Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เพียงผ่านปีใหม่มาได้ไม่ถึงห้าวัน วงการสื่อมวลชนก็ต้องสะเทือนเมื่อละครหลังข่าวทางไทยทีวีสีช่องสามเรื่อง “เหนือเมฆ” ถูกตัดจบลงก่อนกำหนด พร้อมความคลางแคลงใจว่าเกิดจากการสั่งการของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่อ่อนไหวและรับเนื้อหาที่วิพากษ์การเมืองและคอรัปชั่นไม่ได้

ก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ราวสองวัน มีนักแสดงสาว หนึ่งในนักแสดงละครเรื่องนี้ได้โพสต์ข้อความของตนลงในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่าละครจะถูกตัดจบ นำไปสู่การนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์แนวหน้าว่าบอร์ดบริหารถูกกดดันจากฝ่ายการเมืองฟากหนึ่งของรัฐบาลว่าให้ยุติเสีย อ่านข่าวเพิ่มเติมได้จาก(http://www.naewna.com/entertain/36194) โดยระหว่างนี้ข่าวมีความสับสนมาก ทางเพจช่องสามเองก็ยังยืนยันว่าออกอากาศถึงวันอาทิตย์เช่นเดิม

แต่แล้วก่อนเวลาออกอากาศไม่นานนัก ทางช่องสามก็ขึ้นข้อความเลื่อนว่าด้วยเหตุบางอย่าง ละครเรื่องเหนือเมฆจำเป็นจะต้องยุติลงและออกอากาศเรื่อง แรงปรารถนา แทน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ชมและคนในโลกไซเบอร์เป็นอันมาก ต่างพากันก่นด่าทั้งบอร์ดบริหารและรัฐบาลที่อาจหาญสั่งการตัดจบละครเรื่องนี้ หน้าเพจเฟซบุ๊คลุกเป็นไฟ คนดูไม่น้อยสรุปคำตอบไว้ในใจตั้งแต่แรกว่าเป็นเพราะนักการเมืองเลวที่ทนรับความจริงไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม นี่หรือนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแต่พฤติกรรมไม่ต่างจากเผด็จการ

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เกิดการตัดจบละครเกิดขึ้น ยังไม่มีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการออกมาจากไทยทีวีสีช่องสามเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทิศทางคำตอบที่แยกเป็นสองทาง คือ รัฐบาลเซนเซอร์ กับ บอร์ดบริหารช่องสามเซนเซอร์ตัวเอง ล้วนเกิดจากการคาดเดาทั้งสิ้น

ฝ่ายแรกที่เชื่อว่ารัฐบาลเซนเซอร์ก็ตีความจากข่าวที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์แนวหน้า (ซึ่งตัวข่าวเองก็ไม่ได้ระบุว่า “ใคร” เป็นคนสั่ง) บวกกับกาพย์กลอนอันแสนคลุมเครือและคำผรุสวาทของบรรดาทีมงานเบื้องหลังที่ชวนให้ตีความไปในทิศทางว่าบอร์ดบริหารเจอรัฐบาลเข้าแทรกแซง ฝ่ายหลังเองก็ไม่ได้มีหลักฐานเช่นกัน เกิดจากการวิเคราะห์จากคำแถลงการณ์ของนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ และ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ดูแล้วแม้รัฐบาลจะพูดว่าไม่เกี่ยวข้องและการอำนาจสั่งการเป็นของ อสมท. เจ้าของสัมปทานคลื่นความถี่ของช่องสาม ก็มิได้ทำให้ฝ่ายแรกเชื่อแต่อย่างใด

ณ เวลานี้ กลับกลายเป็นมีเพียงข้อเท็จจริงเดียวคือ ละครถูกตัดจบลงไปจริงตามข่าวลือที่ว่ามา แถมคำสั่งยังมาด่วนชนิดคนในช่องสามเองก็ไม่รู้ ส่วนสาเหตุใด ๆ ผู้เกี่ยวข้องจริง ๆ โดยเฉพาะบอร์ดบริหารของทางช่องสามเองยังไม่เคยชี้ชัดให้เห็นว่าเรื่องเป็นอย่างไรกันแน่

ต่อเนื่องกัน นักข่าวหลายสำนักแทนที่จะค้นหาความจริง กลับเลือกที่จะไปสัมภาษณ์เพื่อถามความคิดเห็นจากนักการเมืองกลุ่มอื่น ๆ อาทิไปถามนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ว่าคิดเห็นอย่างไร

ยิ่งบวกกับทีท่าของทีมงานไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ นักแสดง ผู้จัดละคร ที่แสดงความคิดเห็นในลักษณะคลุมเครือ ไม่บอกชัดเจนแต่ปล่อยให้คนดูคนอ่านตีความ ยิ่งทำให้โมเมนตัมความผิดถูกโยนไปที่รัฐบาลโดยยังไม่มีหลักฐานแม้แต่น้อยนิด

ผู้เขียนมองว่าเป็นการเร็วเกินไปที่จะฟันธงว่าการกระทำของช่องสามนั้นเกิดจากการแทรกแซงของรัฐบาล ในขณะเดียวกันผู้เขียนก็ไม่ได้ปกป้องรัฐบาลว่ามิได้เป็นผู้กระทำแน่ แต่การเป็นมนุษย์ในโลกสมัยใหม่ เราจำเป็นจะต้องมีเหตุผล วิเคราะห์วิพากษ์พื้นฐานจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มิใช่ประกอบสร้างความจริงจากความคิดเห็นเป็นสำคัญ ซึ่ง ณ เวลานี้ อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น มีเพียงข้อเท็จจริงเดียวเท่านั้นที่ทุกคนรู้เหมือนกันคือละครถูกตัดจบ ส่วนที่เหลือมาจากการคาดคะเนทั้งสิ้น ยิ่งบวกกับวาทกรรมภาพเหมารวมว่านักการเมืองเลว คอรัปชัน ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้คนปักใจเชื่อโดยไม่ต้องการการพิสูจน์เลยแม้แต่น้อย (น่าเศร้า ครูบาอาจารย์ที่สอนผู้เขียนมาว่าให้ cross-check ข่าวหรือ ตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข่าวให้รอบด้านเสมอ ก็หาปฏิบัติตามที่สอนไม่ กลับใช้เพียงการสรุปจากข้อความอันแสนคลุมเครือแล้วฟันธงว่าเป็นการแทรกแซงสื่อเสียแล้ว)

ผู้เขียนเชื่อว่าคนที่สนับสนุนรัฐบาลโดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงเองก็ไม่พึงพอใจเช่นกันที่ปล่อยให้มีการแทรกแซงสื่อกันชัด ๆ ตรง ๆ แบบนี้ สำคัญคือใครกันเล่าที่ทำเช่นนั้น ขอข้อเท็จจริง มิใช่ความคิดเห็น หากเป็นรัฐบาลจริง รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนกระทำ และคนเสื้อแดงก็จำเป็นที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องมิให้รัฐบาลที่ตนเลือกมาเดินทางผิดแผกไปจากระบอบประชาธิปไตย

คาดว่าบอร์ดบริหารช่องสามเองอาจจะปล่อยภาวะลอยตัว ปล่อยให้เรื่องค่อย ๆ เงียบไปเดี๋ยวคนก็ลืม (อย่าลืมว่ากระแสเหนือเมฆทำเอาเรื่องเขาพระวิหารเงียบสนิทไปในพริบตา) ดังนั้นคงได้เห็นฝีมือของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร เพราะตามรัฐธรรมนูญนั้น การแทรกแซงสื่อเป็นเรื่องที่ทำมิได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องดูว่าทีมข่าวช่องสามเองจะกล้าทำข่าวเกี่ยวกับองค์กรของตนในระดับไหน มากน้อยเพียงใด เพื่อให้ความจริงปรากฎขึ้นต่อสาธารณชน

สุดท้ายนี้อยากฝากให้คิดว่า เราต้องพิจารณาและวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อเท็จจริง อย่าให้ความคิดเห็นเป็นตัวนำ ค่อย ๆ คิดไตร่ตรอง มิจำเป็นต้องรีบเชื่อว่าอะไรจริงหรือไม่จริง มิฉะนั้นแล้วอคติก็ครอบงำท่านแล้วตัดสินโดยมิรู้ตัว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net