Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว  คือช่วงปี 2543-2547  อันเป็นยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารยังไม่ก้าวหน้าอย่างทุกวันนี้  สื่อออนไลน์ยังเพิ่งจะเริ่มต้นระดับ 1.0  ยิ่งไม่ต้องพูดถึง Social Media  ดิฉันได้เข้าร่วมกับกลุ่มนักพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่งที่เชียงใหม่  ในการพยายามกรุยทางแก่การสร้างพื้นที่ ”สื่อทางเลือก”  ด้วยการจัดตั้งองค์กรที่มีภารกิจโดยตรงในงานด้านสื่อภาคประชาชน ที่ในเวลานั้นกล่าวได้ว่า  ภาคประชาชนและเอ็นจีโอไม่สามารถจะส่งเสียงหรือสื่อสารปัญหาความทุกข์ยาก หรือผลกระทบอันเกิดจากนโยบายสาธารณะที่พวกเขาไม่มีส่วนร่วมได้เลย 

หรือไม่  หากเป็นข่าวก็มักเป็นเพียงข่าวปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนชาวบ้านหรือกลุ่มภาคประชาชนเป็นตัวปัญหาที่ขัดขวางการพัฒนา  เราเรียกกันว่า ”ข่าวที่ไม่เป็นข่าว”  เพราะสื่อกระแสหลักมีวิธีคิดและมุมมองอีกแบบหนึ่ง  พวกเขาคิดว่าลูกค้าของตนคือคนชั้นกลางในเมืองใหญ่  กับปัจจัยการเซ็นเซอร์ตัวเอง  เนื่องจากสื่อกระแสหลักต้องพึ่งพาโฆษณาและธุรกิจ  ในขณะที่ธุรกิจอุตสาหกรรม ก็มักเป็นจำเลยในการละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่น

ในเวลานั้น  สื่อทางเลือกที่ถือกำเนิดมาได้อย่างจริงจังและโดดเด่น  ก็คือ ”สำนักข่าวประชาธรรม”  ที่ดิฉันเป็นบรรณาธิการอำนายการและเป็นกรรมการผู้จัดการ ตั้งแต่ปี 2543-2547 โดยได้จัดตั้งองค์กรไว้เป็นบริษัทจำกัด  เพราะยุทธศาสตร์ที่วางไว้ว่า  เราน่าจะหาทางทำงานร่วมกับสื่อกระแสหลัก  หรือเบียดแทรกข่าวที่ไม่เป็นข่าวเหล่านี้ไปสู่พื้นที่สื่อกระแสหลัก พูดง่ายๆ คือ  เข้าถึง ”ตลาดสื่อ” ให้ได้  ด้วยแนวทางการดำเนิน งานแบบธุรกิจเอกชนแต่ไม่แสวงหากำไร  ดังนั้น  ดิฉันจึงสร้างระบบสมาชิกการขายข่าวแก่สื่อกระแสหลัก  อันได้แก่หนังสือพิมพ์ระดับชาติ (ขณะนั้นได้มา 4 ฉบับ ) และองค์กรธุรกิจระดับบริษัทมหาชนอีกบางบริษัท 

จากการทำงานหนัก ทั้งการบุกเบิกฝึกอบรมนักข่าวพลเมืองหรือนักข่าวชาวบ้านไปทั่วทุกภาค  กับทั้งความพยายามเดินสายสื่อสารความเข้าใจ  ขายสมาชิกข่าวแก่องค์กรสื่ออาชีพและองค์กรธุรกิจ  แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะ ”สำนักข่าวประชาธรรม”  ตั้งอยู่บนฐานของทีมงานและเครือข่ายแบบเอ็นจีโอ  และนี่คือประเด็นความขัดแย้งขั้นพื้นฐานที่ทำให้ดิฉันทำงานไม่สำเร็จ 

ร้ายไปกว่านั้น  มีความพยายามกำจัดดิฉันออกจากสำนักข่าวประชาธรรม ด้วยใบปลิวที่ปั้นเรื่องเท็จชนิดทำให้หัวใจสลาย และจนถึงบัดนี้ Les Miserables  ยังไม่มีโอกาสได้ชำระประวัติศาสตร์แห่งความจริง  เพราะตำนานการก่อตั้งสื่อทางเลือกที่ชื่อประชาธรรม  ไม่เคยพูดถึงความจริงข้อนี้ นอกไปจากข้อความ 1 บรรทัดกว่า ที่ Quote  คำพูดของดิฉันที่ว่า  “สื่อส่วนกลางเปรียบเหมือนรถใหญ่ที่เข้าซอยไม่ได้ ขณะที่สำนักข่าวภาคประชาชนเป็นรถเล็กๆ ที่เข้าซอยได้” สุชาดา จักรพิสุทธิ์ นักวิชาการอิสระ เปรียบเทียบบทบาทภาระหน้าที่ของสำนักข่าวที่มีความแตกต่างจากหนังสือพิมพ์ทั่วๆ ไปอย่างชัดเจน นอกนั้น ส่วนมากเป็นการอ้างอิง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์  ในฐานะประธานบริษัทในเวลานั้น  ที่เขียนและพูดไว้ต่างกรรมต่างวาระ  แต่การอ้างอิงทำให้ดูประหนึ่งเพิ่มราคาว่า  ศ.ดร.นิธิ  เป็นผู้มีบทบาทคลุกวงในมาแต่ต้น   

อย่างไรก็ดี  ตำนานการก่อตั้งสำนักข่าวประชาธรรม ส่วนอื่นๆ เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง  ทั้งเรื่องการระดมทุนโดยมีนักพัฒนาอาวุโสบางคนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง  การลงหุ้นกันเองในหมู่เอ็นจีโอได้เงินตั้งต้นมา 30,000 บาท และมีนักกิจกรรมด้านการละครท่านหนึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อสำนักข่าวประชาธรรม  ตลอดจนแนวคิดและเจตนารมณ์ในการยืนข้างประชาชน  ถือเป็นส่วนที่น่าเคารพยกย่อง

กลับมาที่บทเรียน  จากความพยายามก่อตั้งสื่อทางเลือกที่ชื่อสำนักข่าวประชาธรรม   ภายใต้บริบทของปัญหาเวลานั้น  บทเรียนที่ว่าก็คือ

1.  มายาคติว่าด้วยสื่อทางเลือกต้อง “เล็กๆและเป็นแนวราบ”   นี่เป็นมายาคติข้อสำคัญที่เอ็นจีโอหรือภาคประชาชนมี คลับคล้ายความเชื่อใน small is beautiful  ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร  หากแต่เป็นคนละเรื่องกับความพยายามจัดตั้งสำนักข่าวเป็นบริษัทจำกัดเพื่อขายข่าวให้แก่ตลาดสื่อ   วาทกรรม ”เล็กและเป็นแนวราบ”ของเอ็นจีโอก็คือ  การทำข่าวให้ภาคประชาชนอ่านกันเอง  มีส่วนร่วมในการสื่อข่าวเอง  ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นความล้มเหลวของวิธีคิดที่ไม่อยู่กับความจริง  และย้อนแย้งกับความต้องการให้ข่าวหรือประเด็นปัญหาของตน  ถูกรับรู้ไปสู่สาธารณะวงกว้าง  

สื่อทางเลือกที่เกิดมาด้วยเจตนาจะส่งเสียงและสื่อสาร ”ข่าวที่ไม่เป็นข่าว” (เช่นเดียวกับสำนักข่าวประชาธรรม) ในยุคสมัยปัจจุบันนี้ที่ขยายตัวเติบใหญ่จนกลายเป็นสื่อกระแสรอง ที่เผลอๆ สื่อกระแสหลักต้องมาเอาข่าวไปใช้  ต่างมุ่งหมายจะต่อสู้ช่วงชิงวาระข่าวและพื้นที่การเข้าถึงผู้บริโภคสื่อออนไลน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  จนแม้แต่ต้องคอยนับตัวเลขผู้เข้าชมเว็บไซต์ กดไลค์กดแชร์กันทุกวัน

2.  สื่อทางเลือกต้องไม่ง้อกระแสหลัก  ไม่ง้อทั้งธุรกิจ โฆษณาและสื่อใหญ่   พูดกันเยอะว่า ทุนมันสามานย์  จะครอบงำสื่อ   ดังนั้นสื่อทางเลือกต้องอยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเอง  ไม่หาโฆษณา  แต่ในความเป็นจริงคือ  ในยุคของดิฉันนั้น  หาเงินจ่ายเงินเดือนคนทำงานมาได้หลายปี (ยกเว้นตัวเองเพราะได้รับเงินค่ายังชีพจากรางวัล Ashoka Fellow)  เพราะรับจ้างทำหนังสือพิมพ์ ”ข่าวชุมชน” ให้ พอช. หรือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนด้วย   จนถึงวันนี้ที่สื่อทางเลือกจำนวนไม่น้อยต้องง้อ สสส. หรือแหล่งทุนระหว่างประเทศ  หรือแม้แต่ต้องเขียนโปรเจ็ค  จัดกิจกรรมฝึกอบรมโน่นนี่นั่น  ดูเผินๆ ไม่ต่างจากสื่อกระแสหลัก ที่ต้องหันพึ่งรายได้จากการทำงานพิเศษจัดอีเว้นต์กันในทุกวันนี้ 

แต่พูดให้ถูกก็คือ  สื่อทางเลือกนั้น ”เล็ก” เกินกว่าที่โฆษณาสินค้าหรือธุรกิจอะไรจะอยากใช้เป็นช่องทางเข้าถึงกลุ่มลูกค้า  ซึ่งก็ไม่ใช่มนุษย์ประเภทเลือกเสพสื่อทางเลือกเสียอีกด้วย และจริงๆ เวลานี้  ไม่ว่าสื่อทางเลือกหรือประชาชนผู้เสพสื่อก็อาจไม่จำเป็นต้องง้อสื่อกระแสหลักแล้วจริงๆ

3.  องค์กรภาคประชาชน  คนทำงานต้องมีส่วนร่วมทุกเรื่อง  เพราะประชาธิปไตยต้องสำคัญกว่าประสิทธิภาพ  อย่าไปเป็นแบบองค์กรธุรกิจที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพมากจนย่อหย่อนประชาธิปไตย  หัวหน้าองค์กรไปเจรจาความกับใครไม่ให้ทีมงานทั้งหมดรู้  เขาจะหาว่ากำลังพาองค์กรไป ”หลงทิศผิดทาง”  วางแผนทำอะไรสักอย่างต้องประชุมหารือ สร้างการมีส่วนร่วม  ข่าวช้ากว่าคนอื่นจะเป็นไรไป   

ได้แต่หวังว่า ปัจจุบัน วัฒนธรรมการทำงานเช่นนี้ในองค์กรสื่อทางเลือกจะเปลี่ยนแปลงไปตามโลกที่หมุนเร็วขึ้น 

4.  ข่าวของสื่อทางเลือก เป็นข่าวปรากฏการณ์อีกแบบหนึ่ง  แม้ว่าเป็นข่าวเลือกข้างคนจนและผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม  แต่การรายงานเพียงตัวปรากฏการณ์หรืออุบัติการณ์   โดยไม่สามารถดึงเอาแง่มุมเกี่ยวข้องขึ้นมาให้เห็นภาพใหญ่ของปัญหา  ก็คือข่าวใคร ทำอะไร ที่ไหน  ทำไม  อย่างไร  อีกแบบหนึ่ง  ยกตัวอย่าง  ข่าวคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงศ์  ประเด็นนี้เป็นข่าวเมื่อมีชาวบ้านรวมตัวคัดค้าน  หรือตัวแทนเอ็นจีโอจัดแถลงการณ์  ความจริงแล้ว สื่อทางเลือกสามารถนำเสนอแง่มุมของการจัดการน้ำแบบอื่นๆ ที่มากกว่าการสร้างเขื่อน  แล้วพาดพิงถึงผลกระทบเชิงลบของการสร้างเขื่อน  ถามว่า  หากนำเสนออย่างที่ว่านี้  คนอ่านจะคิดได้เองไหมว่า... เออ...ไม่เห็นต้องสร้างเขื่อนให้เป็นที่เดือดร้อนของชาวบ้านเลยนี่หว่า

5.  มายาคติที่คิดว่าตัวเองมีอุดมการณ์และศีลธรรมมากกว่าใคร   ในยุคสมัยที่สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นกระแสการสื่อสารที่มีพลังมากกว่าสื่อกระแสหลัก   สื่อทางเลือกบางรายยังคงคิดว่า  ตนเป็นสื่อที่ขาวสะอาด  ไม่เลือกข้าง  ถึงพร้อมด้วยอุดมการณ์เพื่อประชาชนมากกว่าสื่ออื่นใด  แต่ความเป็นจริงคือ เวลานี้ภาคประชาชนได้เปลี่ยนไปแล้ว  ภาคประชาชนไม่ได้หมายเพียงเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ หรือคนชายขอบ  และภาคประชาชนก็ไม่ได้รอคอยให้เอ็นจีโอมาเป็นผู้นำการต่อสู้อีกต่อไป   ภาคประชาชนอาจเป็นปัจเจกบุคคลที่ลุกมาทำสื่อเอง  ด้วยแนวคิดเพื่อส่วนรวมและเพื่อความเป็นธรรม  ปกป้องประโยชน์สาธารณะ  หรือแม้แต่เพื่อถกเถียงนำเสนอความจริงชุดอื่นๆ ที่ต่างจากความจริงชุดของสื่อทางเลือกก็ได้    โดยนัยยะนี้ ปัจเจกบุคคลเหล่านี้ก็กำลังทำงานสื่อทางเลือกอยู่เหมือนกัน 

หากอยากให้สังคมไทยมี ”ทางเลือก” จริงๆ  ก็อาจต้องเริ่มต้นจากการเลิกผูกขาดทางเลือกเสียที

ประสบการณ์ที่ดิฉันประสบมาเอง ก็คือการที่เอ็นจีโอที่ลงสนามสื่อ ไม่เคยมีภาพในหัวว่า นักวิชาการอิสระหรือคนที่มาจากภาคธุรกิจเอกชนอย่างดิฉัน  จะมีจิตหนึ่งใจเดียวเพื่อประชาชน  และเข้าใจปัญหาของประชาชนได้เท่ากับพวกเขาได้อย่างไร

6.  สื่อทางเลือกไม่ได้เป็น "สื่ออิสระ” อย่างแท้จริง   ประเด็นนี้หมายรวมทั้งสื่อทางเลือกที่เกิดจากเอ็นจีโอ และสื่อทางเลือกที่เกิดจากกลุ่มคนที่มีเป้าหมายทางการเมือง  ไม่ว่าสีไหน  และไม่ว่าเป็นการเมืองกระแสหลักหรือการเมืองภาคประชาชน  เพราะความเป็นอิสระไม่ได้หมายถึงการไม่ต้องพึ่งพาโฆษณา  แต่หันไปพึ่งพาการทำโปรเจ็คตามนโยบายของผู้ให้ทุน  และความเป็นอิสระก็ไม่ได้หมายถึงการไม่สนใจกระแสหลักหรือความสนใจของสังคมส่วนใหญ่  หากแต่การเป็นสื่อเสรีหรือสื่ออิสระ  มีความหมายที่แท้จริงที่ “การทำความจริงให้ปรากฏ ไม่ว่าความจริงนั้นจะมีอำนาจเงิน หรืออำนาจการเมือง  และแม้แต่อำนาจของขาใหญ่พวกเดียวกัน ครอบงำอยู่  ตราบเท่าที่ความจริงนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนข้างมาก  และตราบเท่าที่เจตนาในการนำ เสนอความจริงนั้น  เกิดด้วยสำนึกของการเป็นตัวกลาง Medium – Media   พูดให้ถึงที่สุดและพูดอย่างสุดขั้วคือ สื่อทางเลือกที่จะเป็นสื่ออิสระ  ต้องเป็นอิสระจากมายาคติของความเป็นสื่อทางเลือกที่กล่าวมาข้างต้นด้วย  

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ได้พบว่า สื่อทางเลือกเอง ก็เป็นเช่นเดียวกับสื่อกระแสหลัก  ในอันที่จะเลือกพูดอะไรและไม่พูดอะไร  เพียงเพราะมายาคติที่ตนไม่รู้ตัว  หรือเพราะเป็นม้าลำปางมองเห็นแต่พื้นถนนที่ตนยืน

ซึ่งก็อาจจะยังดีกว่า การที่สื่อทางเลือกไม่เคารพความจริงจนถึงขั้นบิดเบือนความจริง   

หากหมุนเวลากลับไปได้  ดิฉันจะไม่คิดและไม่ทำสื่อทางเลือกที่เป็นเช่นนั้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net