Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break->

<--break->

ชื่อบทความนี้มาจากชื่อเพลง Do you hear the people sing ซึ่งเป็นเพลงหลักเพลงหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง เล มิเซราบป์ ที่ฉายอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคุณต่อพงษ์ ได้แปลไว้เมื่อ 2009 ว่า

“ได้ยินเสียงประชาชนร้องเพลงๆ นี้ไหม...

บทเพลงแห่งความโกรธของผู้คน

บทเพลงของผองชนที่ไม่ยอมเป็นทาสอีกต่อไป

เสียงการเต้นของหัวใจสะท้อนเสียงกลองรบ

กลองที่เป็นสัญลักษณ์ว่า ชีวิตใหม่จะเริ่มต้นเมื่อพรุ่งนี้มาถึง”

ที่ขึ้นมาเช่นนี้ เพราะอยากจะขอชักชวนกันให้ไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่สร้างมาจากวรรณกรรมเอกของโลก ชื่อ Les Misérables ของวิกตอร์ วิกตอร์-มารี อูโก และวรรณกรรมนี้ภาษาไทยใช้ชื่อเรื่องว่า “เหยื่ออธรรม” ฉบับที่สมบูรณ์ แปลโดย วิภาดา กิตติโกวิท และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ทับหนังสือ ซึ่งยังพอหาซื้อได้เช่นกัน

วิกตอร์ อูโก (ค.ศ.1802-1885) เป็นชาวฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ในช่วงแห่งการปฏิวัติสมัยหลังของฝรั่งเศส ที่เริ่มจากการปฏิวัติ ค.ศ.1830 การปฏิวัติ ค.ศ.1848และ การปฏิวัติ ค.ศ.1871 ถือกันว่า เขาเป็นกวีและนักเขียนโรแมนติกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง ในวัยเด็ก เขาได้รับอิทธิพลคาธอลิกจากมารดา จึงมีแนวโน้มในทางศาสนาและมีแนวคิดนิยมกษัตริย์ แต่ต่อมาเมื่อเขาเติบโดขึ้น ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายสนับสนุนสาธารณรัฐ และอุดมการณ์เสรีนิยม จากนั้น ก็ได้รับอิทธิพลแนวคิดสังคมนิยม นำมาซึ่งความเห็นอกเห็นใจต่อประชาชนชนชั้นล่าง เขาเริ่มมีชื่อเสียงจากการเขียนนวนิยายเรื่อง คนค่อมแห่งนอเทรอดาม (Notre-Dame de Paris) พิมพ์ ค.ศ.1831 เขาเริ่มเขียนเรื่อง Les Misérables ตั้งแต่ ค.ศ.1845 แต่ยังไม่ทันเสร็จ ก็เกิดการปฏิวัติ ค.ศ.1848 ซึ่งเขามีส่วนร่วมกับฝ่ายสาธารณรัฐ แต่ต่อมา ใน ค.ศ.1851 สาธารณรัฐล่มสลาย เพราะหลุยส์ นโปเลียนยึดอำนาจ ตั้งตนเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 วิกตอร์ อูโก คัดค้าน จึงต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศถึง 19 ปี ในระหว่างนี้เอง เขาได้รื้อฟื้นเรื่อง Les Misérables มาเขียนใหม่ จนเสร็จและตีพิมพ์ครบชุดใน ค.ศ.1862 และกลายเป็นหนังสือที่โด่งดังทั่วยุโรปไปทันที

สำหรับเรื่อง Les Misérables ฉบับภาษาไทย จูเลียตได้แปลเรื่องนี้ และพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ พ.ศ.2504 และตั้งชื่อเรื่องว่า เหยื่ออธรรม แต่เป็นการแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ และแปลไม่จบ ต่อมา เมื่อ พ.ศ.2555 ก็มีการแปลฉบับย่อออกเป็นภาษาไทย ใช้ชื่อว่า ตรวนชีวิต ซึ่งก็ไม่สมบูรณ์เช่นกัน จนถึงฉบับใหม่ที่ วิภาดา ดิตติโกวิท แปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส จึงได้มีฉบับสมบูรณ์ที่สุดในโลกภาษาไทยขณะนี้

ในฉบับที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ นำมาจากฉบับที่เอามาทำเป็นละครเพลง ที่ดัดแปลงโดย อะลัง บูบฺลิล (Alain Boublil) และแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย เฮอร์เบิร์ต เครทเมอร์ (Herbert Kretzmer) ละครเพลงเรื่องนี้ เปิดแสดงที่กรุงลอนดอน พ.ศ.2528  และกลายเป็นละครที่โด่งดังในทันที ละครเรื่องนี้ยังเปิดแสดงในลอนดอนต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

เรื่องเหยื่ออธรรมมีเนื้อหาสะท้อนถึงความอยุติธรรมในสังคม โดยเล่าถึงชีวิตของ ฌอง วัลฌอง ซึ่งมีความผิดฐานขโมยขนมปังก้อนหนึ่งไปให้กับหลานที่หิวโหย แต่ถูกจับกุมและฟ้องต่อศาล ในที่สุดศาลตัดสินจำคุก 5 ปี วัลฌองไม่คิดว่า ตนเองถูกสมควรลงโทษเช่นนั้น จึงพยายามหนีคุกแต่ไม่สำเร็จ จึงถูกจำคุกเพิ่ม สุดท้ายวัลฌองถูกจำคุกถึง 19 ปี แต่เมื่อออกมาจากคุก เมื่อ ค.ศ.1815 เขาได้รับการช่วยเหลือและปลดปล่อยวิญญาณโดยพระชื่อเมอรสิเยอร์มีเรียล จึงทำให้วัลฌองตัดสินใจที่จะรักษาความดีตลอดชีวิต แต่นายตำรวจผู้เคร่งต่อหน้าที่ชื่อ เปอร์ตีต์ แฌเวส์ ไม่เชื่อและพยายามตามหาตัววัลฌองมาลงโทษเสมอ สำหรับวัลฌองได้ช่วยเหลือโกแซตต์ ลูกสาวของฟองตีน กรรมกรหญิงที่เสียชิวิตด้วยความยากไร้ เขาได้เลี้ยงโกแซตต์จนเติบโต ในขณะที่หนีการตามจับของแฌแวร์ไปด้วย

จนถึง ค.ศ.1832 วัลฌองและโกแซตต์หนีมาลี้ภัยอยู่ในกรุงปารีส ในขณะที่การปฏิวัติของกลุ่มนักศึกษากำลังจะเริ่มขึ้น มาริอุส นักศึกษาฝ่ายปฏิวัติคนหนึ่งได้มาหลงรักกับโกแซตต์ การลุกขึ้นสู้กำลังดำเนินไป โดยกลุ่มนักศึกษาได้ตั้งป้อมค่ายปฏิวัติกลางกรุงปารีส วัลฌองได้ลอบเข้าไปในป้อมค่าย แก้ปัญหาความขัดแย้งโดยช่วยชีวิตช่วยชีวิตแฌแวร์ จากนั้น ก็ได้ช่วยนำตัวมาริอุสออกมาทางท่อน้ำ ในขณะที่การลุกขึ้นสู้ประสบความพ่ายแพ้จากการปราบปรามอย่างนองเลือด สุดท้าย มาริอุสได้แต่งงานกับโกแซตต์ ในขณะที่วัลฌองเลือกที่จะจากไป

ข้อเด่นในเรื่องราวของเหยื่ออธรรมสะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ยากของประชาชนซี่งไม่ได้รับความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นความดีงามในจิตใจของมนุษย์ ที่อยากจะสร้างโลกและชีวิตให้งดงามด้วยความดี ความจริงแล้วอูโกต้องการที่จะสะท้อนถึงความดีงามตามอุดมการณ์ของศาลนา แต่เนื่องจากเนื้อเรื่องที่เป็นอัตถนิยม ทำให้เห็นได้ถึงปัญหาของสังคมในลักษณะอื่นด้วย โดยเฉพาะการเล่าเรื่องอุดมการณ์ในการปฏิวัติและการสร้างสังคมใหม่ของฝ่ายนักศึกษา กลายเป็นจุดเด่นจุดหนึ่งของเรื่อง  และในภาพยนตร์ ก็มีเพลงที่สะท้อนอุดมการณ์ฝ่ายปฏิวัติ เช่น Do you hear the people sing และ เพลง red and black จากนั้น เมื่อการปฏิวัติล้มเหลวลง เพลงเด่นที่สดุดีเพื่อนที่เสียสละ คือ Empty chairs at empty tables ก็ลึกซึ้งกินใจมาก

เมื่อศึกษาเรื่อง Les Misérables แล้วมาย้อนมองสังคมไทย ก็จะเห็นได้เช่นกันว่า เหยื่ออธรรมยังมีอยู่มากมาย แม้ว่าอาจจะกล่าวโดยรวมได้ว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไทยปัจจุบันน่าจะยังดีกว่าที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่เรื่องอื่นที่คล้ายกันก็อาจจะเป็นเรื่อง ปัญหาความยุติธรรมจากศาลและตำรวจ ที่ทำให้ประชาชนต้องได้รับความยากลำบาก กรณีที่ฌอง วัลฌองต้องอยู่ในคุกนาน 19 ปี เพราะความผิดเพียงโขมยขนมปัง คงไม่ต่างจากคดีส่งเอสเอ็มเอส ที่ศาลไทยตัดสินจำคุก 20 ปีแล้วจำเลยถูกทิ้งให้ตายในคุก คดีเผยแพร่บทความคนอื่น ที่ศาลตัดสินจำคุก 10 ปี ซึ่งเป็นที่วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้ หรือคดีคนเสื้อแดงที่ถูกข้อหาละเมิดภาวะฉุกเฉินและเผาบ้านเผาเมือง ที่ก่อให้เกิดนักโทษการเมืองจำนวนมาก และยังเป็นปัญหาอยู่เช่นกัน ส่วนเรื่อง การต่อสู้ของประชาชนอันนำมาสู่การถูกกวาดล้างเข่นฆ่าอย่างเหี้ยมโหด คนไทยก็ได้เห็นมาแล้วจากการต่อสู้เทื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 ที่ผ่านมา อันนำมาซึ่งการเสียชีวิตนับร้อยคนและบาดเจ็บอีกนับพันคน

เมื่อชมฉากแห่งการต่อสู้ปฏิวัติในภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งสร้างได้ดีมาก ก็ได้หวนนึกถึงเพื่อนที่ล่วงลับในการต่อสู้เมื่อ พ.ศ.2553 เช่นกัน บทเพลง Empty chairs at empty tatles ที่ เกษียร เตชะพีระ เคยแปลในชื่อว่า เก้าอี้ว่างโต๊ะร้างน้ำตาริน เพื่อสดุดีเพื่อนที่เสียชีวิตเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 จึงอยากจะนำเสนอในที่นี้ ด้วยใจความคือ

“โอ้เพื่อนรักโปรดให้อภัยข้า                              ที่ยังมีชีวิตมาแต่เพื่อนหาย

   ด้วยวิโยคโศกศัลย์เกินบรรยาย                         ด้วยเจ็บปวดเหลือร้ายมิรู้พอ...”

“โอ้เพื่อนรักโปรดเถิดหนาอย่าถามไถ่               เพื่อนพลีชีพเพื่ออะไรคาที่มั่น

   เก้าอี้ว่างโต๊ะร้างช่างเงียบงัน                              เพราะเสียงเพลงเพื่อนนั้นไม่มีแล้ว”

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 398  วันที่ 9กุมภาพันธ์ 2556

ที่มาภาพ: Pantip 10 บทเพลงประทับใจจากเหยื่ออธรรม Les Miserables 2012

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net