Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลายคน (ที่อาจจะเป็นชายจริงหญิงแท้หรือแม้แต่คนที่เป็น LGBT [1] เองก็ตาม) อาจมีคำถามในใจเมื่อเห็นความพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตสำหรับคู่รักเพศเดียวกันโดยกลุ่มคนทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ว่าทำไมคู่รักเพศเดียวกันต้องอยากผูกมัดกันด้วยการจดทะเบียนเหมือนคู่รักต่างเพศ ทำไมต้องอยากครอบครองกันและกัน หรือต้องให้สถาบันทางสังคมยอมรับเหมือนคู่รักต่างเพศ บางคนอาจจะมองว่าถ้ารักกันจริง, ไม่เห็นต้องเอากฎหมายมาผูกพัน หรือถ้าเรารักใครสักคน, สิทธิตามกฎหมายอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็น

คำถามนี้อาจจะเกี่ยวกับความรัก แต่คำตอบนั้นไม่โรแมนติก เพราะเป็นคำตอบที่ไม่เกี่ยวกับความรัก ความผูกพัน หรือการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน แต่เกี่ยวพันกับระบบของสังคมที่เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งและใช้ชีวิตอยู่
 

1)      ประเด็นสิทธิตามกฎหมาย

If These Walls Could Talk 2 ซีรี่ส์ปี 2000 ที่ฉายทางช่อง HBO ในสหรัฐอเมริกาอาจจะช่วยให้ผู้คนในสังคมทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดจากการที่คู่รักเพศเดียวกันไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น If These Walls Could Talk 2 แบ่งออกเป็น 3 ตอน แต่ละตอนเป็นเรื่องราวของคู่รักเลสเบี้ยนที่เผชิญปัญหาแตกต่างกันไป แต่ตอนที่สะท้อนปัญหาที่เกิดจากการที่คู่รักเพศเดียวกันไม่มีสิทธิเป็นคู่ชีวิตตามกฎหมายคือตอนที่เล่าเรื่องของคู่รักเลสเบี้ยนในปี 1961 ที่อยู่ด้วยกันมาจนแก่เฒ่าและคนหนึ่งเสียชีวิตลง เมื่อเธอแจ้งให้หลานชายของคู่รักที่เสียชีวิตทราบข่าว หลานชายของคู่รักก็ได้บอกกับเธอว่าเขาต้องการขายบ้านหลังนี้ เนื่องจากคู่รักของเธอไม่ได้เขียนพินัยกรรมทำให้บ้านตกเป็นของทายาทโดยธรรม แม้ว่าจะเป็นบ้านที่ทั้งสองคนร่วมซื้อร่วมสร้างมาด้วยกันตลอดเวลาสามสิบปีที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน แต่เธอไม่มีสิทธิใดๆ ตามกฎหมายเนื่องจากบ้านหลังนี้มีชื่อคู่รักของเธอเป็นเจ้าของเพียงลำพัง

กฎหมายคู่ชีวิต (ขออนุญาตไม่ใช้คำว่าแต่งงาน เพราะผู้เขียนเองก็ไม่ได้มีศรัทธาในสถาบันทางสังคมชนิดนี้) ไม่ได้มีไว้แค่แสดงความเป็นเจ้าของซึ่งกันและกัน แต่มันรับรองสิทธิทางกฎหมาย สิทธิทางเศรษฐกิจ และสิทธิทางสังคมบางประการของคู่ชีวิต เช่น สถานะความเป็นนิติบุคคล, ทายาทโดยธรรม, ผู้อนุบาล, การรับบุตรบุญธรรมร่วม, การลดภาษี, การกู้เงินร่วมฯลฯ ซึ่งคุณจะไม่มีวันได้มันมาถ้าคุณเป็นแค่คู่เกย์, คู่ทอมดี้ หรือคู่เลสเบี้ยน หรือคู่อะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ใช่คู่ชาย-หญิง 

ชมคลิป Infographic เพื่อทำความเข้าใจประเด็นสิทธิทางกฎหมายของคู่รักเพศเดียวกัน

2) มุมมองแบบ Heteronormativity [2] ในการแสดงความคิดเห็นหรือเห็นด้วยกับความคิดที่ว่าคู่รักเพศเดียวกันกับกฎหมายรับรองสถานภาพคู่ชีวิตเป็นเรื่องไม่จำเป็น

โดยทั่วไปแล้ว การเป็นในสิ่งที่สังคมให้คุณค่าว่า ‘ปกติ’ นั้นไม่ใช่เรื่องยาก การแสดงความคิดเห็นทำนองนี้สำหรับผู้คนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘ปกติ’ ไม่ได้เป็นประเด็นที่ทำให้ชีวิตของคนรักต่างเพศซับซ้อนขึ้นแต่อย่างใด นอกจากจะได้แสดงความเห็นเก๋ไก๋ว่าเป็นคนรักต่างเพศที่ปฏิเสธกรอบของสังคมในเรื่องการแต่งงาน เพียงแต่ว่าความเห็นที่ฟังคล้ายว่าจะเป็นความเห็นแนวเสรีนิยมนั้นกลับไปตอกย้ำวาทกรรมว่าด้วย ‘ความปกติ’ ในการเมืองเรื่องเพศ และลดทอนความซับซ้อนของการต่อสู้เพื่อยืนยันความเท่าเทียมกันของมนุษย์

เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณพบว่าตัวเองถูกจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่ม ‘ชายขอบ’ ซึ่งสังคมให้คุณค่าในทางตรงกันข้ามกับความ ‘ปกติ’ เมื่อนั้น, คุณต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งในกรณีนี้คือ ‘คนรักต่างเพศ’ ไม่จำเป็นต้องต่อสู้ให้ได้มา เพราะสิทธิในการมีคู่ชีวิตตามกฎหมายนั้นเป็นรางวัลของการเป็นในสิ่งที่สังคมให้คุณค่าว่า ‘ปกติ’

นอกจากนั้น มุมมองแบบ Heteronormativity ยังมีพลังมากพอที่จะสร้างมายาคติ (ที่อาจจะเกิดทั้งกับคนรักต่างเพศและคนรักเพศเดียวกันเอง) ว่าการต่อสู้เพื่อกฎหมายรับรองสถานภาพคู่ชีวิตสำหรับคนรักเพศเดียวกันนั้นเป็นการเรียกร้องเพื่อให้ได้มาในสิทธิที่มากเกินจำเป็น การเป็น LGBT จึงควรมาพร้อมกับคุณสมบัติความสงบเสงี่ยมเจียมตัวและไม่ควรเรียกร้องสิ่งใดที่จะทำให้สังคมของคนรักต่างเพศต้องเกิดอาการระคายเคืองหรือหมั่นไส้ เพราะการเรียกร้องสิทธิดังกล่าวนั้นเป็นการล้ำเส้นเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ของวาทกรรม ‘ความเป็นปกติ’ ซึ่งแฝงฝังอยู่ในวิธีคิดของผู้คนและสังคม

หรือแม้กระทั่งว่าคุณอาจจะเป็นกลุ่ม ‘ปกติ’ หรือกลุ่ม ‘ชายขอบ’ ที่ไม่ต้องการสิทธิเหล่านั้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะไม่ต้องการเช่นกัน ประเด็นหลักของการผลักดันกฎหมายสมรส/กฎหมายคู่ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกันคือทุกคนต้องมีสิทธิพื้นฐานในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน อย่างน้อยทุกคนควรจะมีโอกาสได้เลือกว่าตัวเองต้องการหรือไม่ต้องการสิทธิเหล่านั้น ที่เหลือก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่มีใครสามารถคิด ตัดสินใจ หรือมีความเห็นแทนใครได้ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติมประเด็น สถานการณ์'สมรสเกย์' สิทธิ-กฎหมายแห่งยุคสมัย’ ได้ที่  ข่าวสด 

 

 




[1] Lesbian หรือหญิงรักหญิง, Gay หรือชายรักชาย อย่างไรก็ดี ในภาษาอังกฤษคำนี้กินความถึงคนรักเพศเดียวกันทั้งหมด, Bisexual หรือคนรักสองเพศ, Transgender หรือคนข้ามเพศ

[2] ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าคำนี้มีการแปลความหมายเป็นภาษาไทยหรือไม่ แต่โดยรวมแล้วหมายความถึงการที่มุมมองแบบรักต่างเพศกลายเป็นบรรทัดฐานหรือกรอบที่คนในสังคมส่วนใหญ่ให้การยอมรับและปฏิบัติตามโดยเชื่อว่าเป็นความ ‘ปกติ’ คำนี้มีพัฒนาการมาจากนักวิชาการด้าน Queer Theory ในช่วงทศวรรษที่ 90

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net