Skip to main content
sharethis

 

“ปธ.สภาอุตสาหกรรม” รอรัฐช่วยชดเชยค่าจ้าง 300

ที่พรรคภูมิใจไทย   มีการจัดเสวนาเเรื่อง “ค่าแรง 300 บาท กับเศรษฐกิจและสังคมไทย”โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นประธาน โดยรับฟังปัญหาจากทุกภาคส่วนก่อนนำเสนอปัญหาและแวทางการแก้ไขส่งต่อไปให้ รัฐบาลเพื่อทำการแก้ไขต่อไป

นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ  นักวิชาการด้านแรงงาน  กล่าวว่า นโยบายพรรคเพื่อไทยที่มีผลต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น300 บาททั่วประเทศเป็นการปรับมากกว่า10% อย่างไม่มีมาก่อน รัฐบาลควรส่งเสริมทั้งทางตรงและอ้อมเพิ่มผลิตภาพการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและ คุณภาพ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ที่จะทำให้สถานประกอบการอยู่ได้ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมในการสัมมนาต่างเห็นสอดคล้องในเรื่องการปรับผลิตภาพการ ผลิตให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

นายธารินทร์ ผะเอม รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าเรื่องนี้ผลกระทบในแต่ละพื้นที่ แต่ละประเภทอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบในระดับที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องปรับตัว แม้จะเป็นภาวะที่ยากลำบากซึ่งภาพรวมทางเศรษฐกิจ ยังอยู่ในภาวะปกติไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ การลงทุนต่างประเทศในไทย แม้ว่าบางสถานประกอบการ ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท อาจเป็นเส้นฟางสุดท้าย ที่ทำให้บางอุตสาหกรรมอยู่ไม่ได้ ทุกฝ่ายจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและให้ความสำคัญกับทักษะ ฝีมือ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่เป็นความยั่งยืน

ด้านนายอธิภูมิ กำธรวรรินทร์ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง กล่าวว่ามาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล สถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ เนื่องจากสถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีกำไร ทั้งนี้สถานประกอบการที่มีกำไรถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษีมีส่วนน้อยเพียง 5-7% เท่านั้น ดังนั้นสถานประกอบการส่วนใหญ่จึงอยู่ในสภาพหน้าชื่น อกตรมที่เผชิญกับปัญหาทั้งการขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างมีปรับสูงขึ้นมาก จึงกดดันอย่างมาก ซึ่งเราไม่ปฏิเสธเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300บาทแต่ขอชะลอการบังคับใช้ไปอีก 2 ปีเพื่อที่จะปรับโครงสร้าง แต่เมื่อเป็นนโยบายแกมบังคับ ก็เกรงว่านายจ้างจ่ายได้ไม่เท่าไรก็ต้องปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงาน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท ส่งผลกระทบอย่างมากกับสถานประกอบการในภูมิภาคโดยบางจังหวัดมีการปรับทั้งสอง รอบคือวันที่1 เมย. 2555 และ1 มค. 2556 มีการปรับเพิ่มมากถึง 80% ซึ่งถือเป็นภาระหนัก ขณะที่มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลดูแล้วไม่สอดคล้องกับความต้องการ ที่เหมือนกำลังจะจมน้ำอยู่แล้ว ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือก่อนที่จะจม ไม่ใช่จม จึงมาช่วยที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ยากยิ่งขึ้น

“เรายังคงเฝ้ารอมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลในเรื่องการตั้งกองทุนชดเชย ส่วนต่าง ที่เป็นมาตรการช่วยเหลือที่แก้ปัญหาตรงจุด สภาอุตสาหกรรมมีมาตรการช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่ม SME ในเรื่องของคำแนะนำในการปรับโครงสร้าง การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน รวมถึงสนับสนุนโดยการสั่งซื้อ ช่วยหาตลาด กระตุ้นการผลิต ทั้งนี้สถานประกอบใดที่ต้องการความช่วยเหลือขอให้มีการแจ้ง เพื่อที่หาทางช่วยเหลือต่อไป”นายพยุงศักดิ์ กล่าว

ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า หลังจากนี้ 3-4 เดือนจะเห็นผลกระทบในเรื่องการปรับค่าจ้างขึ้น 300 บาท ซึ่งการปรับในครั้งนี้จะมีผลต่อจังหวัดในภูมิภาคที่ห่างไกล ที่ไม่มีเครือข่ายสหภาพแรงงาน ทำให้ขาดการเชื่อมโยงในการรับรู้ถึงปัญหา โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ตั้งศูนย์รับแจ้งผลกระทบต่อลูกจ้าง เพื่อให้การช่วยเหลือ รวมถึงผลักดันให้ฝ่ายต่างๆให้แก้ไขผลกระทบต่อลูกจ้าง

(เดลินิวส์, 22-1-2556)

 

พนักงาน ธนาคารกรุงเทพชุมนุมขอสวัสดิการ-โบนัสเพิ่ม

วันที่ 22 ม.ค.เวลาประมาณ 12.00 น. มีรายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพประมาณ 100 คน นำโดย นายชัยวัฒน์ มาคำจันทร์ ประธานสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ นัดชุมนุมบริเวณหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ ถนนสีลม เพื่อเรียกร้องต่อผู้บริหารเรื่องเงินโบนัส และ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในข้อต่างๆ ดังนี้
 
- ขอคืนโบนัสที่อัตรา 4 เดือนเหมือนในอดีต เพราะปัจจุบันธนาคารจ่าย 2 เดือน
- ขอคืนเงินประทังชีวิตหลังเกษียณจากอัตราปัจจุบัน 3 แสนบาทต่อราย เป็น 4.5 แสนบาทต่อราย
- ขอคืนอัตราขึ้นเงินเดือนที่ 6% เท่ากันทั้งธนาคาร หลังจากที่ปรับให้พนักงานประจำ 3% การตลาดฝ่ายขาย 6%
- แก้ไขการจ่ายคืนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากปัจจุบันคิดเป็นอันดับขั้น ให้คิดเป็น 7% เท่ากันทั้งธนาคาร

โดยในวันที่ 24 ม.ค. กลุ่มสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ จะเดินทางไปที่กระทรวงแรงงาน เพื่อไกล่เกลี่ยกับผู้บริหาร ซึ่งหากยังไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะยกระดับความรุนแรงในการเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยจะดึงกลุ่มสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย ที่รวบรวมสหภาพแรงงานของธนาคารอื่นๆ เข้ามาร่วมชุมนุม แต่ถ้ายังไม่มีการตอบรับจากฝ่ายบริหาร พนักงานก็จะยกระดับยื่นเรื่องขอหยุดงาน

(ประชาชาติธุรกิจ, 22-1-2556)

 

ครสท. ชี้รัฐต้องตั้งกองทุนชดเชยเลิกจ้างให้แรงงาน-แนะตรวจสอบต้นตอนายจ้างปิดกิจการ

23 ม.ค. 56 - ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กทม. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)จัดแถลงข่าวเรื่อง “ข้ออ้าง 300บาทกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม” โดยนายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.แถลงยื่นข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน จำนวน 5 ข้อ ได้แก่ 1.ให้กระทรวงแรงงานเสนอรัฐบาลตั้งกองทุนค่าชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมาย เพื่อจ่ายให้ลูกจ้างทันทีที่ถูกเลิกจ้างเมื่อไม่ได้รับค่าชดเชยจากสถาน ประกอบการ และให้กระทรวงแรงงานไปดำเนินการเรียกเก็บกับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบ การเพื่อนำกลับเข้าคืนกองทุนต่อไป 2.ให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่บริษัทหลบเลี่ยงกฎหมาย ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย โดยมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ จะต้องมีมาตรการในการดำเนินคดีอาญากับนายจ้างด้วย ไม่ใช่เพียงไกล่เกลี่ยให้ลูกจ้างรับเงินตามที่นายจ้างเสนอเท่านั้น

นายชาลี กล่าวว่า 3.รัฐบาลไม่ควรปัดความรับผิดชอบในการให้ลูกจ้างต้องมาต่อรองสิทธิกับนายจ้าง เพียงลำพัง โดยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและยั่งยืนในการช่วยเหลือในกรณีอย่างนี้ และเปลี่ยนทัศนคติต่อแนวคิดที่ว่า แรงงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ โดยต้องคำนึงและให้ความสำคัญต่อความผูกพันกับชุมชนและประเพณีในพื้นที่4.ให้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหางานหรืออาชีพให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทุกคนโดยทันที ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงสภาพการดำรงชีพที่ต้องไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 5.ให้กระทรวงแรงงานตั้ง "คณะกรรมการตรวจสอบสถานประกอบการที่มีการเลิกจ้างคนงานและปิดกิจการ หลังจากมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท"เพื่อตรวจสอบสถานการณ์และค้นหาข้อเท็จจริงของบริษัทแต่ละแห่งที่เลิก จ้างว่ามีสาเหตุมาจากอะไรมีเหตุจำเป็นถึงขนาดจะต้องเลิกจ้างหรือไม่โดยคณะ กรรมการฯที่ตั้งขึ้นจะต้องประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง นักวิชาการด้านแรงงาน นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ

ประธาน คสรท. กล่าวอีกว่า ตั้งแต่วันที่1 มกราคมที่ผ่านมา มีแรงงานสอบถามและร้องเรียนเข้ามาที่ คสรท.จำนวน 16 สาย คาดว่ามีแรงงานที่เกี่ยวข้องประมาณ2,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างบริษัทซับคอนแทรกต์ที่ทำงานในหน่วยงานราชการต่างๆ โทร.เข้ามาสอบถาม เนื่องจากกังวลว่าจะไม่ได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท ส่วนกรณีร้องเรียน ได้แก่ กรณีที่แรงงานหญิงตั้งครรภ์ทำงานอยู่ในโรงงานฉีดสารพลาสติก จ.ฉะเชิงเทรา ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา แต่นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้เป็นอัตราค่าจ้างของปี 2555 และกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าล่วงเวลา รวมทั้งนำสวัสดิการต่างๆมารวมเป็นค่าจ้างด้วย

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท. กล่าวว่า เหตุที่รัฐบาลต้องตั้งกองทุนค่าชดเชยการเลิกจ้างให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดย ไม่รับการจ่ายเงินค่าชดเชยจากนายจ้าง เพราะเมื่อลูกจ้างใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลแรง งาน โดยการยื่นแบบคำร้อง คร.7 จะได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จำนวน 2เดือนของค่าจ้าง ซึ่งน้อยกว่าเงินค่าชดเชยการเลิกจ้าง 10 เดือนที่นายจ้างต้องจ่ายตามกฎหมาย ทั้งนี้ การฟ้องร้องในชั้นศาลเพื่อทวงคืนเงินค่าชดเชยจากนายจ้างต้องใช้ระยะเวลานาน หลายปี ทำให้ลูกจ้างเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า คสรท.ไม่เห็นด้วยกับมาตรการการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการ ปรับค่าจ้าง300 บาทของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลใช้มาตรการช่วยนายจ้างมากเกินไป ซึ่งเงินที่นำไปช่วยมาจากภาษีประชาชนทั้งสิ้น นอกจากนี้ อีกปัญหาที่รัฐบาลต้องตรวจสอบ คือการที่บริษัทใช้วิธีปิดกิจการ เพราะต้องการเลิกจ้างลูกจ้างเก่าทั้งหมด แล้วไปตั้งบริษัทใหม่เพื่อจ้างลูกจ้างรายใหม่แทน ทำให้ไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างเก่า

(ข่าวสด, 23-1-2556)

 

พนักงานแบงก์กรุงเทพ ประท้วงเรียกร้องเงินเดือนและสวัสดิการ

วันที่ 25 ม.ค. 56 ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ สหภาพแรงงานนำโดยนายชัยวัฒน์ มาคำจันทร์ ประธานสหภาพ พร้อมด้วยสมาชิกกว่า 500 คน รวมตัวกันเรียกร้องค่าสวัสดิการ (โบนัส) จำนวน 4 เดือน พร้อมกับขอปรับเงินเดือนอีก 6 เปอร์เซ็นต์ พร้อมเรียกร้องค่าครองชีพหลังเกษียณตามระเบียบเดิมที่จะได้คือ 4.5 แสนบาท แต่ถูกปรับลดเหลือ 3 แสนล้านบาท โดยผู้บริหารไม่สามารถอธิบายได้ว่า เงินที่หายไป 1.5 แสนบาทหายไปไหน ทั้งที่ ธนาคารมีผลกำไรมากถึง 3.3 หมื่นล้านบาท  ขณะที่ในปีก่อนหน้านี้  มีกำไรเพียง 2 หมื่นกว่าล้าน กลับจ่ายโบนัสมากถึง 5-6 เดือน หรือจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นหุ้นละ 3 บาทในปี 2554 ซึ่งทั้งหมดไม่ได้เป็นการดูแลสวัสดิการพนักงานในปัจจุบันเท่าที่ควร โดยพนักงานที่มารวมตัวกัน ได้ชูป้ายเรียกร้องพร้อมกับแถลงการณ์เรียกร้อง อีกทั้ง เดินขบวนรอบอาคารสำนักงาน
 
ทั้งนี้ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า จากการเจรจากันหลายครั้ง ยังไม่มีคำตอบจากผู้บริหารในแนวทางที่เรียกร้องไป ขณะเดียวกัน ยังไม่มีคำชี้แจงจากผู้บริหารอย่างชัดเจน    จึงเป็นที่มาของการรวมตัวในวันนี้
 
อนึ่งในปี 2554 ธนาคารได้ประกาศเปลี่ยนเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน จากอัตราเดียวเป็นหลายอัตราแบ่งตามช่วงอายุงาน และยกเลิกเงินบำเหน็จโดยพลการ และมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเดิมโดยไม่ยุติธรรม 
 

(มติชนออนไลน์, 25-1-2556)

 

ก.แรงงาน ทำคู่มือพร้อมจ่ายอัตราค่าจ้าง 300 บาท-เกาะติดสถานการณ์วันต่อวัน

25 ม.ค. 56 - นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้จัดทำคู่มือแนวทางการดำเนินงานศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการให้พร้อมจ่าย อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานและจังหวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ใช้เป็น แนวทางในการปฏิบัติภารกิจในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ และนายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบของรัฐบาลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล รวดเร็ว และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับเนื้อหาของคู่มือประกอบด้วย มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2556 และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) แนวทางการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้น ขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงานของศูนย์สนับสนุนฯ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค อาทิ การเตรียมความพร้อมของศูนย์ฯ การประชาสัมพันธ์แก่ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และสื่อมวลชน การให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี การเฝ้าระวังและการแก้ไขปัญหา ตลอดจนการสรุปสถานการณ์ประจำวัน

โดยมีการกำหนดแบบฟอร์มรายงานแบบรายวัน ราย 15 วัน และรายเดือน กรณีประจำวัน อาทิ รายงานการเลิกจ้างเนื่องจากผลกระทบ 300 บาท การขึ้นทะเบียนของผู้ประกันตนกรณีว่างงาน การลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือของผู้ประกอบการ และรายงานสถานการณ์ด้านแรงงานและสถานประกอบการ กรณีราย 15 วัน อาทิ รายงานการฝึกอาชีพ จำนวนผู้ประกันตนที่มาขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน การติดตามผลและการประสานให้ความช่วยเหลือ ส่วนกรณีรายเดือน อาทิ การรายงานตำแหน่งงานและการบรรจุงาน สถานประกอบการและผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม มาตรา 33

(สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 25-1-2556)

 

คมนาคม สั่ง 9 รัฐวิสาหกิจในกำกับ จัดทำแผนรับมือพนักงานผละงานประท้วง หวั่นซ้ำรอยการบินไทย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ 9 รัฐวิสาหกิจในกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ที่มีสหภาพแรงงาน จัดทำแผนรับมือพนักงานชุมนุมประท้วงหยุดงาน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการประชาชนโดยจะต้องประเมินสถานการณ์หรือความ เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาไว้ล่วงหน้า พร้อมกับแต่งตั้งผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นผู้เจรจาเป็นขั้นเป็นตอนหาก เกิดเหตุ และให้ส่งแผนอย่างละเอียดกลับมาให้พิจารณาภายใน 2 สัปดาห์
         
หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 9 แห่ง ในกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมประกอบด้วย บริษัท การบินไทยบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.)การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.)องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และบริษัท ขนส่ง (บ.ข.ส.) โดยที่ผ่านมามีเพียง 2 หน่วยงาน คือ กทท. และกทพ. เท่านั้น ที่มีแผนรับมือเหตุการณ์ประท้วงหยุดงาน
         
"ทางกระทรวงได้กำชับให้แต่ละหน่วยงานประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เช่น หาก ร.ฟ.ท. เกิดเหตุพนักงานประท้วงหยุดงาน ก็ให้ประสาน บ.ข.ส. หรือสมาคมรถบรรทุกเข้ามาช่วยเหลือขนถ่ายคนและขนสินค้าแทน หรือหากบริษัทการบินไทย มีปัญหาก็ให้ประสานกองทัพอากาศเข้ามาให้การบริการช่วยเหลือ ส่วน ทอท. มีการว่าจ้างจากภายนอกหรือเอาต์ซอร์ส เข้ามาดำเนินงานต่างๆ และจะต้องไปพิจารณาว่า ควรจะมีผู้ประกอบการมากกว่า 1 ราย เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือเกิดปัญหาขึ้น จะได้มีตัวเลือก" นายชัชชาติ กล่าว
         
นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่าภายในสัปดาห์หน้าจะเชิญตัวแทนของสหภาพแรงงานของทั้ง 9 หน่วยงานมาเข้าพบเพื่อหารือโดยมีพล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคม ร่วมหารือด้วย ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่าสหภาพแรงงาน กทท.จะมีการชุมนุมเรียกร้องเรื่องเงินค่าล่วงเวลา (โอที) ซึ่งหากจริง ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
         
พล.อ.พฤณท์ กล่าวว่า นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย ได้ยืนยันว่า การประชุมคณะกรรมการบริษัท ในวันที่ 8 ก.พ.นี้ จะไม่มีปัญหาเรื่องของการชุมนุมประท้วงเหมือนที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เนื่องจากในขณะนี้พนักงานมีความเข้าใจสถานการณ์ทางด้านการเงินของบริษัทแล้ว แต่หากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ได้จัดทำแผนเตรียมพร้อมรับมือเอาไว้แล้ว

(โพสต์ทูเดย์, 26-1-2556)

 

ลูกจ้างเฮ! ก.แรงงานชงลดจ่ายประกันสังคม เหลือ 336 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 29 ม.ค.นี้ กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอขอความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงแรงงานรายงานข้อเท็จจริงว่า 1. เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (20 พ.ย. 2555) เห็นชอบมาตรการการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2556 กำหนดมาตรการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่นายจ้างในการออกเงินสมทบเข้ากองทุน ประกันสังคม โดยกระทรวงแรงงานได้พิจารณาลดอัตราเงินสมทบ ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นไปในทำนองเดียวกับที่กระทรวงแรงงานได้เคยช่วยเหลือ บรรเทาภาระของนายจ้างและผู้ประกันตนในการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในช่วงเวลาที่ประเทศประสบอุทกภัย ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 ก.ค. ถึง 31 ธ.ค. 2555 โดยกำหนดให้การลดอัตราเงินสมทบมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 ถึง 31 ธ.ค. 2556 2. การลดเงินสมทบตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะมีผลทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับการลดอัตราเงินสมทบด้วย จากเดิมออกเงินสมทบในอัตราเดือนละ 432 บาท เป็นออกเงินสมทบในอัตราเดือนละ 336 บาท.

(ไทยรัฐ, 28-1-2556)

 

แรงงานขอนแก่นบ่นอุบ! นายจ้างรัดเข็มขัดลดสวัสดิการ

นายวุฒิไกร สุวรรณวานิช เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานหลายแห่งมีการใช้นโยบายรัดเข้มขัด ลดสวัสดิการพนักงาน และเพิ่มศักยภาพแรงงานมากขึ้น หากรายใดทำงานไม่เข้าเป้าก็จะถูกปลดออก ซึ่งแรงงานบางส่วนมองว่าเป็นสถานการณ์ที่ตึงเครียด ต่างกับเมื่อก่อนที่มีการเลี้ยงข้าว นายจ้างให้ยืมเงินกรณีที่ลูกจ้างขาดสภาพคล่อง แต่ตอนนี้ไม่มีเงินให้ยืม เป็นต้น

ดังนั้น จึงมีแรงงานในโรงงานหลายแห่งได้เข้ามาเจรจากับเจ้าของโรงงานเพื่อเป็นสัญญา ใจในการขอค่าจ้างขั้นต่ำไม่ถึงวันละ 300 บาท ตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากเข้าใจสถานการณ์ของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของ รัฐบาล แต่หากเจ้าของกิจการรายใดที่สามารถปรับตัวจนธุรกิจดำเนินการได้ตามปกติแล้ว ก็ต้องปรับค่าจ้างให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม แนวทางเดียวที่รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคือ การจัดสรรงบประมาณ หรือตั้งกองทุนในการช่วยจ่ายส่วนต่างเป็นเวลา 3 ปี เพราะเป็นแนวทางเดียวที่จะช่วยได้ถูกจุด เนื่องจากมาตรการภาษีส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือกิจการที่มีขนาดใหญ่ หรือกิจการที่มีกำไร เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบจากค่าแรงแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทด้วย ขณะที่ สอท.เตรียมเสนอมาตรการบรรเทาต่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเสนอต่อ รัฐบาลพิจารณาเพื่อช่วยเหลือในสัปดาห์นี้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-1-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net