Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข่าวเรื่องรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้นักเรียนชายไว้ผมรองทรงและนักเรียนหญิงไว้ผมเลยติ่งหูก่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากฝ่ายต่างๆ ในสังคมไทย ฝ่ายสนับสนุนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการคืนสิทธิและเสรีภาพในการดูแลร่างกายให้กับเด็ก เป็นการกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ความคิดและวิจารณญาณตัดสินใจเลือกว่าอะไรดีอะไรเหมาะสมกับตนเองหรือไม่อย่างไร อันเป็นการปูพื้นฐานการสร้างพลเมืองที่มีอิสระและความรับผิดชอบให้กับสังคมประชาธิปไตยต่อไปในอนาคต ส่วนฝ่ายที่คัดค้านเห็นว่าการอนุญาตให้เด็กนักเรียนไว้ผมยาวจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กให้ความสำคัญกับความสวยความงามจนละเลยการเรียนอันเป็นหน้าที่หลักของคนวัยนี้และทำให้เด็กต้องเสียเงินกับเรื่องความสวยความงามเพิ่มขึ้นขณะที่ยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง นอกจากนี้ การปล่อยให้เด็กไว้ผมยาวทรงต่างๆ ยังทำให้แลดูไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีระเบียบวินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควร เพราะระเบียบวินัยเป็นคุณสมบัติพื้นฐานสำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนและการประสบความสำเร็จในชีวิตของเด็ก

ประเด็นที่ผมชวนคุยในวันนี้เป็นการสานต่อการอภิปรายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทรงผมเด็กนักเรียนดังกล่าว แต่ไม่ได้เป็นในเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ และความรับผิดชอบของเด็กอย่างที่หลายคนกำลังพูดกัน หากแต่อยากชี้ชวนให้เห็นว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นการเมืองเรื่องความปกติในสังคมไทยอย่างไร และการเมืองในลักษณะที่ว่านี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอาณาบริเวณอื่นๆ ที่เป็นหัวข้อของกิจกรรมครั้งนี้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ ความเป็นไทย หรือชาวนา นอกจากนี้ ผมอยากชวนให้เราคิดต่อว่าการเผชิญหน้ากับการเมืองเรื่องความปกติอย่างที่เป็นอยู่มีความเท่าทันแล้วหรือไม่อย่างไร หากคำตอบคือไม่แล้วเราจะมีวิธีการเผชิญหน้ากับการเมืองอย่างที่ว่านี้อย่างไร  

การกำหนดให้นักเรียนชายไว้ผมเกรียนและนักเรียนหญิงไว้ผมสั้นไม่เกินติ่งหูเป็นส่วนหนึ่งของระบบการควบคุมร่างกายของบุคคลภายในโรงเรียน ฉะนั้น นอกจากทรงผม นักเรียนไทยยังต้องเผชิญกับการควบคุมร่างกายในลักษณะอื่นๆ ภายในโรงเรียนควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเครื่องแบบ ไม่นับรวมกิจกรรมต่างๆ นับตั้งแต่การยืนเข้าแถวเคารพธงชาติ การสวดมนตร์ ไปจนถึงการพักรับประทานอาหารเที่ยงและกิจกรรมสันทนาการ ซึ่งต่างมุ่งหวังควบคุมร่างกายและกิจกรรมของนักเรียนทั้งสิ้น ระบบการควบคุมเหล่านี้ในแง่หนึ่งดูเหมือนเป็นการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในหมู่นักเรียน เพราะไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร สูงต่ำดำขาวขนาดไหน นักเรียนทุกคนต้องไว้ผมทรงเดียวกัน ต้องแต่งชุดเหมือนกัน และประกอบกิจกรรมอย่างเดียวกัน ทว่าในอีกแง่หนึ่งระบบการควบคุมเหล่านี้ก็จำแนกเด็กนักเรียนให้แตกต่างกันผ่านการสร้างมาตรฐานหรือความปกติ หากนักเรียนคนไหนไม่ปฏิบัติตามหรือว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานจะถือว่าผิดปกติและต้องถูกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เด็กนักเรียนที่ไว้ผมยาวผิดระเบียบจะถูกนับว่าเป็นเด็กเกเร นอกคอก ต่อต้าน และมีแนวโน้มจะก่อปัญหาอื่นๆ ตามมาจึงต้องลงโทษให้หลาบจำ หรือเด็กนักเรียนคนใดทำคะแนนได้ไม่ดีหรือสอบตกจะถูกนับว่าโง่ สติปัญญาบกพร่อง ไม่เชื่อฟังครู และจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในอาชีพการงานน้อย ส่วนนักเรียนที่ทำคะแนนได้ดีหรือสอบได้ที่ 1 จะได้รับการยกย่องชื่นชมว่ามีความเฉลียวฉลาด อยู่ในโอวาท และโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตรออยู่ข้างหน้า ฉะนั้น ระบบการควบคุมที่วางอยู่บนการสร้างความเป็นมาตรฐานเดียวกันหรือความปกติจึงทั้งกีดกันและผนวกรวม จึงทั้งลงโทษและให้รางวัลเด็กนักเรียนที่มีความต่างกันทั้งในเชิงชีววิทยา ทักษะ ความปรารถนา และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

การควบคุมผ่านการสร้างมาตรฐานหรือความปกติไม่ได้จำกัดเฉพาะทรงผมหรือเครื่องแบบหรือเฉพาะในนักเรียน หากแต่ครอบคลุมอาณาบริเวณอื่นและบุคคลอื่นในสังคมด้วย เช่น เรื่องเพศ เพราะสังคมไทยที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากวิทยาศาสตร์และศาสนาหลักมักถือว่าโดยธรรมชาติมนุษย์มี 2 เพศ คือ ชายและหญิง ซึ่งผูกติดกับเครื่องเพศ ฉะนั้น ใครก็ตามที่ไม่รู้สึกหรือไม่แสดงออกซึ่งความเป็นเพศให้สอดคล้องกับเครื่องเพศของตนและบรรทัดฐานของสังคมจะถูกนับว่าวิปริตผิดธรรมชาติรวมทั้งเป็นบาปในบางกรณี บางคนจึงต้องหลบๆ ซ่อนๆ ขณะที่บางคนก็เปิดเผยอย่างออกนอกหน้าเพราะไม่สามารถแสดงออกอย่างปกติได้ เพราะคนปกติโดยทั่วไปจะต้องเป็นชายจริงหญิงแท้เท่านั้น  

นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์ก็ถูกทำให้มีมาตรฐานเดียว เช่น คนเราไม่ควรมีเพศสัมพันธ์อย่างพร่ำเพรื่อ หากมีหรือต้องการมีมากเกินไปถือว่ามีความผิดปกติ ต้องได้รับการบำบัดรักษา รวมทั้งไม่ควรมีรูปแบบหรือวิธีการหาความสำราญทางเพศต่างไปจากที่กำหนดไว้ หากผิดแผกออกไปจะกลายเป็นพวกโรคจิตหรือวิตถาร ความสำราญทางเพศควรมีผ่านการมีความสัมพันธ์ทางเพศแบบปกติเท่านั้น นักบวชและผู้เผยแพร่ศาสนาจึงแนะนำชนพื้นเมืองให้ร่วมรักเฉพาะในท่า “มิชชันนารี” ขณะเดียวกันความสำราญก็ไม่ควรเป็นเหตุผลหลักในการมีความสัมพันธ์ทางเพศ เพราะความสัมพันธ์ทางเพศที่ถูกที่ควรต้องเป็นส่วนหนึ่งของการจรรโลงสถาบันครอบครัว ใครมีความสัมพันธ์ทางเพศนอกสถาบันการสมรสไม่ว่าก่อนหน้าหรือในขณะมีครอบครัวถือว่าผิดศีลธรรมจรรยา โดยเฉพาะหากเป็นผู้หญิงการถูกตราหน้าจะรุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ ความสัมพันธ์ทางเพศที่ถูกต้อง ได้มาตรฐาน หรือเป็นปกติต้องเป็นในลักษณะของผัวเดียวเมียเดียว  

นอกจากนี้ เครื่องเพศและการร่วมเพศเป็นเรื่องส่วนตัวที่ต้องปกปิด ไม่สามารถเปิดเผยในที่สาธารณะ และหากต้องนำออกสู่สาธารณะก็จะต้องผ่านการปรุงแต่งให้ประณีตบรรจง หรือต้องอยู่ในรูปของศิลปะ มิฉะนั้นจะถูกกล่าวหาว่าลามกอนาจาร ซึ่งผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม แม้ในทางปฏิบัติเส้นแบ่งระหว่างอาณาบริเวณทั้งสองจะพร่าเลือนและเบาบางเป็นอย่างยิ่งก็ตาม 

ในทำนองเดียวกัน ความเป็นไทยที่ปลูกฝังในโรงเรียน หน่วยงานรัฐ สื่อ และงานศิลปะประเภทต่างๆ ก็เป็นการสร้างมาตรฐานหรือความปกติให้กับผู้คนในเชิงชาติพันธุ์ เพราะผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตแดนที่เรียกว่าประเทศไทยตอนนี้มีความแตกต่างกันทั้งในเชิงเชื้อชาติ ภาษา คติความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณี ไม่ว่าจะเป็นในส่วนที่อยู่ในอาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง รัฐมลายู หรือแม้กระทั่งในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางแต่เดิม ทว่าการสร้างชาติที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาที่อาศัยคุณลักษณะของชนชาติไตเป็นตัวตั้งก็ยังผลให้คุณลักษณะของชนชาติอื่นถูกกลืนกลายหรือไม่ก็ถูกเบียดขับให้กลายเป็น “อื่น” ความเชื่อเรื่องผีของชาวเผ่าหรือชนพื้นเมืองเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระเมื่อเปรียบเทียบกับหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นมีสถานะเป็นเพียงความแปลกตาไว้ให้นักท่องเที่ยวชม ขณะที่การเรียกร้องสิทธิทางชาติพันธุ์และศาสนาของชาวมลายูมุสลิมเป็นสิ่งบ่อนเซาะความมั่นคงของรัฐและความเป็นเอกภาพเหนือดินแดน พวกเขากลายเป็น “โจรแขก” ที่คิด “แยกดินแดน” ที่ “คนไทย” จะยอมเสียไม่ได้แม้แต่ตารางนิ้ว  

นอกจากนี้ ปัจจุบันความเป็นไทยได้กลายเป็นมาตรฐานหรือมาตรวัดความปกติในสายตาของคนจำนวนมากในสังคม หากใครไม่ปฏิบัติตามจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่ปกติ ถูกประณามว่าไม่เป็นคนไทยหรือถูกสงสัยว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า เพราะสำหรับคนเหล่านี้คนไทยโดยปกติคือคนที่หยุดเดินหรือลุกขึ้นยืนเมื่อได้ยินเพลงชาติ คือคนที่ต้องร่วมกันทวงคืนเขาพระวิหาร และคือคนที่ลุกขึ้นยืนเมื่อมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในสถานที่ต่างๆ พวกเราจำเป็นต้องรักชาติหวงแผ่นดิน ต้อง “รักในหลวง ห่วงลูกหลาน ร่วมกันต้านยาเสพติด” ผิดไปจากนี้ไม่ใช่คนไทยและเพราะเหตุดังนั้นจึงไม่ใช่คนปกติในประเทศนี้           
นอกจากนี้ ความยากจนซึ่งแทนตัวโดยชาวนาชาวไร่และผู้ใช้แรงงานก็เกี่ยวข้องกับการสร้างความปกติให้กับชีวิตและตัวตนทางเศรษฐกิจของผู้คนเช่นกัน เพราะหลายคนเชื่อว่าด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูป เกษตรกรจะลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกรรมกรที่จะถูกแทนที่ด้วยแรงงานมีฝีมือและเครื่องจักร เกษตรกรและกรรมกรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในตอนนี้คือส่วนเกินหรือส่วนผิดปกติที่จะหายไปในไม่ช้า ลูกหลานของพวกเขาโดยผ่านระบบการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานจะกลายเป็นคนปกติที่ประกอบอาชีพในบริษัทห้างร้าน สถานประกอบการ หน่วยราชการ องค์กรอิสระ ฯลฯ ขณะเดียวกันหลายคนเชื่อว่าภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่มีทุนเป็นตัวขับเคลื่อน ความมั่งคั่งจะกระจายไปสู่ทุกคนอย่างทั่วถึงในที่สุด ขอเพียงแต่มีกติกาที่เป็นธรรมและเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แข่งขันกันอย่างเสรี คนเหล่านี้จึงเชื่อว่า “ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน” คนที่ขยันแต่ยังยากจนจะต้องมีอะไรผิดปกติในชีวิตเป็นแน่  

อย่างไรก็ดี กระบวนการสร้างมาตรฐานหรือความปกติยังไม่ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์หรือประสบความสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากแต่เป็นกระบวนการที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเต็มไปด้วยรอยปริแยกแตกหัก ขัดกันเองบ้าง หรือแม้กระทั่งเป็นเงื่อนไขให้ถูกท้าทายมาจากภายในเอง ยกตัวอย่างกรณีทรงผมนักเรียนชาย เดิมการท้าทายหรือการไม่ปฏิบัติตามระเบียบคือการไว้ผมยาว ทว่าปัจจุบันการท้าทายหรือการไม่ปฏิบัติตามระเบียบส่วนหนึ่งสามารถกระทำได้ผ่านการไว้ผมสั้นจำพวกทรงสกินเฮด ซึ่งในแง่หนึ่งผมทรงดังกล่าวไม่ได้ผิดระเบียบเนื่องจากเส้นผมไม่ได้ยาวเกินที่กำหนดไว้หรืออาจจะสั้นกว่าที่ระเบียบต้องการให้ไว้เสียด้วยซ้ำ ทว่าในอีกแง่หนึ่งทรงสกินเฮดมีลักษณะเป็น “แฟชัน” ที่ระเบียบต้องการห้ามและไม่อยากเห็น ผมทรงสกินเฮดจึงเป็นการท้าทายระเบียบโดยอาศัยการปฏิบัติตามระเบียบเพื่อตอบสนองเป้าหมายส่วนตัวของบุคคลซึ่งขัดแย้งหรือตรงข้ามกับเป้าหมายที่ระเบียบถูกออกแบบมา    

ในทำนองเดียวกัน คำว่า “เกรียน” เป็นอีกตัวอย่างของการท้าทายจากภายใน เพราะเดิมทีการท้าทายหรือการขบถต่ออำนาจในห้องเรียนคือการหนีเรียน ทว่าการ “เกรียน” ไม่ได้เป็นการหนีเรียน หากแต่เป็นการเข้าชั้นเรียนและทำให้อำนาจในชั้นเรียนระส่ำระสายด้วยการตั้งคำถามที่ร่างทรงของอำนาจไม่สามารถตอบได้โดยง่ายแม้จะเป็นคำถามที่มาจากท้ายห้อง การ “เกรียน” จึงเป็นการท้าทายอำนาจในชั้นเรียนมากกว่าการหนีเรียน เพราะการหนีเรียนไม่ได้สร้างปัญหาให้กับอำนาจในชั้นเรียนโดยตรง เว้นเสียแต่ว่าการหนีเรียนเกิดขึ้นในปริมาณมากจนไม่สามารถจัดให้มีการเรียนการสอนได้ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก หรือหากเกิดขึ้นก็เป็นลักษณะของการประท้วงรวมหมู่มากกว่าจะเป็นการหนีเรียนเป็นรายบุคคล ปัจจุบันคำว่า “เกรียน” ได้กลายเป็นเครื่องหมายของการสร้างความปั่นป่วนให้กับปฏิบัติการอำนาจในรูปแบบหรือวิธีการที่ปฏิบัติการอำนาจนั้นถูกออกแบบมา เป็นการอาศัยการปฏิบัติตามระเบียบ คือการไว้ผมเกรียน ยั่วยุและท้าทายปฏิบัติการของอำนาจที่อยู่เบื้องหลังกฎระเบียบนั้น       

นอกจากเพื่อการท้าทายหรือต่อต้านขัดขืน การปฏิบัติตามระเบียบหรือการกระทำที่ดูเหมือนจะเป็นการยอมจำนนต่ออำนาจสามารถเป็นช่องทางหรือวิธีการที่ช่วยให้คนสามารถกระทำการได้อย่างมีประสิทธิผลด้วย ซึ่งสามารถเห็นได้จากปฏิบัติการของผู้หญิงในอาณาบริเวณศาสนาที่หลุดรอดหรือไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยตรรกะของการกดขี่ครอบงำและการต่อต้านขัดขืน เช่น ขณะที่จริยธรรมอิสลามจำพวกความสงบเสงี่ยมเหนียมอายและความอ่อนน้อมถ่อมตนเข้ากันไม่ได้กับตัวตนในเชิงปลดแอกและศักยภาพในเชิงล้มล้างของสตรีนิยมกระแสหลัก จริยธรรมอิสลามเหล่านี้กลับเป็นเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้สตรีมุสลิมได้เข้าไปพัวพันกับเรื่องราวในศาสนารวมทั้งในครอบครัวและในที่สาธารณะได้อย่างมีสิทธิอำนาจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือด้วยการยอมจำนนต่อพระเจ้าด้วยการเป็นบุตรสาวของพระองค์ หรือด้วยการเป็นมุสลิมที่มีศรัทธาปสาทะ สตรีมุสลิมได้รับโอกาสที่จะสามารถใช้อำนาจของพระเจ้าผ่านทางตัวเธอ เช่น การบอกให้วงประชุมเรื่องการเมืองที่มีแต่ผู้ชายหยุดกลางคันด้วยเหตุผลว่าถึงเวลาละหมาด หรือในกรณีชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประดับพานพุ่มที่ทำเข้าร่วมงานแข่งขันกีฬาที่อำเภอว่า “เรารักนายหลวง” ซึ่งเป็นการอาศัยการปวารณาตัวเป็นพสกนิกรที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เพื่อที่จะได้สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐที่พวกเขาไม่ค่อยชอบหน้าได้อย่างมีสิทธิอำนาจ เป็นความสามารถที่เกิดขึ้นผ่านอำนาจของผู้อื่นอีกชั้นหนึ่ง  

นอกจากนี้ การเมืองเรื่องความปกติหรือธรรมดาสามัญสามารถเกิดขึ้นจากฝ่ายที่ดูด้อยกว่าหรือเสียเปรียบกว่าได้ ดังจะเห็นได้จากการที่สิ่งที่ถูกทำให้ดูผิดปกติถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นสิ่งปกติหรือธรรมดาสามัญอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นการอำพรางปฏิบัติการอำนาจที่แฝงอยู่ในเวลาเดียวกัน เช่น คำว่า “ชาวนา” หรือว่า “ชาวบ้าน” มักถูกใช้เพื่อหมายถึงกลุ่มคนที่ซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสาและมักตกเป็นเหยื่อของการกดขี่ขูดรีดฉ้อโกงไม่ว่าจะโดยรัฐหรือทุน ทว่าการใช้คำว่า “ชาวนา” หรือว่า “ชาวบ้าน” ในความหมายของคนธรรมดาสามัญเช่นนี้ในแง่หนึ่งเป็นการอำพรางหรือพรากความเป็นการเมืองออกไปจากกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งต่างพัวพัน เจรจาต่อรอง หรือว่าชิงไหวชิงพริบกับทั้งรัฐและทุนอยู่ตลอดเวลา ความสงสารและความเห็นอกเห็นใจ “ชาวนา” หรือว่า “ชาวบ้าน” ที่ดูธรรมดาสามัญ ซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา และเป็นเหยื่อของรัฐและทุนจึงเป็นผลของปฏิบัติการอำนาจที่แฝงมา ไม่แตกต่างจากการที่เห็นว่าพวกเขาเป็นความผิดปกติในระบบทุนซึ่งก็เป็นผลของปฏิบัติการอำนาจอีกชุดเช่นกัน    

การเมืองเรื่องความปกติหรือธรรมดาสามัญหรือว่าปฏิบัติการอำนาจในประเด็นดังกล่าวจึงไม่ได้มีเพียงด้านเดียว มันไม่ได้เป็นเพียงการกดขี่ครอบงำ เก็บกดปิดกั้น หรือเบียดขับกีดกันอย่างง่าย หากแต่ยังเป็นการผนวกรวมและเปิดโอกาสให้กับการท้าทายจากภายในในเวลาเดียวกัน รวมทั้งยังสามารถอาศัยเป็นช่องทางในการตอบสนองวัตถุประสงค์ของบุคคล และช่วยให้บุคคลสามารถกระทำการได้อย่างมีประสิทธิผลได้ด้วย นอกจากนี้ ความเป็นปกติหรือความธรรมดาสามัญยังสามารถเป็นกลวิธีทางการเมืองจากฟากของผู้ด้อยกว่าหรือมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าได้ จะเผชิญหน้ากับการเมืองประเภทนี้ได้อย่างเท่าทันก็ต้องเข้าใจความยอกย้อนซ่อนเงื่อนของมันดังกล่าวให้ได้ในเบื้องต้น

เพราะเหตุที่การเมืองเรื่องความปกติหรือความธรรมดาสามัญมีความยอกย้อนซ่อนเงื่อนดังที่ว่า การเผชิญหน้ามันอย่างเท่าทันก็ต้องยืดหยุ่นและพริ้วไหวตามไปด้วย เพราะเหตุที่มันไม่ได้มีเฉพาะด้านของการกดขี่ครอบงำหรือการเก็บกดปิดกั้น เราจึงไม่สามารถอาศัยเฉพาะการต่อต้านขัดขืนในการเผชิญหน้ากับมันเพียงอย่างเดียวได้ ทางเลือกไม่ได้มีเฉพาะการโค่นล้มระบบ รื้อโครงสร้าง ชุมนุมประท้วง เดินขบวน หรือจับปืนขึ้นสู้ เราสามารถท้าทายมันได้จากภายในหรือว่าใช้ประโยชน์จากมันได้โดยอาศัยเทคโนโลยีชนิดเดียวกัน และขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่ตกหลุมพรางของการเมืองประเภทนี้ ไม่ว่าจะด้วยการตอกย้ำความปกติหรือความธรรมดาสามัญที่มีอยู่ เช่น การพยายามนิยามและผูกขาดการนิยามว่าอะไรคือศิลปะและอะไรที่ไม่ใช่คืออนาจาร หรือด้วยการสร้างความปกติหรือความธรรมดาสามัญขึ้นใหม่ เช่น การหมายความ “ชาวนา” หรือว่า “ชาวบ้าน” เป็นคนธรรมดาหรือเป็นเหยื่อที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา เพราะไม่ช่วยให้เราเห็นว่าพวกเขาพัวพันกับอำนาจอย่างไรและจะชวนให้เราหลงทางในที่สุด       

 


หมายเหตุ: ปรับปรุงจากปาฐกถาของผู้เขียนหัวข้อ “การเมืองเรื่องความปกติ” ในกิจกรรม “นิทรรศการการเมือง 2556” โดยกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย วันที่ 14 มกราคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net