Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต

คำขวัญวันเด็กปี 2515


ภาพหม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล ณ อยุธยา
http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&file=article&sid=382

 

นโยบายรัฐกับการควบคุมเด็กและเยาวชน

                ในรัฐไทยสมัยใหม่ พบว่ามีความต้องการที่จะควบคุมเด็กและเยาวชนอย่างน้อยก็ช่วงเริ่มขยายการศึกษาสมัยใหม่นั่นคือการตั้งกระทรวงธรรมการ ปี 2435 การจัดการศึกษาภาคบังคับในปี 2464 ด้วย พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 และขยายตัวอย่างมากหลัง 2475 อันเนื่องมาจากรัฐบาลสามารถขยายโรงเรียนประชาบาลไปครอบคลุมทุกตำบลในปี 2479[1] ตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2478

แต่ภายใต้การควบคุม “ในโรงเรียน” อาจยังไม่พอ เด็กที่ไม่อยู่ในโรงเรียนหรือประพฤตินอกลู่นอกทางอาจต้องถูกส่งไปยัง “สถานฝึกและอบรมเด็ก” ตาม พระราชบัญญัติจัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก พ.ศ.2479 อันมีลักษณะคล้ายคุกเด็กในระดับย่อมๆ แต่กระนั้นเข้าใจว่ารัฐยังไม่พอใจการแก้ไขปัญหา ต้องการจะจำแนกเด็กที่เป็นเด็กในมาตรฐานของรัฐที่มีสังกัดโรงเรียนชัดเจน กับเด็กเร่ร่อน เด็กอนาถาที่ไม่มีสังกัด ที่ไม่มีบิดามารดาดูแลหรือมีแต่ก็ถูกศาลสั่งถอนอำนาจปกครอง จนต้องตรา พระราชบัญญัติควบคุมเด็กและนักเรียน พุทธศักราช 2481

อำนาจรัฐบนเรือนกาย

พระราชบัญญัติควบคุมเด็กและนักเรียน พุทธศักราช 2481 สมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม หากเราจะค้นลงไปดูกฎกระทรวงประกอบ พรบ. ในชื่อว่า กฎกระทรวงธรรมการและกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมเด็กและนักเรียน พุทธศักราช 2481 นั้นไม่ได้พูดเรื่องทรงผมเลย แต่กล่าวถึงเพียงแค่การควบคุมเรื่องเครื่องแต่งกายเป็นหลัก นั่นคือ เน้นการควบคุมเฉพาะการแต่งกายที่ผิดระเบียบอันครอบคลุมถึง เครื่องแบบนักเรียน ตาม พรบ.เครื่องแบบนักเรียน, เครื่องแบบยุวชนทหารและยุวนารี ตาม พรบ.เครื่องแบบยุวชน และเครื่องแบบลูกเสือ ตามพรบ.เครื่องแบบลูกเสือ และเครื่องแบบสมาชิกอนุสภากาชาดหญิง

แม้ว่าในระยะเวลาอันจำกัด ผู้เขียนยังไม่สามารถค้นเอกสารที่ยืนยันได้แน่ชัดว่า “ทรงนักเรียน” เริ่มขึ้นเมื่อใด แต่ที่พบการอ้างถึงกันบ่อยๆ ก็คือ บทความของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 สรุปความได้ว่า ประเทศไทยรับทรงผมทรงนักเรียนทั้งเครื่องแบบต่างๆ จากญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในช่วงสงครามนั้นเกิดเหาระบาดมาก ประชาชนจึงนิยมตัดผมสั้นเกรียน ซึ่งข้ออ้างนี้ถูกนำไปใช้กับการร้องเรียน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนด้วย[2] แต่อย่างไรก็ตาม เรายังไม่พบว่าได้มีการออกกฎหมายของรัฐเข้าไปจัดการยุ่มย่ามถึงทรงผมมากไปกว่า “ความนิยม” หรือ “ความสะดวก” เราจึงยังพอจะพบเห็นทรงผมนักเรียนที่หลากหลายก่อนที่จะถูกรัฐจัดระเบียบในเวลาต่อมา

การอ้างถึงบทความนิธิ เอียวศรีวงศ์ เกี่ยวกับที่มาของทรงผมในประวัติศาสตร์ไทย

การเข้มงวดกวดขันกับเด็กและเยาวชนมีให้เห็นอย่างชัดเจนในสมัยรัฐบาลเผด็จการอย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่วงทีอันเด็ดขาดรัดกุมของสฤษดิ์ที่กำราบอาชญากรรมต่างๆ เป็นที่ฝังใจมาอยู่ในหัวของคนรุ่นก่อนที่ยังมีลมหายใจมาจนถึงทุกวันนี้ สฤษดิ์มุ่งมั่นที่จะเข้าไปจัดระเบียบพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างพื้นที่สาธารณะ อาคารบ้านเรือน การขจัดความสกปรกเสื่อมโทรม ขจัดขอทาน สุนัขกลางถนน ยกเลิกสามล้อในพระนคร จับกุมคนโรคเรื้อน แม้แต่ราวตากผ้าสฤษดิ์ก็ยังยืนยันที่จะยุ่ง โดยถนน ให้เจ้าหน้าที่เทศบาลปราบปรามบ้านเรือนต่างๆที่ตากเสื้อผ้าไว้ตามระเบียง การจัดระเบียบดังกล่าวในที่สุดก็ลามมาถึงพฤติกรรมและเรือนร่างของเด็กและเยาวชน นั่นคือ ยกเลิกการเต้นรำที่สวนลุมพินี ว่ากันว่าห้ามมิให้เยาวชนไว้ผมยาว นุ่งกางเกงรัดติ้วตามสมัยนิยม[3] ซึ่งก็ไม่ทราบในรายละเอียดว่า “ผมยาว” ที่ว่านั้น หมายถึงผมยาวขนาดไหน ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่เราจะเห็นการยกระดับการควบคุมเด็กและเยาวชนออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กระนั้นก็ยังไม่พบ


นายจำเริญ บุลย์ดิษฐ์ หรือที่เรารู้จักกันในนาม ปุ๊ ระเบิดขวด ผู้ต้องหาเจ้าของ “ระเบิดขวด”

นักเรียนโรงเรียนศิริศาสตร์ ศรีย่าน กทม. (ข่าวปี 2504)

ข้อมูลและภาพจาก

สิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ. กรุข่าวดังในรอบ 20 ปี (กรุงเทพฯ : การเวก), 2521, น.87



นิสิต จิรโสภณ นักศึกษารุ่น 14 ตุลาคม 2516 แห่ง ม.เชียงใหม่
เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยนักเรียน โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกุล จ.กระบี่โปรดสังเกตทรงผม

http://www.2519me.com/NTOctober/NTOcontent/NTOfiles/northernhero2.htm

ที่น่าสนใจก็คือ ปฏิบัติการทางกฎหมายที่เข้ามาควบคุมทรงผมนักเรียนอย่างจริงจังก็คือ การเกิดขึ้นของ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 (พ.ศ.2515 ต่อไปจะเรียก ปว.132) ในสมัยที่จอมพลถนอม กิตติขจร รัฐประหารตัวเอง และฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ล้มระบบรัฐสภานำประเทศเข้าสู่การอำนาจการครอบงำแบบเผด็จการอีกครั้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2514 ประกาศดังกล่าวได้ทำการยกเลิก พระราชบัญญัติควบคุมเด็กและนักเรียน พุทธศักราช 2481 โดยเกริ่นนำว่า 

"นักเรียนและนักศึกษาเป็นเยาวชนที่กำลังสร้างสมคุณสมบัติทั้งในด้านความรู้ ความคิดและคุณธรรมพร้อมที่จะรับมรดกตกทอดจากผู้ใหญ่เป็นพลเมืองดีมีประโยชน์แก่ประเทศชาติในอนาคต นักเรียนและนักศึกษาควรจะได้รับการอบรมดูแลใกล้ชิดจากบิดามารดา ผู้ปกครองและครูอาจารย์ เพื่อเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครู อยู่ในโอวาทคำสั่งสอนรวมทั้งอยู่ในระเบียบประเพณีและกฎหมายของบ้านเมืองเป็นการสมควรจะส่งเสริมและคุ้มครองความประพฤติ การแต่งกาย และจรรยามารยาทให้รัดกุมยิ่งขึ้น"

ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ทำงานร่วมกับ กฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2515) ที่ลงไปในรายละเอียดจัดระเบียบทรงนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือ ทำให้เกิดมาตรฐานระดับประเทศขึ้นมาอย่างเบ็ดเสร็จ หรืออาจกล่าวได้ด้วยซ้ำว่า ทรงผมนักเรียนนั้นเกิดขึ้นบน “ความเท่าเทียมปลอมๆ” ในเผด็จการสไตล์โดยอาศัยอำนาจปฏิบัติการบนหนังศีรษะของเด็กและเยาวชน กฎกระทรวงดังกล่าว ระบุการแต่งกายและความประพฤติที่ถือว่า "ไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน" ที่เจาะจงมาที่ศีรษะและใบหน้าก็คือ นั่นคือ

"นักเรียนชายไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน 5 เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะไม่เกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดหรือเครา

นักเรียนหญิงดัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ไม่รวบให้เรียบร้อย

นักเรียนใช้เครื่องสำอางหรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย"

แต่หลังจากเผด็จการล้มไปในปี 2516 อีก 2 ปีต่อมา รัฐบาลได้ปรับแก้ไขโดยตรากฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2518) ออกตาม ปว.132 โดยมีเหตุผลที่ทิ้งท้ายไว้ว่า "เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้คือ เนื่องจากสมัยนิยมเปลี่ยนไป สมควรผ่อนผันให้นักเรียนชายไว้ผมที่เหมาะกับวัยและสภาพของนักเรียนตามสมัยนิยมได้บ้าง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงฉบับนี้" แต่อย่าลืมว่าในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 บ้านเมืองเกิดความตื่นตัวทางประชาธิปไตยและการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอย่างมหาศาล นักเรียนในโรงเรียนก็ตื่นตัวไม่แพ้กัน ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ก็คงได้รับผลพวงมาจากกระแสการตื่นตัวของนักเรียนนักศึกษาหลัง 14 ตุลาฯ มากกว่าจะยอมเปลี่ยนเพราะเรื่อง "สมัยนิยม" ตามที่อ้างโดดๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงก็อยู่บนฐานที่ประนีประนอมมาก นั่นคือ ไม่ได้มีสำนึกไปถึงการทำลายล้างกฎหมายของเหล่าเผด็จการนั่นคือ ประกาศของคณะปฏิวัติ ยังไม่ต้องนับว่า ช่วงปี 2516-2519 เป็นช่วงที่รัฐอะลุ้มอล่วยให้กับการเรียกร้องของประชาชนมากที่สุดนับแต่การรัฐประหารสฤษดิ์ 2501

เนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงไปในกฎหมายฉบับนี้ก็คือให้ยกเลิกข้อ 1 นั่นก็คือเรื่องเกี่ยวกับทรงผม และเปลี่ยนเป็นข้อความ ซึ่งก็คงลักษณะไม่เหมาะสมของนักเรียนนั่นก็หมายถึงข้อห้ามนั่นเอง ได้แก่

"นักเรียนชายดัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผมหรือไว้หนวดไว้เครา

นักเรียนหญิงดัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากทางโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ผมยาวเกินกว่านั้น ก็ไม่รวบให้เรียบร้อย

นักเรียนใช้เครื่องสำอางหรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย"

            ความแตกต่างอยู่ที่ทรงผมของนักเรียนชาย นั่นคือ ข้อความเดิมห้ามผมด้านหน้าและกลางศีรษะ ยาวเกิน 5 เซนติเมตร และ ชายผมรอบศีรษะไม่เกรียนชิดผิวหนัง

 

            หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เป็นกฎกระทรวงที่ประกาศ “เลิกเกรียน” อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามชะตากรรมของกฎกระทรวงที่เป็น กฎหมายลูกเล็กๆภายใต้กฎหมายแม่เผด็จการ ปว.132 จะเป็นอย่างไร เมื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมตีกลับทบต้นทบดอกทั้งหมด หลัง 6 ตุลาคม 2519 การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพอย่างเปิดเผยและโจ่งแจ้ง ทั้งในสิทธิพื้นฐานในการรับรู้ข่าวสารและการแสดงออกแทบไม่มีพื้นที่ยืน แล้วสิทธิบนหนังหัวของเด็กและเยาวชนสมัยก่อนจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านน่าจะจินตนาการออก

แอกของนักเรียน อำนาจของอาจารย์?

            มิตรสหายท่านหนึ่งกล่าววลีหนึ่งไว้อย่างน่ารันทดว่า “ค.ศ. 2013 ประเทศไทยเถียงกันใหญ่โตว่าจะยกเลิกผมทรงนักเรียนดีรึเปล่า กูจะบ้าตาย” ในสถานการณ์ที่รัฐบาลเพื่อไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พงศ์เทพ เทพกาญจนา ทำหนังสือเวียนถึงโรงเรียนในสังกัดเลิกบังคับทรงนักเรียนหัวเกรียนของนักเรียนชาย และเปิดโอกาสนักเรียนหญิงไว้ผมยาวตามความชอบได้

            อาจมองได้ว่า เสรีภาพครั้งนี้มาจากการที่รัฐใช้อำนาจในการยกเลิก โดยเริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2546 สมัยกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ยังเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่พิจารณาผ่อนคลายระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการไว้ทรงผมให้เหมาะสมกับวัยและสภาพของนักเรียนตามสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งไม่ขัดแย้งกับกฎกระทรวง น่าสนใจก็คือว่า เรื่องนี้ถูกยกมาเกือบ 10 ปีมาแล้ว เรื่องนี้เราก็ยังพูดกันอยู่ [4] ในมุมมองของผู้ใช้อำนาจในระดับรองลงมาคือ ผู้บริหาร หรืออาจารย์ปกครองนั้น การควบคุมทรงผมและการแต่งกายเป็นเรื่องที่สร้างอำนาจการต่อรองและจัดความสัมพันธ์แบบรู้ที่ต่ำรู้ที่สูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการร้องเพลง “ปาเจราฯ” ในวันครู จึงไม่มิใช่เป็นการสำนึกในพระคุณของครูเท่านั้น แต่ยังต้องสำนึกในพระเดชที่ซ่อนอยู่ด้วย จึงไม่แปลกที่หลายโรงเรียนจึงหวงแหนอำนาจที่จะคงความ “เท่าเทียมจอมปลอม” บนหนังหัวของนักเรียนไว้เพื่อหล่อเลี้ยงความเข้มแข็งที่ไร้สมรรถนะของตน

เพื่อรักษาคอกวิญญาณอนุรักษ์ที่ว่างเปล่า?

            ที่น่าสนใจก็คือว่า การสร้างสำนึกรักระเบียบวินัยได้ซึมลึกไปอย่างสมบูรณ์แบบ จากการที่มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่สัมภาษณ์ออกรายการ เรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง 3 โดย สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา ฟากหนึ่งให้เหตุผลในการสนับสนุนการดำรงอยู่ของทรงนักเรียน นั่นคือ[5]

"..การที่โรงเรียนมีกฏออกมาให้เด็กในวัยนี้ มันมีเหตุผลอยู่ มันเป็นกุศโลบาย ในการที่จะสอนว่าโลกต่อไปภายนอกยังมีกฏระเบียบอีก ที่เราต้องปฏิบัติตาม เราต้องรู้จัก อีกอย่างคือการไม่ให้นักเรียนมาโฟกัสเรื่องความสวยความงาม..การทำผมทรงสุภาพมันเป็นการให้เกรียรติเครื่องแบบนักเรียน..และน่าเป็นห่วงว่าเด็กนักเรียนจะกลายเป็นว่าไม่รู้จักกฏระเบียบอีกต่อไป ถ้าเราได้เปลี่ยนตรงนี้แล้วเราจะขอเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ชอบ อะไรก็เปลี่ยน การอยู่สังคมร่วมกันมันต้องมีกฏหมาย กฏองค์กรและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์กรด้วย"

ลดา ภู่พัฒน์

ร.ร.สตรีวิทยา

 

"การไว้ผมสั้นของเด็ก ม.ต้น เปรียบเสมือนเอกลักษณ์ของความเป็นนักเรียนไทย เพราะการให้เขาไว้ผมยาวเขาก็อาจจะเน้นโฟกัสไปเรื่องความสวยความงาม มันจะมีเรื่องของเพศตรงข้ามเข้ามาด้วย มันก็จะส่งผลต่อการเรียนด้วยเช่นกัน"

สุทัศนีย์ สุวรรณเรืองศรี

 

            ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนไอเดียของรัฐบาลนั้น เราพบว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ๆก็ออกมาต่อต้าน แต่ทำงานมาก่อนในนามของ สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทยที่บันทึกแถลงการณ์ของสมาพันธ์ระบุวันที่ 13 พฤศจิกายน 2555 พวกเขาอ้างอิงตัวแทนจากนักเรียน 13 สถาบัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย[6]  ในประเด็นทรงผมนักเรียนนั้นพวกเขาเคลื่อนไหวผ่านแคมเปญรณรงค์ "ยกเลิกระเบียบเรื่องผมทรงนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ"[7] ขณะที่มีผู้ลงรายชื่อสนับสนุนอยู่กว่า 1,000 รายชื่อแล้วจนถึงเวลานี้

เรื่องทรงผมนักเรียน แม้จะดูเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับผู้ใหญ่ที่ผ่านช่วงชีวิตมานั้นอย่างไม่ใส่ใจ แต่ในอีกด้านมันแฝงไปด้วยมิติการต่อสู้ทางความคิดอันแหลมคม อย่าลืมว่า ที่เราถกเถียงกันนี้ มันเป็นเรื่องทรงผมภายใต้กรอบกรงของกฎหมายที่ชื่อว่า “ประกาศของคณะปฏิวัติ” ที่หัวหน้าคณะคือ จอมพลถนอม กิตติขจร เราไม่ได้ถกเถียงถึงความชอบธรรมของกฎหมายแม่ตัวนี้เสียด้วยซ้ำ ทำให้ต้องลงไปในรายละเอียดยิบย่อยเรื่อง ความยาวทรงผม หรือกระทั่งเครื่องแต่งกายเล็กๆน้อย ดังนั้น การดำรงอยู่ของกฎหมายนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของป้อมปราการฝ่ายอนุรักษ์นิยม-เผด็จการอีกแห่งที่ยังคงตั้งตระหง่าน คอยสอดส่องและควบคุมสังคมไทยโดยอ้างศีลธรรมอันมีลำดับชั้นต่ำสูงอยู่อย่างใจเย็น การทำงานของมันพร้อมๆกันหลายป้อมค่าย ได้แสดงพลานุภาพอันน่าเกรงขามที่สามารถสร้างกลุ่มคนที่เห็นดีเห็นงามไปกับโครงสร้างอันอยุติธรรมทั้งในสถานะที่ตัวเองได้เปรียบอยู่แล้ว หรือกระทั่งยอมเสียเปรียบเพื่อจรรโลงอุดมการณ์ที่ตัวเองรักและเชื่อมั่นโดยการปิดกั้นเสรีภาพของผู้อื่นเพื่อสังเวยความต้องการจะแช่แข็งของตนเอง

การเดินทางนับว่ายังอีกยาวไกลนัก ประเด็น “ทรงนักเรียน”นี้ แม้จะเป็นแค่เพียงจุดปะทะจุดย่อยๆ แต่มันก็ทำให้ผู้เขียนนึกถึงอีกวลีหนึ่งของมิตรสหายท่านเดิม นั่นคือ

 

“ที่สุดของการกดขี่ ก็คือการทำให้คนไม่รู้สึกว่าถูกกดขี่และปกป้องการกดขี่นั้นด้วยตัวของพวกเขาเอง”

 




[1] วัชนี คำน้ำปาด. เด็ก กับความคาดหวังของรัฐบาล พ.ศ. 2502-2519 วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547, น.46

[2] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ . "รายงานผลการพิจารณาที่ 416/2555 เรื่อง สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล และสิทธิเด็ก กรณีเห็นว่าการกำหนดแบบทรงผมของนักเรียนกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550" . http://www.nhrc.or.th/2012/wb/th/print_news_detail.php?nid=773 (11 มกราคม 2556)

[3] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เขียน พรรณี ฉัตรพลรักษ์และคณะ แปล. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จ การ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2548, น.229-231

[4] กองนิติการ, สำนักงานปลัดกระทรวง, กระทรวงศึกษาธิการ. "ที่ ศธ 0204/5285  ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2546 เรื่อง ซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการแต่งกายและความประพฤตินักเรียน". http://school.obec.go.th/permit/law/rab19.pdf (11 มกราคม 2556)

[5] เพจ วิวาทะ. https://www.facebook.com/photo.php?fbid=387156271374690&set=a.243596202397365.56873.243575105732808&type=1&theater (11 มกราคม 2556)

[6] สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย. "แถลงการณ์ก่อตั้ง"สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย" ". https://www.facebook.com/notes/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/299951960109343 (11 มกราคม 2556)

[7] สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย. "ยกเลิกระเบียบเรื่องผมทรงนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ".https://www.change.org/petitions/%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3?utm_campaign=friend_inviter_modal&utm_medium=facebook&utm_source=share_petition&utm_term=36501840 (11 มกราคม 2556)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net