Skip to main content
sharethis

สัปดาห์นี้ติดตามความเคลื่อนไหวธุรกิจสิ่งพิมพ์ออนไลน์, Google รายงานหลายประเทศเพิ่มการสอดส่องประชาชน, บาร์บาดอสเตรียมเปิดเว็บ “ละเมิดลิขสิทธิ์” หลัง WTO ไฟเขียว ฯลฯ

 

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก

 

22-01-2013

ผู้บริหารด้านสื่อของ Guardian ยืนยันว่าเว็บ Guardian จะไม่คิดค่าสมาชิก

เขาเสริมอีกว่าการคิดค่าสมาชิกออนไลน์เป็นวิธีที่ดีในการเพิ่มรายได้ให้สำนักพิมพ์ แต่มันไม่ได้ตอบโจทย์ของทุกคน และโจทย์ของ Guardian คือการเพิ่มฐานผู้อ่านให้กว้างที่สุดทาง Guardian จึงเลือกที่จะไม่มีการเก็บค่าสมาชิกเพื่ออ่านข่าวบนเว็บ

News Source: http://paidcontent.org/2013/01/21/guardian-media-ceo-explains-why-the-paper-doesnt-like-paywalls/

 

Amazon ขยายฐานผู้อ่านกลุ่มเด็กและวัยรุ่น

โดยการรับสัญญาอนุญาตหนังสือเด็กและวัยรุ่นจากหนังสือพิมพ์ที่หลากหลาย และตั้งสำนักพิมพ์หนังสือเด็กและวัยรุ่นเอง

ทั้งนี้ Kindle ของ Amazon ก็มีบริการสมัครสมาชิกใหม่สำหรับเด็กที่จะทำให้เด็กเข้าถึงสื่อต่างๆ ตั้งแต่หนังสือ หนัง เกมส์ ไปจนถึงแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ราคา 2.99 ดอลลาร์หรือประมาณ 90 บาทต่อเดือน

News Source: http://paidcontent.org/2013/01/21/amazon-childrens-publishing-expands-with-more-books-for-younger-kids-and-teens/

 

Google ล้มเหลวในการเจรจากับกลุ่มสิ่งพิมพ์ฝรั่งเศสเนื่องจากกลุ่มสิ่งพิมพ์เรียกร้องเงินจาก Google 100 ล้านยูโร แทนที่จะเป็น 50 ล้านยูโรตามที่ Google เสนอ

ทั้งนี้ผลก็คือ Google จะไม่สามารถจะใส่ผลค้นหาของบรรดาสิ่งพิมพ์ฝรั่งเศสในเสิร์ชเอ็นจินของตนได้

สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐบาลยุโรปหลายๆ ประเทศที่ต้องรัดเข็มขัดทางการเงินจำนวนมากก็หนุนหลังบริษัทสิ่งพิมพ์ในประเทศของตนในการต่่่่่อรองค่าลิขสิทธิ์กับบริษัทอเมริกันอย่าง Google

News Source: http://paidcontent.org/2013/01/21/report-google-made-e50-million-copyright-offer-french-publishers-want-e100-million/

 

Jamie Oliver พ่อครัวชาวอังกฤษชื่อดังมีช่องรายการทำอาหารของตัวเองบน YouTube แล้ว

และช่องนี้เป็นหนึ่งในช่องจากยุโรปกว่า 60 ช่องที่ได้เงินจากทาง YouTube ไปก่อนเพื่อใช้ในกระบวนการทางการผลิต

ทั้งนี้ YouTube จ่ายเงินกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐในการสร้างช่องต่างๆ เองไปในปี 2011 แต่ก็ต่อสัญญารายการไม่ถึง 40% ในปีต่อมา

News Source: http://paidcontent.org/2013/01/21/jamie-oliver-foodtube/

 

Pirate Party ออสเตรเลีย ลงทะเบียนพรรคผ่านแล้ว Pirate Party นอร์เวย์ล่ารายชื่อครบพอจะตั้งพรรคแล้ว แต่ Pirate Party รัสเซียยังลงทะเบียนไม่ผ่าน (อีกครั้ง)

ทั้งนี้ Pirate Party ออสเตรเลียผ่านการลงทะเป็นและเป็นพรรคอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ทาง Pirate Party นอร์เวย์ก็ล่ารายชื่อเพื่อตั้งพรรคครบแล้วในวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในกระบวนการตั้งพรรคอยู่ อย่างไรก็ดีทางด้านกระทรวงยุติธรรมรัสเซียก็ปฏิเสธการขึ้นทะเบียนพรรคการเมืองของ Pirate Party รัสเซียอีกครั้ง หลังจากปฏิเสธไปครั้งหนึ่งแล้วในปี 2011

News Source: http://torrentfreak.com/australian-pirate-party-gets-approved-and-russians-are-denied-again-130122/ , http://torrentfreak.com/norwegian-pirate-party-gets-official-recognition-130126/



รายงานระบุว่าข่าวขนาดยาวของหนังสือพิมพ์เจ้าใหญ่ในอเมริกาจำนวนมากลดลงกว่าครึ่ง

ทั้งนี้ข่าวขนาดยาวตามนิยามของรายงานคือข่าวที่มีความยาวเกิน 2000 คำ ซึ่งหนังสือพิมพ์อย่าง Los Angeles Times มีบทความขนาดยาวที่ว่านี้ลดลงไปจากเดิมถึง 85% ส่วนที่ลดหลั่นลงมาคือ Washington Post ที่ลดไปจากเดิม 50% และ New York Times ที่ลดลงไป 25%

อย่างไรก็ดีการลดลงของปริมาณคอลัมน์ข่าวขนาดยาวในหนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้หมายความง่ายๆ ว่าคนอ่านหนังสือกันน้อยลง แต่มันสะท้อนให้เห็นการปรับตัวของหนังสือพิมพ์ในภาวะที่ต้นทุนหน้ากระดาษสูงขึ้น ไปจนถึงการย้ายของงานเขียนข่าวขนาดยาวไปที่สื่อรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์เล่มแบบดั้งเดิม

News Source: http://paidcontent.org/2013/01/22/is-the-decline-in-longform-newspaper-journalism-a-good-thing-or-a-bad-thing/



นักกฏหมายสิทธิมนุษยชนระดับโลกที่คอการเมืองไทยน่าจะรู้จักดีอย่าง Robert Amsterdam ไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมกฏหมายของคดี Megaupload แล้ว

ทั้งนี้ Kim Dotcom จำเลยในคดี Megaupload ดูจะจ้าง Amsterdam มาจัดการกับคดีนี้ในแง่สิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะ โดยเฉพาะกรณีที่เขาคิดว่าน่าจะมีการสมคบคิดกันระหว่างๆ รัฐกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกาในการบุกจับเขาอย่างใหญ่โตในบ้านพักของเขาที่นิวซีแลนด์ในวันที่ 20 มกราคม 2012

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130121/16171021747/kim-dotcom-hires-human-rights-lawyer-to-claim-mpaas-chris-dodd-targeted-him-contract-prosecution.shtml , http://arstechnica.com/tech-policy/2013/01/in-attendance-the-mega-crew-parties-prepares-for-a-fight-ahead/

 

ลูกหลานของเชอร์ชิลล์คิดเงินค่าลิขสิทธิ์ "โควต" เชอร์ชิลล์ในหนังสือชีวประวัติของเชอร์ชิลล์เป็นรายคำ

โดยคิดคำละ 50 เซนต์ และตอนหลังลดราคาให้เหลือประมาณ 40 เซนต์ ทางผู้เขียนชีวประวัติก็เลือกที่จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์โดยไม่โต้แย้งอะไรเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับครอบครัวเชอร์ชิลล์

ทั้งนี้ "สิทธิในการอ้างอิง" เป็นข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามปกติของกฏหมายลิขสิทธิ์ทั่วโลก และเท่าที่ทราบก็ยังไม่มีศาลที่ใดที่จะตัดสินว่าการ "โควต" คำพูดหรือกระทั่งข้อเขียนในรูปแบบใดๆ นั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งต่างจากการ "โควต" สื่อชนิดอื่นๆ ที่การโควตเพียงนิดเดียวอาจถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทั้งสิ้น

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130118/16193821734/churchills-heirs-seek-to-lose-future-charging-biographer-to-quote-his-words.shtml

 

23-01-2013

ภาพยนตร์สารคดี TPB AFK: The Pirate Bay Away From Keyboard Official เตรียมเปิดตัวฉายออนไลน์และฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินพร้อมๆ กันในวันที่ 8 ก.พ. 2013

ซึ่งนี่ทำให้นี่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เปิดตัวออนไลน์และเทศกาลภาพยนตร์เกรดเอไปพร้อมๆ กัน

อนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการสู้คดี The Pirate Bay ของบรรดาผู้ก่อตั้งเว็บไซต์บิตทอร์เรนต์ชื่อก้องโลก The Pirate Bay ซึ่งตลอดปี 2012 ที่ผ่านมาถูกกลุ่มอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ขอหมายศาล "บล็อค" ไปหลายต่อหลายประเทศ ซึ่งก็มีการเปิดเว็บพร็อกซี่เพื่อหลบเลี่ยงการบล็อคโดย Pirate Party ในประเทศนั้นๆ ซึ่งก็นำมาสู่การฟ้องร้องให้บล็อคพร็อกซี่อีกชั้น ซึ่งก็ได้ผลสรุปคละเคล้ากันไป

News Source: http://torrentfreak.com/pirate-bay-documentary-first-ever-to-premiere-online-and-at-major-festival-130122/ , https://www.facebook.com/tpbafk


24-01-2013

ศาลเนเธอร์แลนด์ปฏิเสธที่จะดำเนินคดีอาญากับนักสำเนาเถื่อนผู้อัปโหลดหนังสือกว่า 5000 เล่มขึ้นเว็บ The Pirate Bay

ทางศาลระบุว่าตามนโยบายของรัฐแล้ว การดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์จะสมควรได้รับดำเนินคดีอาญาก็ต่อเมื่อผู้ละเมิดเป็นองค์กรอาชญากรรมและการละเมิดเป็นการละเมิดในเชิงพาณิชย์เท่านั้น นี่เป็นการละเมิดโดยปัจเจกบุคคลและไม่ได้เป็นไปในเชิงพานิชย์ ดังนั้นนี่จึงเป็นเรื่องของเจ้าของสิทธิสิทธิ์ต้องดำเนินคดีเองในทางแพ่ง ไม่ใช่ใช้ทรัพยากรรัฐดำเนินคดีในทางอาญา

ทั้งนี้คดีนี้เป็นคดีฟ้องร้องผู้อัปโหลดไฟล์บนเว็บบิตทอร์เรนต์ในเนเธอร์แลนด์ และผู้ฟ้องร้องก็ไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็น "นักล่านักสำเนาเถื่อน" (Pirate Hunter) หรือกลุ่มต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ชื่อดังของเนเธอร์แลนด์และยุโรปนาม BREIN ผู้ขอหมายศาลให้บล็อคเว็บ The Pirate Bay ในเนเธอร์แลนด์นั่นเอง

News Source: http://torrentfreak.com/court-refuses-to-try-self-confessed-pirate-bay-uploader-130123/

 

วงอินดี้บลูส์ร็อค The Black Key ฟ้องบริษัทที่ทำเพลงโฆษณาให้แม็คโดนัลด์ฐานเพลง "ฟังดูคล้ายๆ" เพลงของวง

ทั้งนี้งานโฆษณาจำนวนมากที่ไม่ต้องการซื้อสัญญาอนุญาตใช้เพลงดังๆ ที่มีราคาสูง ก็ต้องจ้างคนทำเพลงให้ "ฟังคูคล้ายๆ"

ปัญหาคือการ "ฟังดูคล้ายๆ" ที่มันละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่? ในกรณีนี้ไม่ควรพูดเรื่องเจตนาเนื่องจากมีความชัดเจนอยู่แล้วว่ามีความตั้งใจทำให้ฟังดูคล้ายๆ ปัญหาคือเจ้าของลิขสิทธิ์มีความเป็นเจ้าของงานของเขาในระดับนามธรรมขนาดที่งานที่แค่ฟังดูคล้ายๆ จะเป็นการละเมิดเลยหรือ? ถ้านับว่าการ "ฟังดูคล้ายๆ" เป็นการละเมิดแล้ว มันจะส่งผลต่อการผลิตงานล้อเลียน (ที่จะต้อง "ฟังดูคล้ายๆ" อย่างเลี่ยงไม่ได้) แค่ไหน? อย่างไร?

News Source: http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130123blackkeys

 

รายงานเพื่อความโปร่งใสองค์กรของ Google ชี้ว่ารัฐบาลหลายๆ แห่ง ขอการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้จากทาง Google มากขึ้นเรื่อยๆ โดยยอดการขอล่าสุดตอนสิ้นปีที่แล้วเพิ่มกว่าเมื่อปี 2009 ถึง 70%

ทั้งนี้อเมริกามีสิ่งที่รียก Administrative Subpoena ที่เรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลได้โดยไม่ต้องใช้หมายศาล (หรือไม่ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ว่าเจ้าหน้าทีมีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลนั้นๆ กับศาล) และการเรียกร้องจำพวกนี้เป็นรูปแบบการเรียกร้องข้อมูลส่วนใหญ่ของสหรัฐต่อ Google

อย่างไรก็ดีในภาพรวมยอดการเรียกร้องให้ Google เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ที่เพิ่มมาสูงสุดตั้งแต่กูเกิลเปิดเผยสถิตินี้มาจากรัฐบาลแถบเอเชียแปซิฟิคที่เพิ่มขึ้นกว่า 200% ตั้งแต่ปี 2009 ทางด้านอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้นมากว่า 100% ทางยุโรปเพิ่มขึ้นมาเกือบ 100% ส่วนภูมิภาคที่การเรียกร้องให้ Google เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ลดลงได้แก่ละตินอเมริกาที่ลดลง 60%

News Source: http://gigaom.com/2013/01/23/google-releases-new-government-surveillance-data-facebook-stays-mum/,  https://www.eff.org/deeplinks/2013/01/google-releases-transparency-report-showing-us-surveillance-requests-33-last-year, http://www.techdirt.com/articles/20130123/12032021768/government-demanding-more-more-info-google-users-without-any-oversight.shtml

 

25-01-2013

แคนาดาปฏิเสธการส่งเซิร์ฟเวอร์ Megaupload ทั้งหมดให้อเมริกา

อเมริกาเรียกร้องให้แคนาดาส่งเซิร์ฟเวอร์ของ Megaupload มาเพื่อเป็นหลักฐานทั้งเซิร์ฟเวอร์ แต่แคนาดาปฏิเสธโดยกล่าวว่าเป็นการเรียกร้องที่กว้างเกินไป ถ้าต้องการหลักฐานตั้งระบุมาเฉพาะเจาะจงกว่านี้

ทั้งนี้คดี Megaupload ดำเนินมากว่า 1 ปีแล้วและรัฐบาลสหรัฐก็ทำการยึดเซิร์ฟเวอร์จำนวนมากในขอบเขตอำนาจไว้เป็นหลักฐานทำให้ข้อมูลของผู้ใช้ Megaupload นั้นถูกสหรัฐริบไปเป็นของกลางและก็เกิดการรณรงค์ให้ปลดปล่อยข้อมูลเหล่านี้โดยนักกิจกรรมอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก แต่ล่าสุดการรณรงค์ก็ยังไม่สัมฤทธิ์ผลแต่อย่างใด

News Source: http://www.jdsupra.com/legalnews/cloud-computing-law-balancing-privacy-a-35021/



องค์กรบริหารลิขสิทธิ์งานดนตรีของเยอรมันเอาวีดีโอเปิดตัว MEGA ลงจาก Youtube

GEMA หรือ องค์กรบริหารลิขสิทธิ์งานดนตรีของเยอรมันได้แจ้งให้ YouTube ลบวีดีโองานเปิดตัวเว็บ MEGA ของ Kim Dotcom ลงฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ฝ่าย Dotcom ออกมาโต้ว่าดนตรีในงานเป็นเพลงที่เขาทำขึ้นเองทั้งนั้น และถ้าใช้เพลงของคนอื่นๆ มันก็ได้รับอนุญาตในการใช้หมดแล้ว ขณะนี้ Dotcom จึงกำลังเตรียมฟ้อง GEMA กลับเพื่อให้วีดีโองานเปิดตัวเว็บใหม่ของเขากลับมาใน YouTube

News Source: http://torrentfreak.com/mega-launch-video-removed-from-youtube-by-music-rights-outfit-130124/ , http://www.techdirt.com/articles/20130124/01351421774/gema-takes-kim-dotcoms-mega-launch-party-video-down-despite-all-songs-being-cleared.shtml

 

รายงาน New Sky Is Rising ของ Techdirt ออกแล้ว

Techdirt ได้ออกรายงานสภาวะของอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมตั้งแต่หนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี ซอฟต์แวร์ เกม ฯลฯ ในหลายๆ ประเทศในโลกมาแล้ว ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.techdirt.com/skyisrising2/  

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130123/17195321772/announcing-our-new-sky-is-rising-report.shtml



Amazon ซื้อ Ivona อันเป็นบริษัทซอฟต์แวร์เปลี่ยนตัวหนังสือเป็นคำพูดแล้ว

ทั้งนี้ก็มีการวิเคราะห์ว่าการซื้อบริษัท Ivona นั้น Amazon พยายามจะใส่เทคโนโลยีนี้ลงไปใน Kindle เพราะทาง Amazon กำลังมีปัญหาว่าการเซ็นสัญญากับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยให้นำ Kindle ไปใช้ถูกประท้วงโดยสมาพันธ์คนตาบอดอเมริกา เนื่องจากคนตาบอดใช้อุปกรณ์นี้ไม่ได้ คาดว่าเทคโนโลยีที่ Amazon ซื้อมาพร้อมบริษัท Ivona นี้จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์กันว่า Amazon กำลังพัฒนาสมาร์ทโฟนอยู่และเทคโนโลยีที่ซื้อมาใหม่นี้ก็เพื่อมาสู้กับเทคโลยี Siri ของทาง Apple

News Source: http://gigaom.com/2013/01/24/amazons-acquisition-of-text-to-speech-company-ivona-could-help-it-battle-siri-and-lawsuits/

 

รัฐบาลแอนดิกัวเตรียมเปิดเว็บไซต์ "ละเมิดลิขสิทธิ์" สินค้าสหรัฐอย่างชอบธรรมตามคำตัดสินของ WTO

ตอนแรกแอนติกัวป็นประเทศที่ดำเนินธุรกิจการพนันออนไลน์ที่ซึ่งทางประเทศเคยมีมูลค่าร่วมหลายพันล้านดอลลาร์ แต่พอสหรัฐตั้งกำแพงการค้าขึ้น โดยการแบนไม่ให้พลเมืองสหรัฐใช้บริการเว็บไซต์การพนันของแอนติกัว  เว็บไซต์เหล่านี้ก็ขาดรายได้ไปมหาศาล แล้วในที่สุดอุตสาหกรรมใหญ่ของแอนติกัวนี้ก็พังหมด ซึ่งทางแอนติกัวก็อ้างว่ากำแพงการค้าของสหรัฐทำให้แอนติกัวเสียรายได้จากธุรกิจการพนันนี้ไปหลักพันล้านดอลลาร์

ผลคือแอนติกัวไปฟ้อง WTO ฐานสหรัฐกีดกันทางการค้า WTO ตัดสินว่าแอนติกัวชนะไปสองครั้ง แต่สหรัฐทำเป็นไม่สนใจตลอด สุดท้ายแอนติกัวเสนอว่าตนมีสิทธิ์ในการ "ละเมิดลิขสิทธิ์" สินค้าสหรัฐเพื่อทดแทนความเสียหายที่สหรัฐตั้งกำแพงทางการค้า ทาง WTO ยอมรับข้อเสนอแต่ระบุว่าแอนติกัวละเมิดลิขสิทธิ์สหรัฐได้เพียงมูลค่า 21 ล้านดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น

ล่าสุดทางรัฐบาลแอนติกัวก็เลยจะเปิดเว็บไซต์ขายทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐในราคาถูกเพื่อใช้สิทธิที่ WTO อนุมัติมาตรงนี้

แน่นอนว่าสหรัฐโวยวายใหญ่บอกว่าถ้าแอนติกัวทำแบบนี้พวกการลงทุนทางเทคโนโลยีจากต่างประเทศก็จะไม่มีไปที่แอนติกัว

อย่างไรก็ดีถ้าแอนติกัวเปิดเว็บไซต์จริงๆ ก็เป็นเรื่องใหญ่แน่ๆ เพราะมันจะถือว่าเป็นการขายของมีลิขสิทธิ์อย่างถูกกฏหมายใหัแก่ชาวโลกในราคาที่ถูกที่สุด

News Source: http://torrentfreak.com/antigua-government-set-to-launch-pirate-website-to-punish-united-states-130124/ , http://www.techdirt.com/articles/20130124/16404121782/10-years-later-antigua-may-finally-really-set-up-official-pirate-site-to-get-back-what-us-owes-sanctions.shtml  , http://www.bbc.co.uk/news/technology-21193634

 

บริษัทขาย MP3 มือสองเตรียมขยายธุรกิจไปยุโรปหลังคำตัดสินศาลยุโรปดูจะสอดคล้องกับโมเดลธุรกิจ

ทั้งนี้คำตัดสินที่ว่าคือคำตัดสินที่ให้บริษัทซอฟต์แวร์ Oracle แพ้คดีที่ไปฟ้องบริษัทขายซอฟต์แวร์มือสองฐานละเมิดลิขสิทธิ์ กล่าวคือศาลยุโรปนั้นรับรองสถานะของตลาดซอฟต์แวร์มือสองแล้ว ซึ่งคำตัดสินนี้ก็ดูจะรับรองสถานะของตลาดวัตถุดิจิตัลอันมีลิขสิทธิ์อื่นๆ ด้วย

ทางด้านอเมริกา ศาลดูจะส่งสัญญาณว่าธุรกิจ MP3 มือสองดูจะเป็นสิ่งผิดกฎหมายเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ดีก็ยังมีหลายๆ คดีที่ต้องติดตามกันต่อไป เช่นคดี "แบบเรียนมือสอง" ของ อ. สุภาพ เกิดแสง กับสำนักพิมพ์ Wiley ซึ่งรอให้ศาลสูงชี้ว่าการซื้อขายของถูกลิขสิทธิ์จากต่างประเทศในอเมริกาจะได้รับการคุ้มครองภายใต้ "หลักการขายครั้งแรก" (First Sale Doctrine) ที่ให้ผู้ซื้อสามารถนำของมีลิขสิทธิ์ที่ตนซื้อไปให้ผู้อื้น ให้เช่า ขาย ฯลฯ ได้โดยไม่ต้องขอเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะถือว่าสิทธิในการผูกขาดการซื้อขายของมีลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นจบสิ้นตั้งแต่ผู้ซื้อได้ซื้อของมาอย่างถูกกฎหมายแล้ว

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130120/19474321739/secondhand-mp3-dealer-redigi-expanding-into-europe-tangling-with-whole-new-set-ip-laws.shtml 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net