ชาวบ้านโวย ‘โรงแป้งมันน้ำพอง’ ประชาคม-การอนุญาตใช้น้ำไม่ชอบ

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว ขอนแก่น เจรจาแก้ปัญหาโรงงานแป้งมัน ชี้กระบวนการประชาคมและการอนุญาตให้โรงงานใช้น้ำไม่ถูกกฎหมาย

 
 
วันที่ 15 ก.พ.56 เวลา 9.30 น.ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น กว่า 20 คน เดินทางเข้าร่วมเจรจาหาทางออกกรณีคัดค้านการสร้างโรงงานแป้งมันสำปะหลัง หลังจากที่ได้มาชุมนุมยื่นหนังสือร้องเรียนเมื่อวันที่ 10 ม.ค.56 ที่ผ่านมา
 
ก่อนหน้านี้ การเจรจาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.56 มีข้อสรุป ให้แต่งตั้งคณะกรรมการในการเจรจาชุดใหม่ โดยให้มีตัวแทนจากกรมชลประและสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 เข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดใหม่ดังกล่าวด้วย
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีเริ่มขึ้นโดยนายวินัย สิทธิมณฑล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประธานคณะกรรมการ กล่าวเปิดการประชุมและชี้แจ้งความเป็นมา และวาระการประชุม ประกอบด้วย 1.เรื่องการตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กรณีอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานแป้งมันสำปะหลัง บริษัท ขอนแก่นสตาร์ซ จำกัด
 
2.เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงการอนุญาตให้โรงงานแป้งมันสำปะหลังใช้น้ำจากห้วยเสือเต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ
 
วาระการประชุมในเรื่องแรกเริ่มขึ้นโดยตัวแทนจากอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกระบวนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแป้งมันต่อที่ประชุมว่า กระบวนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแป้งมันเป็นไปตามขั้นตอนและถูกต้องตามกฎหมายทุกกระบวนการ
 
ด้านนายบุญช่วย สีโสทา ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาวชี้แจ้งต่อที่ประชุมว่า กระบวนการออกใบอนุญาตโรงงานไม่ถูกต้องตามที่อุตสาหกรรมจังหวัดกล่าวอ้าง เนื่องจากในกระบวนการประชาคมหมู่บ้าน ไม่ได้มีการชี้แจ้งให้ข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด อีกทั้งยังได้มีการแจกสิ่งของเพื่อหลอกให้ชาวบ้านลงชื่อ และนำรายชื่อดังกล่าวไปเป็นเอกสารประกอบยืนยันว่าชาวบ้านในพื้นที่ได้เห็นด้วยกับการที่จะมีโรงงานแป้งมันเกิดขึ้นในพื้นที่ ดังนั้น กระบวนการประชาคมรับฟังความคิดเห็นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
 
หลังจากนั้นได้มีการโต้แย้งข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่ายเป็นเวลานานเกือบ 1 ชั่วโมง แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ประธานในที่ประชุมจึงมีข้อสรุปว่า มีประเด็นที่คณะกรรมการต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องประชาคมคือ กระบวนการประชาคมรับฟังความคิดเห็นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่เพิ่มเติม
 
วาระการประชุมในเรื่องที่สองเริ่มขึ้นโดยตัวแทนจากกรมชลประทานชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การที่ชลประทานอนุญาตให้โรงงานแป้งมันใช้น้ำจากห้วยเสือเต้นเพื่อทำการผลิตนั้นเป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบของกรมชลประทาน ดังนั้น การอนุญาตให้ใช้น้ำดังกล่าวจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย
 
ด้านตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การอนุญาตให้โรงงานแป้งมันใช้ในในการทำการผลิตจากห้วยเสือเต้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ เนื่องห้วยเสือเต้น ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศและต้องปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 พ.ย.52 เรื่องการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 ส.ค.43 เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติ และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ
 
ดังนั้น การอนุญาตให้โรงงานแป้งมันใช้น้ำจากห้วยเสือเต้นจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังมีความกังวลด้วยว่าการอนุญาตของกรมชลประทานจะเป็นการทำให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาแย่งชิงการใช้ทรัพยากรน้ำของภาคเกษตรกรรม
 
การประชุมดำเนินไปอย่างตรึงเครียดและไม่มีทีท่าว่าจะได้ทางออกร่วมกันจากทั้งสองฝ่าย จนเวลา 12.00 น. นายวินัย ในฐานะประธานในที่ประชุมจึงสรุปวาระการประชุมที่สอง คือให้ตัวแทนจากกรมชลประทาน ทำรายงานชี้แจงเกี่ยวกฎหมาย และระเบียบ ที่ใช้ในการอนุญาตให้โรงแป้งมันใช้น้ำจากห้วยเสือเต้น เพื่อมารายงายต่อที่ประชุมในครั้งหน้า
 
นายกรชนก แสนประเสริฐ ผู้ประสานงานศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาวมีความเห็นว่า ประเด็นห้วยเสือเต้นนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ประเด็นแรก จากข้อเท็จจริงมันไม่น่าเชื่อว่ายังมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นในสังคมอีก เช่น การเอาเสื้อมาแจก การเอาของมาแจก เพื่อหลอกเอาลายเซ็นของชาวบ้าน วิธีการแบบนี้มันน่าจะหมดไปจากสังคมไทยได้นานแล้ว
 
ประเด็นที่สอง เป็นปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย วัฒนธรรมในการปฏิบัติตามกฎหมายแม้เราจะมีสิทธิชุมชนตามมาตรา 66-67 ของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 แต่ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการส่วนใหญ่มักไม่เคยคำนึงถึงหลักการสิทธิชุมชนนี้เลย มีแต่ยกกฎหมายเฉพาะของตัวเองที่ให้อำนาจกับตัวเองมาอ้างกับชาวบ้านเสมอ โดยเฉพาะกรมชลประทาน
 
“ทั้งๆ ที่ห้วยเสือเต้นถูกประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำมานาน กลับไม่มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกใบอนุญาตโรงงานแป้งมัน มันเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับสังคมไทย และถ้าหากยังเป็นอย่างนี้อีกต่อไป สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสังคมไทยมีแต่จะเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการไม่คำนึงถึงหลักการสิทธิชุมชนของหน่วยงานภาครัฐ” นายกรชนกกล่าว
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท