Skip to main content
sharethis

กลุ่มผู้ประกอบอาชีพบรรณาธิการออกแถลงการณ์ร้องความเป็นธรรมให้สมยศ ชี้ปัญหาการขยายความและขอบเขตการของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระบุควรยึดพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ 2550 ยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นักโทษทางความคิดต้องได้สิทธิในการประกันตัว สุชาติ สวัสดิศรี ออกตัวควรปรับปรุง112 ไม่ต้องการล้มเลิก

<--break- />

แถลงการณ์จากบางส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพบรรณาธิการ กรณีการตัดสินคดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข

สืบเนื่องจากศาลอาญามีคำตัดสินจำ คุกสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ‘วอยซ์ออฟทักษิณ’ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันเป็นความผิดในฐานะบรรณาธิการที่ต้องรับผิดชอบการเผยแพร่บทความ 2 ชิ้น โดยได้รับโทษทัณฑ์จำคุกเป็นเวลา 10 ปีนั้น

คณะบรรณาธิการ นักเขียน และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ตามรายชื่อท้ายแถลงการณ์ ใคร่ขออนุญาตแสดงความเห็น ดังต่อไปนี้

1.คณะบรรณาธิการ นักเขียน และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เคารพในการวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีนี้ แต่เราเห็นว่าการพิจารณาตัดสินโดยการตีความหมายบทความ 2 ชิ้น และลงโทษจำคุกจำเลยในฐานะบรรณาธิการเป็นเวลา 10 ปี นอกจากจะก่อให้เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทลงโทษที่รุนแรงในระดับประชาคมโลกแล้ว คดีดังกล่าวยังเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการขยายความและขอบเขตการของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ออกไปเกินกว่าความหมายที่แท้จริง ทั้งที่จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดด้วยตนเอง นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ 2550 ได้มีบทบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 จำเลยในฐานะบรรณาธิการจึงควรได้รับประโยชน์จากกฎหมายใหม่ที่เป็นคุณกว่ากฎหมายเดิม ด้วยการไม่ถือเป็นผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรค 2

2.ในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแสดงความคิดเห็น เราขอยืนยันในหลักการว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมือง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในอารยะประเทศ การสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวด้วยกรรมวิธีใดก็ตาม ย่อมขัดแย้งกับหลักพื้นฐานดังกล่าว

3.ความผิดอันสืบเนื่องมาจากความคิด ไม่ควรได้รับการลงทัณฑ์เยี่ยงอาชญากรคดีอุกฉกรรจ์

4.ผู้ต้องหาคดีการเมืองทุกคนควรได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดีโดยเสมอหน้ากันใน ทุกชั้นศาล เนื่องจากเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองไทยที่ได้รับการรับรองตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ตลอดจนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

5.เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้นกับความคิดเห็นที่แตกต่าง การใช้ความรุนแรงไม่ว่าทางวาจา ข่มขู่คุกคามด้วยกำลัง หรือใช้มาตรการรุนแรงทางกฎหมาย รังแต่จะก่อให้เกิดการขยายวงลุกลามบานปลาย ไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย


ด้วยความนับถือ


สุชาติ สวัสดิ์ศรี | อดีตบรรณาธิการบริหาร ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’, ‘โลกหนังสือ’, ‘บานไม่รู้โรย’, ‘ช่อการะเกด’

เวียง-วชิระ บัวสนธ์ | บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน

‘สนานจิตต์ บางสพาน’ | นักวิจารณ์ภาพยนตร์และคอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารไทยทีวีสีช่อง 3 (2519-2529) และบรรณาธิการนิตยสาร ลูกทุ่งเอฟเอ็ม

อธิคม คุณาวุฒิ | บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Way

นิวัต พุทธประสาท | บรรณาธิการสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม

ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล | บรรณาธิการสำนักพิมพ์สมมติ

เรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์ | บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผจญภัย

.................................

 

หมายเหตุเพิ่มเติม (จาก สุชาติ สวัสดิ์ศรี) : ในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพบรรณาธิการที่ต้องเกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นมาตลอดระยะเวลา 50 ปี ผมเห็นด้วยกับแถลงการณ์ที่มีเหตุผลปรากฏทั้ง 5 ประการ โดยเฉพาะในข้อ 2 ที่ว่า “..สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในอารยะประเทศ การสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวด้วยกรรมวิธีใดก็ตาม ย่อมขัดแย้งกับหลักพื้นฐานดังกล่าว” และเห็นด้วยกับเหตุผลที่ว่ากรณีการตัดสินคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุขครั้งนี้เป็น “..ตัวอย่างสาธิตการขยายขอบเขตการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” ดังเคยมีตัวอย่างในกรณี ‘อากง’ มาก่อนหน้า เพราะขอบเขตการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นไปอย่างรุนแรง

ผมจึงเห็นด้วยในหลักการว่าควรมีการปรับปรุงกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้เหมาะควร ผมมิได้ต้องการให้ล้มเลิก แต่ต้องการให้ปรับเปลี่ยนกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อปลอดพ้นจากการสร้าง “บรรยากาศแห่งความกลัว” ผมไม่รู้จักนายสมยศเป็นการส่วนตัว และนิตยสาร ‘วอยซ์ ออฟทักษิณ’ เท่าที่เคยเห็นอยู่ 1-2 ฉบับก็ประเมินได้ทันทีว่าไม่ใช่นิตยสารในอุดมคติของผม เนื่องจากเอียงข้างไปทางตัวบุคคลและกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งมากกว่าเป็นสื่อมวลชนในความหมายของ “ฐานันดรที่ 4”

แต่การแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะเห็นต่างหรือเห็นพ้องที่ปรากฏใน “สื่อ” ทั้งหลาย ถือเป็น “สิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในอารยะประเทศ” ที่ประเทศนี้เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ดังนั้นเมื่อต้องการจะเป็น “อารยะประเทศ” ในสังคมเปิดที่เรียกว่าประชาธิปไตย เราจึงไม่ควรสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวด้วยกรรมวิธีที่ขัดแย้งกับ หลักการพื้นฐานดังกล่าว (ความรุนแรงทางวาจา การข่มขู่คุกคามด้วยกำลัง การใช้ความรุนแรงทางกฎหมาย) กล่าวคือ เราต้องเทศนาในสิ่งที่เราเชื่อ (ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) ผมคิดว่าการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเห็นพ้องหรือเห็นต่าง ไม่ใช่การประกอบอาชญากรรมแบบอาชญากร ผมมีการเมืองไม่พอที่จะตัดสินความขัดแย้งของ “สีเสื้อ” ต่างๆ ที่ปรากฏในปัจจุบัน แต่มีหลักการพอว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทางกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการแสดงความเห็นครั้งนี้ก็พ้นไปจากตัวบุคคลและกลุ่ม “สีเสื้อ”

 

ดังนั้น จะเรียกผมว่า ‘สลิ่ม’ ในความหมายของคำว่า Sceptic [นักกังขาคติ = คนที่ข้องใจความคิดซึ่งเป็นที่ยอมรับ] ผมก็ยินดี ผมขอแสดงความวิตกกังวลในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพบรรณาธิการและในฐานะ “สลิ่ม” ที่เห็นว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองใน ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

หรือว่าประเทศนี้เป็นอย่างอื่นที่ผมไม่ทราบ ดังนั้นจึงมีการบริหารอำนาจในรูปแบบของ “การใช้ความรุนแรงทางกฎหมาย” ปรากฏอยู่เสมอ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net