เครือข่าย ร.ร.ขนาดเล็ก ค้านนโยบายเรียนร่วม เรียนรวม

11 กุมภาพันธ์ 2556 เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก 4 ภูมิภาค และสภาการศึกษาทางเลือก พร้อมด้วยสมาชิกกลุ่มการศึกษาทางเลือก 400 องค์กร ทำจดหมายเปิดผนึกถึง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ขอคัดค้านนโยบาย เรียนร่วม เรียนรวม อันจะนำมาซึ่งการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุขัดรัฐธรรมนูญ และไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนพิจารณาโครงการ เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการยุติการดำเนินนโยบาย และการสั่งการให้เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการเรียนร่วม เรียนรวม อันจะนำมาซึ่งการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ให้กระทรวงศึกษาธิการแสวงหาแนวทางอันหลากหลาย และให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการ ตัวแทนเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก 4 ภูมิภาค องค์กรชุมชน และภาคประชาสังคมต่างๆ มีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กโดยการบริหารจัดการแนวใหม่ แบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

0 0 0

จดหมายเปิดผนึกถึง ฯพณฯ พงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง

ขอคัดค้านนโยบาย เรียนร่วม เรียนรวม 
อันจะนำมาซึ่งการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก

 

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินนโยบายยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่ง

1. นโยบายดังกล่าวมีการดำเนินงานที่อาจขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2550 ส่วนที่8 สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา ม.49 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย กล่าวคือ กระทรวงศึกษาธิการโดยเขตพื้นที่การศึกษาได้ปล่อยปละละเลยการบริหารโรงเรียนจนทำให้เกิดสภาพโรงเรียนขนาดเล็กจากนั้นก็ใช้การนำเด็กเดินทางไปเรียนร่วม เรียนรวม กับโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งในที่สุดจะเกิดการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทำให้ประชาชนไม่ได้รับบริการทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ คือ ลูกหลานของพวกเขาต้องย้ายไปยังโรงเรียนใหม่ที่ห่างไกลบ้าน ต้องเดินทางไปโรงเรียนโดยเสี่ยงภัยต่อระยะทางไกล และภยันตรายระหว่างทาง หรือในกรณีที่นักเรียนต้องย้ายไปอยู่หอพักแทนที่การอยู่ร่วมกับครอบครัวก็เท่ากับบั่นทอนความสัมพันธ์ของครอบครัว ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญม.80ที่ระบุให้รัฐดำเนินนโยบายทางการศึกษาเพื่อคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยการส่งเสริมการอบรมเลี้ยงดู และพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของสถาบันครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้นผลกระทบของสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอาทิ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เป็นต้นอีกด้วย

2. นโยบายดังกล่าวมีการดำเนินงานที่อาจละเลยและไม่นำไปสู่การปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 57, 58 ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนพิจารณาโครงการของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพหรือกระทบต่อส่วนได้เสียของประชาชน ทั้งยังอาจขัดต่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2542 ม.29 ที่ระบุให้แนวทางการจัดการศึกษามุ่งส่งเสริมให้สถานศึกษาร่วมมือกับครอบครัว องค์กรหรือชุมชนเพื่อความเข้มแข้งของชุมชนด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน ม.38 ที่กำหนดให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาทำหน้าที่ส่งเสริมการจัดการศึกษาของภาคประชาสังคม ม.39 ในเรื่องการกระจายอำนาจทางการศึกษา และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ.2550 ซึ่งมีหลักการสำคัญประการหนึ่งระบุว่า การกระจายอำนาจการบริหาร และการจัดการศึกษานั้นให้มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ กล่าวคือกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. และคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาเน้นการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งสะท้อนการผูกขาดรวมศูนย์อำนาจ และการสั่งการ มากกว่าการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคประชาสังคม ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินการของเขตพื้นที่การศึกษายังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชน และผู้มีส่วนได้เสีย 

ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายดังกล่าวยังขัดแย้งกับข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2560) ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการที่เสนอให้ลดบทบาทของรัฐในการจัดการศึกษาเป็นหลัก มาเป็นผู้กำกับนโยบาย แผน มาตรฐานการศึกษา นิเทศและติดตามประเมินผลการบริหารจัดการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาต้นแบบที่ดีและส่งเสริมสนับสนุน ยกย่องและขยายผล เพื่อให้การจัดการศึกษาและเรียนรู้มีคุณภาพมาตรฐานและสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษาและสนับสนุนการศึกษาและเรียนรู้ให้มากขึ้น การดำเนินงานใดที่ตามมาของกระทรวงทบวงกรมต่างๆจึงไม่สมควรขัดแย้งกับข้อเสนอดังกล่าว

 ดังนั้น สภาการศึกษาทางเลือกจึงขอเรียกร้องต่อกระทรวงศึกษาธิการ

1. ให้กระทรวงศึกษาธิการยุติการดำเนินนโยบาย และการสั่งการให้เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการเรียนร่วม เรียนรวม อันจะนำมาซึ่งการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก

2. ให้กระทรวงศึกษาธิการแสวงหาแนวทางอันหลากหลายในการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก โดยระดมทรัพยากรทุกภาคส่วน ทดแทนการเรียนร่วม เรียนรวมอันจะนำมาซึ่งการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมตามมามากมาย

3. ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการ ตัวแทนเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก 4 ภูมิภาค องค์กรชุมชน และภาคประชาสังคมต่างๆ มีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กโดยการบริหารจัดการแนวใหม่ แบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

ข้อเสนอดังกล่าวนี้ เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก 4 ภูมิภาค สภาการศึกษาทางเลือกเห็นว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นที่กระทรวงศึกษาฯสามารถดำเนินการในแนวทางที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พรบ. การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 และแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (พ.ศ. 2552 -2560) โดยเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก สภาการศึกษาทางเลือกพร้อมที่จะร่วมแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างเต็มกำลัง

เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก 4 ภูมิภาค
สภาการศึกษาทางเลือก พร้อมด้วยสมาชิกกลุ่มการศึกษาทางเลือก 400 องค์กร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท