สัมภาษณ์เพจแห่งปี : ออกพญาหงส์ทอง กับประเด็นเซนเซอร์ ถึงทำไมต้องบุเรงนอง

"มาตรแม้นกูจักมิเห็นงามกับทุกสิ่งที่มึงเอื้อนเอ่ย หากแต่กูจักปกป้องด้วยเกียรติของออกพญา ในสิทธิของมึง ที่จักเอื้อนเอ่ยถึงมัน" เพจออกพญาหงส์ทอง กล่าว

รูปภาพหน้าปกเพจออกพญาหงส์ทอง

หลังจากที่มีการประกาศผล โหวต 10 แฟนเพจเฟซบุ๊ก ปี 2012 ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจของประชาไทได้ตั้งไว้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา พร้อมกับบทสัมภาษณ์แอดมินเพจ Drama-addict เพจ โหดสัส V2 เพจ สมมรัก พรรคเพื่อเก้ง และ เพจ Dora GAG ไปแล้วนั้น เพลานี้ก็จักถึงทีเพจ “ออกพญาหงส์ทอง

โดยในการโหวตที่ผ่านมาเพจนี้ได้ไป 15,263 โหวต เป็นเพจที่มี User กดถูกใจ 167,541 user เป็นเพจที่มีลักษณะเด่น เป็นการใช้ภาษาแบบในหนังนเรศวร และมีรูปประจำตัวเป็น “พระเจ้าบุเรงนอง” จากหนังดังกล่าว นำเสนอมุมมองเรื่องราวทางสังคม การเมือง ผ่านภาษาที่เป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง ที่มีอารมณ์ขันและการเสียดสี โดยเพจที่มีการล้อเลียนภาษาในรอบปีนั้นยังมีเพจที่น่าสนใจอย่าง เพจ ตะละแม่ป๊อปคัลเจอร์ เพจ ษม่ค่ล์มนิ๋ญฒสก๊อย(ภาษาสก๊อย) หรือ หนังสือเพี้ยน ป.1 ด้วย โดยยุกติ มุกดาวิจิตร ได้เขียนอธิบายกรากฏการณ์เพจล้อเลียนภาษษนี้ไว้ในบทความ “แบบเกรียนภาษา” ว่า เพจตะละแม่ฯ เป็นการเอาคำศัพท์วันรุ่นมาล้อภาษารุงรังโบราณ ส่วนกรณีเพจภาษาสก๊อยก็เป็นการเล่นกับการสะกดรุงรังโบราณ และเพจ "มามี มานะ ล้อเลียน"  ในเพจหนังสือเพี้ยน ป.1 ก็เป็นการ วิพากษ์อุดมการณ์รัฐที่สอดแทรกในแบบเรียน

นอกจากนี้ช่วงเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาเพจออกพญาฯ ได้มีกิจกรรมแบบละครหลงยุคออนไลน์ กับเพจ “ผงหอมศรีจันทร์”(Srichand Powder) ซึ่่งเป็นแบรนด์เก่าแก่เกี่ยวกับสินค้าความงามที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ร่วมด้วยเพจ “แม่บ้านมีหนวด” ที่เข้ามาสร้างสีสัน จนผู้ใช้ชื่อ “chyutopia” ได้เขียนใน thumbsup.in.th ว่าเป็นการตลาดบนเฟซบุ๊กรูปแบบใหม่ด้วย  โดยการถ่ายภาพและสร้างเรื่องราวระหว่างตัวละครที่มีลักษณะเฉพาะ 3 ตัว เพื่อสร้างกระแสให้คนติดตาม รวมทั้งเกิดการไลค์ข้ามเพจระหว่างกันอีกด้วย

สำหรับประเด็นในการสัมภาษณ์แอดมินเพจออกพญาหงส์ทอง นั้น ประกอบด้วย มุมมองต่อเฟซบุ๊กในรอบปี 2012 ที่ผ่านยมา รวมทั้งทิศทางแนวโน้มปี 2013, การโหวตเพจแห่งปี, การละเมิดลิขสิทธิ์, การระดมรีพอร์ตใน facebook, การแบนคนในเพจ, การเซนเซอร์ของรัฐและการเอาข้อมูลส่วนตัวของบุคคลธรรมดามาเผยแพร่ให้สาธารณะ โดย “ออกพญาหงส์ทอง” ได้ ร้อยคำจำนรรจาออกมาเป็นภาษาของตนเองดังนี้

0000

ประชาไท : มองปรากฏการณ์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่าง เฟซบุ๊กในรอบปี 2012 มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง และทำไมถึงคิดว่ามันน่าสนใจ

สามารถที่จักกำหนดสิ่งที่สนใจในหมู่อาณาประชาราษฎร์ ได้รวดเร็วกว่าสื่อหลัก เช่น โทรภาพ แลหนังสือพิมพ์ อีกทั้งยังเป็นคันฉ่องสะท้อนปฏิกิริยาของอ้ายอีไพร่สยามได้ดีอีกด้วย

คิดอย่างไรกับอีก 9 เพจที่อยู่ใน 10 เพจแห่งปีที่คนโหวตกับประชาไท(ดู)

ทั้ง๙ ล้วนเป็นปราชญ์แห่งสยาม หากแต่มันเป็นบ่าวไพร่กูเสียสิ้น

ในฐานะที่เป็นแอดมินภูมิใจไหมที่มีคนสนใจเพจคุณ คิดว่าที่ทำไปเกิดผลอะไรกับสังคมบ้าง เอาแรงบันดาลใจมาจากไหน ก่อนและหลังทำ มีอะไรเปลี่ยนไปในชีวิตบ้าง

กูก็ยินดีปรีดาที่ไพร่ชาวสยาม จักเปิดกระโหลกกะลา รับซึ่งความรู้ที่กูออกพญาจักสอนสั่งให้

ภาพล้อเลียนที่เพจออกพญาฯ ทำเพื่อเชิญชวนให้แฟนเพจมาโหวต พร้อมข้อความว่า “เพลานี้ตัวกูออกพญาพบประชาชน ได้ออกหาเสียงถ้วนทั่ว ทั้งพระนครโดยสามารถเลือก "ออกพญาหงส์ทอง"

คิดว่าคนมาไลค์หรือติดตามเพจคุณเพราะอะไร รวมทั้งคนกดโหวตเพจคุณเพราะอะไร

เหตุที่อ้ายอีไพร่มันมาอยู่หน้าเรือนกูมากโข ด้วยว่ารูปงามนักกู (ออกพญา คูกิมิยะ)

อยากจะบอกอะไรกับคนเหล่านั้นบ้าง

เหตุบ้านการเมืองในห้วงช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดความขัดแย้งรุนแรงประหนึ่งมิใช่เราชาวสยามเฉกเช่นเดียวกัน เหตุมิได้เกิดจากมิเห็นพ้องต้องกัน ฤๅมีแนวทางความคิดมิเหมือนกันดอก เพราะกฎธรรมชาติ มิมีความขัดแย้งย่อมมิมีการต่อสู้ แลจักมิมีการพัฒนาให้เกิดสิ่งที่ดียิ่งกว่าได้เยี่ยงไร ปุถุชนคนธรรมดาย่อมมีความรู้สึก รัก โลภ โกรธ หลง จักรักใคร ชอบใคร เกลียดใคร ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้ในใจตน หากแต่ต้องมีขอบเขตจนมิเกิดอาการ “คลั่ง” คือ คลั่งเสียจนปากร้าย ใจร้าย แลทำร้ายแก่กัน หากเป็นเช่นนั้น มิได้เพียงทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ชะรอยยังทำให้ตนเดือดร้อนเสียงเองด้วย

เอาเถิดแม้นว่า อ้ายอีไพร่มากหน้าหลายตาจักแบ่งข้าง เลือกข้าง เลือกสี กันเสียแล้ว แต่ต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า “เรามิสามารถควบคุมผู้อื่นได้ หากแต่สามารถควบคุมตนเองได้” ขอเพียงอ้ายอีไพร่สยาม คิดได้เพียงแค่นี้ สยามจักดำรงสืบไปชั่วกาลนาน

ถ้าจะให้นิยามเพจคุณ เราควรเรียกหรือทำความเข้าใจว่าเพจคุณคืออะไร

“กูเป็นเพียงคันฉ่องสะท้อนสังคมเท่านั้นแล”

ตอนนี้มีดราม่าระหว่างแฟนเพจในเฟซบุ๊ก เรื่อง "ก๊อบปี้" หรือละเมิดลิขสิทธิ์ คุณมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร

หากผิดกฎบ้านกฎเมืองย่อมถือเป็นความผิด

มองการระดมรีพอร์ตใน เฟซบุ๊ก ว่าอย่างไร

ละเมิดสิทธิแลเสรีภาพของการแสดงออก จักชอบฤามิชอบ อ้ายอีไพร่มันพินิจเองได้

ในฐานะที่เป็นแอดมิน เคยแบนคนที่เข้ามาในเพจบ้างไหม เพราะเหตุใด

ลงอาญาไปบ้าง เหตุเพราะมันลิขิตสารที่ผิดอาญาบ้านเมือง มีประมาณ ๑๐ คน

คิดเห็นอย่างไรกับการเซนเซอร์ รัฐควรควบคุมหรือบล็อกเว็บไซต์หรือไม่

"มาตรแม้นกูจักมิเห็นงามกับทุกสิ่งที่มึงเอื้อนเอ่ย หากแต่กูจักปกป้องด้วยเกียรติของออกพญา ในสิทธิของมึง ที่จักเอื้อนเอ่ยถึงมัน"

แอดมินบางเพจมีการเอาข้อมูลส่วนตัวของบุคคลธรรมดามาเผยแพร่ให้สาธารณะรู้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือหรือเศรษฐกิจบางอย่าง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัวก่อนนั้น คุณมองพฤติกรรมแบบนี้ว่าอย่างไร

ก้าวก่ายเรื่องของชาวบ้านนักอ้ายไพร่สถุลสกุลต่ำ

มองว่าปี 2013 นี้ แนวโน้วของเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะ facebook จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับสิ่งที่เป็นอยู่

กูมิใช่ พระโหราธิบดี จักได้เห็นกาลในเบื้องหน้า

ทำไมถึงเลือกภาพบุเรงนองเป็นรูปประจำตัวในเพจ

กูละม้ายคล้ายอ้ายน้าเดช มึงมิมีตาดูฤๅ กูจักเอาเหล็กแหลมลนไฟร้อน แทงตามึงเสียให้บอดอ้ายไพร่ประชาไท

รูปประจำตัวเพจ ซึ่งเป็นภาพ สมภพ เบญจาธิกุล ที่รับบทเป็นพระเจ้าบุเรงนองในภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

นอกจากนี้ในวัน 11 ธ.ค. ที่ผ่านมากองบรรณาธิการเว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน ได้สำรวจทัศนะจากเพจดังในวัน 'รัฐธรรมนูญ' ซึ่งหนึ่งในนั้นมีทศนะของเพจออกพญาฯ ด้วยที่กล่าวว่า "กูจักมาเล่าข้อราชการเปิดกะโหลกแลกะลาให้อ้ายอีไพร่เยี่ยงพวกมึงถือว่าเอาบุญอีกสักครา

รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดที่จัดระเบียบในการปกครองประเทศ ดังนั้นกฎหมายใดจักขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ ทุกประเทศทั่วโลกมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการ เพื่อใช้เป็นหลักหรือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ อาจจะเป็นลายลักษณ์อักษร หรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

รัฐธรรมนูญ ฉบับแรก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร โดยยึดอำนาจการปกครองสยามจากรัชกาลที่ ๗ แลได้ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่คณะราษฎรจัดตั้งขึ้น ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ โดยถือว่าผู้ที่ทำให้สยามมี ปฐมรัฐธรรมนูญ มาจากคณะราษฎร นั่นเอง

หากแต่วันรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ของทุกปีเนื่องด้วยเป็นการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของสยาม แลให้เปลี่ยนชื่อสยาม เป็นประเทศไทย

รัฐธรรมนูญถูกแก้ไขมาเป็นฉบับที่ ๑๘ ตามแต่สถานการณ์ว่าผู้ใดถืออำนาจพวกมากกว่าในขณะนั้น ฤๅ บางครั้งก็มาจากปลายสีหนาทปืนไฟ ในขณะที่บางคนยับยั้งการแก้ไขในฉบับหนึ่ง แต่ก็เคยได้แก้ไขมาอีกฉบับหนึ่งที่เอื้อประโยชน์แก่ตนเฉกเช่นกัน

ทำอะไรตามใจคือไทแท้ หากกฎมันยาก มันขัดขวาง จักไปยากกระไรก็เพียงแค่เปลี่ยนกฎ ซึ่งผู้ที่เปลี่ยนกฎจากอดีตจนถึง ปัจจุบัน ก็คือผู้ที่มีอำนาจที่มิใช่เพียงแค่นักการเมืองเท่านั้น หากแต่รวมถึง ทหาร ข้าราชการ แลชนชั้นปกครองเหนือรัฐธรรมนูญ หากการแก้รัฐธรรมนูญ ยังคงเป็นการแก้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นปกครอง อ้ายอีไพร่ฟ้าหน้าใส ก็ยังมิเคยได้ประโยชน์สูงสุดจากการแก้รัฐธรรมนูญสักครา

“คนไทยทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จักมีผู้ใดผู้หนึ่งอยู่เหนือกฎหมายมิได้” เพียงข้อนี้ก็ทำให้ได้เสียก่อนเถิด" ท่านออกญาพญาหงส์ทอง กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท