Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษชดเชยค่าเสียหายแก่ประชาชนในหมู่บ้านคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากละเลยและล่าช้าในการวางแผนและควบคุมไม่ให้โรงงานแต่งแร่ ปล่อยสารพิษลงสู่แม่น้ำสายที่ชาวบ้านบริเวณนั้นฝากชีวิตพึ่งพา นอกจากนี้ ในวันที่ 16 และ 17 มกราคม ศาลปกครองก็ได้อ่านคำพิพากษาคดีสลายการชุมนุมคัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย และกรณีโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 หลังรอคอยกันมานานนับสิบปี

 
ข่าวเหล่านี้ทำให้ผมระลึกได้ว่า 5-6 ปีที่ผ่านมา ข่าวทำนองนี้เลือนหายไปจากหน้าสื่อสาธารณะ ทั้งที่ก่อนหน้าวิกฤติการเมืองรอบปัจจุบัน กระแสการเมืองภาคประชาชนซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายพลังชุมชนประสานกับแนวร่วม NGO และข้อเสนอ ‘ประชาธิปไตยกินได้’ ที่เรียกร้องสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อต่อต้านรัฐและทุนที่ฮั้วกันพัฒนาเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ คือพลังที่ได้รับความเชื่อมั่นว่าจะสร้างประชาธิปไตยและความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง
 
นอกจากเงียบแล้ว ในปัจจุบัน ‘ชุมชน’ ยังถูกวิพากษ์ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของอำมาตย์เสียด้วยซ้ำ
 
เนื่องในวาระที่ภาคประชาชนได้รับชัยชนะติดๆ กัน ผมขออนุญาตลองทบทวนความเป็นมาเพื่อหาคำตอบว่า เหตุใดในช่วงเวลาหนึ่งกระแสคิดที่เชื่อว่า ‘คำตอบอยู่ที่ชุมชน’ จึงได้รับการยกให้เป็นพระเอกของประชาธิปไตย แต่ทำไมต่อมา ชุมชนจึงกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาผู้รักประชาธิปไตยเสียได้
 
 
ชุมชนคืออะไร? ชุมชนไม่ใช่หมู่บ้าน เพราะหมู่บ้านจำนวนมาก เช่น หมู่บ้านจัดสรรในเมืองใหญ่ ก็ไม่ได้มีความเป็นชุมชน แต่หมายถึงกลุ่มความสัมพันธ์ที่ผู้คนร่วมกันถักทอขึ้นมาผ่านจุดร่วมบางประการ เช่น ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม แบบแผนการผลิต ถิ่นที่อยู่สายเลือด หรือความคุ้นเคย โดยความสัมพันธ์เหล่านี้ถูกยึดเหนี่ยวไว้ด้วยพันธะความไว้วางใจและการดูแลซึ่งกันและกัน ฟังแล้วคล้ายระบบอุปถัมภ์ แต่ต่างตรงที่เขาดูแลกันในฐานะ ‘เพื่อนร่วมชะตากรรม’ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ต่างตอบแทน
 
ดังนั้น ไม่ว่าครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนที่รวมตัวเฉพาะประเด็น หรือแม้แต่ชาติ ถ้าเข้าเงื่อนไขข้างต้นล้วนถือเป็นชุมชนทั้งสิ้น
 
ทำไมชุมชนจึงเป็นพระเอก? เท่าที่ทบทวนปากคำของฝ่ายสนับสนุน ผมพอสรุปเหตุผลได้เป็นสองข้อ ข้อแรก เพราะชุมชนคือฟูกรองรับผู้คนที่ล้มหายตายจากหรือไม่พร้อมเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองแบบไทยๆ ซึ่งมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมภายใต้รัฐอำนาจนิยม การพัฒนาตามทิศทางดังกล่าวได้สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้คนที่ไม่มีเส้นสาย ไร้อำนาจรัฐ และขาดเงินทุนถูกกีดกันออกไป จึงต้องหันมาพึ่งพาชุมชนแบบร่วมด้วยช่วยกัน รวมถึงพึ่งพิงทรัพยากรท้องถิ่นในการดำรงชีวิต
 
ส่วนข้อที่สอง ชุมชนคือจุดยุทธศาสตร์แนวหน้าในสงครามการพัฒนา ระหว่างแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ กับผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับชุมชน กล่าวคือ การพัฒนาแบบทุนนิยมนั้น นายทุนจะเข้าครอบงำรัฐ แล้วออกนโยบายที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ ภายใต้ทิศทางดังกล่าว ชนบทและผู้คนในชนบทมีสถานะเป็นเพียงแหล่งทรัพยากรและแรงงานที่เอาไว้ขูดรีดป้อนเข้าสู่สายการผลิต ดังนั้น เมื่อกลุ่มทุนและรัฐพยายามเข้าขูดรีดจากชุมชนท้องถิ่น พวกเขาก็จะลุกขึ้นสู้ขาดใจ เพื่อปกป้องฐานที่มั่นของตนเองเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากฐานที่มั่นนั้นเป็นผืนดินของบรรพบุรุษหรือเป็นฐานที่มั่นสุดท้าย
 
ยิ่งการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมเข้มข้น การต่อต้านก็ยิ่งเข้มข้นตาม
 
ในท้ายที่สุด การต่อต้านจะนำไปสู่การโอนอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจจากรัฐสู่ชุมชน กล่าวคือ เมื่อรัฐซึ่งเอาอำนาจอธิปไตยไป กลับไม่ปกป้องคนตัวเล็กตัวน้อยตามสัญญาประชาคม คนตัวเล็กๆ ก็เลยบอกว่าขออำนาจอธิปไตยบางส่วนคืนมาใช้ร่วมกันเองน่าจะดีกว่า
 
ข้างต้นคือแนวคิด ส่วนในแง่ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบไม่เป็นธรรมเริ่มขึ้นอย่างจริงจังและจงใจในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงปี 2500 สมัยนั้นท่านนายกฯ เชื่อว่าการพัฒนาแบบเหลื่อมล้ำนั้นดี เพราะการขูดรีดทรัพยากรและแรงงานจะช่วยให้ประเทศไทยบางส่วนพัฒนาอย่างรวดเร็วทันเข้าร่วมแข่งเอาส่วนแบ่งจากตลาดโลก แล้วพอความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น ผู้ที่เสียเปรียบก็จะหันมารวมตัวกันต่อรองให้รัฐกระจายผลประโยชน์ให้เป็นธรรม แล้วเมื่อเริ่มเท่าเทียมกัน ก็เริ่มพัฒนาแบบเหลื่อมล้ำต่อ เป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายประเทศไทยก็จะทั้งพัฒนาและมีความเป็นธรรม
 
แต่ในความเป็นจริง ยังไม่ทันจะต้องมาเถียงกันว่าแนวคิดนี้ดีและเป็นไปได้หรือไม่ พอขาขวาที่ชื่อว่าการพัฒนาก้าวออกไป ขาซ้ายที่ชื่อว่าความเป็นธรรมเริ่มขยับเท่านั้น ระบอบเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ก็กวาดล้างพลังเหล่านี้เสียราบคาบภายใต้ข้อหาคอมมิวนิสต์
 
นับแต่นั้น ประเทศไทยก็รับมรดกวัฒนธรรมการพัฒนาแบบไม่เป็นธรรม และการใช้ความรุนแรงกดปราบผู้ต่อต้านมาจวบจนปัจจุบัน
 
อย่างไรก็ตาม กระแสเรื่องชุมชนไม่ได้เป็นกระแสหลักในฝ่ายผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น เพราะในช่วงยี่สิบปีแรกของการพัฒนา แนวคิดสังคมนิยมให้คำตอบได้ชัดเจน เด็ดขาด เร้าใจมากกว่า ต้องรอจนสังคมนิยมล่มสลาย กระแสชุมชนจึงเข้ามาแทนที่ กล่าวคือ เมื่อแผนการยึดอำนาจแล้วเปลี่ยนรัฐทั้งรัฐไม่สำเร็จ ผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมก็หันมาสร้างสังคมอุดมคติในพื้นที่เล็กๆ โดยยังคงไว้ซึ่งหลักการต่อต้านรัฐและทุน
 
รูปแบบทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ประเทศไทยนะครับ หลังสังคมนิยมล่มสลายปี 1989 ขบวนการที่รวมตัวในเชิงชนชั้น กรรมกร-ชาวนา-ปัญญาชนทั่วโลกก็อ่อนแรงเพราะขาดการสนับสนุนและขาดธงนำใน ปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวจึงพากันหันมาสนับสนุนอุดมการณ์ชุมชน
 
ขณะเดียวกัน การที่รัฐทั่วโลกหันมาสมาทานทุนนิยม โดยทำหน้าที่เป็นยามเฝ้าตลาด คอยรับคำสั่งและปกป้องทุนใหญ่แล้วใช้กระบองไล่ตีคนตัวเล็กตัวน้อย ทำให้ตัวชุมชนท้องถิ่นเองถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ จนพากันลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐและทุนอย่างเข้มข้น
 
อาจารย์เสน่ห์ จามริก เรียกแนวโน้มนี้ว่า ‘การปะทะกันระหว่างระบอบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จระดับโลกกับการปลดปล่อยและประชาธิปไตยระดับรากหญ้า’
 
ในประเทศไทย กรณีสำคัญที่มีชื่อเสียงก็เช่น การต่อสู้ของชุมชนปากมูล หรือปี 2540 ที่มีกรณีเครือข่ายปฏิรูปที่ดินในภาคเหนือกว่า 3,000 ครอบครัว เข้ายึดที่ดิน 23 จุด ใน 3 จังหวัด กว่า 14,309 ไร่ และประกาศว่าจะยึดต่อไปเรื่อยๆ จนกว่ารัฐบาลจะขานรับนโยบายปฏิรูปที่ดิน
 
ส่วนในระดับโลก เหตุการณ์ประท้วงครั้งประวัติศาสตร์ที่เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงการประท้วงสำคัญหลายครั้ง ในเชิงอุดมการณ์ก็คือการต่อต้านการพัฒนาทุนนิยมในระดับโลกที่มี WTO หรือ IMF เป็นธงนำ แล้วเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
 
ที่มาภาพ: http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n6_21092009_01
 
ในแง่ข้อเสนอรูปธรรม ขบวนการชุมชนนำเสนอ ‘ประชาธิปไตยกินได้’ ซึ่งหมายถึงการกระจายอำนาจการตัดสินใจทางนโยบายให้แก่หน่วยย่อย เช่น ชุมชน แนวคิดที่ได้ยินกันบ่อยๆ คือเรื่อง ‘สิทธิชุมชน’ ซึ่งหมายถึงสิทธิรวมหมู่ที่ให้คนในชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งสิทธิในที่ดินทำมาหากิน สิทธิในการดูแลและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร สิทธิในการธำรงภูมิปัญญาในการใช้ทรัพยากรตามวิถีทางของตน สิทธิในการได้รับการรับรองด้านการปกครองจากรัฐ และสิทธิในการปกป้องวัฒนธรรม
 
ในกรณีประเทศไทย งานวิจัยของอาจารย์เสน่ห์ จามริก เรื่อง ‘ป่าชุมชนในประเทศไทย’ ถือเป็นงานชิ้นแรกๆ ในประเทศไทยที่นำแนวคิดนี้มาใช้อย่างจริงจังและเป็นระบบ
 
ภายหลังกระแสชุมชนนิยมบ่มเพาะประสบการณ์ องค์ความรู้ และแนวร่วมมาอย่างยาวนาน ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองหลังพฤษภาทมิฬ โดยแนวคิดประชาธิปไตยกินได้ได้รับการบรรจุเข้าไปเป็นหนึ่งในสามแนวคิดหลักของรัฐธรรมนูญ 40 โดยกำหนดไว้ในมาตรา 46 และ 56 (เคียงคู่กับแนวคิดเรื่องการถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และแนวคิดเรื่องภาวะผู้นำและรัฐบาลเข้มแข็ง)
 
นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างช่องทางประชาธิปไตยทางตรง โดยเฉพาะกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่ได้รับความเดือดร้อนจากประเด็นต่างๆ โดยไม่มุ่งเข้าไปยึดอำนาจรัฐ เพราะคนตัวเล็กตัวน้อยไม่มีความทะเยอทะยานมากไปกว่าเรื่องปากท้องและวิถีชีวิต ส่วนปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวก็ได้บทเรียนจากครั้งสังคมนิยมว่า การยึดอำนาจรัฐก็เป็นแค่การสร้างทรราชใหม่ตราบที่ไม่มีการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจให้คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถดุลกับรัฐและทุนได้
 
ต่อมา เมื่อทักษิณก้าวสู่อำนาจ ช่วงแรกตัวนายกฯ ก็มีท่าทีญาติดีกับภาคประชาชน เช่น ลงมากินข้าวกับชาวบ้านเขื่อนปากมูลที่มาชุมนุมประท้วง แต่ต่อมาก็เบือนหน้าหนีไปหาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจรวมศูนย์เช่นเดิม หนำซ้ำยังเข้มข้นขึ้น
 
สงครามการพัฒนาจึงดุเดือดขึ้นอีกครั้ง อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง เคยสรุปไว้ว่า ในช่วง พ.ศ.2548-2551 เพียง 3 ปี ทั่วประเทศไทยมีคดีความที่เป็นผลมาจากการเข้าปะทะกันถึง 1,500 คดี เทียบอัตราส่วนแล้วมากกว่า 1 คดีต่อวันเลยทีเดียว นี่ยังไม่นับกรณีผู้นำชุมชนถูกลอบสังหารนับไม่ถ้วน
 
 
ในแง่กลยุทธ์ทางการเมือง วิธีลดความชอบธรรมพลังชุมชนของทักษิณ ก็อาศัยการกล่าวหาว่าผู้ที่ออกมาต่อต้านนโยบายของเขาคือคนส่วนน้อยที่ขัดขวางผลประโยชน์แห่งชาติของคนส่วนใหญ่ ส่วนฝ่ายปัญญาชนที่สนับสนุนชุมชนก็ออกมาตอบโต้ว่า ผลประโยชน์แห่งชาติที่รัฐบาลอ้างนั้นไม่เคยมีพื้นที่ให้คนตัวเล็กตัวน้อย ทั้งที่แท้จริงแล้วชาติคือองค์รวมที่บูรณาการกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน ดังนั้น ถ้านายกฯ รักชาติจริง ก็ต้องเปิดพื้นที่และเคารพในหน่วยย่อยเหล่านี้
 
ข้อถกเถียงหนึ่งที่ผมเคยได้ยินแล้วเห็นภาพการปะทะกันทางแนวคิด คือ ครั้งหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่ด่าชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านโครงการพัฒนาว่าไม่รู้จักเสียสละเหมือนชาวบ้านบางระจันที่ยอมตายเพื่อส่วนรวม ชาวบ้านก็เถียงกลับทันทีว่าชาวบ้านบางระจันเขาสู้เพื่อปกป้องถิ่นฐาน พ่อ แม่ พี่ น้องของตัวเอง ไม่ใช่อยุธยาที่ทอดทิ้งพวกเขา!!!
 
ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องเสียงข้างน้อย ฝ่ายนิยมชุมชนก็ตอบโต้ว่าเลื่อนลอยเกินไปจนกลายเป็นแค่ข้ออ้างของเผด็จการ เพราะแม้จะจริงอยู่ว่ารัฐบาลได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกนโยบายของรัฐบาลหลังจากนั้นจะได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากเสมอ และในความเป็นจริง ไม่มีนโยบายไหนในโลกที่จะสร้างความเดือดร้อนให้คนเกินครึ่งประเทศออกมาประท้วงพร้อมกัน ดังนั้น เสียงข้างมากที่อ้างจึงเป็นแค่ ‘เสียงข้างมากจำลอง’ นอกจากนี้ยังท้าต่อว่า ต่อให้รัฐบาลก็รัฐบาลเถอะ แน่จริงไประดมเสียงข้างมากที่บอกว่าสนับสนุนโครงการออกมาให้เห็นกันจะๆ หน่อยสิ
 
ไปๆ มาๆ ชุมชนจึงกลายเป็นฐานผลิตข้อถกเถียงกับรัฐบาลทักษิณ เมื่อขบวนการ ‘รู้ทันทักษิณ’ ก่อรูป บางส่วนโดยเฉพาะปีกปัญญาชนและนักเคลื่อนไหว ก็กระโจนเข้าร่วมแล้วเรียกร้องระดมมวลชนที่ทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนานให้ออกมาสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ควรหมายเหตุไว้ด้วยว่า ในช่วงเวลานี้ภาคประชาชนแบบชุมชนนิยมไม่ได้เข้มแข็งเท่าเดิม เพราะจำนวนมากก้าวออกจาก ‘ชุมชน’ ไปเป็นผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากได้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยม
 
ภายหลังสนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศเคลื่อนขบวนกู้ชาติครั้งแรกแล้วรูปขบวนล่มทำคนหายไปกว่าครึ่ง ผู้นำภาคประชาชนที่มีทักษะในเรื่องการจัดการชุมนุมและยุทธวิธีเคลื่อนไหวก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นแกนนำเพื่อบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้
 
นับแต่นั้นมา ‘ชุมชน’ ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในความขัดแย้งทางการเมืองรอบปัจจุบัน ในระดับปัญญาชนและนักเคลื่อนไหว พวกเขายังคงยึดมั่นธงต่อต้านทุนสามานย์ครอบงำรัฐ โดยหวังให้พลังชุมชนเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ส่วนฝั่งชุมชนเอง ความเดือดร้อนต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไป แต่เสียพื้นที่ข่าวที่มีน้อยอยู่แล้วให้กับวิกฤติการเมืองเหลือง-แดง
 
ช่วงเวลานี้เอง ที่ชุมชนเริ่มกลายเป็นผู้ร้าย เพราะในสายตาของผู้สนับสนุนประชาธิปไตยเสียงข้างมากหรือประชาธิปไตยตัวแทนซึ่งเจ็บปวดจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 พวกเขาเห็นว่าแนวคิด ‘ชุมชน’ กลายเป็นอีกหนึ่งฐานที่มั่นของพวกปัญญาชนอนุรักษนิยม ที่ไม่เห็นข้อดีของประชาธิปไตยตัวแทน เกลียดกลัวทุนและนักการเมืองเกินเหตุ และโค่นล้มประชาธิปไตย
 
เพื่อความเป็นธรรมกับฝ่ายวิพากษ์ เน้นอีกครั้งนะครับว่า เขาวิพากษ์ปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวอิงชุมชนที่ฉวยใช้ ‘ชุมชน’ โค่นล้มประชาธิปไตย ไม่ได้ใจร้ายใจดำโจมตีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจริง
 
ส่วนรายละเอียดข้อวิพากษ์ ขอเวลาไปทบทวนแล้วโอกาสหน้าจะมาเล่าให้ฟังนะครับ
 
 
 
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์ thaipublica.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net