สัมภาษณ์เพจแห่งปี : จ่าพิชิต แอดมินเพจ “Drama-addict”

"ดราม่าเอยจงซับซ้อนยิ่งขึ้น" คุยกับ “จ่าพิชิต ขจัดพาลชน” กับประเด็นดราม่าเครดิตผลงาน และประเมินโซเชียลเน็ตเวิร์คในรอบปีที่ผ่านมา ที่เขามองว่าทำให้สังคมไทยเดินไปข้างหน้าเร็วอย่างที่ไม่เคยเร็วแบบนี้มาก่อน และแนวโน้มปีนี้ที่ทุกอย่างจะโกลาหลมากขึ้น

รูปประจำตัวของเพจ Drama-addict ขณะนี้

หลังจากประกาศ ผลโหวต 10 แฟนเพจเฟซบุ๊ก ปี 2012 ที่ตั้งโหวตใน เฟซบุ๊กแฟนเพจ Prachatai เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่ถือว่าได้รับความสนใจจากแฟนเพจเองและตัวแอดมินแฟนเพจจนเกิดวิวาทะดราม่า กันในช่วงเวลาดังกล่าวที่มีการเปิดโหวต โดยในการโหวตนั้นมีจำนวนการโหวต 371,272 โหวต จำนวน user ที่กดติดตามการโหวต 4,358 user จำนวนการแสดงความเห็น 6,792 ความเห็น จำนวน user ที่กดถูกใจ 7,705 user และผลที่ได้ 10 เพจ ประกอบด้วย เพจ VRZO, 9Gag in Thai(9GAG in Thai), Drama-addict, สมรัก พรรคเพื่อเก้ง, โหดสัส V2, เฮ้ย! นี่มันตัดต่อชัด ชัด, Dora GAG, ออกพญาหงส์ทอง, วิรศากดิ์ นิลกาด และช้างเป็นสัตว์กินเลือด

ประชาไทได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ใช้นามแฝงว่า จ่าพิชิต ขจัดพาลชน หนึ่งในผู้มีอิทธิพลสำคัญในโลกออนไลน์ตั้งแต่ยุค “เว็บบอร์ด” ถึงยุค “เฟซบุ๊ก” แอดมินแฟนเพจ “Drama-addict” ที่ได้ถึง 27,890 โหวต โดยเพจระบุว่าเป็นประเภท สื่อ/ข่าว/การเผยแพร่ ที่มี การกดถูกใจ  153,508(6 ม.ค.56) นอกจากจะเป็นเพจที่ประชาสัมพันธ์เรื่องราวการถกเถียงของคนในสังคม ทั้งจากเว็บบอร์ด เฟซบุ๊ก ที่ถูกเรียบเรียงเป็นเรื่องราวโดยเว็บไซต์ drama-addict.com ที่บอกว่าเป็น “สำนักข่าที่เสือกสาระแนแม่ยิ้มที่สุดในประเทศเทย” นอกจากนี้เพจยังมีการสื่อสารทั้งโพสต์ข่าว วีดีโอคลิป, ลิงค์, ภาพ สถานที่และเบาะแสที่อาจจะเกิดดราม่าในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งการเผยแพร่แสดงความคิดเห็นทัศนะต่อสถานการณ์ทางสังคมและการเมือง ในมุมมองของแอดมินเองอีกด้วย

ภาพหัวเว็บไซต์ drama-addict.com

ซึ่งประเด็นในการสัมภาษณ์เป็นเรื่องการประเมินโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างเฟซบุ๊ก ทั้งในปี 2012 ที่ผ่านมา รวมทั้งมองแนวโน้มทิศทางในปี 2013 รวมทั้งเรื่องที่เป็นประเด็นถกเถียงกันในรอบปีที่ผ่านมาในโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เรื่องเครดิตผลงาน เรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของคนอื่น รวมไปถึงการแบน user ในเพจ การเซนเซอร์โดยรัฐ เป็นต้น

0000

ประชาไท : มองปรากฏการณ์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่าง Facebook ในรอบปี 2012 มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง แลทำไมถึงคิดว่ามันน่าสนใจ

จ่าพิชิต ขจัดพาลชน : จริงๆแล้วผมว่ากระแสนี้มันเริ่มมาตั้งแต่ปีที่มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ของ นปช.(แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ช่วงที่มีการเผาบ้านเผาเมือง โซเชียลเน็ตเวิร์คเริ่มแสดงศักยภาพของมันในการกระจายข่าวสาร

หลังจากเหตุการณ์นั้นคนก็เล็งเห็นศักยภาพของมันมากขึ้น ทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก มันไม่ใช่แค่เว็บไซท์ที่เราเอาไว้ใช้ติดต่อเพื่อนเก่า นัดเจอเพื่อนร่วมรุ่นอีกต่อไป แต่มันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น มันเป็นสถานที่ที่คนสามารถแสดงความเห็นอะไรก็ได้ คิดอะไรก็ได้ พูดอะไรก็ได้อย่างเสรี (ภายใต้กรอบของกฎหมาย) และเมื่อเราพูดออกไป เสียงตอบรับก็จะสะท้อนกลับมาอย่างรวดเร็ว ต่างไปจากยุคก่อนหน้านี้ที่เป็นยุคของเว็บบอร์ดและเว็บไซต์ กว่าจะได้ feedback กลับมาซักความเห็นต้องใช้เวลามากกว่านี้มาก

สรุปคร่าวๆคือโซเชียลเน็ตเวิร์คทำให้สังคมไทยเดินไปข้างหน้าเร็วอย่างที่ไม่เคยเร็วแบบนี้มาก่อน

คิดยังไงกับอีก 9 เพจที่อยู่ใน 10 เพจแห่งปีที่คนโหวตกับประชาไท(ดู)

แต่ละเพจก็มีเอกลักษณ์ของแต่ละเพจแตกต่างกันไป ผมก็เข้าไปแวะเวียนอ่านเพจที่ว่ามาทั้งหมดเป็นระยะ โดยส่วนตัวสมัยก่อนชอบเพจศาสดาเพราะเนื้อหาเกี่ยวกับทางเพศ ผสมกับการสอดแทรกเรื่องการเมืองเป็นระยะ ช่วงนั้นอ่านสนุกดี แต่หลังจากเจ้าของเพจโดนดราม่าเข้าไป (เกี่ยวกับเรื่องกีฬาโอลิมปิก)ปรากฏว่าเพจนั้นเป๋ไประยะหนึ่ง หลังๆรู้สึกเขาจะเน้นแต่เรื่องทางเพศ เรื่องการเมืองไม่ค่อยเน้นเหมือนเมื่อก่อน อีกอย่างผมว่าจุดยืนของเขาเอียงเข้าทาง นปช. มากไปหน่อย จริงๆ แล้วการที่เจ้าของเพจจะมีจุดยืนทางการเมืองฝั่งไหน ผมว่าเป็นเรื่องปรกติ แต่ปัญหาคือถ้าเราถลำตัวเข้าไปใกล้ชิดฝั่งไหนมากเกินไป มันจะกระทบต่อความนึกคิดของเราด้วย ผมอยากให้เขาถอยออกมาซักก้าวแล้วยืนเชียร์จากขอบกระดาน มันจะเห็นภาพรวมกระจ่างกว่าลงไปเดินหมากด้วยตัวเอง

หลังๆที่ติดตามบ่อยๆก็มีเพจโหดสัส เพจสมรักพรรคเพื่อเก้ง เพจสมรักนี่เขาจิกกัดได้ขำๆ จนคนหนุ่มสาวติดกันงอมแงม ในขณะที่โหดสัสที่เป็นเพจเถื่อนๆ ดูห่ามและถนัดในการปาขี้(และเสียดสีสถาบันเป็นประจำ เชื่อกรูเถอะกรูอ่านสัญลักษณ์มึงออกหมดแหละ) ถ้าพิจารณาให้ดีๆจะพบว่าในความห่ามบัดซบนั้นมีอะไรแฝงอยู่ แต่ไอ้ที่แฝงอยู่เป็นอะไรผมก็บอกได้ไม่ชัดเจนเหมือนกัน

เพจ Drama-addict กับภาพที่พูดถึงการโหวต

ในฐานะที่เป็นแอดมินภูมิใจไหมที่มีคน สนใจเพจคุณ คิดว่าที่ทำไปเกิดผลอะไรกับสังคมบ้าง เอาแรงบันดาลใจมาจากไหน ก่อนและหลังทำ มีอะไรเปลื่ยนไปในชีวิตบ้าง

ก็มีคนหลังไมค์มาเป็นระยะ บอกว่าอ่านดราม่าแล้วคลายเครียด ได้สาระ ได้เท่านี้ผมก็ดีใจมากแล้ว

แอดมินเพจเป็นทีมหรือว่าทำคนเดียว และแอดมินแต่ละคนเป็นใคร

ผมเป็นยามครับ หลักๆทำคนเดียว มีคนมาช่วยบ้างประปราย

คิดว่าคนมา like หรือติดตามเพจคุณเพราะอะไร รวมทั้งคนกดโหวตเพจคุณเพราะอะไร

น่าจะมาอัพเดทข่าวสารและอ่านหรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับดราม่าเรื่องใหม่ๆ

อยากจะบอกอะไรกับคนเหล่านั้น(ที่กดไลค์และโหวต)บ้าง

อย่าเชื่อเรื่องที่จ่าพูดทุกคำ อ่านดราม่าแล้วคิดด้วยวิจารณญาณของตัวเองนะโตๆกันแล้ว

ถ้าจะให้นิยามเพจคุณ เราควรเรียกหรือทำความเข้าใจว่าเพจคุณคืออะไร

เพจดราม่าไงครับ

ตอนนี้มีดราม่าระหว่างแฟนเพจใน facebook เรื่อง "ก๊อบปี้" หรือละเมิดลิขสิทธิ์ คุณมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร รวมถึงมองการระดมรีพอร์ตใน facebook ว่าอย่างไร

ผมไม่ชอบเรื่องที่ผมกำลังทำอยู่เลย แต่ผมมองไม่เห็นหนทางอื่นแล้วจริงๆ สิ่งที่ผมกำลังทำอยู่คือการสร้าง hate speech ให้คนไทยรุ่นใหม่เห็นว่าการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องน่าขยะแขยง น่ารังเกียจ น่าประณาม ถ้าเพจไหนทำซ้ำซากไม่รู้จักสำนึกก็อยากจะเชิญชวนให้ชาวเน็ทช่วยกันรีพอร์ตเพจนั้น จริงๆแล้ววิธีที่ดีที่สุดคือสร้างจิตสำนึกให้คนไทยรู้สึกว่าการใช้สินค้าถูกลิขสิทธิ์เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจ

แต่หลังจากเขียนดราม่าแนวๆนี้มาเยอะ พบว่าคนไทยตั้งแต่เด็กยันแก่ยังคงมีทัศนคติว่า การใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความฉลาด ในขณะที่คนซื้อของแท้เป็นคนโง่ ในเมื่อเราสามารถโหลดของเถื่อนมาใช้กันฟรีๆแล้วจะใช้ของแท้ให้โง่ทำไม นอกจากนั้นยังมีการยกอ้างเหตุผลข้างๆคูๆสารพัด เช่น ช่วยเพิ่มดุลการค้าให้ประเทศชาติ ถุย!!! คนพวกนี้จะไม่มีวันสำนึกเลยถ้าเขาไม่สร้างสรรค์ผลงาน แล้ววันหนึ่งผลงานนั้นถูกผู้อื่นฉวยไปหาผลประโยชน์

แต่เราจะหวังให้คนไทยทุกคนเป็นกลุ่มวิชาชีพที่สร้างสรรค์ผลงานเหรอ เป็นไปไม่ได้ บางคนตั้งแต่เกิดยันตายไม่เคยสร้างสรรค์ผลงานใดๆเป็นของตัวเองก็มี

หรือจะให้พึ่งกฎหมายหรอ ผมจะเล่าให้ฟังว่าเร็วๆนี้มีนักวาดรูปท่านหนึ่ง ถูกขโมยภาพไปใช้เป็นป้ายโฆษณาเทศกาล นักวาดคนนั้นฟ้องศาลบอกว่าภาพของเขามีลิขสิทธิ์คุ้มครอง เขาเผยแพร่ภายใต้ creative common แต่ศาลกลับไม่เข้าใจว่า creative common คืออะไร สุดท้ายนักวาดเป็นฝ่ายแพ้คดี กระทั่งตำรวจที่รับผิดชอบเกี่ยวกับด้านนี้ รู้ทั้งรู้ว่าพันทิพย์พลาซ่าเป็นแหล่งขายแผ่นผีซีดีเถื่อนขนาดมหึมา แต่แทนที่จะบุกกวาดล้าง เขากลับเอาจ่าเฉยไปตั้งในพันทิป เพื่อหวังให้คนที่ขายแผ่นผีเห็นจ่าเฉยแล้ว เกิดความรู้สึกมีจิตสำนึกอยากใช้สินค้าถูกลิขสิทธิ์ ในเมื่อหน่วยงานของรัฐบาลมันเป็นซะแบบนี้เราคงพึ่งใครไม่ได้นอกจากพึ่งตัวเอง

ภาพหน้าปกเพจ

ในฐานะที่เป็นแอดมิน เคยแบนคนที่เข้ามาในเพจบ้างไหม เพราะเหตุใด

แบนไปเกือบพันแล้วมั้งครับ ส่วนมากก็พวกโพสต์ก่อกวน พูดจาซ้ำซากน่ารำคาญ หรือโฆษณาเพจตัวเองหน้าด้านๆกับพวกขายตรง ผมแบนหมด

คิดเห็นอย่างไรกับการเซนเซอร์ รัฐควรควบคุมหรือบล็อกเว็บไซต์หรือไม่

ผมว่าไม่ควรนะ เพราะกลไกของเฟซบุ๊กในการรีพอร์ตเพจที่ไม่เหมาะสมมันมีอยู่แล้ว ปัญหาคือคนไทยใช้กันไม่เป็นเอง ถ้าใช้กันอย่างถูกต้อง ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเซ็นเซอร์เพราะประชาชนจะเป็นผู้คัดกรองเองว่าอะไรเหมาะอะไรไม่เหมาะ

แอดมินบางเพจมีการเอาข้อมูลส่วนตัว ของบุคคลธรรมดามาเผยแพร่ให้สาธารณะรู้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือหรือ เศรษฐกิจบางอย่าง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัวก่อนนั้น คุณมองพฤติกรรมแบบนี้ว่าอย่างไร

ผิดกฎหมายชัดเจนนี่ครับ

มองว่าปี 2013 นี้ แนวโน้มของเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะ facebook จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับสิ่งที่เป็นอยู่

ทุกอย่างจะโกลาหลมากขึ้นกว่าที่เป็นในปัจจุบัน

ภาพปกเพจขณะนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท