Skip to main content
sharethis

บันทึกจาก "องอาจ เดชา" เยี่ยมยามเทศกาลเต้นมะเนา ของชุมชนชาวคะฉิ่น ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทยที่ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และเรื่องราวในไฟสงครามที่พี่น้องของพวกเขากำลังเผชิญอยู่ที่รัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของพม่า

 

หลายคนที่ไปร่วมงานเต้นรำมะเนา (Manau) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยังคงจดจำภาพอันตื่นตาตื่นใจได้ไม่ลืมเลือน เมื่อเสียงกลอง ฆ้อง แตร ฉาบ ขลุ่ยและเสียงเพลงร้องประสานเสียงดังก้องเต็มลานหญ้า พร้อมกับสีสันการแต่งกายประจำของชาวคะฉิ่น หรือกะฉิ่น (Kachin) อันงดงาม อ่อนหวาน ทำให้บรรยากาศงานเต้นรำมะเนา บนลานหญ้ากลางชุมชนบ้านใหม่สามัคคีในวันนั้นดูครึกครึ้น และทำให้หัวใจผู้คนที่มาร่วมงานนั้นรู้สึกตื่นเต้น ร่าเริง สดใส ไปตามๆ กัน

บ้านใหม่สามัคคี ตั้งอยู่ติดกับโครงการหลวงหนองเขียว ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากรอยต่อพรมแดนไทย-พม่าบริเวณด่านกิ่วผาวอก และถือว่าเป็นชุมชนคะฉิ่นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ตั้งอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านถาวรร้อยกว่าหลังคาเรือน นอกนั้นเราอาจพบคนคะฉิ่นอาศัยอยู่กระจัดกระจายร่วมกับชนพื้นเมืองอื่นๆ ในหลายๆ พื้นที่ของเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน

ชนกลุ่มนี้ มีชื่อเรียกแตกต่างกัน คนลาหู่เรียกว่า ‘ค้างฉ่อ’ ส่วนคนไทยใหญ่เรียก ‘ขาง’ คนพม่าและคนไทย เรียกว่า ‘คะฉิ่น’ แต่ชาวคะฉิ่น กลับเรียกตนเองว่า ‘จิงเผาะ’ บางคนก็บอกว่าเป็นคน ‘มาหรู่’ บางคนบอกตัวเองว่าเป็น ‘ระวาง’ บางคนก็บอกว่าตนเองเป็น ‘ลีซู’ แต่ทุกวันนี้พวกเขาได้ใช้ภาษาจิงเผาะเป็นภาษากลางในการสื่อสารกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์นี้

มีการสำรวจกันว่า ปัจจุบัน มีชนเผ่าคะฉิ่นอาศัยอยู่ในประเทศไทย ประมาณ 15,000 คน แน่นอน หลายคนอาจมองว่า คะฉิ่นเป็นเพียงชนเผ่ากลุ่มเล็กๆ และอยู่กันเงียบๆ ไม่ค่อยมีบทบาทโดดเด่นอะไรในเมืองไทย แต่เมื่อพลิกดูประวัติศาสตร์แล้ว ถือว่ากลุ่มชาติพันธุ์นี้มีความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอีกเผ่าชนหนึ่งเลยทีเดียว

ในประวัติศาสตร์ของคะฉิ่นนั้น บอกไว้ว่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่รวมกันในเมืองใหญ่เมืองหนึ่งชื่อ ‘มิตจินา’ ตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศพม่า ติดกับแม่น้ำอิระวดี มีอาณาเขตติดกับธิเบต จีน และอินเดีย ดินแดนแห่งนี้ แต่ก่อนไม่ได้ขึ้นอยู่กับการปกครองของพม่าแต่อย่างใด และเมื่ออังกฤษเข้ามาครอบครองพม่า คะฉิ่นก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในตอนนั้น แต่มาถูกบุกรุกโดยจีนอยู่ช่วงหนึ่ง จนกระทั่งมีมีการลงนามในสัญญาชายแดนระหว่างพม่ากับจีน แต่ก็มาถูกรัฐบาลทหารพม่าพยายามเข้ามาควบคุม ครอบงำจนได้ จนนำไปสู่การตั้งกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) ขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 เป็นต้นมา จนกระทั่งใน พ.ศ. 2537 ได้ทำสัญญาหยุดยิง โดยขอตั้งเป็นเขตปกครองอิสระ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงยังคงมีการสู้รบกับรัฐบาลพม่ามาจนถึงทุกวันนี้

จึงไม่แปลกใจว่า ในงานเต้นรำมะเนาที่บ้านใหม่สามัคคี เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จะมีพี่น้องชนชาติคะฉิ่นที่มาจากเมืองมิตจินา รวมทั้งชาวคะฉิ่นที่กระจัดกระจายอยู่ในหลายๆ ประเทศ เช่น พม่า จีน ออสเตรเลีย เนปาล ฯลฯ พากันเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

เมื่อพูดถึง พิธีการเต้นรำมะเนา นั้นถือว่าเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติคะฉิ่นที่สืบทอดกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน

มีการบอกเล่าไว้ว่า พิธีเต้นรำมะเนา ในอดีตนั้น เขาจะจัดขึ้นเพื่อถวายสักการะแด่ นัต มะได (Madai) และจัน (Jan) ซึ่งเป็น “ผี” ที่มีอำนาจบันดาลให้สันติและความสุขความเจริญแด่มนุษย์ การเต้นมะเนาตามแบบความเชื่อดั้งเดิมของคะฉิ่น จะต้องคารวะนัตทั้งสองก่อนเสมอ โดยมีหมอผีเป็นผู้นำพิธีเซ่นไหว้ด้วยวัว ควาย หมู หรือไก่ ต่อมา ชาวคะฉิ่นได้หันมานับถือศาสนาคริสต์ ทำให้การรำมะเนาได้เปลี่ยนมาเป็นการสักการะพระผู้เป็นเจ้าแทนที่จะเป็นนัต แต่ในปัจจุบัน ที่เมืองมยิตจินา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น ก็ยังคงมีการจัดพิธีการรำมะเนากันขึ้นทุกปี เพื่อแสดงถึงการรวมพลัง ความสามัคคีกัน

ในขณะที่พิธีเต้นรำมะเนาในประเทศไทยนั้น ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2-5 ธันวาคม 2545 ที่บ้านใหม่สามัคคี เพื่อเฉลิมฉลองการก่อตั้งหมู่บ้าน หลังจากนั้นก็ได้มีพิธีการเต้นรำมะเนากันในทุกๆ สองปี

บนลานหญ้ากว้างกลางหมู่บ้านในวันนั้น จะมองเห็นเสามะเนาตั้งปักไว้สูงเด่นเรียงกันเป็นแนวนอน 10 เสาติดกันโดยแต่ละเสาก็จะมีลวดลายสีสันงดงาม แต่แฝงไว้ด้วยความหมาย มีทั้งรูปใบไม้ ต้นไม้ สัตว์ต่างๆ เช่น นกเขา เสือ ปลา มังกร กบ ฯลฯ ว่ากันว่าล้วนซ่อนนัยยะบ่งบอกถึงภาวะและคุณสมบัติที่แตกต่างของมนุษย์ นอกจากนั้น ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ ภาพของตะวัน จันทร์ ดาว ซึ่งบ่งบอกถึงการดำรงชีวิตของสัตว์โลก จักรวาล และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นผู้สร้าง

และที่โดดเด่นก็คือ มีการสลักลวดลายแผ่นไม้เป็นรูปนกเงือกตัวใหญ่ทอดยาวระหว่างเสามะเนา

พ่อเฒ่ากวะเจ่ กำ หรือพ่อเฒ่าซอ นั่งอยู่ในกระท่อม บอกเล่าให้ฟังว่า นกเงือก หมายถึงประธานแห่งนก หมายถึงความรัก ความสามัคคี สันติสุข และการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสรรพสัตว์ในโลกใบนี้

งานเต้นรำมะเนา เริ่มต้นเมื่อเสียงกลองใหญ่ ฆ้อง แตร ฉาบ ขลุ่ย ดังกังวานขึ้น จากนั้น ‘เนา ชอง’ ผู้นำเต้นรำหัวแถวสวมชุดสีเหลือง สวมหมวกปักร้อยด้วยหางนกยูงและเขี้ยวหมูป่า เดินถือดาบ พาพี่น้องชาวกะฉิ่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ออกนำเต้นรำหมู่ไปรอบๆ เสามะเนากลางลานหญ้า ผู้ชายที่ร่วมเต้นมะเนา จะต้องถือมีดดาบจริงหรือดาบไม้ ส่วนผู้หญิงจะถือผ้าเช็ดหน้าสีขาว กวัดแกว่ง โบกไปมาตามจังหวะลีลาของการเต้นรำ คล้ายกับผีเสื้อบิน ซึ่งมีท่วงท่าลีลาสวยงามอ่อนช้อยพริ้วไหวไปมา

เป็นที่สังเกตว่า การเต้นรำมะเนาของคะฉิ่นนั้น ได้ซ่อนแฝงนัยยะเอาไว้ ซึ่งหลายคนที่ไปเห็นได้แอบตั้งคำถามเอาไว้ว่า ทำไมผู้ชายต้องพกดาบ ถือดาบตลอดเวลา ทำไมผู้หญิงต้องถือผ้าเช็ดหน้าสีขาว?!

หลายคนได้วิเคราะห์กว้างๆ ทั่วไปแบบไม่ลังเลว่า อาจเป็นเพราะประวัติศาสตร์ของคะฉิ่นนั้นต้องประสบกับสงครามความขัดแย้งต่อสู้ตลอดเวลา ทำให้ต้องพกอาวุธ แม้กระทั่งในงานเต้นรำก็ต้องถือมีดดาบ ในขณะที่ผ้าเช็ดหน้าสีขาวที่หญิงคะฉิ่นถือโบกไปมานั้น อาจสื่อให้เห็นถึงเศร้าโศก หรือสื่อให้รู้ว่าลึกๆ นั้นชาวคะฉิ่นนั้นต้องการความสงบและเรียกร้องหาสันติภาพ

ว่ากันว่า ในอดีตนั้น จะมีการเต้นมะเนาในยามศึก ด้วย ซึ่งเรียกกันว่า หนิ่งทาน มะเนา (Ning manau) ที่จัดเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยก่อนออกรบ เป็นการสักการะวีรบุรุษสงครามที่ได้จากไปแล้วและกระตุ้นความฮึกเหิมให้แก่นักรบ ผู้รำจะใช้อาวุธประจำตนชี้ขึ้นฟ้าและปลดอาวุธลงเมื่อจบการรำ หลังเสร็จพิธีก็จะออกรบทันที

นอกจากนั้น ‘เนาส็อต มะเนา’ (Nausawt) สำหรับช่วงพักรบเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจทหารเป็นการบูชานัตเล็กๆ ตอนสองตน และใช้เสามะเนากระดาษแข็งหรือผ้าทำลวดลายง่ายๆเท่านั้น จากนั้น หากได้รับชัยชนะในสงคราม ก็จะมี ปาดัง มะเนา (Padang manau) ที่จัดขึ้นเพื่อขอบคุณนัตและฉลองชัยชนะจากการออกรบ

การเต้นรำมะเนานั้นจะมีการจัดขึ้นในทุกๆ สองปี ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ที่บ้านใหม่สามัคคี อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่รู้ข่าว ต่างพากันมาเที่ยวชมกันอย่างล้นหลาม บางคนถึงกับกระโดดเข้าร่วมเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน เบิกบานใจ

แต่ก็นั่นแหละ เมื่อหันไปดูพี่น้องคะฉิ่น ในรัฐคะฉิ่นของพม่าในขณะนี้ สงครามความขัดแย้งระหว่างชาวคะฉิ่นกับรัฐบาลของพม่า ก็ยังคงดำเนินไปอยู่อย่างต่อเนื่อง จนทำให้พี่น้องคะฉิ่นที่กระจัดกระจายอยู่ในหลายๆ ประเทศต้องออกมาเรียกร้องให้มีการยุติความขัดแย้ง ทารุณ รุนแรงกันอย่างต่อเนื่อง

โดยในวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการร่างจดหมายเปิดผนึกจากพี่น้องคะฉิ่น กับสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งและสงครามระหว่างคะฉิ่น และสหภาพพม่าในประเทศพม่า

ในจดหมายระบุว่า “จนถึงตอนนี้การสู้รบระหว่างกองกำลังคะฉิ่นและพม่าดำเนินมาเกือบจะสองปีแล้ว แทนที่สถานการณ์ดีขึ้น แต่ยิ่งแย่ลงและรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากกองกำลังพม่าไม่ยอมยุติ และการกระทำของกองกำลังพม่านั้นไร้มนุษยธรรมเพราะไม่ต่อสู้กองกำลังคะฉิ่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำร้ายประชาชนตาดำๆทั้งเด็กและผู้เฒ่าผู้แก่อย่างหดเหี้ยม ไร้จรรยาบรรณ กองกำลังพม่าฆ่าเด็กตาดำๆ และทำร้ายข่มขืนผู้หญิงสาว และฆ่าผู้เฒ่าผู้แก่ แล้วยังเผาบ้านเผาเรือนของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านไม่มีที่อยู่อาศัย ทำลายข้าวของของชาวบ้านทั้งไร่นา ชาวบ้านต้องอพยพไปอยู่ในป่า ทำให้ขาดแคลนอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ทำให้ชาวบ้านเป็นไข้ป่า ไข้มาเลเลียเสียชีวิต

ที่ผ่านมา เด็กๆไม่ได้เรียนหนังสือ ทำให้พี่น้องชนเผ่าคะฉิ่นได้รับความเดือดร้อน ณ ตอนนี้กองกำลังพม่าทยอยเสริมกำลังรวมทั้งใช้อาวุธที่ร้ายแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การใช้เครื่องบินทำให้ประชาชนได้รับอันตราย และเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้กองกำลังพม่าได้มีการประกาศว่า ถ้ากองกำลังคะฉิ่นไม่ถอย จะทำการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ชนเผ่าคะฉิ่น ทำให้ชาวบ้านมีความกลัวและต้องการความยุติธรรมอยากให้ทั่วโลกรู้การกระทำของรัฐบาลพม่า ชาวบ้านจึงรวมพลังเพื่อต่อต้านให้ทางรัฐบาลพม่าหยุดใช้ความรุนแรง ยุติความรุนแรงโดยใช้วิธีการเจรจา และเห็นแก่สิทธิความเป็นมนุษย์  

ดังนั้นพี่น้องชนเผ่าคะฉิ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจึงได้มีการระดมกำลังเพื่อไปเรียกร้องความเป็นธรรม ยุติความรุนแรงในสถานทูตพม่าประจำประเทศไทยที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 11 มกราคมนี้ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องคะฉิ่นที่ได้รับผลกระทบ ช่วยเหลือพี่น้องที่อยู่ในสถานการณ์ที่หวาดกลัว กดดัน เพื่อให้รัฐบาลพม่าให้เสรีภาพ ใช้ความยุติธรรมในการแก้ปัญหา และเห็นถึงสิทธิความเป็นมนุษย์

 

ข้อมูลประกอบ:

1.มนตรี กาทู และคณะ, หนังสือกะฉิ่น : เมื่อวานและวันนี้,ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิมพ์,พรสุข เกิดสว่าง บรรณาธิการ,กันยายน 2555

2.ภู เชียงดาว: หนังสือสารคดีชาติพันธุ์ เด็กชายกับนกเงือก,สำนักพิมพ์วิถีชน,มกราคม2554

3.เผ่าคะฉิ่น,พิพิธภัณฑ์ชนเผ่าออนไลน์

4.จดหมายจากพี่น้องคะฉิ่น--สถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งและสงครามระหว่างคะฉิ่น และสหภาพพม่าในประเทศพม่า,Stateless Watch,9 มกราคม 2013 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net