Skip to main content
sharethis

"การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน/ภาคประชาชนอาเซียน" (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN Peoples' Forum 2012) หรือ ACSC/APF เวทีคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่จัดโดยองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคมในกัมพูชาและหลายประเทศในอาเซียนซึ่งจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้สิ้นสุดลงแล้ว ท่ามกลางการรบกวนโดยเจ้าหน้าที่กัมพูชา โดยผู้จัดงานต้องย้ายที่จัดงานสองครั้ง (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ทั้งนี้นอกจากการประชุม ACSC/APF ก็มีการประชุมของ "สมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน" หรือ "(ASEAN Grassroots People's Assembly - AGPA)" ซึ่งก็ถูกรบกวนจากเจ้าหน้าที่เช่นกัน แต่สุดท้ายก็สามารถจัดการชุมนุมและยื่นข้อเรียกร้องที่หน้ารัฐสภากัมพูชาได้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกัมพูชาให้สลายตัวทันทีที่ยื่นข้อเรียกร้องเสร็จ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง [1] และ [2]

โดยภายหลังการจัดเวทีดังกล่าว ประชาไทมีโอกาสสัมภาษณ์ คุณ Sok Sam Oeun ทนายด้านความสิทธิมนุษยชน และผู้อำนวยการบริหาร Cambodian Defenders Project และประธานคณะกรรมการจัดเวทีประชาสังคมอาเซียน ACSC/APF ซึ่งจัดที่พนมเปญ โดยเป็นการสัมภาษณ์สั้นๆ ถึงสถานการณ์ของเวทีภาคประชาสังคมในกัมพูชา รวมถึงข้อห่วงกังวลในเรื่องสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ผู้มีอำนาจอาจลืมหลักการที่ว่า "อาเซียนมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง"

โดย Sok Sam Oeun กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลจากการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนที่ผ่านมา มีสามเรื่อง เรื่องแรกคือ เสรีภาพในการรวมตัวสมาคม ที่กล่าวเช่นนั้นเพราะกลุ่มของเขาต้องเปลี่ยนสถานที่จัดงานมาแล้ว 2 ครั้ง เพราะถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรบกวน

"สิ่งนี้แปลว่ารัฐบาลกัมพูชาไม่เข้าใจอย่างแจ้งชัดในเรื่องเสรีภาพการรวมตัวสมาคม และความสำคัญของการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน และเขาอาจจะลืมหลักการของอาเซียนที่เขามักจะพูดว่าอาเซียนมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง"

"ดังนั้น ถ้าพวกเขาคิด หรือต้องการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เขาต้องอนุญาตให้ประชาชนมีโอกาสได้พูด ให้มีโอกาสได้สนทนากับรัฐบาล"

ส่วนเรื่องที่สอง ก็คือ การที่ผู้นำอาเซียนลงนามรับรองปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน "เรากังวล เพราะว่าปฏิญญานี้มีมาตรฐานที่ต่ำสำหรับหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราเอามาเทียบกับรัฐธรรมนูญของกัมพูชา สิ่งนี้แย่กว่ารัฐธรรมนูญกัมพูชามาก ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุให้เรากังวลว่า ภายหลังการลงนามรับรอง ทุกประเทศอาจใช้ปฏิญญานี้ แทนสิ่งที่พวกเขาไปลงนามอนุสัญญาไว้กับสหประชาชาติ เพราะหลายประเทศ เช่น กัมพูชา ก็ลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกลไกด้านสิทธิมนุษยชนหลายอนุสัญญา"

เรื่องสุดท้ายที่คุณ Sok Sam Oeun กังวล แม้ไม่ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มของเขาก็คือ มีการที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลไปจับคนที่ชูป้าย "SOS" ขอความช่วยเหลือ  จากบารัก โอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

"สำหรับผมเรื่องนี้เป็นเรื่องในทางปฏิบัติของเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งผมกังวลว่า ประชาชนอาเซียนยังคงมีไม่พอ สำหรับเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก

"ผมคิดว่าจะดีกว่านี้ ถ้าทุกประเทศในอาเซียน ต้องการให้อาเซียนเป็นประชาคมที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางแท้จริง ต้องอนุญาตให้ประชาชนของตนมีเสรีภาพในการรวมตัว เสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพในการแสดงออก"

 

ช่องทางบรรเทา เมื่ออาเซียนมีปฏิญญาสิทธิมนุษยชนประเภทต่ำกว่ามาตรฐาน

ทั้งนี้ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 21 ที่พนมเปญ ผู้นำชาติในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ได้ลงนามในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน โดยนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ยกย่องการลงนามดังกล่าวว่าเป็นหลักไมล์สำคัญของภูมิภาค และเชื่อว่าการลงนามดังกล่าวเป็นพัฒนาการขั้นใหญ่ และปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนดังกล่าวจะถูกใช้เฝ้าสังเกต มาตรการปฏิบัติ มาตรการป้องกัน มาตรการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกลุ่มประเทศอาเซียน

อย่างไรก็ตามปฏิญญาดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่ายังไม่มีมาตรการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เพียงพอ และจะทำให้แต่ละประเทศมีข้ออ้างในการละเลยมากกว่าที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยฟิล โรเบิร์ตสัน จากองค์กรฮิวแมนไรท์ ว็อทซ์ ซึ่งมีสำนักงานที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกากล่าวว่า “คุณไม่สามารถที่จะมีข้อยกเว้นระดับชาติและระดับภูมิภาค” และว่า “คุณไม่สามารถเริ่มต้นยกตัวอย่างที่กินความกว้างขวางอย่างคำว่าศีลธรรมสาธารณะ จนสิทธิเหล่านี้ไม่สามารถบังคับใช้ได้ สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ พวกเขาได้สร้างช่องโหว่เอาไว้แต่แรก จากนั้นพวกเขาก็พยายามประดับตกแต่งรอบๆ ช่องโหว่นั้น”

ทั้งนี้ในมาตรา 8 ของปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ระบุตอนหนึ่งว่า การใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานจะถูกจำกัดก็ด้วยกฎหมายเท่านั้น ในวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้อื่น และด้วยความจำเป็นต่อความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ สาธารณสุข ความปลอดภัยสาธารณะ ศีลธรรมสาธารณะ อย่างเช่นสวัสดิการทั่วไปของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย

นอกจากนี้ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนยังถูกวิจารณ์ด้วยว่าไม่มีเนื้อหาคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBT โดยไม่มีการรับรองถ้อยคำดังกล่าวในตัวปฏิญญา (ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ต่อเรื่องปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนดังกล่าว Sok Sam Ouen มีข้อเสนอว่า "เราเรียกร้องไปยังรัฐบาล แม้ว่าจะมีการลงนามในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนไปแล้ว สำหรับแต่ละประเทศจะต้องเคารพในกลไกระหว่างประเทศใดๆ ที่พวกเขาได้ลงนามไว้กับสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน หรืออย่าง  ICCPR (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) และอื่นๆ"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net