Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากบทความเรื่อง พุทธศาสนาไม่สนใจ ‘การเข้าถึงความจริง’ ของสุรพศ ทวีศักดิ์ ซึ่งได้วิเคราะห์คำอภิปรายของธเนศ วงศ์ยานนาวา โดยอ้างถึงแนวคิดของธเนศไว้บางส่วน ดังนี้

“การรู้จักธรรมชาติในฐานะ Nature มันคือการเข้าถึง God ความจริงจึงสำคัญมากในคริสตศาสนา การที่คุณไปถึงความจริง คือเข้าใจธรรมชาติและสรรพสิ่ง ฉะนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งที่อธิบายคริสตศาสนาในทางที่สามารถพัฒนาความเป็นศาสตร์ขึ้นมาได้

ในแง่ปรัชญา คนตะวันออกไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะความจริงกับนิพพานไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ในโลกของคริสตศาสนา การไปถึงความจริงกับการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า คือเส้นทางเดียวกัน”

สุรพศได้นำเสนอมุมมองที่แย้งกับธเนศในบางจุด และผู้เขียนเห็นว่าสามารถนำมาอภิปรายต่อได้อีก ผู้เขียนจึงขอสรุปสาระในข้อโต้แย้งของสุรพศ โดยสังเขป ดังนี้

1. การเข้าถึงความจริง (ในระบบของธรรมชาติ) กับนิพพานเป็นสิ่งเดียวกัน (แต่ธเนศกลับมองว่าแยกกัน) ในมุมมองของสุรพศ การเข้าถึงอริยสัจ 4 และนิพพาน ถือเป็นการเข้าถึงธรรมชาติของชีวิตที่สัมพันธ์กับ ‘ระบบของ Nature ทั้งหมด’ ไม่ได้แยกจากกัน ‘เส้นทางสู่นิพพานจึงเป็นเส้นทางของการแสวงหาความจริง’ ด้วย ซึ่งรวมถึงความจริงในธรรมชาติทั้งระบบ สุรพศเสนอว่า ถึงแม้ในที่สุดแล้ว ‘ความจริงทางศาสนากับความจริงทางวิทยาศาสตร์มีแง่มุมที่แตกต่างกันอยู่’ แต่เส้นทางศาสนาที่มีเป้าหมายเรื่องการพ้นทุกข์นั้น (มรรค 8 และไตรสิกขา) ก็ยังมีแกนหลักของการเข้าถึงความจริงอยู่นั่นเอง

กล่าวให้กระชับ สุรพศเห็นว่า ความเป็นตะวันออกในแบบพุทธะเป็น ‘ผู้รู้ความจริง’ อย่างครอบคลุม ความจริงตามธรรมชาติ (ตามฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์) หาใช่สิ่งที่พุทธศาสนาละเลย เส้นทางของการบรรลุมรรคผลทางศาสนานั้นจะต้องผ่านการทำความเข้าถึง Nature โดยไม่แยกขาดจากกัน

2. การที่คริสตศาสนาพัฒนาเป็นศาสตร์ได้ เพราะถือเอาการเข้าถึงความจริงตามธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญและถือว่าเป็นหนึ่งเดียวกับการเข้าถึงพระเจ้า สุรพศพยายามชี้ให้เห็นว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่คริสตศาสนา ‘พัฒนาขึ้นในระยะหลัง’ เพราะหากเป็นแนวคิดที่มีอยู่เดิม เหตุใดความคิดต่างๆ ของฝ่ายก้าวหน้า (กาลิเลโอ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ตลอดจนแนวคิดแบบ Humanism และ Liberalism เป็นอาทิ) เคยถูกกดทับไว้ และคริสตศาสนาเคยประณามว่าเป็นความคิดที่ผิดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นิกายโปรเตสแตนท์เปิดรับสิ่งเหล่านี้มากขึ้นจนอาจจะนำไปช่วยพัฒนาความเชื่อทางศาสนาให้รับกับความจริงทางธรรมชาติได้ในที่สุด

ผู้เขียนขอแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนตามประเด็นในข้อ 2 ก่อนที่จะกลับไปยังข้อ 1 ในภายหลัง

พัฒนาการของภูมิปัญญาตะวันตกนั้นมีข้อเท็จจริงดังที่ธเนศกล่าวไว้ หากอธิบายโดยย่อ ภูมิปัญญากรีกเป็นรากฐานสำคัญที่เริ่มให้ความสนใจกับความจริงในธรรมชาติ แต่ด้วยเส้นทางประวัติศาสตร์ทำให้ความคิดแบบกรีกถูกบั่นทอนพลังลงไปในสมัยโรมัน และคริสตศาสนาค่อยๆ สถาปนาตนเองขึ้นในระบบภูมิปัญญาตะวันตกแทน

เมื่อเข้าถึงช่วงรุ่งเรืองของสมัยกลาง (High Middle Ages) ปราชญ์คริสเตียนจำนวนหนึ่งเริ่มสร้างระบบคำสอนทางคริสตศาสนาที่สอดคล้องกับ ‘ระบบของ Nature ทั้งหมด’ จนเกิดสำนัก Scholastic ที่มีปราชญ์ผู้โด่งดังอย่าง St. Thomas Aquinas สิ่งที่ Aquinas ทำคือ การนำระบบธรรมชาติที่อริสโตเติลเคยศึกษาไว้มารวมเข้ากับความรู้ทางเทววิทยา การที่อริสโตเติลศึกษาธรรมชาติอย่างรอบด้านและสรุปว่า ธรรมชาติมีลำดับชั้น (Hierarchy) ช่วยยืนยันว่า พระผู้เป็นเจ้าสร้างสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติให้แตกต่างกันและมีลำดับสูงต่ำ

แนวคิดสำคัญที่พวก Scholastic สถาปนาขึ้น คือ Great Chain of Being ซึ่งถือว่าสวรรค์และจักรวาลเบื้องบน (นามธรรมและอยู่เหนือประสาทสัมผัส) กับโลกและสรรพสิ่งทางธรรมชาติ (รูปธรรมที่รับรู้และสัมผัสได้) มีความสืบเนื่องถึงกัน ทั้งสองส่วนล้วนอยู่ภายใต้อาณัติของพระผู้เป็นเจ้า ภายใต้ระบบนี้ Physical World เข้ากับ Spiritual World ถือเป็นหนึ่งเดียวกัน

ต่อมาได้เกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) แต่โดยเนื้อแท้แล้ว การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ไม่ใช่การล้มล้างหรือต่อต้านศาสนาดังที่คนจำนวนมากมักเข้าใจผิด กระบวนการศึกษาธรรมชาติที่ปรากฏในระยะนี้เป็นกระแสความคิดที่ตั้งข้อสงสัยว่า ปรัชญาธรรมชาติแบบอริสโตเติลนั้นขาดความลุ่มลึก เช่น อริสโตเติลบอกว่าสรรพสิ่งธรรมชาติ ‘เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป’ ถือเป็นขั้นตอนการบรรลุเป้าหมายของศักยภาพที่แฝงอยู่ภายใน เพราะถึงที่สุดแล้ว คำอธิบายของอริสโตเติลมักจะเป็นไปตามตรรกะและขั้นตอนที่ธรรมชาติแสดงออกมา แต่ไม่ได้อธิบายสิ่งที่ธรรมชาติซ่อนไว้เบื้องหลังอย่างกระจ่างชัด

นักคิดจำนวนหนึ่งเริ่มหันไปรับอิทธิพลทางภูมิปัญญาจากระบบปรัชญาแบบ Platonism จนกลับมาเป็นที่นิยมในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) โดยแนวคิดแบบเพลโตถือว่า สิ่งที่แฝงในธรรมชาตินั้นจะต้องมีรูปแบบที่แน่นอนและอธิบายได้ด้วยภาษาในเชิงคณิตศาสตร์ เห็นได้จากศิลปะยุค Renaissance จำนวนมากมีการใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือประกอบ แม้แต่แนวคิดแบบ Humanism เองก็อยู่ภายใต้อิทธิพลนี้ ดังเช่นภาพ Vitruvian Man ที่สนใจเรื่องการวัด (Measurement) สัดส่วนของมนุษย์ให้สัมพันธ์กับรูปทรงเรขาคณิต

ดังนั้น กระแสวิทยาศาสตร์สมัยใหม่จึงกระทบกับคริสตศาสนาในจุดนี้ เพราะวิทยาศาสตร์ตั้งคำถามกับระบบปรัชญาของอริสโตเติลอันเป็นสิ่งที่คริสตศาสนาโดยเฉพาะสำนัก Scholastic นำมาผนวกไว้กับคำอธิบายทางเทววิทยา ในอดีต คริสตศาสนาปฏิเสธแนวคิดจำนวนมากของกรีก และประณามว่าเป็นแนวทางนอกรีต (Pagan) แม้แต่แนวคิดบางส่วนของ Plato ก็ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับคริสตศาสนา การรับระบบปรัชญาของอริสโตเติลมาใช้จึงเป็นสิ่งที่คริสตศาสนาเลือกสรรแล้ว (Selective) ว่าเข้าได้กับระบบคำสอน

จากจุดนี้ การที่ศาสนาจักรกักบริเวณกาลิเลโอ หรือต่อต้านคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ในบางเรื่องนั้น จึงเกิดจากความหวั่นเกรงว่า ระบบคำสอนแบบ Scholastic จะถูกหักล้าง ซึ่งหมายความว่า ศาสนจักรตีความธรรมชาติอย่างผิดพลาด และหากนักวิทยาศาสตร์อธิบายธรรมชาติที่พระเจ้าสร้างได้ถูกต้องแม่นยำ ศาสนจักรจะไม่สามารถอวดอ้างได้อีกว่า เข้าใจทุกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า

อนึ่ง นักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก แม้แต่ Copernicus และ Sir Isaac Newton ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะต่อต้านคริสตศาสนา นักวิทยาศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 16 – 17 แทบทั้งหมดพยายามนำเสนอตัวแบบ (Model) ที่ใช้อธิบายระบบธรรมชาติได้อย่างถูกต้อง ในรูปของกฎที่แน่นอนทางธรรมชาติ โดยถือว่านั่นเป็นวิธีที่จะนำไปสู่การเข้าใจพระผู้เป็นเจ้าอย่างถูกต้อง

ด้วยลำดับเหตุการณ์ข้างต้น การที่สุรพศเสนอว่า การเปิดรับความจริงแบบวิทยาศาสตร์จนทำให้คริสตศาสนาพัฒนาเป็นศาสตร์ได้นั้น มาเกิดขึ้นใน ‘ระยะหลัง’ เพราะแต่เดิมคริสตศาสนาเคยปิดกั้นความจริงทางวิทยาศาสตร์มาก่อน (เช่น กักบริเวณกาลิเลโอ) จึงเป็นแนวความคิดที่คลาดเคลื่อน โดยข้อเท็จจริงแล้ว คริสตศาสนามีแนวโน้มที่จะสร้างความกลมกลืนระหว่างความรู้ทางธรรมชาติวิทยากับเทววิทยาตลอดช่วงศตวรรษที่ 12-17 และนั่นเกิดขึ้นก่อนการถือกำเนิดของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

สิ่งที่เกิดในช่วงการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เป็นการทำลายความชอบธรรมของธรรมชาติวิทยาในแบบอริสโตเติลและแทนที่ด้วยตัวแบบทางธรรมชาติภายใต้อิทธิพลแบบ Platonism เป็นเหตุให้ศาสนจักรขาดความมั่นใจเนื่องจากจัดวางตนเองไว้ร่วมกับระบบของอริสโตเติลอย่างลงตัวมาเป็นเวลานาน ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถดูดกลืน (assimilate) ตัวแบบทางธรรมชาติแบบ Platonism ไว้ได้ เพราะระบบของเพลโตอ้างอิงรูปแบบทางคณิตศาสตร์ซึ่งยากจะยึดโยงให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระคัมภีร์

ดังนั้น ที่สุรพศเสนอว่า ความคิดแบบก้าวหน้าพัฒนาขึ้นจากการ ‘ต่อต้านอำนาจครอบงำของศาสนจักรยุคกลาง’ นั้น มีส่วนที่เป็นจริง แต่ไม่ได้หมายความว่า การครอบงำแบบศาสนจักรยุคกลางคือการครอบงำให้ยอมรับความจริงแบบศาสนาโดยสิ้นเชิงจนปฏิเสธความจริงทางธรรมชาติ เหตุที่ศาสนจักรพยายามครอบงำนั้น เป็นเพราะศาสนจักรพยายามจะฝืนกระแสความเปลี่ยนแปลง โดยยืนยันเฉพาะตัวแบบทางธรรมชาติวิทยาที่ตนใช้ซึ่งได้ผสมผสานการหาความจริงทางธรรมชาติและทางศาสนาไว้ได้สำเร็จแล้ว

กล่าวโดยสรุป คำกล่าวของธเนศที่ว่า โลกตะวันตกมีคติที่ต้องเข้าถึง Nature และ God ไปพร้อมๆ กัน ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใน ‘ระยะหลัง’ (หมายถึงหลังจากวิทยาศาสตร์เป็นที่ยอมรับ) ดังที่สุรพศแย้ง หากแต่ปรากฏการณ์ทางภูมิปัญญานี้เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายร้อยปีนับตั้งแต่สมัยกลาง โดยมีการแข่งขันอย่างเข้มข้นระหว่างระบบปรัชญากรีก 2 ระบบในช่วงศตวรรษที่ 12-17 เพื่อบรรลุคติดังกล่าว ที่สำคัญ การที่ศาสนจักรกดทับและประณามความคิดแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ไม่ได้เกิดจากความต้องการแยกความจริงทางธรรมชาติออกจากความจริงทางศาสนาแต่อย่างใด

สำหรับประเด็นที่ 1 ผู้เขียนอาจไม่มีความสามารถที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นได้มากนัก เพราะไม่มีความคุ้นเคย แต่อาจารย์ท่านหนึ่งของผู้เขียนเคยอภิปรายเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวกันของความจริงทางธรรมชาติกับนิพพานของพุทธศาสนา โดยหยิบยกเรื่อง โลกจินตา ซึ่งเป็นหนึ่งในอจินไตย 4 อันหมายถึงสิ่งที่ไม่พึงคิด โลกจินตา คือการคิดคำนึงเกี่ยวกับโลก อาทิ โลกมีความเป็นมาอย่างไรและจะมีความเป็นไปอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้เมื่อคิดแล้วไม่มีความจำเป็นต่อการพ้นทุกข์

ดังนั้น ถึงแม้พุทธศาสนาจะมีคำสอนที่อธิบายเรื่องการพ้นทุกข์ (อริยสัจ 4 หรือ นิพพาน) ที่ยึดโยงเข้ากับความจริงตามธรรมชาติ (ไตรลักษณ์) แต่ความจริงทางธรรมชาติเหล่านั้นก็เป็นไปในเชิงข้อเท็จจริงและตรรกะพื้นฐาน เช่น การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของสรรพสิ่ง ไม่ใช่ความจริงในเชิงกฎธรรมชาติ อันเป็นตัวแบบที่มีความแน่นอนทางวิทยาศาสตร์หรือเป็นสมการที่มีตัวแปรเกี่ยวข้องกันอย่างเป็นระบบ รวมทั้งแง่มุมแบบอจินไตยไม่ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความจริงทางธรรมชาติที่สัมพันธ์กับหนทางพ้นทุกข์

แต่ประวัติของคริสตศาสนาได้ผ่านการต่อสู้ในจุดนี้ไปแล้ว คริสตศาสนาผ่านประสบการณ์ที่พยายามดูดกลืนธรรมชาติวิทยาไว้เป็นส่วนหนึ่งของระบบคำสอน ระบบปรัชญากรีกทั้งของอริสโตเติลและของเพลโตเคยถูกนำมาใช้ดังที่อธิบายมา แต่เมื่อถึงศตวรรษที่ 18 ได้เกิดแนวคิดที่โลกตะวันตกเรียกว่า ฆราวาสนิยม (Secularism) ขึ้น ทำให้เส้นแบ่งระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์ยิ่งชัดเจน เพราะฆราวาสนิยมพยายามแยกองค์ความรู้ทางธรรมชาติแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นภววิสัย (Objective) ออกไป และเริ่มตีกรอบให้กับความจริงทางศาสนา ด้วยเห็นว่าความจริงทางศาสนาเป็นอัตตวิสัย (Subjective) ซึ่งหากเป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล ก็จะสามารถปฏิบัติตามศรัทธาและการตีความที่แตกต่างกันได้ ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งหรือการครอบงำ

ด้วยเหตุนี้คริสตศาสนาจึงมีบทบาทดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน คือเป็นที่ยอมรับในฐานะความเชื่อและวิถีปฏิบัติส่วนบุคคล และไม่ถือเอาพระคัมภีร์ว่า เป็นแหล่งความรู้ของสัจธรรมทางธรรมชาติที่จะนำมาหักล้างกัน โลกตะวันตกปัจจุบันยอมรับว่า สาระในพระคัมภีร์เป็นความจริงในอีกด้านหนึ่งที่อิงกับศรัทธา และคริสตศาสนาสามารถมีที่ยืนควบคู่ไปกับแนวคิดฆราวาสนิยมได้โดยไม่ก้าวล่วงในความจริงทางธรรมชาติแบบวิทยาศาสตร์

ผู้เขียนเห็นว่า การอธิบายของสุรพศเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างความจริงทางธรรมชาติและความจริงทางพุทธศาสนายังมีความไม่ลงรอยกัน กรณีของอจินไตยอาจนับเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ ความจริงทางธรรมชาติที่พุทธศาสนายอมรับ ยังมีลักษณะ selective คือ คัดเลือกบางประเด็นที่เกื้อหนุนกับอรรถาธิบายทางพุทธศาสนาเท่านั้น

เทียบกับพัฒนาการของคริสตศาสนาที่อธิบายมาก่อนหน้านี้ ในยุคของพวก Scholastic ความจริงทางศาสนาดูจะเป็นหนึ่งเดียวและลงรอยกับความจริงทางธรรมชาติวิทยาในแบบอริสโตเติล นั่นเพราะมุมมองแบบอริสโตเติลมีลักษณะ selective โดยละเว้นในเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายได้ แต่เมื่อระบบปรัชญาแบบเพลโตถูกนำมาใช้เพื่อค้นหารูปแบบที่แน่นอนในธรรมชาติซึ่งเป็นคนละแนวทางกับความจริงทางศาสนา ช่องว่างนี้จึงเห็นชัดขึ้นและทำให้เกิดความแปลกปลอมระหว่างความจริงทางวิทยาศาสตร์กับความจริงทางศาสนา ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงศตวรรษที่ 18 นักคิดในกลุ่ม philosophe จึงหันไปยึดมั่นในแนวคิดฆราวาสนิยมแทน ถึงแม้นักคิดในช่วงปฏิวัติวิทยาศาสตร์จำนวนมากถือว่า ผลงานของตนเป็นการเปิดเผยระบบธรรมชาติที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้นก็ตาม

สรุปแล้ว คริสตศาสนาและตะวันตกมีมุมมองในเรื่อง ‘การเข้าถึงความจริง’ ที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการทำความเข้าใจสถานะของคริสตศาสนาในภูมิปัญญาตะวันตกปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางฆราวาสนิยมมากกว่าการพัฒนาให้เป็นศาสตร์ที่หลอมรวมความจริงทางธรรมชาติและทางศาสนาเข้าด้วยกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net