Skip to main content
sharethis

Book Re:public จัดเสวนาสัญจร "ไพรมารี่โหวตกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ควรทำหรือไม่" โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ และสมบัติ บุญงามอนงค์

20 ม.ค. 56 เวลา 13.00 น. บริเวณห้องประชุมข่วงสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ร้าน Book Re:public จัดเสวนาสัญจรในหัวข้อ "ไพรมารี่โหวตกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ควรทำหรือไม่โดยมีวิทยากรได้แก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ, พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปล, สมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง, ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และดำเนินรายการโดย เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

000

นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่าขอแปล “ไพรมารี่โหวต” (Primary vote) ว่า “เลือกก่อน” โดยผู้ที่เป็นคนเลือกก่อนก็คือสมาชิกพรรคการเมืองหรือประชาชนโดยทั่วไป เหตุผลที่ต้องมีการเลือกก่อน อันแรกคือช่วยลดจำนวนผู้สมัครลง ในพรรคหนึ่งๆ นอกจากนายก. ที่ได้ลงสมัครในที่สุดแล้ว ยังมีคนอื่นๆ ที่วิ่งเต้น ขอหัวหน้าพรรค ขอเส้นสายในพรรคที่จะลงสมัครด้วยอีกจำนวนมาก เผอิญกฎหมายบ้านเรากำหนดว่าพรรคหนึ่งมีสิทธิ์ที่จะส่งผู้สมัครในหนึ่งเขตเพียงคนเดียว ก็เลยทำให้หัวหน้าพรรคต้องเป็นคนตัดสินใจว่าจะเอาคนไหนลง แต่ในความจริงทุกแห่งในโลก ในหนึ่งเขตเลือกตั้งจะมีคนที่อยากลงในนามของพรรคหนึ่งๆ มากกว่าหนึ่งคนเสมอ ในแง่นี้การลดจำนวนผู้สมัครหรือคัดสรรผู้สมัครให้มีจำนวนน้อยลง จึงเป็นประโยชน์ต่อพรรคเอง ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อประเทศด้วย เพราะถ้าเราลงสมัครกันทีเขตหนึ่งสองร้อยคน แต่ละคนก็จะได้คะแนนมานิดหน่อย ไม่ถึงครึ่งสักคน ไม่สามารถจะพูดได้ว่าเขาเป็นตัวแทนของประชาชนคนไหนได้เลย

เหตุผลประการที่สองที่สำคัญมาก คือการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะประชาชนจะเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะให้ใครมาเป็นส.ส.ของเรา หรือลงสมัครในนามของพรรคที่เราสังกัดอยู่ โดยปกติถ้าประชาชนไม่ได้เป็นผู้กำหนดว่าใครคือผู้สมัครของพรรค ผู้สมัครคนนั้นเมื่อได้เป็นส.ส.แล้ว เขาจะฟังเราหรือ แน่นอนว่าไม่ เหมือนกับเราไปลงคะแนนเลือกตั้ง 4 ปีครั้ง แต่ไม่ได้มีส.ส.ของเราเองจริงๆ เลย เราไม่สามารถใช้ส.ส.เป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายใดๆ ได้ทั้งสิ้น

วิธีการเลือกก่อนนี้ สมัยหนึ่งใช้กันมากในสหรัฐอเมริกา แต่ต่อมาประเทศอื่นๆ ต่างเห็นประโยชน์ของมัน หันมาใช้การเลือกก่อนนี้ ในยุโรปใช้เกือบจะทุกประเทศ และกำลังเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในโลก สำหรับระบบเลือกก่อนในสหรัฐฯ มีทั้งกฎหมายของมลรัฐและของประเทศบังคับเอาไว้ ฉะนั้นมลรัฐและรัฐบาลกลางจึงมีหน้าที่จัดและออกเงินในการจัดการเลือกตั้ง แต่ในยุโรปพรรคการเมืองจะเป็นคนจัดเอง ในหลายประเทศใช้วิธีว่าใครจะไปลงคะแนนเสียงเลือกก่อนต้องเสียเงินค่าไปลงคะแนน ในยุโรปเก็บประมาณ 20 ยูโร หรือกรณีของรัฐโอเรกอน ในสหรัฐฯ ที่เป็นรัฐแรกที่ใช้การลงคะแนนด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งช่วยลดราคาค่าใช้จ่ายลงไปเยอะ เราจึงต้องคิดถึงวิธีเลือกตั้งที่เป็นไปได้และงบประมาณที่เอามาใช้ ถ้าอยากให้พรรคเป็นคนจัดก็อย่างหนึ่ง หรือให้กกต.หรือรัฐเป็นคนจัดก็อีกอย่างหนึ่ง และคิดว่าอย่างไรเสียในประเทศไทยคงหนีไม่พ้นที่พรรคการเมืองต้องหันมาใช้ระบบเลือกก่อนลักษณะนี้

นิธิอธิบายว่าวิธีการเลือกก่อนแบ่งง่ายๆ ได้เป็นสองวิธี คือวิธีปิดและวิธีเปิด โดยระหว่างปิดกับเปิด ยังมีกึ่งปิดกึ่งเปิดอีกหลายแบบ วิธีปิดนั้นหมายความว่าเฉพาะสมาชิกของพรรคเท่านั้นที่มีสิทธิ์ไปลงคะแนนเสียง โดยถือบัตรสมาชิกพรรคไปลงคะแนนเลือกผู้สมัคร วิธีปิดนี้ดีในแง่ว่าง่ายและชัดเจน แต่ไม่ดีในแง่ว่าเราไม่รู้ว่าพรรคอื่นอาจจะมีสมาชิกมากกว่า และคนที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคอะไรเลยซึ่งมีอีกมาก รวมทั้งมีปัญหาแก่พรรคการเมืองเอง เพราะหากส่งคนหนึ่งไป คนที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคก็อาจจะไม่เอาคนนั้น ส่วนวิธีเลือกแบบเปิด คือทุกคนลงคะแนนได้หมดไม่ว่าจะเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ วิธีนี้มีปัญหาว่าอาจจะเกิดกรณีที่อีกพรรคการเมืองหนึ่งขนคนแห่กันไปเลือกเอาคนที่อ่อนแอที่สุดให้เป็นตัวแทนของพรรคคู่แข่ง แต่วิธีนี้ทำให้ทุกคนมีโอกาสลงความเห็นก่อนว่าจะเอาใครลงสมัครเลือกตั้ง

ในสหรัฐและยุโรป ใช้วิธีเลือกแบบเปิด และแก้ไขกรณีไม่ให้มีการถมกัน คือเขาเปิดให้ทุกพรรคการเมืองจัดการเลือกก่อนพร้อมกัน มีกระดาษแผ่นเดียว มีลายชื่อผู้สมัครจากพรรคต่างๆ ถ้าสมมติเขตหนึ่งมีได้คนเดียว ทุกคนก็มีสิทธิ์กาได้ 1 เบอร์ ฉะนั้นถ้าจะไปถมพรรคอื่น คุณก็ไม่มีโอกาสในการเลือกคนในพรรคของตัวเอง แต่ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งแพงขึ้นไปใหญ่ รัฐบาลกลางต้องเข้ามาเป็นผู้จัด หรือพรรคต่างๆ ต้องหาเงินมาร่วมกันจัด

ส่วนข้อเสียของระบบเลือกก่อน คือมันมีความโน้มเอียงในการจะกีดกันพรรคเล็กๆ ออกไป โอกาสที่พรรคเล็กๆ จะได้คนไปลงสมัครเลือกตั้งที่มีโอกาสชนะน้อยมาก และไม่ค่อยได้มีโอกาสโผล่ขึ้นมา ทำให้เป็นปัญหาของประเทศที่ใช้ระบบการเมืองแบบสองพรรคใหญ่ คือทำให้ประชาชนหมดทางเลือก เช่น ฉันไม่เชื่อในนโยบายของพรรคเดโมแครตและรีพลับลิกัน แต่เชื่อในนโยบายของพรรค X ซึ่งไม่มีวันที่จะได้เป็น ส.ส.

นิธิกล่าวต่อว่าทำไมเราคนไทยถึงควรจะร่วมกันในการผลักดันให้เกิดระบบเลือกก่อน ประการแรกคือพรรคการเมืองทุกพรรคในไทย เป็นสมบัติส่วนตัวของคนจำนวนน้อย จำนวนไม่มากเท่าไรตลอดมา แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ที่อ้างว่าเป็นพรรคการเมืองที่สมบูรณ์ที่สุด มีระบบภายในที่ดี แต่ในความจริงการเลือกผู้สมัครในเขตต่างๆ ก็ใช้กรรมการบริหารพรรค และขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของหัวหน้าพรรค หรือขาใหญ่ของพรรคด้วย โดยที่ประชาชนไม่เกี่ยว หรือในพรรคเพื่อไทย ทุกคนก็รู้ว่ามี “เจ๊” มี “เฮีย” ซึ่งมีหลายคนทั้งเฮียในพรรคและในมุ้งการเมือง คนเหล่านี้คือคนตัดสิน คนมีส่วนร่วมในการใช้พรรคเพื่อไทยในการต่อรองอำนาจ ต่อรองผลประโยชน์ ส่วนประชาชนไม่เกี่ยวเลย

ขณะเดียวกันตัว ส.ส.ก็ต้องวิ่งหาเฮียหรือเจ๊เพื่อสนับสนุนให้ได้ลงเลือกตั้ง ฉะนั้นเมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ถามว่าเขาจะตอบสนองต่อเฮียและเจ๊ หรือตอบสนองต่อเรา ก็เป็นธรรมดา ก็ต้องตอบสนองต่อคนที่อุปถัมภ์เขามากกว่า ระบบเลือกก่อนจะทำให้คนที่ได้รับเลือกก่อน จะได้รู้เลยว่าเขาได้เป็นผู้สมัครเพราะพวกเราทุกคน ความเห็นของเราก็จะมีน้ำหนักกับส.ส.มากขึ้น รวมทั้งการที่เกิดเป็นภาระก่อนเลือกตั้งให้ผู้สมัครเสนอหน้ามารับใช้ประชาชนอยู่ตลอดเวลาด้วย

ดังนั้น พรรคการเมืองในประเทศไทยไม่เคยเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายของประชาชนเลย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน สามารถทำนโยบายต่างๆ โดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับเรา ที่เรียกว่านโยบายประชานิยม จริงๆ แล้วก็ไม่เคยถาม “ประชา” สักคำ แต่เป็นเรื่องของพระอินทร์ที่ส่องลงมามองบนโลก และคิดเอาเองว่าควรจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้คนบนโลกนี้ กลายเป็นนโยบายที่เราต่อรองไม่ได้ สรุปแล้วประเทศไทยมีการเลือกตั้งมาหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่คนไทยยังไม่เคยมีส.ส.ของตัวเองสักคนเดียว จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ตราบเท่าที่เรายังไม่มีระบบเลือกก่อนให้เราเป็นผู้กำหนดผู้สมัคร ส.ส.ทุกคนก็จะเป็นของเจ๊และของเฮียตลอดไป

000

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ กล่าวถึงสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นแบบของการหยั่งเสียงหรือการคัดเลือกก่อน โดยการเลือกตั้งในสหรัฐเป็นอำนาจระดับท้องถิ่น เพิ่งมีคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อประมาณ 20 กว่าปีนี้เอง และไม่ได้มีหน้าที่มาจัดการเลือกตั้งแบบบ้านเรา แต่การเลือกตั้งเป็นเรื่องที่รัฐบาลแต่ละรัฐจัดกันเอง เขาออกระเบียบกันเอง ว่าจะไปเลือกวันไหน เลือกอย่างไร ใช้บัตรอะไรได้บ้าง แต่แน่นอนว่าถ้าเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีต้องตรงกัน คือวันพฤหัสแรกของเดือนพฤศจิกายน ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่อย่างเดียวคือดูแลไม่ให้บริษัทให้เงินกับพรรคการเมืองเกินจำนวนเท่าไรที่กำหนดไว้ ไม่มีหน้าที่ในการให้ใบเหลืองใบแดงแบบบ้านเรา และการไปเลือกตั้งในอเมริกา สามารถใช้บัตรอะไรก็ได้ เพราะคนอเมริกันไม่มีบัตรประชาชน ใช้บิลค่าน้ำค่าไฟไปเลือกก็ได้ หรือใบขับขี่ก็ได้ ขอให้มีชื่อคุณ ก็เลือกได้ เรื่องการที่ประชาชนเข้าไปเลือกผู้สมัครเลือกตั้งก่อน ก็เป็นวัฒนธรรมของอเมริกาเลย

พิภพอธิบายถึงการหยั่งเสียงหรือการเลือกก่อนในอเมริกาว่ามีอยู่สองส่วน คือ Primary กับ Causus โดย Primary นั้นเหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไป เช่น รัฐไอโอว่ากำหนดให้วันที่ 10 เม.ย.เป็นการหยั่งเสียง ทุกคนก็ไปที่คูหาเลือกตั้ง ไปหาบัตรเลือกผู้สมัครที่ต้องการ แต่ Causus จะเป็นการที่คนมานั่งกันอยู่ในที่ประชุม และอภิปรายถกเถียงกัน เช่น เป็นการถกเถียงว่าจะเลือกระหว่างคนสองคนเป็นผู้สมัคร ข้างหนึ่งก็จะอยู่ข้างคนหนึ่ง อีกข้างก็จะนั่งอยู่ข้างอีกคนหนึ่ง แล้วก็เถียงกันว่าคนนั้นคนนี้ดีอย่างไร แล้วระหว่างเถียงก็ย้ายข้างได้ โดยมีเวลาสิ้นสุด พอหมดเวลาก็จะมีการนับคะแนน ถ้าข้างไหนมีคนนั่งอยู่มากกว่า ก็จะเป็นผู้ชนะ แต่ใครที่อยู่ไม่จบการประชุม หรือมาสายก็ไม่มีสิทธิ์ออกเสียง

พิภพอธิบายต่อจากนิธิถึงวิธีการเลือกก่อนที่มีแบบปิด แบบเปิด และแบบกึ่งปิดกึ่งเปิด โดยแบบหลังสุดนี้ต้องมีการแจ้งล่วงหน้า โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองพรรคนั้น จะเป็นสมาชิกพรรคอื่น หรือไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็ได้ แต่ต้องแจ้งล่วงหน้าภายในเวลาที่กำหนด

นอกจากนั้นในสหรัฐ ยังมีดินแดนที่อยู่ภายใต้สหรัฐ เช่น เปอร์โตริโก ประชาชนจะไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งโดยตรง แต่ถือว่าอยู่ในเขตอาณัติ ส่วนคนอเมริกันที่อยู่ต่างประเทศก็สามารถลงคะแนน Primary Vote ได้ โดยส่วนใหญ่จะมีงบประมาณให้ และจะทำกันในเดือนมกราคมถึงมิถุนายนของปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยมีรัฐนิวแฮมป์เชียร์เป็นรัฐแรกที่มีการเลือกตั้งแบบ Primary

ในรัฐที่มีการจัดหยั่งเสียงก่อนก็จะมีอิทธิพล ถ้าได้รับเลือกในรัฐแรกๆ อาจจะทำให้คนสวิงหันมาเลือกในรัฐอื่นๆต่อมา โดยรัฐที่เป็นชนบทหน่อย เช่น ไอโอวา จะใช้ระบบ Causus เป็นหลักเพราะจะได้มาพบหน้ากัน ได้คุยกัน ถกกันว่าใครจะเป็นผู้สมัคร และในช่วงท้ายๆ ของเดือนมิถุนายน ที่จะมีการนัดกันหลายรัฐ ที่จัดหยั่งเสียงในวันเดียวกันเลย เรียกว่าวัน Super Tuesday โดยเป็นรัฐครึ่งหนึ่งของสหรัฐ ราว 20 กว่ารัฐ จัด Primary ตรงกันวันเดียวกันเลย

พิภพอธิบายว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐก็ไม่ใช่การเลือกตั้งโดยตรง แต่เป็น Electoral College เช่น ในจังหวัดหนึ่ง ถ้าจะจัดการหยั่งเสียงเลือกตัวแทนได้ คนนั้นไม่ได้เป็นตัวแทนสมัครประธานาธิบดี แต่เป็นตัวแทนของจังหวัดเพื่อไปลงคะแนนเสียงระดับชาติ เพื่อจะเลือกอีกคนหนึ่งเป็นผู้สมัคร ไม่ใช่การเลือกตั้งโดยตรง แต่เป็นการเลือกผู้แทน และให้ผู้แทนไปเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีอีกทีหนึ่ง ที่เรียกว่า Delegates

จากนั้นตัวแทนแต่ละรัฐ แต่ละจังหวัดเหล่านี้ พอถึงช่วงประมาณสิงหาหรือกันยา จะไปประชุมระดับชาติ หรือ National Convention โดยมีอีก 20% ที่ไม่ใช่ตัวแทนของแต่ละรัฐ แต่เป็นตัวแทนของพรรคการเมือง เรียกว่า Super-Delegates เช่น เป็นอดีตประธานาธิบดี หรืออดีตส.ส.ของพรรค รวมกันไปนั่งประชุมเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคอีกทีหนึ่ง ทั้งหมดคือลักษณะของการหยั่งเสียงเลือกตั้งในอเมริกา

000

สมบัติ บุญงามอนงค์ กล่าวถึงเหตุผลว่าทำไมเราถึงมีอาการอยากไปยุ่งกับพรรคเรื่องจะส่งตัวแทนมาให้เราเลือก โดยเสียงนี้เกิดขึ้นดังในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา เพราะมีประชาชนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าไปเลือกไม่ลง แต่ว่าต้องไปเลือก เพราะกลัวว่าประชาธิปัตย์จะชนะ ไม่อยากให้ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เกิดเป็นภาวะพะอืดพะอม หลายพื้นที่มีปัญหาว่าส่งผู้สมัครให้เราเลือกประเภทว่าเราอยากจะอ้วก แต่เราก็ต้องไปเลือก

ทำไมคนถึงคิดอยากจะไปเลือก“ว่าที่ผู้แทน” ภาวะนี้เกิดจากการเติบโตของคนในสังคม คนมันเปลี่ยนเติบโตทางความคิด และคุณภาพทางการเมือง ภายใต้ระบบสามระบบในการเมืองไทย ได้แก่อำมาตย์ 1.0 ระบบนี้เชื่อว่าตนเองดี ประเทศนี้อยู่รอดได้มากเพราะว่ามีคนดี เสียสละมาอยู่ในที่ที่ถูกต้อง เป็นระบบที่ไม่ตอบคำถาม เป็นระบบสั่งการแล้วก็ทำตาม อันที่สองคือนักการเมือง 2.0 เกิดจากการเติบโตของประชาชนที่เริ่มรู้สึกว่าอำมาตย์ 1.0 ไม่ค่อยฟังคนเลย แต่แม้เลือกนักการเมืองมาแล้ว ก็ยังต้องไปฟังอำนาจนอกระบบอื่นๆ ในสังคม และเล่นกับประชาชนเหมือนว่ามีหน้าที่แค่ไปหย่อนบัตร ระบบนี้ดีกว่าอำมาตย์ 1.0 คือมีช่วงเวลาที่มาฟังกัน และเปิดโอกาสให้เราด่าได้ ถ้าเป็นอำมาตย์ 1.0 ถ้าด่า คุณติดคุก

ส่วนความอยากจะมาเลือกว่าที่ผู้แทนนี้ เกิดจากระบบใหม่ที่เรียกว่าประชาชน 3.0 ที่ประชาชนเริ่มรู้สึกกับคนที่เฮียกับเจ๊ส่งมาเลือก เราเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ รู้สึกว่าคุณมีอำนาจ และอยากได้ระบบที่มากกว่าการรับเหมาทำ รู้สึกคันไม้คันมือ รู้สึกอยากลงไปทำเองด้วยซ้ำไป เนื่องจากคุณตื่นตัวมาก อยากไปโยกเปลี่ยนนู้นนี่ มันเป็นการตื่นตัวของประชาชน เป็นแนวโน้มของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่กำลังเกิดขึ้น ตอนนี้คนจำนวนมากที่ติดตามสนใจทางการเมืองรู้ “ทิศ” แต่ยังไม่รู้จะไป “ทาง” อย่างไร การไปดูในโลกนี้ ไปช็อปปิ้งว่าเขามีทางหรือมีรูปแบบอย่างไรกันบ้าง เรื่อง Primary Vote ก็เป็นนวัตกรรม เป็นทางหนึ่งที่จะไป แต่เรื่องนี้ก็ยังเวลาในการอภิปราย

สมบัติ เสนอต่อว่าควรแก้รัฐธรรมนูญให้มีการเลือกนายกฯ และคณะรัฐมนตรีโดยตรง บนความคิดว่าเราควรจะรู้ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรี ดูแลกระทรวงต่างๆ ทำอย่างไรถึงจะจัดดรีมทีมมาประกวดกัน แล้วเลือกตั้งประเภทโหวตเรื่องรัฐบาลทั้งชุดเลย ให้เห็นรัฐมนตรีทุกคนก่อนเลย มาลักไก่ยัดเอาทีหลังไม่ได้ อย่าไปเชื่อเรื่องนายกฯ จะทำได้ทั้งหมด แต่เราต้องการทีม และกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชน ส่วนส.ส.เราก็จะเลือกไปทำหน้าที่นิติบัญญัติโดยตรง แบ่งแยกหน้าที่กันเด็ดขาด และจะได้ส.ส.ที่มีความสนใจเข้าไปทำหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมาย จะไม่มีแรงขับไปสู่อำนาจทางการเมืองในการบริหาร

อีกประการหนึ่งคือตอนนี้ระบบว่าที่ส.ส.เป็นระบบเอาเครือญาติมาเป็นผู้สมัคร แต่ตนมีความฝันอยากจะได้ผู้สมัครที่เสนอตัวมาก่อน 4 ปี หรืออย่างน้อย 2 ปี คือประชาชนควรจะรู้ว่าว่าที่ผู้สมัครในอีก 2-3 ปีข้างหน้า มีใครบ้าง และควรผ่านกระบวนการที่เข้าใจปัญหาท้องถิ่น มีธงว่าจะทำไปอะไรในสภา ตอนนี้ยุบสภา 3 เดือน คุณต้องวิ่งตีนขวิดเพื่อขอให้พรรคส่งคุณลงสมัคร ไม่มีเวลามาศึกษาปัญหาในพื้นที่ เวลาแบบนี้มันต้องใช้เวลามากกว่า 3 เดือน

000

ชำนาญ จันทร์เรือง ได้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวในการไปเยี่ยมชมการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปี 2012

ในช่วงท้าย ผู้ร่วมเสวนาได้ตั้งคำถามถึงปัญหาอำนาจนอกระบบที่ยังซ้อนอยู่ในการเมืองไทย ว่าควรมีวิธีการจัดการอย่างไร

สมบัติ บุญงามอนงค์ กล่าวเปรียบเทียบว่าตอนนี้เหมือนมีหมากรุกสองกระดาน มีกระดานที่เรามองเห็น กับหมากรุกผีที่เรามองไม่เห็นผู้เล่น ไม่เห็นว่าเขาโยกอย่างไร ทั้งที่เกมส์จริงๆ ควรมีกระดานเดียว จะแก้ปัญหานี้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคมก่อน ให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน อันนี้จะแก้ปัญหาเรื่องคนมาขโมยอำนาจ อันที่สองคือต้องเอาไฟฉายส่อง เกมส์ที่แอบไปเล่นกันหรืออ้างอะไรที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่ก็ต้องระวังว่าการเอาไฟฉายส่อง เขาก็อาจจะเอาปืนมายิงเรา แต่ทิศทางหลักก็คือต้องทำให้หมากรุกเหลือเกมส์เดียว โดยเกมส์นี้มีกฎอยู่ว่าอำนาจเป็นของประชาชน และทำให้คนที่เล่นอำนาจนอกระบบค่อยๆ ลดบทบาทลง

นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายต่อว่าถ้ามีหมากรุกสองกระดานและต่างคนต่างเล่นไป ก็ไม่เป็นไร แต่ปัญหามันอยู่ที่มีหมากรุกกระดานเดียว และมันมาเล่นซ้อนอยู่บนกระดานที่เรามองเห็นนี้ อำนาจนอกระบบทุกชนิดมันเล่นหมากรุกโดยบังคับตัวหมากรุกที่เรามองเห็น ให้เดินไปในทิศทางที่ดูชอบธรรมหรือถูกกฎหมาย อันนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา

แล้วเราจะจัดการอย่างไรให้มันเป็นหมากรุกกระดานเดียว ไม่ใช่สองกระดานซ้อนกันอยู่ ตนเห็นด้วยกับวิธีส่องไฟ คือต้องเปิดพื้นที่ซึ่งปิดมืดอยู่เวลานี้ ให้มันสว่างมากขึ้น แต่พูดด้วยปากง่าย ทำจริงก็ติดตะรางไปหลายคน ถ้าสามารถทำให้เปิดออกมาได้ ก็มีส่วนเพิ่มพลังของประชาชนได้ ส่วนประการที่สอง คือเราต้องใช้ระบบการเมืองที่มีอยู่เท่านั้น เพราะเรารบกันที่ราชประสงค์ทุกปี ประเทศไทยไปไม่รอดแน่ จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำภายในระบบการเมืองที่มีอยู่ กล่าวคือประชาชนต้องคุมพรรคการเมืองให้ได้ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล โดยที่ประชาชนไทยปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมโหฬาร โดยที่นักการเมืองก็ไม่รู้ พวกอำนาจนอกระบบก็ไม่รู้หรือไม่ตระหนักเลยว่าเราแตกต่างจากพ่อแม่เราไม่รู้จะกี่เท่าแล้ว และเป็นทั้งประเทศไทย

“ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าเรามีเครื่องมือ ประชาชนไทยสามารถกำกับชะตากรรมของตนเองได้ แต่เวลานี้เรามีแต่สำนึก เรามีแต่ความตื่นตัว เราตาสว่าง แต่มือกุด ตาสว่าง แต่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะใช้เพื่อจะปรับตัวระบบการเมืองได้เลย ผมจึงเห็นด้วยกับการมาผลักดันเรื่อง Primary vote เพราะผมคิดว่ามันเป็นช่องทางหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทางเดียว ที่เราจะสามารถมีอำนาจควบคุมกำกับพรรคการเมือง และใช้มันเป็นเครื่องมือของเราในการต่อสู้กับอำนาจนอกระบบ และอื่นๆ เท่าที่เราต้องการได้” นิธิกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net