ผู้หญิงรอบโลก: ประมวลข่าวสตรีประจำเดือนกุมภาพันธ์

สหประชาชาติมีมติเป็นเอกฉันท์ สั่งห้ามการ "เฉือนอวัยวะเพศหญิง" ที่ยังคงแพร่หลายในประเทศแอฟริกา, นักวิจัยเผยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐ ผู้หญิงได้ประโยชน์มากที่สุด, เอเชียแปซิฟิกมีผู้หญิงในพื้นที่การเมืองต่ำที่สุดเป็นอันดับสองของโลก , ฯลฯ 

 

26 ม.ค. 56 - ประธานาธิบดีประเทศเคิร์กกีสถานในเอเชียกลาง ได้เห็นชอบให้ทำการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพื่อทำให้ "การลักพาตัวเจ้าสาว" เป็นอาชญากรรม ก่อนหน้านี้ รายงานของยูเอ็น วีเมน ระบุว่า "การลักพาตัวเจ้าสาว" เป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายในเคิร์กกีสถาน โดยผู้ชายที่ต้องการแต่งงาน จะทำการลักพาตัวผู้หญิงในชุมชนที่ต้องการแต่งงานด้วย ซึ่งบ่อยครั้งนำไปการถูกล่วงละเมิดทางเพศต่างๆ โดยเฉพาะการข่มขืน

มีรายงานว่าวัฒนธรรมนี้ ยังเป็นที่แพร่หลาย และสังคมบางส่วนมองว่าเป็นวัฒนธรรมที่มีคุณค่า อย่างไรก็ตาม สถิติจากองค์กร Women Support Centre ระบุว่า มีกรณีการลักพาตัวผู้หญิงและเด็กในเคิร์กกีสถานอย่างน้อย 11,800 กรณีในแต่ละปี และในจำนวนนั้นมี 2,000 กรณีที่มีการข่มขืนร่วมด้วย แต่มีเพียง 1 ใน 700 คดีที่ถูกดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม และ 1 ใน 1,500 คดี ที่นำไปสู่การตัดสินลงโทษ

ด้วยการผลักดันขององค์กรภาคประชาสังคม ทำให้รัฐสภาผ่านร่างการแก้ไขกฎหมายเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้การลักพาตัวเจ้าสาวเป็นอาชญากรรม และมีบทลงโทษสูงสุด 10 ปี จากเดิมซึ่งกำหนดมีบทลงโทษสูงสุด 3 ปี

ที่มา: http://www.unwomen.org/2013/02/new-law-in-kyrgyzstan-toughens-penalties-for-bride-kidnapping/

 

13 ก.พ. 56  - ลูกสาวรวี แชงการ์ เผยวีดิโอเรียกร้องหยุดความรุนแรงต่อสตรี

สำนักข่าว BBC ของอังกฤษรายงานว่า อนุชกา แชงการ์ ศิลปินนักดนตรีผู้เป็นลูกสาวของรวี แชงการ์ นักซีตาร์ในตำนานชาวอินเดียได้กล่าวเล่าเรื่องราวชีวิตตัวเองในขบวนการรณรงค์หยุดใช้ความรุนแรงต่อสตรี One Billion Rising โดยเปิดเผยว่าเธอเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อนในวัยเด็กด้วยการ ถูกเนื้อต้องตัว ลูบคลำ และการล่วงละเมิดทางวาจา โดยผู้ชายที่พ่อแม่ของเธอไว้ใจ

"ฉันถูกล่วงละเมิดทั้งทางกายและทางอารมณ์ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จากผู้ชายที่พ่อแม่ฉันไว้ใจ" อนุชกากล่าว "ในฐานะที่เป็นผู้หญิง ฉันได้ใช้ชีวิตอยู่กับความกลัวอยู่ลึกๆ กลัวการเดินคนเดียวในตอนกลางคืน กลัวการคุยกับผู้ชายที่แค่มาถามเวลา กลัวว่าฉันจะถูกตัดสินหรือถูกปฏิบัติโดยมองที่เสื้อผ้าที่ฉันใส่"

ประเทศอินเดียมีความตื่นตัวในเรื่องการใช้ความรุนแรงต่อสตรีเกิดขึ้นมากหลังจากเหตุการณ์รุมข่มขืนบนรถประจำทางในเดือน ธ.ค. 2012 ที่ทำให้เกิดการประท้วงเรียกร้องตามมาทั้งในอินเดียและประเทศอื่นๆ

อนุชกาได้ถ่ายวีดิโอในที่พักของเธอในกรุงลอนดอน เรียกร้องให้ผู้คนสนับสนุนโครงการรณรงค์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่หญิงสาวอายุ 23 ปี ที่ถูกรุมข่มขืน

"ฉันคิดว่ามันถึงเวลาแล้ว ฉันจะลุกขึ้นสู้" อนุชกากล่าวในวีดิโอ "ฉันจะลุกขึ้นสู้ร่วมกับผู้หญิงในประเทศของฉันเพื่อประกาศว่า 'จะไม่ทนอีกต่อไปแล้ว' ฉันจะสู้เพื่อเด็กหญิงในตัวฉัน ที่ฉันคิดว่าเธอยังไม่สามารถฟื้นฟูจิตใจตัวเองได้หลังจากเหตุการณ์นั้น"

"มาร่วมกับฉันสิ มาร่วมเปลี่ยนแปลงตัวเอง มาร่วมเปลี่ยนแปลงโลกนี้ ลุกขึ้นสู้ด้วยกัน" อนุชกากล่าว

ขบวนการ One Million Rising จัดตั้งขึ้นโดยนักเขียนบทละครสตรีนิยม อีฟ เอนสเลอร์ ในฐานะครบรอบ 15 ปี โครงการ V-day ซึ่งเป็นโครงการต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรี โดยจะมีการจัดกิจกรรมหลายอย่างในวันที่ 14 ก.พ. นี้ เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนนับพันล้านคนทั่วโลกลุกขึ้นมาต่อต้านการก่ออาชญากรรมทางเพศ ด้วยสโลแกนว่า "ลุกขึ้นเต้น ต่อสู้ และเรียกร้อง"

อนุชกา แชงการ์ เติบโตมาในกรุงลอนดอน เดลี และรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่ออายุได้ 9 ปี เธอเริ่มเรียนเครื่องดนตรีซีตาร์จากพ่อของเธอ รวี แชงการ์ ผู้ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2012 ในแคลิฟอร์เนีย

ที่มา: http://prachatai.com/journal/2013/02/45282

 

6 ก.พ. 56 - สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 6 ก.พ. ของทุกๆ ปีเป็นวันสากลเพื่อการยุติการขลิบวัยวะเพศสตรี โดยการเฉือนอวัยวะเพศหญิง เป็นพิธีกรรมที่ยังคงแพร่หลายมากในประเทศแถบทวีปแอฟริกาและแถบตะวันออกกลาง จากความเชื่อที่ต้องการลดความรู้สึกทางเพศของสตรีเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ก่อนแต่งงาน และความซื่อสัตย์หลังแต่งงาน โดยการกระทำดังกล่าวมักทำกันเองจากคนในชุมชน และไม่มีการใช้ยาสลบ หรือกระบวนการทางแพทย์ใดๆ

องค์การอนามัยโลก ประมาณการณ์ว่า มีผู้หญิงราว 100-140 ล้านคนทั่วโลกผ่านประสบการณ์การถูกเฉือนอวัยวะเพศ และในแต่ละปีมีสตรีราว 3 ล้านคนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงดังกล่าว

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ผ่านมติว่าด้วยการแบนการขลิบอวัยเพศหญิง ซึ่งจะมีผลให้ประเทศสมาชิกควรต้องมีมาตรการยุติการกระทำดังกล่าวต่อสตรี ผ่านทางการออกกฎหมาย การสร้างความเข้าใจ และใช้ทรัพยกรที่มีอยู่เพื่อพิทักษ์สิทธิของสตรีและเด็กหญิง รวมถึงผู้ที่ตกอยู่ในความเสี่ยง เช่น ผู้ลี้ภัยสตรี และผู้อพยพสตรี

ที่มา: http://www.unwomen.org/2012/12/united-nations-bans-female-genital-mutilation/

 

4 ก.พ. 56 - สถิติที่รวมรวมโดยยูเอ็น วีเม็น ระบุว่าสัดส่วนของผู้หญิงในพื้นที่การเมืองโลก คิดเป็นเพียงร้อยละ 20 ของตำแหน่งทั้งหมด โดยในเอเชีย สตรีมีที่นั่งในรัฐสภาเฉลี่ยราวร้อยละ 17.9 และในแปซิฟิก คิดเป็นร้อยละ 14.9 ทำให้สถิติของสตรีในการเมืองของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ถือว่าต่ำที่สุดในโลกเป็นอันดับสอง รองจากภูมิภาคอาหรับเท่านั้น

จากการจัดอันดับสัดส่วนของสตรีที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 77 จากทั้งหมด 95 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนผู้หญิงร้อยละ 8.7 ในขณะที่ประเทศที่มีสัดส่วนผู้หญิงในคณะรัฐมนตรีมากที่สุด ได้แก่ นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์ โดยมีสัดส่วนร้อยละ 52.6, 52.2 และ 50 ตามลำดับ

รายงานการศึกษาของยูเอ็น วีเม็น ชี้ว่า สตรีมีแนวโน้มที่จะเป็นตัวแทนด้านผลประโยชน์และปัญหาต่างๆ ของสตรีได้มากที่สุด และสไตล์ของการนำก็เป็นไปอย่างมีส่วนร่วมและทั่วถึง นอกจากนี้ ยังอาจมีความโปร่งใสในการใช้ทรัพยากรของรัฐได้มากกว่า 

ที่ชื่อ “Who Answers to Women: Gender and Accountability” เสนอว่า ในการทำให้สตรีมีพื้นที่เพิ่มขึ้นในการเมือง ควรมีมาตรการส่งเสริม อาทิ การจัดให้มีโควต้าของสตรีในพรรคการเมือง ซึ่งจะนำมาสู่การลงสมัครเลือกตั้งของสตรีที่มากและหลากหลายขึ้น การพัฒนาศักยภาพของผู้สมัครสตรี และการรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องการขจัดอคติที่มีต่อผู้หญิง

คลิกดูภาพแผนภูมิขนาดใหญ่ http://www.unwomen.org/wp-content/uploads/2010/12/Women-in-politics-2012.pdf

 

11 ก.พ. 56 - การตัดสินของศาลในประเทศจีน ให้ คิม ลี สตรีชาวอเมริกัน ชนะการฟ้องหย่าจากสามีเศรษฐีชาวจีนเนื่องมาจากการถูกทำร้าย โดยได้สิทธิในการเลี้ยงดูลูกทั้งสามคน และเงินชดเชยจำนวน 12 ล้านหยวน (ราว 60 ล้านบาท) ถือเป็นคดีความที่มีนัยสำคัญต่อสิทธิของสตรีในจีนเป็นอย่างมาก

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีมองว่า ความรุนแรงในครัวเรือนในประเทศจีน ถือว่าเป็นเรื่องที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรม และกระบวนการยุติธรรมเองก็มิได้ถือเอาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ที่ผ่านมามีกรณีเช่นนี้หลายครั้ง เช่น ซุน ซือจิง ที่ถูกสามีโยนลงมาจากระเบียง ทำให้กระดูกสันหลังหัก แต่ศาลก็ตัดสินลงโทษสามีเป็นเวลาหกเดือน ซึ่งทนายความมองว่าเบาเกินไป

หรือกรณีของหลี เหยียน ซึ่งถูกตัดสินให้ถูกลงโทษประหารชีวิต จากการฆาตกรรมสามีตนเองเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีการลงชื่อจากทนายความและนักวิชาการกว่า 100 คนขอให้ผ่อนโทษจากการประหารชีวิตให้เบาลง

สถิติจากเครือข่ายต่อต้านความรุนแรงในครัวเรือนเมื่อเดือนมกราคมเผยว่า สตรีจีนราว 1 ใน 3 คน ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากสามีตนเอง


คิม ลี และลูกทั้งสามคน
ที่มาภาพ: UN Women

ที่มา: http://www.guardian.co.uk/commentisfree/2013/feb/05/china-divorce-case-kim-lee-domestic-violence

 

12 ก.พ. 56 - นักกิจกรรมเฟมินิสต์กลุ่ม "ฟีเมน" (FEMEN) 8 คน เปลื้องผ้าในโบสถ์นอทเทอร์ดาม ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อเฉลิมฉลองการลาออกของพระสันตะปาปาเบเนดิกท์ที่ 16 โดยตะโกนว่า "พอกันทีพวกเกลียดชังพวกรักร่วมเพศ" "บ๊ายบาย เบเนดิกท์"

ทั้งนี้ กลุ่มฟีเมน เป็นกลุ่มเฟมินิสต์ยูเครนที่ตั้งอยู่ในกรุงคีฟ เมืองหลวงของประเทศ ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2551 เพื่อทำการประท้วงในประเด็นที่เกี่ยวกับเพศสภาพ สถาบันทางศาสนา และอื่นๆ ด้วยวิธีการเปลื้องผ้าประท้วง มีสมาชิกในยูเครนราว 40 คน และอีกราว 100 คนที่เป็นสมาชิกเครือข่ายในต่างประเทศ​


ที่มาภาพ: เว็บไซต์ FEMEN

ที่มา: http://www.france24.com/en/20130212-femen-activists-topless-notre-dame-paris-pope-resignation-benedict

 

13 ก.พ. 56 - นักวิจัยจากศูนย์เพื่อความก้าวหน้าสหรัฐอเมริกา (Center for American Progress) เปิดเผยว่า นโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของประธานาธิบดีโอบามาที่เพิ่งเสนอเมื่อเร็วๆ นี้ จะทำให้ผู้หญิงและครอบครัวได้รับประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากคนงานที่รับค่าจ้างขั้นต่ำส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นผู้หญิง คิดเป็นราว 2 ใน 3 ของคนงานที่รับค่าจ้างขั้นต่ำทั้งหมด และผู้หญิงราว 2 ใน 3 ของสหรัฐ นับว่าเป็นผู้ที่หารายได้เข้าบ้านเป็นหลัก หรือร่วมกับคู่สมรสในครอบครัว

โดยในปี 2555 สถิติจากกรมแรงงานระบุว่า มีแรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำราว 4.2 ล้านคน ในขณะที่ 2.8 ล้านคนเป็นผู้หญิง คิดเป็นร้อยละ 64 ของแรงงานที่รับค่าจ้างขั้นต่ำ ในขณะที่แรงงานชาย คิดเป็นร้อยละ 36 ของทั้งหมด

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโอบามาได้ประกาศเสนอนโยบายดังกล่าวต่อสภาคอนเกรส หรือ the State of the Union เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเสนอให้ขึ้นค่าแรงจากชั่วโมงละ 7.25 ดอลลาร์ (ราว 217 บาท) เป็น 9 ดอลลาร์ (ราว 270 บาท) ต่อชั่วโมง  

ที่มา: http://www.americanprogress.org/issues/labor/news/2013/02/13/53334/women-and-families-would-be-the-lead-recipients-of-a-minimum-wage-boost/

 

14 ก.พ. 56 - ผู้หญิงทั่วโลกได้รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี ด้วยการรวมกลุ่มและลุกขึ้นเต้นในวันวาเลนไทน์เพื่อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ภายใต้แคมเปญ One Billion Rising ที่ริเริ่มโดยนักเขียนบทละครและนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรี อีฟ เอนส์เลอร์ ซึ่งเขียนบทละครชื่อดัง "The Vagina Monologue" โดยมีกลุ่มผู้หญิงทั่วโลกในหลายประเทศได้เข้าร่วมในการรณรงค์ครั้งนี้

จากสถิติของสหประชาชาติเผยว่า ผู้หญิง 1 ใน 3 คนเคยประสบความรุนแรงในช่วงชีวิต และกว่าครึ่งของผู้หญิงทั้งหมดเคยถูกทำร้ายร่างกายจากแฟนหรือสามี ในอเมริกา มีสถิติว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั้งหมดถูกฆาตกรรมโดยแฟนหรือสามี ส่วนในแอฟริกาใต้ มีสถิติว่าผู้หญิงถูกฆาตกรรมทุกๆ 6 ชั่วโมงโดยแฟนหรือสามี

นอกจากนี้ มีรายงานว่า ราวร้อยละ 40-50 ของสตรีในยุโรป ถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ส่วนในสหรัฐอเมริกา มีเด็กผู้หญิงวัย 12-16 ปี ถึงร้อยละ 83 ถูกล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน

การรณรงค์ One Billion Rising มีแผนจะดำเนินการใน 192 ประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ โดยที่ผ่านมา มีการรณรงค์แล้วในฮ่องกง ซานฟรานซิสโก อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์

ที่มา: http://prachatai.com/journal/2013/02/45292

 

15 ก.พ. 56 - แม็กกี้ ฮัสแซน ผู้ว่าการรัฐนิวแฮมไชร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ผ่านร่างงบประมาณของรัฐจำนวน 38 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้สร้างเป็นเรือนจำสตรีแห่งใหม่ ท่ามกลางความยินดีของพนักงานกรมราชทันฑ์และทนายความด้านสิทธิมนุษยชน

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมราชทันฑ์ได้ยื่นของบประมาณสำหรับการสร้างเรือนจำแห่งใหม่แล้ว 3 ครั้งในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นักโทษหญิง 4 คน ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมาธิการหน่วยงานกรมราชทันฑ์ของรัฐ ด้วยข้อหาบกพร่องในการจัดการศึกษา การอบรม และการให้โอกาสต่างๆ แก่นักโทษหญิง ที่เท่าเทียมกับนักโทษชาย ในขณะนี้คดีความดังกล่าวอยู่ในชั้นศาลฎีกา

ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยว่าด้วยความไม่เท่าเทียมของเรือนจำในนิว แฮมไชร์ออกมาอย่างน้อย 4 ฉบับ รวมถึงการศึกษาของคณะกรรมาธิการสหรัฐด้านสิทธิพลเมือง ซึ่งชี้ว่า ความไม่เท่าเทียมระหว่างเรือนจำหญิงและเรือนจำชายนั้นทำให้เกิดปัญหาในระดับรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม การเสนองบประมาณดังกล่าวขึ้นอยู่กับการพิจารณาในสภาต่อไปว่า จะสามารถผ่านได้ตามที่ผู้ว่าการรัฐฯ เห็นชอบหรือไม่

ที่มา: http://www.concordmonitor.com/home/4466712-95/state-prison-hassan-women

 

21 ก.พ. 56 - เว็บไซต์ข่าว ahramonline ของอียิปต์ เปิดเผยถึงการล่วงละเมิดทางเพศของสตรีในระหว่างการลุกฮือครั้งใหญ่ของประชาชนชาวอียิปต์ในจตุรัสทาห์เรียในระยะสองปีที่ผ่านมา โดยมีการให้สัมภาษณ์จากผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดว่า ในระหว่างการชุมนุมที่จตุรัส จะมีกลุ่มผู้ชายที่วางแผนหาผู้หญิงที่มีชุมนุมคนเดียว และเข้าไปล้อม จากนั้นกระทำการด้วยวิธีต่างๆ เช่น ใช้นิ้วสอดเข้าไปที่ทวารหนักหรืออวัยวะเพศ มีรายงานด้วยว่า ผู้หญิงบางส่วนถูกข่มขืนด้วยมีด หรือใช้มีดทำร้ายร่างกาย

รายงานระบุว่า การกระทำดังกล่าวได้หลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปรกติในระหว่างการชุมนุมในกรุงไคโร

องค์กรนักเคลื่อนไหวอย่าง OpAntiSH เป็นองค์กรหนึ่งที่เกิดขึ้นมา เพื่อดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ โดยส่งนักกิจกรรมเข้าไปในที่ชุมนุมและคอยสอดส่องการกระทำดังกล่าว

เมื่อเร็วๆ นี้ สภาที่ปรึกษาแห่งอียิปต์ หรือสภาชูรา ได้แสดงความคิดที่สามารถตีความได้ว่า ผู้ประท้วงผู้หญิงควรรับผิดชอบสำหรับการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้น และแนะนำว่า ควรหาพื้นที่สำหรับตนเองที่จะแสดงความไม่เห็นด้วย นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรสิทธิสตรีว่า ไม่ควรมีข้อแก้ตัวใดๆ สำหรับการกระทำดังกล่าว ซึ่งในบางครั้งร้ายแรงขนาดเป็นการพยายามฆาตกรรมด้วย 

ที่มา: http://english.ahram.org.eg/NewsContent/1/64/65115/Egypt/Politics-/The-circle-of-hell-Inside-Tahrirs-mob-assault-epid.aspx

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท