เจ้าหน้าที่รัฐแจงปัญหาโรฮิงญาต่อ กสม. ระบุผิดกฎหมายแต่ยอมผ่อนปรน

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจแจงกรณีโรฮิงญาเป็นการเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ผ่อนปรนและให้การดูแลโดยยึดหลักมนุษยธรรม ขณะนักสิทธิมนุษยชนระบุต้องการแก้ไขเป็นระบบและอาจต้องปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้อง ด้านชาวโรฮิงญาเรียกร้องประชาคมโลกคุ้มครอง ชี้พม่าเหมือนมีการพัฒนาประชาธิปไตย แต่คนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยยังคงถูกฆ่าและละเมิดสิทธิ

28 ม.ค. 2555 อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรฮิงยาที่ถูกจับกุมระลอกล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจชี้เป็นการเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ผ่อนปรนและให้การดูแลโดยยึดหลักมนุษยธรรม ขณะนักสิทธิมนุษยชนชี้ ปัญหาโรฮิงญาต้องการแก้ไขเป็นระบบและอาจต้องปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้อง ด้านชาวโรฮิงญาระบุ พม่าทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับภาพลักษณ์ที่แสดงออกต่อประชาคมโลก ดูเหมือนมีการพัฒนาประชาธิปไตย แต่คนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยยังคงถูกฆ่าและละเมิดสิทธิ

จำนวนโรฮิงยา ที่อยู่ในฐานะผู้ต้องกัก 1486 ราย

พ.ต.อ.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ รอง ผบก.ภ.จว.สงขลาชี้แจงว่า ขณะนี้ชาวโรฮิงยาที่อยู่ในฐานะ “ผู้ต้องกัก” มีจำนวน 1,486 คน โดยได้แยกผู้ต้องกักไว้ในหลายพื้นที่ เพื่อลดความแออัดและเพื่อสามารถดูแลได้ทั่วถึง โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ –พม. ดูแลเรื่องเด็กและผู้หญิง ในส่วนบ้านพักเด็กก็มีการจัดแพทย์พยาบาล ไปดูแลรักษา แยกคนป่วย-ไม่ป่วยออกจากกัน

ส่วนการดำเนินการผลักดันจะเป็นเมื่อไหร่ก็คงต้องให้ส่วนของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการ ในส่วนของท้องที่ก็ดำเนินการเฉพาะความผิดผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้มีกรณีคนไทย 2 ราย โดนจับ และแจ้งข้อหาเรื่องการให้ที่พักพิง

สำหรับการกล่าวถึงปัญหาการค้ามนุษย์นั้น พ.ต.อ. กฤษกรระบุว่า ส่วนใหญ่ชาวโรฮิงญาสมัครใจที่จะเดินทางออกมา จึงเป็นเรื่องบ่งชี้ยากว่าเข้าองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์หรือไม่

ตัวแทนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มี ผู้หญิงและเด็ก 264 คนที่อยู่ในความดูแลของ พม. คน เป็นบ้านพักเด็ก ดช. 38 คน ผูหญิงเกิน 18 จำนวน 26 คน ผู้หญิงต่ำกว่า 18 จำนวน 48 คน โดยดูแลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ และมี 1 รายที่กำลังตั้งครรภ์ 5 เดือนโดยมีภาวะโลหิตจาง ก็ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีมีปัญหาในการดูแลเช่นกันเพราะบ้านพักเด็กและครอบครัวไม่ได้ออกแบบมารองรับผู้ประสบปัญหาทางสังคมมากขนาดนี้ ส่งผลกระทบต่อการให้บริการกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนไทย

ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า นอกเหนือจากการดูแลชั่วคราว ก็จะแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ โดยจะพิจารณาตั้งแต่การรวมครอบครัวสตรีและเด็ก การหาถิ่นที่อยู่ในประเทศต้นทางและเงื่อนไขที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวกลับไปยังพื้นที่ต้นทางโดยความร่วมมือของประชาคมระหว่างประเทศ ถ้าไม่สามารถหาทางออกได้ก็จำเป็นต้องหารือเรื่องถิ่นที่อยู่ แต่ทางออกที่จะเป็นไปได้สูงสุดก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาและต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

 

อนุ กสม. เสนอดูแลปัญหาที่ต้นทาง

นายสมชาย หอมละออ อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตั้งคำถามต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาโรฮิงญาว่า หน่วยงานต่างๆ ได้ตรวจสอบสถานการณ์ไหม ถิ่นที่อยู่ การตั้งข้อหาซึ่งมีผล และกระทรวงการต่างประเทศมีแนวทางการเจรจาแก้ปัญหากับประเทศต้นทางอย่างไร เพราะเป็นแนวทางที่สำคัญมากที่จะลดจำนวนผู้ที่อพยพออกมา ซึ่งเป็นภาระของชาวโลกและเป็นภาระของประเทศไทย

นาย Golam Abbas  จาก UNHCR กล่าวในนามผู้แทนข้าหลวงใหญ่ UNHCR ขอบคุณไทยที่ให้การรับรองชาวโรฮิงญา ทั้งรัฐบาลไทย ส่วนราชการและชุมชนในพื้นที่ โดยระบุว่า ปัญหาโรฮิงญานั้นเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน และทาง UNHCR อยากจะเห็นการให้ความสนบัสนุนด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ UNHCR มีข้อสังเกตหลายๆ อย่างที่เป็นความห่วงใยเกี่ยวกับสถานการณ์โรฮิงญาในปัจจุบัน หนึ่งนั้นก็คือ สถานที่พำนัก ประเด็นเด็กและผู้หญิง โดยอยากให้มีการสนับสนุนน้ำและอาหารแก่คนกลุ่มนี้ และหลังจากที่มีการให้ความช่วยเหลือระยะสั้นก็ต้องมองการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ซึ่งในระดับต่อไปอาจจะมีรูปแบบทวิพาคีและพหุภาคีเพราะปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง

เขากล่าวด้วยว่า UNHCR ตระหนักดีเรื่องปัญหาโรฮิงญา และมีการประสานกับ พม่า มาเลย์ ไทย และอินโดนีเซีย เพื่อร่วมกันดูแลเรื่องดังกล่าว และเราคาดหวังว่าไทยจะช่วยหาทางออกต่อไป

 

ชาวโรฮิงญาร้องขอความคุ้มครองจากประชาคมนานาชาติ

ด้านชาวโรฮิงญาซึ่งเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยกว่า 20 ปี ซึ่งที่เข้าร่วมให้ข้อมูลกับกสม. ระบุว่า โรฮิงญามีหลักแหล่งที่ชัดเจน โดยขณะนี้มีการให้ข่าวว่าชาวโรฮิงยาบางส่วนเป็นชาวบังคลาเทศที่หลบเข้าเมืองอาระกัน ของพม่า ซึ่งเขาระบุว่าไม่เป็นความจริง ชาวโรฮิงญาที่อยู่ในอาระกันเป็นชาวโรฮิงญาที่อยู่ในพม่ามานานแล้ว ไม่ใช่ชาวเบงกาลีที่อพยพมาจากบังคลาเทศ

เขาย้ำว่า การฆ่าคนชาติพันธุ์อื่นในพม่าไม่ใช่มีแต่กรณีของชาวโรฮิงญาเท่านั้น แต่ยังมีความรุนแรงและการฆ่าชาติพันธุ์อื่นๆ ในรัฐอื่นด้วย เช่น คะฉิ่น ซึ่งนี่เป็นด้านที่ตรงกันข้ามกับภาพที่พม่าพยายามแสดงออกว่ากำลังพัฒนาประชาธิปไตย สิ่งที่เขาเรียกร้องคือ ขอให้หยุดการฆ่าพวกเขา สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการปกป้อง

“พวกเราต้องการปกป้องจากนานาชาติ และเรียกร้องยูเอ็น อาซียน เราไม่ได้ต้องการจะอยู่ที่นี่ เราต้องการกลับบ้าน แต่เราต้องการการคุ้มครอง ถ้าไม่มีสันติภาพเกิดขึ้นในอาระกัน ก็จะต้องมีชาวโรฮิงยาหนีตายทางเรือออกมาอีกเป็นพันๆ คน จึงอยากเรียกร้องทุกฝ่ายให้ความคุ้มครองกับชาวโรฮิงยา” นัจมุน อาลาม โชดูรี จากสมาคมโรฮิงญาแห่งประเทศไทยกล่าว

นายวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารมูลนิธิไทยเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล (ทีซีอาร์) วิจารณ์ว่าการแก้ปัญหาของภาครัฐยังไม่ตรงจุด เพราะปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาโดยใช้มุมมองกฎหมาย มองว่าชาวโรฮิงญามีความผิดจากการเข้าเมืองผิดกฎหมาย ขณะที่ชาวโรฮิงญาลี้ภัยความตายมา

“มีชาวโรฮิงญาต้องหนีตายมาตลอด เรากำลังพูดถึงชีวิตของคนที่เขาเดือดร้อนหนีตายมา การที่เขากลายเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองนั้นก็จะต้องถูกกักขังจับกุม จะว่าไปก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน

“เราพูดถึงกฎหมายหลายฉบับ แต่เราไม่ได้พูดถึงภาระหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่เราเป็นภาคีอยู่หลายกรณีทั้ง ICCPR (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน คนเหล่านี้เป็นเหยื่อการทรมาน รัฐไทยมีภาระหน้าที่ที่จะไม่ส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง เป็นกลไกตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นความจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าเขาลี้ภัยหรือไม่”

โดยวรวิชญ์ตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงการต่างประเทศสามารถที่จะอนุญาตให้ทาง UNHCR ได้พิสูจน์ทราบเกี่ยวกับสัญชาติ และทาง UNHCR สามารถกำหนดสถานภาพผู้ลี้ภัยได้ และถึงที่สุดแล้ว ปัญหาโรฮิงญาอาจเป็นการกระตุ้นให้แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและต้องปรับแก้กฎหมายที่มีลักษณะจำกัด

“ผมคิดว่าเราน่าจะมีแนวทางที่จะจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ คงไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างที่ผ่านๆ มา ประเด็นโรฮิงญาเป็นเรื่องที่กระตุ้นเตือนให้เห็นความซับซ้อนของปัญหาและต้องการการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ”

งานต่อไปของ กสม.

ด้านน.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า สิ่งที่ อนุกรรมการฯ จะทำต่อไปคือ จะมีการศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาโรฮิงญา  ประการต่อมาคือ การแก้ไขปัญหาเพาะหน้าเรื่องการที่ชาวโรฮิงยาอพยพหนีภัยมา ซึ่งต้องดูเรื่องเขตแดนไม่ใช่ให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงเท่านั้น โดยเขายกตัวอย่างในอดีตว่า ที่ผ่านมาไทยเคยให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงครามทั้งชาวพม่าและกะเหรี่ยง และค่อนข้างเร่งรัดการส่งกลับ ผลคือผู้ที่ถูกส่งกลับไปไปประสบปัญหากับระเบิดระหว่างชายแดน บางครั้งเมื่อกลับไปแล้วต้องเจอสภาวะสงครามก็กลับมาอีกและต้องหลบซ่อนในป่าหลายหมื่นคน

“เฉพาะหน้า แม้กฎหมายเราเป็นกฎหมายคนเข้าเมืองและไม่ผูกพันกับอนุสัญญาลี้ภัย แต่เราก็ต้องยึดหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ต้องยึดหลักอนุสัญญาเด็กและสตรี การไม่เลือกปฏิบัติ การต่อต้านการทรมาน ที่เราได้ลงนามรับรองเรียบร้อยและเป็นข้อผูกพันระหว่างประเทศที่ต้องเข้าไปดูแล “

ทั้งนี้ น.พ.นิรันดร์กล่าวว่าหลังจากดูแลปัญหาเฉพาะหน้าให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษธรรมแล้ว ต้องทำให้เกิดการพูดคุยระดับภูมิภาค ทั้งในแง่ความเป็นไปได้ที่จะส่งกลับประเทศต้นทาง หรือส่งต่อไปยังประเทศที่สาม

“ผมเชื่อว่ารัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ หรือนายกฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจและเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภูมิภาค ผมคิดว่าต้องทำงานคู่ขนานกันไป ซึ่งทางเลือกมีไม่มาก คือทางเลือกในการกลับไปยังประเทศต้นทางที่พม่า แต่นั้นหมายความว่ารัฐบาลพม่าต้องยอมรับ ดูแลปัญหาความรุนแรง ยอมรับในความหลากหลายทางชาติพันธุ์”  ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท