Skip to main content
sharethis

ศาสตราจารย์จากม. โคลัมเบีย บรรยายบทเรียนการสร้างปชต. ในสามประเทศ จากอินเดียที่สามารถรับมือกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวทมิฬด้วยระบบสหพันธรัฐ การสังหารหมู่ในนามของการสร้างชาติในศรีลังกา และปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่าที่ยังเป็นเบี้ยล่างในการเจรจากับรัฐบาล 

 

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 56 เวลา 14.00 น. ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเสวนา "การสร้างประชาธิปไตยในการเมืองที่หลากหลายอย่างลึกซึ้ง: ประสบการณ์จากอินเดีย ศรีลังกาและพม่า" บรรยายโดยศาสตราจารย์อัลเฟรด สเตพาน ผู้อำนวยการศูนย์ประชาธิปไตย ความอดกลั้นและศาสนา แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา โดยเขาชี้ให้เห็นในแต่ละกรณีว่า ผู้คนสามารถมีหลายอัตลักษณ์ที่สอดคล้องกันได้ ทั้งในทางการเมืองและทางความคิด หากว่าแต่ละอัตลักษณ์ให้ประโยชน์และถูกยอมรับโดยรัฐนั้นๆ 
 
สเตพานยกตัวอย่างเปรียบเทียบในกรณีของชาวทมิฬที่เป็นชนกลุ่มน้อยในศรีลังกาและอินเดียตอนใต้ ในกรณีของอินเดียตอนใต้ หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราช มีปัญหาเรื่องการก่อกบฎของชาวทมิฬบ่อยครั้ง เพื่อต่อต้านการปกครองของชาวฮินดีซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในอินเดีย ชาวทมิฬสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง การบริหารราชการ และด้านกฎหมาย โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ประกอบกับการออกพ.ร.บ. จัดการของรัฐในปี 1956 (State Reorganization Act) ทำให้เกิดระบอบสหพันธรัฐ ซึ่งแบ่งเขตการปกครองตามภาษาและชาติพันธ์ุ กลุ่มติดอาวุธเพื่อเรียกร้องเอกราชของชาวทมิฬในอินเดีย จึงได้ค่อยๆ หดหายลงไปในที่สุด เพราะชาวทมิฬส่วนใหญ่มองว่า เมื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองได้แล้ว การจับอาวุธต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป 
 
นอกจากนี้ ในช่วงปี 1923 ก่อนอินเดียได้รับเอกราช มหาตมะคานธีได้รณรงค์ให้รัฐยอมรับการใช้ภาษาที่หลากหลายทำให้รัฐสภายอมรับการใช้ภาษา 26 ภาษาให้เป็นภาษาทางการ โดยต้องมีล่ามทั้งหมด 26 เพื่อรองรับความหลากหลายชนชาติ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความตึงเครียดของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนลดลง
 
เขาชี้ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีผลการสำรวจที่เคยสอบถามประชาชนในรัฐทมิฬ นาดู ซึ่งเป็นรัฐที่มีชาวทมิฬเป็นส่วนใหญ่ ว่าพอใจกับการปกครองของรัฐบาลอินเดียหรือไม่ ผลปรากฎว่า ราวร้อยละ 30 เชื่อใจรัฐบาลอินเดียมาก โดยตัวเลือกในผลสำรวจ ได้แก่ พอใจมาก ค่อนข้างมาก ปานกลาง และไม่พอใจ และในขณะเดียวกัน ก็พอใจกับการดำรงอัตลักษณ์ของตนเองด้วย 
 
"ผู้คนสามารถพึงพอใจหลายๆ อัตลักษณ์ในทางการเมืองและความคิดพร้อมกันได้ หากว่ามีเหตุผลที่ทำให้เขาได้ประโยชน์หรือพึงพอใจจากอัตลักษณ์นั้นๆ" เขากล่าว 
 
ในกรณีของชนกลุ่มน้อยในประเทศศรีลังกา ซึ่งมีชาวสิงหลเป็นคนส่วนใหญ่ สเตพานชี้ว่า ไม่เคยมีการกบฎจากชาวทมิฬมาก่อนเลยเป็นเวลาราวร้อยปี นอกจากนี้ หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคเอกราชสิงหล ก็ยังเป็นชาวทมิฬด้วย ประกอบกับสภาพทางเศรษฐกิจและการปกครองทางราชการ ก็ดูเหมือนว่าศรีลังกาไม่น่าจะต้องเผชิญกับปัญหาชนกลุ่มน้อย
 
การสร้าง 'รัฐชาติ' ที่นำไปสู่การ 'สงครามกลางเมือง' ในศรีลังกา
 
อย่างไรก็ตาม หลังศรีลังกาได้รับเอกราช รัฐบาลก็มีมาตรการสร้างรัฐชาติ โดยการขับไล่ชาวทมิฬซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในตอนกลางของประเทศออกไป ทำให้ประชากรชาวทมิฬกว่าครึ่งต้องอพยพออกจากศรีลังกา ประกอบกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี S. W. R. D. Bandaranaike ซึ่งรณรงค์หาเสียงด้วยนโยบาย "สิงหลเท่านั้น" เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ส่งผลมีการกำหนดให้ใช้ภาษาสิงหลเป็นภาษาทางการเท่านั้น และทำให้ชาวทมิฬรู้สึกถูกเลือกปฏิบัติ
 
ต่อมาในปี 1973 จึงเกิดแนวร่วมปลดปล่อยชาวทมิฬ (Tamil United Liberation Front) ซึ่งเรียกร้องการแบ่งแยกดินแดนให้เป็นรัฐทมิฬอีแลม ทั้งด้วยการติดอาวุธ และผ่านทางการลงเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อเข้าไปในรัฐสภา ซึ่งต่อมาพรรคแนวร่วมปลดปล่อยชาวทมิฬ ได้กลายเป็นกลุ่มฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอการกระจายอำนาจจากพรรคแนวร่วมฯ ก็ถูกรัฐบาลปัดตกไป จากนั้นไม่นาน ก็มีการออกกฎหมายบังคับให้ส.ส. ชาวทมิฬ และข้าราชการชาวทมิฬ ต้องสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐศรีลังกาที่เป็นหนึ่งเดียว และห้ามรณรงค์เพื่อการแบ่งแยกรัฐอีก แม้ว่าจะด้วยวิธีที่สันติก็ตาม
 
กฎหมายดังกล่าว ทำให้ส.ส. ทมิฬทั้งหมดถูกไล่ออกจากรัฐสภา เนื่องจากปฏิเสธที่จะสาบานตนเช่นนั้น นำมาสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธของกลุ่มทมิฬอีแลมอย่างเต็มที่ และกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อถึง 26 ปี โดยสิ้นสุดลงในปี 2009 เมื่อกองทัพของรัฐบาลศรีลังกาสามารถปราบปรามกลุ่มติดอาวุธได้สำเร็จ 
 
ชาว 'มีโซ' ในอินเดีย ที่ต่อรองกับรัฐบาล ขอแยกเป็น 'รัฐ' ได้สำเร็จ
 
สเตพาน ยกกรณีของชนกลุ่มน้อยมิโซ (Mizo) ทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างทางด้านภาษาและศาสนา ต่างจากประชาชนส่วนใหญ่ของอินเดีย โดยขบวนการแนวหน้าปลดปล่อยมีโซได้เรียกร้องเอกราชของตนเองด้วยการติดอาวุธอย่างหนักหน่วงระหว่างปี 1966-1986 เมื่อรัฐบาลเห็นว่าการต่อสู้น่าจะยืดเยื้อไปอีกนาน จึงตัดสินใจยอมเจรจาด้วย โดยให้อำนาจชาวมิโซปกครองตนเองในรัฐมิโซแรมที่แยกออกมาจากรัฐอัสสัมในอินเดีย ภายใต้หลักสหพันธรัฐ 
 
นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังยอมให้รัฐมีโซแรมจัดการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ กำหนดให้ชาวมีโซเท่านั้นที่สามารถถือครองทรัพย์สินในรัฐได้ และกำหนดให้สิทธิการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐเป็นของแต่ชาวมิโซเท่านั้น 
 
ปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่าที่การเจรจาอำนาจยังไม่คืบหน้า 
 
ศาสตราจารย์ม. โคลัมเบียกล่าวว่า การเจรจาระหว่างรัฐพม่าและชนกลุ่มน้อยยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากกองทัพพม่ายังมีอำนาจอยู่มาก เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2008 กำหนดให้ทหารมีนั่งทั้งในสภาสูง และสภาชนเผ่าอยู่อย่างน้อยร้อยละ 25 นอกจากนี้ ตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ ก็ยังมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี ต่างจากรูปแบบของกรณีชาวมีโซหรือในทมิฬนาดู ทำให้การกระจายอำนาจยังไม่เป็นจริงเท่าทีควร 
 
เขากล่าวว่า ในการเจรจากับฝ่ายทหารและรัฐบาล ฝ่ายค้านจำเป็นต้องรวมตัวกันเพื่อให้เป็นฝ่ายค้านที่มีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ และมองว่านางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย ควรต้องคุยกับผู้นำกองกำลังของชนกลุ่มน้อย เพื่อร่วมมือกันเจรจาในฐานะฝ่ายค้าน เพราะในขณะนี้ ฝ่ายทหารยังไม่เชื่อว่าคนอื่นจะสามารถปกครองพม่าได้ในสถานการณ์เช่นนี้ แต่การมีฝ่ายค้านที่มีเข้มแข็ง จะทำให้อำนาจและความเชื่อของฝ่ายทหารว่าตนต้องเป็นผู้ปกครองเพียงแต่คนเดียวนั้น ค่อยๆ ลดลงไป 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net