Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ถ้าวัดกันด้วยป้ายข้างถนน คนภาคใต้น่าจะมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์สูงกว่าคนทุกภาค เพราะริมถนนหลวงในภาคใต้ จะเต็มไปด้วยป้ายแสดงความจงรักภักดีอย่างหนาแน่นกว่าถนนหลวงในทุกภาคของประเทศไทย
 
ผมตั้งข้อสังเกตนี้แก่เพื่อนชาวใต้ที่สงขลา เขาแสดงความเห็นว่า คงมาจากกระทรวงมหาดไทยในสมัยพรรคภูมิใจไทยได้ว่ามหาดไทย อาจสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลางหรือแนะนำให้ใช้งบประมาณท้องถิ่นในการจัดทำขึ้น และในขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีอิทธิพลเหนือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาคใต้อย่างกว้างขวาง
 
ข้อนี้เห็นได้ชัด เพราะภาพและคำขวัญใต้ภาพ จากชุมพรยันสงขลา เหมือนๆ กันทั้งนั้น จนแน่ใจได้ว่าต้องมี "ศูนย์" ในการกำกับอยู่ข้างหลังแน่ แม้ทำออกมาในนามขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของแต่ละท้องที่
 
แต่ที่น่าสนใจแก่ผมมากกว่าก็คือ คนภาคใต้เองก็ต้องรู้สึกรับได้กับป้ายเหล่านี้ด้วย หรือรับได้ที่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นจะเล่น "การเมือง" แบบนี้ อย่างน้อยก็ไม่มีอันตรายอะไรแก่กลุ่มการเมืองต่างๆ เช่น พรรค ปชป. เป็นต้น
 
ผมอยากอธิบายได้ว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ทำไมในภาคอื่นๆ ซึ่งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็คงได้รับการสนับสนุนจากมหาดไทยของภูมิใจไทยเหมือนกัน จึงไม่ตั้งป้ายอย่างหนาตาเท่าภาคใต้

ผมไม่เชื่อว่าคนในภาคอื่นมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์น้อยกว่าคนในภาคใต้ แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมมีความหมายไม่เหมือนกัน แก่คนซึ่งมีปูมหลัง มีผลประโยชน์เฉพาะหน้า มีทัศนะทางการเมือง ฯลฯ ต่างกัน
 
ที่ผมอยากอธิบายได้ก็คือ คนภาคอื่นกับคนภาคใต้ต่างกันอย่างไรในทัศนะทางการเมือง ซึ่งเป็นผลรวมของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรม
 
โดยยังไม่พอใจนัก ผมอยากอธิบายว่า ทั้งหมดนั้นเกิดจากประวัติศาสตร์ หรืออีกนัยยะหนึ่งคือพัฒนาการทางเศรษฐกิจ-สังคมที่ต่างกันระหว่าง คนเหนือ-อีสาน และคนใต้
 
สังคมภาคใต้นั้นหลุดออกไปจากสังคมชาวนาก่อนใครทั้งหมด เป็นคนกลุ่มแรกที่ยังชีพด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจคือยางพารา
 
วัฒนธรรมของยางพารานั้นแตกต่างจากข้าวอย่างมาก เริ่มตั้งแต่กินต่างข้าวไม่ได้ ฉะนั้น จึงต้องขายให้ได้ แม้แต่ปลูกในสวนขนาดเล็กที่พอใช้แรงงานในครอบครัวได้ แต่แรงงานครอบครัวไม่เคยอยู่คงที่ เมื่อแรงงานขาดด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ต้องจ้างวาน คนใต้จึงเคยชินกับงานจ้าง ทั้งจ้างเขาและถูกเขาจ้าง เพราะวิสาหกิจในภาคใต้ (เช่น ทำเหมืองและขนส่ง) ทำให้มีความต้องการแรงงานจ้างสูงมาแต่อดีต
 
ตลาดยางพาราไม่ได้อยู่ในประเทศ แต่อยู่ที่สิงคโปร์ คนใต้จึงถูกดึงเข้าสู่เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ก่อนใคร ศาสตราจารย์อาคม พัฒิยะ เคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านเป็นเด็ก คุณพ่อของท่านต้องคอยฟังวิทยุจากสิงคโปร์เพื่อรู้ราคายางประจำวัน จึงสามารถกำหนดราคายางที่จะรับซื้อได้
 
คนใต้เข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งมีความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากชาวนา และด้วยเหตุดังนั้นจึงต้องสร้างกลไกป้องกันความเสี่ยงขึ้นใหม่ เพราะกลไกเก่าใช้ไม่ได้แล้ว

ทั้งนี้โดยไม่มีรัฐคอยช่วยเหลือแต่อย่างใด

คนเหนือ-อีสานถูกดึงเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่เมื่อไม่เกิน 30 ปีมานี้เอง ทั้งถูกดึงเข้ามาด้วยเจตนาของรัฐเอง การผลิตข้าวเพื่อยังชีพมีความสำคัญลดลงตามลำดับ การผลิตต้องใช้ทุนสูงขึ้น แรงงานถูกปลดปล่อยออกจากที่นา ไปสู่อาชีพอื่นๆ ที่หลากหลาย ผู้คนจำนวนมากออกรับจ้างแรงงานทั้งในบริเวณใกล้เคียง และไกลออกไปถึงซาอุฯ อาชีพรับจ้างกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนส่วนใหญ่
 
ที่พอจะมีทุนอยู่บ้าง ก็หันเข้าสู่การประกอบการในภาคพาณิชย์หรือบริการ การศึกษาของลูกหลานเป็นมรดกสำคัญกว่าที่นา และผู้คนลงทุนกับการศึกษาของลูกหลานเป็นสัดส่วนที่สูงมากในรายได้ของตน
 
และในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา รัฐค่อยๆ เปลี่ยนบทบาทตนเองเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของเศรษฐกิจชนบท โครงการของรัฐทำให้เกิดงานจ้างกระจายไปยังชาวบ้าน หากมีการก่อสร้างในโครงการนั้นด้วย ก็เป็นประโยชน์แก่ผู้รับเหมารายย่อยในหมู่บ้าน ซึ่งจ้างงานคนในหมู่บ้านเพิ่มขึ้นอีก การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดึงเอาโครงการของรัฐมาลง
 
ยิ่งในทศวรรษ 2530 เมื่อมีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น งานจ้างของราชการส่วนท้องถิ่นก็มีความสำคัญขึ้น บางหมู่บ้านในภาคเหนือ คนในวัยทำงานครึ่งหนึ่งรับราชการ ทั้งราชการส่วนกลางและราชการท้องถิ่น
 
ในกระบวนการปรับเปลี่ยนของคนเหนือ-อีสาน เขาต้องการรัฐ หรือต้องการการอุปถัมภ์จากรัฐ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งทุน
 
ไม่ใช่ว่าเขายังเข้าไม่ถึงแหล่งทุนนะครับ เพราะมีแหล่งทุนของเอกชนที่ลงไปถึงชนบทในหลายรูปแบบ นับตั้งแต่เกษตรพันธสัญญา ไปจนถึงการกู้เพื่อการทำนาเชิงพานิชย์ แต่ก็ไม่พอ
 
ไม่พอในสองลักษณะคือ ในด้านปริมาณ เนื่องจากยังต้องการทุนมากกว่านี้อีกมาก ที่จะทำให้คนที่ต้องการปรับเปลี่ยนช่องทางทำมาหากินมีโอกาสทำได้ และไม่พอในด้านการประกอบอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับการเกษตร (กู้ ธ.ก.ส. ก็ไม่ได้) ไม่มีที่ดินวางประกัน ฯลฯ
 
ผมรู้จักช่างอ๊อกเหล็กฝีมือดีคนหนึ่ง ซึ่งไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเป็นแรงงานฝีมือของผู้รับเหมารายย่อยในหมู่บ้าน เพราะเขาไม่มีทุนจะซื้อเครื่องอ๊อกเอง และไม่มีเงินจะซื้อปิกอัพไปตระเวนหางานและรับส่งลูกน้องได้ แต่ผู้รับเหมาก็ไม่มีงานให้เขาทำทั้งปี จึงยังจนดักดานอยู่อย่างนั้น
 
การปรับเปลี่ยนเข้าสู่อาชีพที่มั่นคงนอกภาคเกษตรเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ในชนบท ที่ได้เรียนหนังสือและได้งานรับเงินเดือนก็แล้วไป แต่คนที่ไม่ได้เรียนสูงเท่านั้นยังมีอีกมาก โดยไม่มีนาให้ทำด้วย ความไม่พอของแหล่งทุนในแง่นี้จึงกระทบต่อคนจำนวนมาก
 
การมองหาการอุปถัมภ์จากรัฐ จึงไม่ใช่เรื่องแบมือร้องขอเฉยๆ แต่เป็นส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนตนเองเพื่อรับสถานการณ์ใหม่ได้ดีขึ้น
 
ตรงกันข้ามกับคนใต้ ที่อยากให้รัฐอยู่ห่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐอุปถัมภ์หรือไม่ก็ตาม ส่วนคนเหนือ-อีสานต้องการรัฐอุปถัมภ์ แค่เรียนฟรีก็ช่วยให้การลงทุนมรดกแก่บุตรหลานเป็นภาระน้อยลง จัดแหล่งเงินกู้ที่ยืดหยุ่นได้มากๆ นับตั้งแต่การอนุมัติเงินกู้ไปจนถึงการผัดผ่อน ก็ยิ่งช่วยให้ปรับตัวได้สะดวกขึ้น
 
ทำไมคนใต้จึงอยากให้รัฐอยู่ห่างๆ ก็เพราะรัฐไม่ได้ทำอะไรนอกจากเก็บค่าหลวงค่าสัมปทานกลับกรุงเทพฯ แล้วเงียบหายไป ที่ดินซึ่งทำสวนยางจำนวนอีกมากไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพราะรัฐก็แทบไม่ค่อยได้ออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้ใครสักเท่าไร รัฐจะจัดระเบียบที่ดินเมื่อไร ก็มีคนใต้จำนวนมากที่พบว่าตัวเป็นผู้บุกรุก (ทั้งที่ไม่รู้ว่าบุกรุกใคร) ต้องวิ่งเต้นเสียเงินเสียทองกว่าจะได้เอกสารสิทธิ์มาระดับหนึ่ง
 
คนใต้ปรับตัวเองเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ แต่ก็ยังทำเกษตรอยู่คือสวนยาง ไม่เหมือนคนเหนือ-อีสานซึ่งทิ้งนาไปเลยแล้วก็เข้าไปอยู่ในภาคการผลิตอื่น เปรียบเทียบกับที่นา สวนยางทำแล้วก็ต้องทำเลย จะโยกย้ายไปหาที่ใหม่เมื่อหมดหน้านาไม่ได้ง่ายๆ ปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินซึ่งมีอยู่ทั่วทุกภาคจึงกระทบต่อคนใต้มากกว่า
 
ในสายตาของคนใต้ รัฐอยู่ห่างๆ ปล่อยให้เขาจัดการกันเองจะดีกว่า ถึงอย่างไรตลาดผลผลิตของเขาก็อยู่นอกประเทศอยู่แล้ว
 
ผมเดาว่านี่คือเหตุผลที่ทำให้คนใต้รักประชาธิปัตย์ไงครับ เพราะ ปชป. เป็นพรรคการเมืองที่ยึดถือนโยบายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงตลอดมา ตั้งแต่สมัยที่ คุณควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว แต่เสรีนิยมของ ปชป. เป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่มีอะไรข้องแวะกับเสรีนิยมทางการเมืองเอาเลย จึงอยู่คงทนร่วมกับเผด็จการมาได้ ทั้งเผด็จการเต็มใบและครึ่งใบ
 
เสรีนิยมทางเศรษฐกิจก็คือรัฐอย่ายุ่ง ปล่อยๆ เขาทำเขาไปเอง เดี๋ยวก็ดีเอง ตรงกับทัศนะทางการเมืองของคนใต้พอดี

สมมติว่าคำอธิบายของผมถูก (ซึ่งผมไม่แน่ใจเอาเลย) ทัศนะทางการเมืองของคนเหนือ-อีสานและคนใต้ จึงต่างกันมาก แต่ไม่ใช่เพราะใครฉลาดทางการเมืองกว่าใคร ต่างมีเหตุผลทางเศรษฐกิจ-สังคมรองรับทัศนะทางการเมืองเช่นนั้น
 
อย่างไรก็ตาม ผมอยากเตือนไว้ด้วยว่า ไม่มีอะไรหยุดนิ่งคงที่ รวมทั้งรัฐไทยและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคมด้วย เช่น ในระยะหลังมานี้ คนใต้เริ่มเรียกร้องให้รัฐเขยิบเข้ามาใกล้ๆ เพื่อประกันราคาปาล์มบ้าง, ยางบ้าง, และจัดการให้การท่องเที่ยวยิ่งเฟื่องฟูขึ้นไปกว่านี้อีกบ้าง ในขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมของคนเหนือ-อีสานก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนวันหนึ่งก็อาจไม่อยากได้รัฐอุปถัมภ์อีกแล้ว (เช่น คนที่เรียกร้องจังหวัดจัดการตนเองส่วนใหญ่ก็เป็นคนชั้นกลางในเมืองของภาคเหนือและอีสาน) วันหนึ่งชาวบ้านก็อาจคิดอะไรแบบคนชั้นกลางในเมืองได้เหมือนกัน
 
ถึงวันนั้นแผนภูมิครองพื้นที่พรรคการเมืองในวันนี้ก็คงเปลี่ยนไป
 
แต่ก่อนที่จะเปลี่ยน ผมคิดว่าคนใต้ยังมองสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของรัฐที่ตนต้องการ นั่นคือรัฐมีแต่พระคุณแต่ไม่มีหรือไม่ใช้พระเดช ยิ่งในยามที่เห็นได้อยู่ว่ารัฐซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ คือรัฐที่พร้อมจะแทรกเข้ามาในชีวิตของผู้คนไปทุกเรื่อง ใช้ทั้งพระคุณและพระเดชปะปนกันอย่างแยกไม่ออก
 
พระบรมฉายาลักษณ์และคำขวัญจึงปลอบประโลมคนใต้ให้อุ่นใจเป็นพิเศษ
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net