Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมคิดว่าในยุคสมัยของเรา บุคคลที่ปลุกมโนธรรมสำนึกทางสังคม คือบุคคลที่ถูกเรียกว่า “นักโทษทางความคิด” หรือ “นักโทษมโนธรรมสำนึก” เช่นคนอย่างดา ตอร์ปิโด สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นต้น เขาเหล่านี้คือผู้ซึ่งมีมโนธรรมตื่นรู้ในการปกป้องสัจจะ เสรีภาพ และความยุติธรรม โดยที่ในแง่ของสัจจะนั้น พวกเขาเห็นว่า ประชาชนต้องพูดความจริงทั้งด้านบวกและลบของชนชั้นปกครองได้ การต่อสู้ของพวกเขาคือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่จะพูดความจริงที่ว่านี้ และนี่จึงเป็นการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมบนหลักของความเสมอภาคในความเป็นคน นี่คือการต่อสู้เพื่อสัจจะเสรีภาพ ความยุติธรรม เพื่อความเป็นประชาธิปไตย

การแสดงออกซึ่งมโนธรรมเพื่อสัจจะ เสรีภาพ และความยุติธรรมที่ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็น “นักโทษทางความคิด” หรือ “นักโทษมโนธรรมสำนึก” ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้สังคมโลกได้เห็นว่า ความชอบธรรมของการใช้อำนาจทางกฎหมายของประเทศนี้ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของสัจจะ เสรีภาพ ความยุติธรรมที่ถือว่าทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน แต่ความชอบธรรมของการใช้อำนาจขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นผู้มีอำนาจกำหนด หมายความว่าถ้าผู้มีอำนาจบอกว่าอย่างนี้คือความชอบธรรมมันก็ต้องชอบธรรม โดยที่ระบบยุติธรรมทั้งหมด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สื่อมวลชนก็ต้องมีความเห็นคล้อยตาม และสนับสนุนความชอบธรรมของผู้มีอำนาจเช่นนั้น

แน่นอน หลักความชอบธรรมที่ขึ้นอยู่กับอำนาจของชนชั้นปกครอง หรือความชอบธรรมที่เป็นไปเพื่อปกป้องสถานะ อำนาจ ความศักดิ์สิทธิ์ ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ย่อมแปลกแยกกับความชอบธรรมของสังคมประชาธิปไตยที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความมีเสรีภาพ และความเสมอภาค การจองจำนักโทษทางความคิดหรือนักโทษมโนธรรมสำนึก คือภาพสะท้อนความแปลกแยกที่ชัดเจนยิ่ง แต่มันไม่เพียงแปลกแยกกับความเป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นวิถีสังคมการเมืองของโลกสมัยใหม่เท่านั้น หากยังแปลกแยกแตกหักกับหลักการพุทธศาสนาที่ชนชั้นปกครองอ้างอิงสนับสนุนความชอบธรรมของตนเองอย่างเป็นประเพณีสืบมาในประวัติศาสตร์อันยาวนานอีกด้วย

เป็นความจริงว่า พุทธศาสนาปฏิเสธระบบวรรณะ 4 อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ บอกว่า ที่พุทธศาสนาปลาสนาการไปจากสังคมอินเดียอาจมาจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือ พุทธศาสนาไม่สามารถต้านระบบวรรณะที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานได้ เมื่อพุทธศาสนาแพร่เข้ามาในเอเชียอาคเนย์ก็เข้ามาไล่เลี่ยกับศาสนาพราหมณ์ และมีการไกล่เกลี่ยผมสมผสานความคิดในทางปรัชญาการเมืองกันมาโดยตลอด ในหนังสือ “พุทธศาสนา สาระและพัฒนาการ” โดยเอดเวิร์ด คอนซ์ แปลโดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ว่า (หน้า73-74) ทฤษฎี “กษัตริย์ผู้ทรงหมุนจักร” ...ให้ภาพจักรพรรดิตามอุดมคติไว้...

พระองค์ทรงมีชัยอยู่เบื้องหน้าเหล่าแสนยากร ทรงเป็นธรรมิกราช (ราชาแห่งธรรมะ) ครอบครองสมบัติ 7 อันมีรถ ช้าง ม้า มณี ทาระ อำมาตย์ และขุนพล จะทรงมีพระราชโอรสถ้วนร้อยพระองค์ล้วนแกล้วกล้าสง่างาม เป็นที่หวาดผวาแก่เหล่าปัจจามิตร พระองค์จะทรงปราบปรามได้ดินแดนทั่วทวีป จนจรดขอบเขตพระมหาสมุทร แล้วจะทรงขจัดเสียซึ่งเหตุแห่งความกดขี่ และความทุกข์ยากทั้งมวลในจักรวรรดิ ทั้งจะทรงปกครองดินแดนนั้น โดยไม่ใช้ราชทัณฑ์ หรือคมพระแสง หากทรงครองโดยอาศัยพระธรรม และศานติ

ส่วนแรกของคำพรรณนานี้อาจจะฟังดูเป็นนิยายไปหน่อย แต่ “เนื้อหาสาระ” ก็คือ พุทธศาสนาต้องการเสนอปรัชญาการเมืองว่า ผู้ปกครองไม่ใช่ “เทวราชา” ที่ได้อำนาจสิทธิ์ขาดอันชอบธรรมมาจากพระเจ้า พระราชาจึงต้องเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ แตะต้องไม่ได้ประดุจดังพระเจ้า แต่ผู้ปกครองในความหมายของพุทธศาสนานั้นต้องเป็น “ธรรมิกราช” หรือธรรมราชา ที่มีสถานะ อำนาจที่ชอบธรรมอยู่บนธรรมะของผู้ปกครอง เพื่อปกครองราษฎรโดย ทรงขจัดเสียซึ่งเหตุแห่งความกดขี่ และความทุกข์ยากทั้งมวลในจักรวรรดิ ทั้งจะทรงปกครองดินแดนนั้นโดยไม่ใช้ราชทัณฑ์ หรือคมพระแสง หากทรงครองโดยอาศัยพระธรรม และศานติ

แน่นอนว่า คุณธรรมของผู้ปกครองที่พุทธศาสนาสอน เช่น ราชสังคหวัตถุ ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร คือธรรมะที่เป็นไปเพื่อขจัดเสียซึ่งเหตุแห่งความกดขี่ และความทุกข์ยากทั้งมวลของราษฎร ปกครองโดยไม่ใช้ราชทัณฑ์ หรือคมพระแสง หากปกครองโดยอาศัยพระธรรมและศานติ ทั้งสิ้น จึงไม่มีเนื้อหาไปในทางส่งเสริมสนับสนุนสถานะ อำนาจศักดิ์สิทธิเหนือการตรวจสอบของชนชั้นปกครองแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ฉะนั้น การอ้างว่าต้องมีกฎหมายห้ามวิจารณ์ตรวจสอบผู้ปกครอง เช่น มาตรา 112 (เป็นต้น) หรือจำเป็นต้องมีนักโทษทางความคิด หรือนักโทษมโนธรรมสำนึก จึงขัดแย้งกับอุดมคติหรือปรัชญาการเมืองตามหลักการ “ธรรมิกราชา” อย่างสิ้นเชิง นักโทษทางความคิด นักโทษมโนธรรมสำนึกอย่างดา สุรชัย สมยศ เป็นต้น พวกเขาไม่เพียงแต่ปลุกมโนธรรมสำนึกให้สังคมตื่นรู้คุณค่าของสัจจะ เสรีภาพ ความยุติธรรมตามหลักการประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังฟ้องให้โลกรู้ว่า ระบบการปกป้องชนชั้นปกครองไทยกำลังกระทำในสิ่งซึ่งขัดแย้งกับอุดมการณ์ความชอบธรรมของชนชั้นปกครองของไทยเองอย่างถึงรากอีกด้วย

อย่าลืมว่า พุทธศาสนาสร้าง “สังฆะ” ขึ้นมา เพื่อเป็นสังคมตัวอย่างที่ปลดแอกระบบชนชั้น เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างมีเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ มีความเสมอภาค และความเป็นกัลยาณมิตร เป็นพี่เป็นน้อง สังฆะไม่ได้หมายเฉพาะพระสงฆ์เท่านั้น แต่หมายรวมฆราวาสด้วยที่ต่างมีหน้าที่ปกป้องสัจจะ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพร่วมกัน ด้วยการฝึกฝนเรียนรู้เพื่อพัฒนาชีวิตตนเองให้งอกงาม และดูแลกันและกันตามหลักไตรสิกขา สังคมที่ยุติธรรมนั้นพุทธศาสนาให้นึกถึงคนเล็กคนน้อย คนที่ขาดแคลน หรือคนที่ถูกกดขี่เอาเปรียบเป็นอันดับแรก เราต้องมองเห็นทุกขสัจจะของคนเหล่านี้ รวมทั้งทุกขสัจจะเชิงโครงสร้างที่กดขี่เอาเปรียบ และช่วยให้พวกเขาได้พ้นทุกข์ ฉะนั้น ธรรมราชา หรือผู้ปกครองที่มีคุณธรรม (ไม่ว่าจะเรียกชื่อใดๆ) จึงไม่มีทางจะใช้ราชทัณฑ์ หรือกฎหมายกดขี่ราษฎรที่เป็นคนเล็กคนน้อยในสังคม

พุทธศาสนาไม่ได้มีไว้เพื่อให้เรากล่าวสรรเสริญชื่นชม เพื่อโฆษณาชวนเชื่อว่า พวกเราโชคดีที่ได้เกิดมาพบพุทธศาสนา ไม่ได้สนับสนุนให้เราอวดโอ่ว่าวันนี้เราอิ่มบุญ เปี่ยมสุข มีธรรมะในใจไม่ทุกข์ เป็นสุขทุกลมหายใจ บริจาคมากรวยมาก ฯลฯ แต่พุทธศาสนามีไว้เพื่อปลุกมโนธรรมให้เราสำนึกว่า โลกทั้งผองพี่น้องกัน สรรพสัตว์คือเพื่อนร่วมทุกข์ ในวัฏสงสารที่ยาวไกลไม่มีใครไม่เคยเกิดเป็นพี่เป็นน้องกัน เราจึงไม่มีเหตุผลที่จะเบียดเบียนบีฑากัน แต่ควรเอื้ออาทรสนับสนุนกันให้เจริญงอกงาม อย่างมีสำนึกในการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรม

ฉะนั้น หากชนชั้นปกครอง รัฐบาล ศาล นักการเมือง ประชาชนที่รักความยุติธรรม ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยและซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ธรรมราชา อันเป็นรากฐานวัฒนธรรมการปกครองไทย ที่มีเนื้อหาสาระตามหลักคำสอนของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เราทั้งหมดต้องมีมโนธรรมตื่นรู้ร่วมกันสร้างสรรค์สังคมนี้ให้เป็นสังคมอารยะที่ไม่มีนักโทษทางความคิด นักโทษมโนธรรมสำนึก ต้องปล่อยนักโทษ 112 และนักโทษการเมืองทั้งหมดโดยเร็ว

ไม่เช่นนั้น ไม่เพียงแต่สังคมนี้จะไม่บรรลุอุดมการณ์ประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังเป็นสังคมที่ทำลายความชอบธรรมแห่งอุดมการณ์ธรรมราชาลงอย่างสิ้นเชิง!

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net