Skip to main content
sharethis
 
 
53 วันผ่านไป สำหรับการหายตัวไปของ ‘สมบัด สมพอน’ นักกิจกรรมอาวุโสชาวลาว เจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชน ผู้มีชื่อเสียงจากการทำงานส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืน กลางกรุงเวียงจันทน์
 
การนับวันแต่ละวันที่ผ่านไป ดูจะกลายเป็นสิ่งเดียวที่ทำได้ สำหรับการติดตามข้อมูลของผู้ห่วงใย แต่ก็ยังไร้ซึ่งวี่แววของข่าวคราวใดๆ
 
นอกเหนือไปภาพเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.55 ที่บันทึกไว้โดยกล้องวงจรปิดของตำรวจจราจร
 
หลังจากสมบัดขับรถออกจากสำนักงานเวลาประมาณ 17.30 น.ตำรวจที่ด่านท่าเดื่อ อ.ศรีสัตตนาค กรุงเวียงจันทน์ ได้เรียกตรวจรถยนต์ของเขาตอน 18.00 น.
 
จากภาพถ่ายกล้องวงจรปิด เขาเดินออกจากรถเพื่อพูดคุยกับตำรวจ จากนั้นมีคนขี่มอเตอร์ไซด์มาแล้วเข้าไปในรถ และขับรถของเขาออกไป ทิ้งมอเตอร์ไซด์ที่ขี่มาเอาไว้ จากนั้นมีรถกระบะเปิดไฟกระพริบขับมาถึง และมีคนนำตัวเขาใส่รถกระบะและขับหนีออกไป
 
ครอบครัวและมิตรสหายเชื่อว่าชายที่อยู่ในภาพทีวีวงจรปิดคือสมบัด
 
ขณะที่ทางการลาวปฏิเสธว่าไม่ได้จับกุมนักกิจกรรมอาวุโสและไม่มีส่วนรู้เห็นกับการหายตัวไปของเขา
 
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.55 รัฐบาลลาวออกแถลงการณ์ระบุ ทางการมีความกังวลต่อกรณีดังกล่าวและกำลังสอบสวนอย่างจริงจัง แต่ก็ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบสวน เพื่อให้ครอบครัวหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
 
นั่นคือการบอกอย่างชัดเจนว่า ‘ต้องรอคอยความหวังอย่างมืดมนกันต่อไป’
 
ยิ่งเมื่อวันเวลาผ่าน ความหวังที่จะ ‘สมบัด’ ในสถานะบุคคลที่ยังคงมีลมหายใจก็ยิ่งเลือนราง...
 
ใครหลายคนคงไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น แล้วการแสดงออกเพื่อแสดงถึงซุ่มเสียงบางอย่างจึงเริ่มขึ้น
 
 
 
ดนตรี-สันติภาพ-ความหวังของคนหนุ่มสาว
 
เมื่อยามเย็นย่ำถึงตะวันคล้อย เมื่อวันที่ 5 ก.พ.56 งานดนตรีเพื่อสันติภาพและเสวนาคนหนุ่มสาว “มองไปไกลกว่ากรณี สมบัด สมพอน ความรุนแรงในลุ่มน้ำโขง-ผลกระทบต่อคนหนุ่มสาว” ถูกจัดขึ้น ณ ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ริมลำน้ำเจ้าพระยา
 
โดยความร่วมมือของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (The Justice for Peace Foundation-JPF) โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
 
“สิ่งที่เกิดขึ้นกระทบกับคนในลุ่มแม่น้ำโขงและอาเซียน ไม่เฉพาะในลาว แล้วคนหนุ่มสาวจะทำอะไรได้บ้าง” จารุวรรณ สุพลไร่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายภูมิภาค มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโครงการประสานความร่วมมือเพื่อคนรุ่นใหม่ในลุ่มน้ำโขง กล่าว
 
เจ้าหน้าที่ฝ่ายภูมิภาค มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เล่าด้วยว่า งานดนตรีเพื่อสันติภาพและเสวนาคนหนุ่มสาวครั้งนี้ เริ่มต้นมาจากเวทีพูดคุยของกลุ่มนักกิจกรรมไทยและความร่วมมือของเยาวชนลุ่มน้ำโขง ที่ต้องการร่วมแสดงความรู้สึกนึกคิดโดยใช้ความสามารถในทางดนตรีที่มีอยู่
 
ไม่ใช่เพียงต่อกรณีการหายตัวไปของ ‘สมบัด’ แต่ยังรวมถึงเรื่องสันติภาพ และความเป็นเครือญาติของผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขง
 
จากความเชื่อที่ว่า ดนตรีคือสื่อสาธารณะที่มีความเป็นสากล และในขณะเดียวกันก็จะช่วยเยียวยาจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย
 
“อย่างน้อยนี่เป็นการส่งเสียงสัญญาณต่อสิ่งที่เกิดขึ้น” จารุวรรณกล่าว
 
 
นอกจากการแสดงดนตรี ในพื้นที่จัดงานยังมีกิจกรรมให้ผู้สนใจได้เข้าร่วม เช่น การเขียนป้ายผ้า และร่วมลงชื่อในจดหมาย ส่งถึงนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เพื่อการนำ ‘สมบัด สมพอน’ กลับมาอย่างปลอดภัยในซุ้มนิทรรศการ
 
ข้อเรียกร้องในฐานะพลเมืองของประเทศในภูมิภาคแม่น้าโขงและอาเซียน และสมาชิกของสังคมโลก ต่อทางการลาว มีดังนี้
 
1.ตระหนักว่า การลักพาตัว ‘สมบัด’ คืออาชญากรรมต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคแม่น้าโขงและอาเซียน เป็นสิ่งขัดขวางการพัฒนาของภูมิภาคนี้ อีกทั้งละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ทั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ขั้นรุนแรงที่จะต้องได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นด้วยความสมานฉันท์ของทั้งภูมิภาคและในระดับระหว่างประเทศ
 
2.สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินอย่างเร่งด่วนและโปร่งใสในการสืบสวนการถูกลักพาตัวไปของ ‘สมบัด’ ตามพันธกรณีของตนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
 
3.เปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าในการสืบสวนอย่างครบถ้วนแก่ครอบครัวของ ‘สมบัด’ และบุคคลอื่นๆ ที่ควรได้รับ
 
4.ให้การรับรองว่าจะค้นหา ‘สมบัด’ อย่างถึงที่สุดด้วยมาตรการทั้งหมดที่มี เพื่อทำการช่วยเหลือ และนำเขากลับสู่ครอบครัวอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
 
มีการรณรงค์ให้ส่งจดหมายดังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี และสำเนาจดหมายถึงรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง รัฐมนตรีต่างประเทศของลาว รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการช่วยเหลือและนำตัว  ‘สมบัด’ กลับมายังครอบครัวอย่างปลอดภัยและโดยเร็ว
 
 
 
สารแด่กลุ่มเยาวชนลุ่มแม่น้ำโขง จากภรรยาผู้สูญหาย
 
“ในวันนี้ งานแสดงดนตรีและงานเสวนาของพวกเธอในประเด็นเรื่องความยุติธรรม ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า งานของลุงบัดและความศรัทธาในเยาวชนของเขาไม่ได้สูญเปล่า พวกเธอได้แสดงให้เห็นว่า พวกเธอเข้าใจความสำคัญของสันติภาพ และความสำคัญของความรัก ความห่วงใย และความยุติธรรม พวกเธอได้แสดงให้เห็นว่าเธอมี ‘หัวใจ’ ลุงบัดจะต้องภูมิใจในตัวเธออย่างแน่นอน และฉันก็ภูมิใจในตัวพวกเธอเช่นกัน
 
ลุงบัดจะร่วมเฉลิมฉลองกับพวกเธอ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เขาจะร่วมเฉลิมฉลองกับพวกเธอและคนหนุ่มสาวอีกนับล้านคนเฉกเช่นพวกเธอนี้ ที่จะนำพาหนทางที่จะทำให้ครอบครัวของเธอ ชุมชนของเธอ สังคมของเธอ และโลกของเธอดีขึ้น เพื่อตัวเธอเองและเพื่อลูกหลานในอนาคตของเธอด้วย” ใจความบางส่วนจาก สารแด่กลุ่มเยาวชนลุ่มแม่น้ำโขง จาก เง็ก ชุย เมง ภรรยาของสมบัด ถูกนำมาอ่านภายในงานก่อนเริ่มกิจกรรมการเสวนา
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนในครอบครัวของ ‘สมบัด’ อย่าง ‘เง็ก ชุย เมง’ คงไม่มีใครสามารถรู้ซึ้งถึงความรู้สึกที่ของเธอต่อสิ่งที่ต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้
 
 
ต้องลุกขึ้นสู่เพื่อกอบกู้ความเป็นมนุษย์ สรุปบทเรียนของผู้สูญเสีย
 
 
“การทำให้คนสูญหายไม่เพียงละเมิดสิทธิ์ของคนที่หายตัวไป แต่ยังละเมิดสิทธิของคนในครอบครัวของเขาด้วย” ประทับจิต นีละไพจิตร ลูกสาวของ ‘สมชาย นีละไพจิตร’ ทนายความนักสิทธิมนุษยชน ผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับให้สูญหาย กล่าวในการเสวนา ‘มองไปไกลกว่ากรณีสมบัด สมพอน: ความรุนแรงในลุ่มน้ำโขง-ผลกระทบต่อคนหนุ่มสาว’
 
นับเป็นเวลายาวนานถึง 9 ปีแล้วที่ทนายสมชายหายตัวไป ในฐานะของ ‘เหยื่อ’ ผู้ต้องสูญเสียคนในครอบครัว ประทับจิต กล่าวว่า เธอเชื่อว่าพ่อของเธอทำในสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นเธอจึงต้องการสานต่อการทำงานของเขา นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่จะกอบกู้ความเป็นมนุษย์กลับให้คืนมาได้
 
“เขาไม่น่าถูกทำให้สูญหาย แม้จะไม่ได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นกระแสหลัก” ประทับจิตแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 
ประทับจิต กล่าวด้วยว่า บุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายนั้นสิ่งที่ถูกละเมิดไม่ใช่แค่สิทธิ แต่มันคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และยังระบุด้วยว่าการทำให้บุคคลหนึ่งหายไปจากโลกนั้นมีกระบวนการ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องมีการติดตาม มีการวางแผนล่วงหน้า ไม่ได้กระทำโดยบังเอิญ และกระบวนการดังกล่าวนั้นสามารถป้องกันได้
 
ขณะนี้ ประทับจิตทำงานเป็นหนึ่งในคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ร่วมกับ อังคณา นีละไพจิตร แม่ของเธอเพื่อติดตามความคืบหน้าของคดีของผู้ที่ ‘ถูกทำให้หายไป’ จากจุดเริ่มต้นในกรณีทนายสมชาย ขยายไปยังกรณีอื่นๆ ทั่วประเทศ
 
ที่ผ่านมา การขับเคลื่อนเรื่องการถูกบังคับสูญหายในไทย ได้ผลเป็นรูปธรรมเมื่อรัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาการระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลทุกคนถูกบังคับให้สูญหาย ขององค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2555 
 
 
อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า มาตรการที่จำเป็นสำหรับการถูกบังคับสูญหาย ข้อแรกคือการปรับแก้กฎหมายภายในให้การบังคับสูญหายมีความผิดทางอาญา และสามารถเอาผิดได้โดยเฉพาะเมื่อเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
 
การแก้กฎหมายนี้จะรวมไปถึงการนิยามคำว่า ‘เหยื่อ’ ซึ่งจะหมายถึงผู้ถูกกระทำละเมิดสิทธิ์ รวมไปถึงครอบครัวผู้เกี่ยวข้อง และพยานผู้ให้ข้อมูลด้วย
 
ข้อต่อมา คือการมีคณะกรรมการไต่สวนอิสระที่เป็นกลาง ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกในการสืบสวนสอบสวนสำหรับปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมทั้งมีการคุ้มครองพยานที่มีประสิทธิภาพ เพราะท่ามกลางบรรยากาศแห่งความกลัว ย่อมไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาพูด
 
อังคณา กล่าวด้วยว่า ในส่วนของอาเซียนไม่ควรมองการลงทุน หรือการแลกเปลี่ยนเฉพาะวัตถุ แต่การรวมเป็นอาเซียนความมองว่าจะร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอย่างไร เมื่อใครสักคนในประเทศหนึ่งถูกกระทำ เราจะช่วยเหลือกันอย่างไร ให้เป็นจิตวิญญาณอาเซียน ที่ร่วมความเป็นมนุษย์ของคนในอาเซียนเข้าไว้ด้วยกัน 
 
“อาเซียนควรมีกลไกลด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระ แต่วันนี้กลับติดอยู่ที่ว่าจะไม่แทรกแซงกัน จึงไปไม่ถึงไหนเสียที” อังคณาแสดงความเห็น
 
 
 
ยกระดับสิทธิมนุษยชนใน ‘อาเซียน’ ความหวัง เพื่อวันข้างหน้า
 
สำหรับภาคประชาสังคมไทย ถือว่ามีความตื่นตัวต่อ กรณีของ ‘สมบัด สมพอน’ มาตั้งแต่ช่วงต้นของเหตุการณ์ ทั้งการออกแถลงการณ์แสดงท่าทีและติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างใกล้ชิด
 
เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้อำนวยการร่วมโครงการฟื้นฟูนิเวศน์ในภูมิภาคแม่น้ำโขง กล่าวถึงเหตุผลที่สังคมไทยต้องรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เพราะความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ และไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีเสรีภาพ รวมทั้งมีนักวิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชน และกลุ่มเยาวชนที่พร้อมจะร่วมกันขับเคลื่อน หลังจากที่ได้ผ่านประสบการณ์ของการละเมิดสิทธิและเสรีภาพมาแล้ว
 
ในประเด็นสิทธิมนุษยชน คิดว่าเริ่มได้จากการที่คนไทยช่วยกันพูดในเรื่องนี้ ด้วยความหวังดี แต่การพูดนี้ไม่ได้พูดแทนคนลาว ไม่ได้พูดในสิ่งที่ไม่ได้รู้จริงๆ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในลาว ความเดือดร้อนหรือปัญหาเขาต้องพูดด้วยตัวของเขาเอง
 
นอกจากนี้ ในปัจจุบันประเด็นข้ามพรมแดนเป็นเรื่องที่เข้าใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นในลาวมีความเกี่ยวข้องกัน คนลุ่มน้ำโขงก็ออกมาร่วมเคลื่อนไหว
  
ส่วนก้าวต่อไป เปรมฤดี กล่าวว่า เรื่องของ ‘สมบัด’ และการถูกบังคับให้สูญหานี้ต้องถูกหยิบยกขึ้นไปพูดในเวทีอาเซียน โดยไทยเองควรรวมกลุ่มของเยาวชนและนักกิจกรรมร่วมผลักดัน เพื่อยกระดับกรอบสิทธิมนุษยชนของอาเซียน ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันทำ
 
“ขนาดนักพัฒนาที่มีชื่อเสียงยังถูกละเมิดสิทธิ แล้วประชาชนธรรมดา ชาวบ้านตาสีตาสาจะเป็นอย่างไร” อิทธิพล คำสุข เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ภาคอีสาน ซึ่งทำการเคลื่อนไหวรณรงค์คัดค้านโครงการเขื่อนขนาดใหญ่บนลำน้ำโขง กล่าว
 
ชาวบ้านจากลุ่มน้ำโขง แสดงความเห็นด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังคงมีอยู่ในภูมิภาคนี้ และการแก้ปัญหาควรต้องใช้ปฏิญญาระหว่างประเทศ เพราะเรากำลังก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน แทนที่จะมุ่งเน้นแต่เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ควรหันมาดูเรื่องสิทธิมนุษยชน
 
“ขอวิงวอนต่อประเทศในประชาคมอาเซียน ให้กรณีสมบัดถูกบังคับให้สูญหาย การละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้ ขอให้เป็นคนสุดท้าย” อิทธิพลกล่าว  
 
ภาพสัญลักษณ์สันติภาพ ที่มา: aseanyouthmovement.org
 
 
 
สารแด่กลุ่มเยาวชนลุ่มแม่น้ำโขง
จาก
เง็ก ชุย เมง
ภรรยาของ สมบัด สมพอน
 
 
เยาวชนลุ่มแม่น้ำโขงที่รักทุกคน –
 
ฉันรู้สึกปลาบปลื้มใจอย่างยิ่ง ต่อการแสดงความรักและความสมานฉันท์ของพวกเธอ เพื่อลุงบัดที่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา และจนกระทั่งวันนี้ เรายังไม่รู้ข่าวคราวว่าเขาอยู่ที่ไหน แต่ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ฉันมั่นใจว่าจิตใจของเขาจะอยู่กับพวกเธอ ณ ขณะนี้
 
ฉันอยากให้ทุกท่านทั้งหมดในที่นี้ ค้อมศีรษะลงและสงบนิ่งสักครู่เพื่อส่งความระลึกถึงให้สมบัดยังคงแข็งแรง ด้วยอารมณ์และจิตใจที่เข้มแข็ง และที่สำคัญไปกว่านั้น เพื่อส่งความปรารถนาไปยัง ผู้ที่ขังตัวลุงบัดไว้ในขณะนี้ ให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและเมตตา และปล่อยลุงบัดกลับมาอย่างปลอดภัย (กรุณาอยู่ในความสงบนิ่งเป็นเวลา 2 นาที) ขอบคุณ
 
ลุงบัดเป็นบุคคลแห่งสันติภาพ เขาเติบโตมาในหมู่บ้านริมแม่น้ำโขง เขามีใจรักแม่น้ำโขงอย่างแท้จริง รวมทั้งรักประเทศชาติของเขาและประชาชนลาว และมีความเคารพเป็นอย่างยิ่งต่อรัฐบาล สปป.ลาว สมบัดทำงานอย่างหนักร่วมกับผู้คนทั้งในรัฐบาลและกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐมาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี เพื่อทำให้ประเทศลาวเป็นประเทศชาติที่ดีขึ้นสำหรับทุกๆ คน
 
ลุงบัดเชื่อว่า ไม่ว่าเราจะยากจนหรือมั่งมี ได้รับการศึกษาสูงหรือไม่ พวกเราต่างเหมือนกัน และพวกเราควรที่จะสามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อทำให้ครอบครัวของเรา ชุมชนของเรา สังคมของเรา โลกของเราดีขึ้นเพื่อตัวเราเองและคนอื่นๆ รวมทั้งเพื่อคนรุ่นหลังที่จะเดินทางมาถึง
 
เขาหมายถึงอะไร? ครอบครัวที่ดีขึ้น ชุมชนที่ดีขึ้น สังคมที่ดีขึ้น โลกที่ดีขึ้นสำหรับพวกเราและคนอื่นๆ หรือ? สำหรับลุงบัด มันเป็นความหมายที่ค่อนข้างเรียบง่าย มันแค่หมายถึง ไม่ว่าพวกเราจะกระทำอะไรก็ตาม พวกเราควรกระทำด้วยความเป็นธรรมและด้วยความยุติธรรม อีกทั้งพวกเราควรทำงานเพื่อมุ่งให้โอกาสทุกๆ คน โดยเฉพาะคนยากคนจน ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี และเพื่อให้ลูกหลานของพวกเขาสามารถได้รับการศึกษาที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี และเพื่อจะสามารถให้การเลี้ยงดูพวกเขาในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ยั่งยืน และสงบสุข
 
สิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ทำไมลุงบัดจึงอุทิศชีวิตของเขาเพื่อทำงานอยู่เคียงข้างกับชุมชนคนยากจน เพื่อพัฒนาชีวิตของผู้คนเหล่านั้น โดยการส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ด้วยการทำให้เห็นวิธีการในการมีสุขอนามัยที่ดี ลักษณะการรับประทานอาหารที่สะอาดและถูกสุขลักษณะ ส่งเสริมการรวบรวมภูมิปัญญาของท้องถิ่นซึ่งทำให้วัฒนธรรมและธรรมชาติดำรงอยู่ได้เข้าไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนเพื่อคนรุ่นหลัง สนับสนุนให้พระสงฆ์มีส่วนร่วมในการสอนศีลธรรมในโรงเรียนและแก่ชุมชน โดยใช้วิธีการศึกษาแบบแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน (peer-to-peer education) เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดยาเสพติด การติดสุราเรื้อรัง และการติดเชื้อเอชไอวี
 
ทั้งหมดที่กล่าวมา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ลุงบัดเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่า การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีสามารถเกิดขึ้นได้ หากเยาวชนอย่างพวกเธอได้รับการปรึกษาหารือและได้เข้ามามีส่วนร่วม นั่นเป็นเพราะเขาเชื่อว่า คนหนุ่มสาวมีอุดมการณ์ มีพลัง และมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อจะผลักดันได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาต้องการเพื่อตัวเขาเองและสำหรับลูกหลานในอนาคตของพวกเขา อย่างไรก็ตาม เขายังกังวลว่า คนหนุ่มสาวอาจจะถูกยั่วยุจากสื่อซึ่งมีเนื้อหาหลักเพื่อสนับสนุนการบริโภค วัตถุนิยม ความละโมบ และชักนำเยาวชนให้เชื่อว่า “มากกว่า คือดีกว่า” “ใหญ่กว่า คือดีกว่า” “สวยได้ เพียงแค่สวยภายนอก” และ “ตัวฉัน” และ “ฉัน”เท่านั้นที่มีความหมายที่สุด ลุงบัดยังมีความกังวลเสมอเกี่ยวกับอิทธิพลของสิ่งที่เป็น “คุณค่าจอมปลอม” ที่อยู่ในความคิดและรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน เขามักกล่าวเสมอว่า เราจะสามารถช่วยเหลือคนหนุ่มสาวให้เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง “คุณค่าจอมปลอม” และ “คุณค่าที่แท้จริง” ได้อย่างไร
 
ลุงบัดเชื่อว่า มีเพียงหนทางเดียวที่จะช่วยเด็กๆ และคนหนุ่มสาวให้เข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงได้ นั่นคือการพัฒนาผ่านทาง“การศึกษา” สำหรับลุงบัดนั้น “การศึกษา” เป็นมากกว่าการไปโรงเรียนหรือไปมหาวิทยาลัย หรือการสอบผ่านและได้รับใบประกาศนียบัตร เขามองว่า การศึกษาคือการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตจริง และเขาหวังให้ทางโรงเรียนและครูผู้สอนให้เวลาแก่เด็กมากขึ้นในการเรียนรู้จากชุมชน เรียนรู้จากธรรมชาติ และเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติมากกว่าการเรียนจากหนังสือเรียนเพียงอย่างเดียว เขาหวังให้ทางโรงเรียนและครูผู้สอนสนับสนุนเด็กให้รู้จักคิดเองได้และตั้งคำถามเป็น ไม่เพียงแค่ฟังหรือท่องจำ ที่สำคัญมากไปกว่านั้นเขาหวังให้โรงเรียน ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง และพระสงฆ์ มุ่งเน้นให้การศึกษาทางด้าน “จิตใจ” มากยิ่งขึ้น สิ่งนี้หมายถึงการให้การศึกษาเกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจ ความเมตตา และการบ่มเพาะความสงบจากภายใน ลุงบัดเชื่อว่านั่นเป็นเพียงหนทางเดียวที่เด็กๆ และคนหนุ่มสาวจะเข้าใจอย่างมีสติ ว่าอะไรคือ “คุณค่าที่แท้จริง” และอะไรคือ “คุณค่าที่จอมปลอม” เพราะการดำเนินชีวิตด้วยคุณค่าที่แท้จริงนั้น ผู้คนจะสามารถตัดสินใจในการดำเนินชีวิตของพวกเขาได้อย่างถูกต้อง และปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างถูกวิธี สำหรับลุงบัดนั้น “การศึกษาทางด้านจิตใจ คือหัวใจของการศึกษา”
 
ในวันนี้ งานแสดงดนตรีและงานเสวนาของพวกเธอในประเด็นเรื่องความยุติธรรม ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า งานของลุงบัดและความศรัทธาในเยาวชนของเขาไม่ได้สูญเปล่า พวกเธอได้แสดงให้เห็นว่า พวกเธอเข้าใจความสำคัญของสันติภาพ และความสำคัญของความรัก ความห่วงใย และความยุติธรรม พวกเธอได้แสดงให้เห็นว่าเธอมี “หัวใจ” ลุงบัดจะต้องภูมิใจในตัวเธออย่างแน่นอน และฉันก็ภูมิใจในตัวพวกเธอเช่นกัน ลุงบัดจะร่วมเฉลิมฉลองกับพวกเธอ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เขาจะร่วมเฉลิมฉลองกับพวกเธอและคนหนุ่มสาวอีกนับล้านคนเฉกเช่นพวกเธอนี้ ที่จะนำพาหนทางที่จะทำให้ครอบครัวของเธอ ชุมชนของเธอ สังคมของเธอ และโลกของเธอดีขึ้น เพื่อตัวเธอเองและเพื่อลูกหลานในอนาคตของเธอด้วย
 
ขอขอบคุณ และฉันขอให้พวกเธอทุกคนประสบกับความสุขและความสำเร็จ
 
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net