด.ช.อีซาเดินทางมารวมฟังคำสั่งของศาลด้วย พร้อมเปิดเผยด้วยว่ายังไม่ได้รับการเยียวยา  และนางสุชาดา สตังดี จากองค์กรเดียวกับนายสมศักดิ์ กล่าวหลังฟังคำสั่งด้วยว่ายอมรับที่ศาลตัดสิน แม้ก่อนหน้าที่ไม่ได้คาดหวังอะไรกับคำสั่งมาก โดย อีซา เป็นเด็กกำพร้า มีพี่ชายเป็นญาติเพียงคนเดียว สำหรับการเยียวยานั้นทางองค์กรหรือพี่ชายผู้ตายยังไม่ได้รับ

ด้านนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานกลุ่ม นปช. ซึ่งมาร่วมฟังคำสั่งคดีนี้ กล่าวหลังทราบคำสั่งว่าขณะนี้กระบวนการยุติธรรมเริ่มให้ความหวัง แต่นี่ก็ยังคงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น หลังจากนี้ยังต้องมีกระบวนการต่อไป จึงเรียกร้องขอให้ประจักษ์พยานและบุคคลที่มีหลักฐาน ให้มาเสนอต่อ นปช.ก็ได้หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือติดต่อทางทนาย อีกทั้งการไต่สวน 4 คดีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีชายชุดดำ ไม่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธ ซึ่งขัดแย้งกับคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะถูกพิสูจน์โดยศาลสถิตยุติธรรม

ประธานกลุ่ม นปช. ยังเรียกร้องให้คนที่ได้รับบาดเจ็บเข้ามาดำเนินการฟ้องร้อง รวมทั้งกรณีนี้ก็อยากเรียกร้องไปยังรัฐที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการเยียวยาว่ากรณีของน้องอีซาเป็นลักษณะพิเศษ เพราะเขาเป็นคนที่ถูกดูแลโดยองค์กรและเป็นองค์กรที่ทำงานการกุศลด้วย และยังดูแลพี่ชายอีซาอยู่ก็สมควรที่จะได้รับการเยียวยา จึงขอเรียกร้องกับรัฐบาล กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เร่งดำเนินการเยียวยาในลักษณะองค์กร

นพ.เหวง โตจิราการ ที่เดินทางเข้าร่วมฟังคำสั่งกล่าวเสริมด้วยว่า “นี่เป็นกรณีที่ 4 แล้ว เพียงพอแล้วหรือยังที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความตายของประชาชนในสมัยที่ตนเองเป็นรัฐบาล และทั้ง 4 ราย ที่ศาลมีคำสั่ง ไม่มีการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหาร เพราะฉะนั้นความรับผิดชอบทางการเมืองที่นายอภิสิทธิ์เอง เคยพูดถึงเวลาที่จะเปล่งประกายแสงในใจนายอภิสิทธิ์แล้วหรือยัง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net