Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

“อำนาจภายนอกที่พรากเสรีภาพของมนุษย์ในการสื่อความคิดสู่สาธารณะเท่ากับพรากเสรีภาพในการคิดของเขาไปด้วย”

(Immanuel Kant 1786)

แพทย์ พิจิตรหรือไชยันต์ ไชยพร ได้เขียนถึงแนวคิดเรื่อง Enlightenment ของ Immanuel Kant ไว้ในบทความชุด “ความยุติธรรมที่ไม่เปลี่ยนผ่าน” ตอนที่ 65-71 ในมติชนสุดสัปดาห์ ผู้เขียนเห็นว่าการอธิบายความของไชยันต์อาจคลาดเคลื่อนกับสิ่งที่ Kant เขียน และการตีความยกตัวอย่างกรณีการเมืองไทยประกอบของไชยันต์ทั้งในประเด็นการปฏิวัติ 2475 และการตัดสินคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุขในกรณี ม. 112 ก็มีปัญหาว่าเป็นการวางธงตัดสินบนฐานความคิดของไชยันต์เองมากกว่าที่จะเป็นไปตามตรรกะ Enlightenment ของ Kant

ปัญหาการอธิบาย Kant’s Enlightenment

Enlightenment ของ Kant คืออะไร?
ไชยันต์แปลนิยาม Enlightenment ไว้ในบทความตอนที่ 65 ว่า

การหลุดพ้นจากความอ่อนด้อยทางปัญญาความคิด

และขยายความเรื่อง Enlightenment นี้ต่อในบทความตอนอื่น ๆ เช่นในบทความตอนที่ 68 ว่า

ค้านต์เห็นว่าหากมีใครเกิดคิดได้หรือตาสว่างก่อนก็ควรที่จะพยายาม “ขายความคิด” นั้นให้แก่คนอื่น ๆ ในทำนองของการตั้งประเด็นให้ขบคิดถกเถียง ถ้ามีคนเห็นด้วยเพราะพวกเขาเหล่านั้นคิดหรือใช้เหตุผลของตัวเองแล้วและได้ข้อสรุปเดียวกันก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการนำพากันเข้าสู่ “enlightenment”-ตัวเน้นโดยผู้เขียน

ส่วนที่ไชยันต์ขยายความนั้นเป็นการตีความเองของไชยันต์ ข้อความที่ว่า “ขายความคิด” หรือ “ได้ข้อสรุปเดียวกัน” “พากันเข้าสู่ enlightenment” แสดงถึงความคลาดเคลื่อนในการตีความ Kant’s Enlightenment เพราะการที่ Kant นิยาม Enlightenment ว่าคือการที่มนุษย์หลุดพ้นจากสภาวะไม่โตพอที่จะคิดเองได้นั้นแปลว่า Enlightenment เป็น “เงื่อนไข” ไม่ได้เป็น “สัจธรรม” หรือ “ความรู้แจ้งเห็นจริง” ที่เมื่อพบแล้วบอกต่อมีคนเชื่อแล้วจะนำไปสู่การ Enlightened การที่จะทำให้บุคคลอื่น ๆ Enlightened ไม่ได้หมายถึงการ “ขายความคิด” ให้บุคคลอื่นยอมรับและเชื่อตาม ๆ กัน การ “ได้ข้อสรุปเดียวกัน” นั้นไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ “enlightenment” เพราะ Enlightenment ไม่ใช่แดนสุขาวดีที่ดำรงอยู่ก่อนเพื่อรอบุคคลผู้บรรลุธรรมไปค้นพบ

การที่มนุษย์จะทำให้มนุษย์คนอื่นสามารถ Enlighten ได้อยู่ที่การเรียกร้องให้มนุษย์ทุกคนคิดเพื่อตนเอง (the calling of every human being to think for himself) ไม่ใช่การจูงใจให้เชื่อเหมือน ๆ กัน

ตรรกะส่วนนี้ของไชยันต์นั้นขัดแย้งกับตรรกะเรื่อง Enlightenment ของ Kant กระทั่งขัดแย้งกับตรรกะของไชยันต์เองด้วย เช่น ถ้ายึดว่าการได้ข้อสรุปเดียวกันจะนำไปสู่ “enlightenment” แล้วมนุษย์จำเป็นต้องคิดเองหรือ?

ปัจเจกกับสังคม/การใช้เหตุผลในพื้นที่ส่วนตัวกับการใช้เหตุผลในพื้นที่สาธารณะ
ไชยันต์เขียนว่า “สำหรับค้านต์คำว่า “enlightenment” ไม่ได้หมายถึงเฉพาะปัจเจกบุคคลแต่มีนัยหมายถึงสังคมโดยรวมทั้งหมด” (ความยุติธรรมที่ไม่เปลี่ยนผ่านตอนที่ 68) คำอธิบายนี้ของไชยันต์เห็นสภาวะ Enlightenment ในฐานะองค์รวมที่มีเอกภาพ แต่นัยที่ Kant อธิบายไว้คือ สภาวะ Enlightenment เป็นเงื่อนไข และการที่ปัจเจกชนจะหลุดพ้นจากสภาวะไม่โตพอที่จะคิดเองได้ของตนเองนั้นเป็นเรื่องยากเพราะมนุษย์นั้นติดใจและติดกับในสภาวะที่ถูกทำให้ไม่สามารถที่จะคิดได้ด้วยตนเอง

Kant จึงบอกว่าจะเป็นการง่ายกว่าที่สังคมจะ Enlighten  แม้ว่าจะมีสถาบันทางสังคมจำนวนมากพยายามกีดขวางคนจากการคิดได้ด้วยตนเองก็ตามจะยังมีคนจำนวนหนึ่งเสมอที่สามารถปลดแอกตนเองจากสภาวะไม่รู้จักโตได้และจะเผยแพร่จิตวิญญาณแห่งการทำความเข้าใจโดยใช้เหตุและผลออกไปสู่ผู้คน หมายความในทุกสังคมย่อมมีคนที่รู้จักคิดได้ด้วยตนเองและพร้อมที่จะแสดงความคิดเห็นของตนสู่สังคม คนเหล่านี้แม้จะมีจำนวนน้อยแต่ก็จะจุดจิตวิญญาณความคิดอิสระในตัวคนขึ้นมาขอเพียงแค่พวกเขามี “เสรีภาพที่จะพูดและเผยแพร่ความคิดในที่สาธารณะ” ดังนั้นเสรีภาพดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของ Enlightenment

ไชยันต์อธิบายเรื่อง “การใช้เหตุผลส่วนตัวกับการใช้เหตุผลสาธารณะ”ว่า

เสรีภาพในการใช้เหตุผลส่วนตัวนั้นจะต้องถูกจำกัด” “แม้ว่าคานต์จะให้ความสำคัญต่อเสรีภาพในฐานะที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเข้าสู่ “enlightenment” แต่ก็ต้องมีการจำกัดเสรีภาพด้วย นั่นคือ เสรีภาพในการใช้เหตุผลส่วนตัวจะต้องถูกจำกัด” (ความยุติธรรมที่ไม่เปลี่ยนผ่านตอนที่ 71) “ค้านต์กำหนดว่าเสรีภาพในการใช้เหตุผลส่วนตัวจะต้องถูกจำกัดอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายเสียหายในสังคม” (ความยุติธรรมที่ไม่เปลี่ยนผ่านตอนที่ 72)

Kant ไม่ได้บอกว่าเสรีภาพส่วนบุคคลจะต้องถูกจำกัดหรือมีนัยว่าหากไม่จำกัดเสรีภาพในการใช้เหตุผลส่วนตัวแล้วสังคมจะวุ่นวายเสียหาย คำถามหลักที่ Kant ต้องการให้คำตอบคือ กรอบใดบ้างที่ไม่ขัดขวางการที่มนุษย์ชาติจะสามารถคิดได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีกรอบกว้าง ๆ สองกรอบคือ การใช้เหตุผลในพื้นที่สาธารณะและการใช้เหตุผลในพื้นที่ส่วนตัว Kant ไม่ได้บอกว่าจะต้องจำกัดการใช้เหตุผลส่วนตัว แต่เขาเข้าใจดีว่าสภาพความเป็นจริงในสังคมที่ว่าปัจเจกนั้นไม่ได้เป็นอิสระจากกรอบที่สังคมกำหนด เช่น บุคคลที่ดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ได้แก่ ทหาร นักบวช  เป็นต้น ซึ่งบุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องปฏิบัติงานในฐานะฟันเฟืองหนึ่งของกลไกบริการสังคม Kant จึงชี้ช่องว่าถึงแม้จะมีกรอบที่กำหนดการใช้เหตุผลในพื้นที่ส่วนตัวอยู่ก็ตามปัจเจกชนสามารถใช้ความคิดของตนเองในพื้นที่สาธารณะได้ ทหารจึงสามารถวิพากษ์กองทัพ นักบวชจึงสามารถวิจารณ์ศาสนจักร คำอธิบายของไชยันต์เรื่องการให้เหตุผลสาธารณะว่าเป็นเรื่องของการใส่เครื่องแบบหรือถอดเครื่องแบบพูด หรือพูดในเวลาราชการหรือนอกเวลาราชการมีปัญหาในตัวมันเองเมื่อพิจารณาถึงประเด็นนักบวช เพราะนักบวชเป็นสถานะที่ต้องเป็นตลอดเวลา!

 และในทางปรัชญาถึงที่สุดแล้วเราจะแยกเอกลักษณ์บุคคลที่มีหลากหลายทั้งเอกลักษณ์ตามหน้าที่การงานและเอกลักษณ์ตามความสามารถในการคิดเองได้อย่างไร?

ตัวอย่างทหารและนักบวชที่ Kant ยกประกอบนั้นจึงมีไว้เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของเสรีภาพโดยใช้กรณีสุดโต่งของสองหน้าที่อันควรอยู่ในวินัยและคิดอยู่ในกรอบมากที่สุดก็ยังมีโอกาสและควรจะต้องสามารถใช้เหตุผลในที่สาธารณะได้

ในประเด็นนี้อาจสรุปตามสำนวนของ Kant ได้ว่า

“สังคมที่มนุษย์ไม่สามารถพูดและเผยแพร่ความคิดของตนเองในที่สาธารณะได้ สังคมนั้นย่อมมีแต่ฝูงสัตว์และปราศจากพลเมือง”

ปัญหาการตีความ Kant’s Enlightenment และเชื่อมโยงกับกรณีตัวอย่างของไทย

การปฏิวัติ 2475
ไชยันต์อ้างว่า Kant ไม่ยอมรับการปฏิวัติ/ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ (ความยุติธรรมที่ไม่เปลี่ยนผ่านตอนที่ 68/69/71) ส่วนนี้คือการตีความของไชยันต์ ในบทความ Kant กล่าวว่าการปฏิวัตินั้นอาจจะโค่นผู้นำเผด็จการลงได้แต่ไม่สามารถที่จะปฏิรูปพฤติกรรมการคิดของมนุษย์ได้เนื่องจากสิ่งที่ควบคุมความคิดคนในสังคมนั้นไม่ได้มีเพียงอำนาจเผด็จการที่รับรู้โดยทั่วกันแต่ยังมีอำนาจทางวัฒนธรรมที่เป็นสถาบันอีกหลายสถาบันรวมเรียกว่าเหล่าเทพารักษ์ (guardians) Kant ยกตัวอย่างการปฏิวัติเพื่อให้คนตระหนักว่าภารกิจในการ Enlightenment ไม่สิ้นสุดแค่การโค่นอำนาจทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีอำนาจทางวัฒนธรรมที่ต้องต่อสู้กันต่อไปอีก ซึ่งเหล่าเทพารักษ์นี้จะไม่ยอมแพ้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้เองสิ่งที่สำคัญที่สุดของสังคมที่จะคิดได้เองคือ “เสรีภาพ” และ Kant ได้ระบุชัดเจนว่าเสรีภาพดังกล่าวหมายถึง “การที่บุคคลแสดงเหตุผลของตนในที่สาธารณะได้ในทุกเรื่อง”

กรณีคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุขและ ม. 112
ในความยุติธรรมที่ไม่เปลี่ยนผ่านตอนที่ 72 เป็นตอนที่ไชยันต์ยกตัวอย่างกรณีการพิพากษาคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ไชยันต์เริ่มต้นปูพื้นด้วยการย้ำว่า “เสรีภาพในการใช้เหตุผลส่วนตัวจะต้องถูกจำกัดอย่างยิ่ง” “...ค้านต์ย้ำว่าในการใช้เสรีภาพทางความคิดต่อสาธารณะนี้ประชาชนจะต้องใช้ในลักษณะที่ไม่ต่างจากการแสดงความคิดเห็นของ “นักวิชาการ” นั่นคือต้องมีเหตุมีผลมีหลักฐานสนับสนุน”

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า Kant ไม่ได้บอกว่าจะต้องจำกัดการใช้เหตุผลในพื้นที่ส่วนตัว และยิ่งไม่ได้บอกว่าการใช้เสรีภาพทางความคิดต่อสาธารณะนี้จะต้องแสดงอย่างเป็น “นักวิชาการ” ตามนิยามที่ไชยันต์ให้ไว้

Kant เอ่ยถึง Scholar หรือที่ไชยันต์แปลว่า “นักวิชาการ” ในความหมายว่าเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ปัจเจกที่อยู่ในหน้าที่สามารถ “ใช้ความคิดของตนเองได้” ตามตัวอักษรที่ Kant บรรยายไว้ในบทความ ฐานะ Scholar ไม่ได้กำหนดด้วยวุฒิการศึกษาหรือวิธีวิทยาในการให้เหตุผลแต่ยกตัวอย่างลักษณะดังต่อไปนี้ คือ หนึ่ง มีข้อถกเถียงได้เท่าที่ต้องการแต่ต้องไม่ส่งผลเสียต่อกิจการที่รับผิดชอบ สอง ต้องไม่ละเว้นที่จะให้ความเห็นต่อความผิดพลาดของหน่วยงานที่สังกัดหรือปกปิดการประเมินตัดสินจากสาธารณะ สาม มีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ในการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ

จะเห็นได้ว่าในส่วนนี้หรือกระทั่งตลอดทั้งบทความ What is Enlightenment? Kant ไม่เคยเอ่ยถึงการประเมินความเป็นเหตุเป็นผลของการพูดและเผยแพร่ความคิดเห็น การตีความของไชยันต์จึงเป็นปัญหาโดยเฉพาะการที่ไชยันต์อ่านบทความที่คุณสมยศพิจารณาตีพิมพ์และตัดสินว่า “เป็นข้อเขียนที่ห่างไกลจากข้อเขียนที่มีเหตุผลและไม่มีหลักฐานข้อมูลสนับสนุน ทั้งยังเป็นข้อเขียนที่เขียนตามอำเภอใจของตัวคนเขียน” เพราะในตรรกะเรื่อง Enlightenment ของ Kant ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการเผยแพร่ความคิดมากกว่าการตัดสินว่าความคิดแบบใดจึงจะนับว่าเป็นความคิดที่มีเหตุมีผล

อะไรเป็นอุปสรรคต่อ Enlightenment?
ท้ายบทความความยุติธรรมที่ไม่เปลี่ยนผ่านตอนที่ 72 ไชยันต์เอ่ยถึงอุปสรรคที่ขวางกั้น Enlightenment ถือเป็นอาชญากรรมต่อความเป็นมนุษย์และตั้งคำถามว่า การทำหน้าที่บรรณาธิการของคุณสมยศเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือไม่

ไชยันต์เขียนบทความนี้ตามตรรกะของ Kant จึงต้องพิจารณาประเด็นนี้ตามหลักการของ Kant

ในทัศนะของ Kant อุปสรรคของการ Enlightenment คือการขัดขวางกระบวนการคิดได้เองของมนุษย์ ในแง่นี้การเผยแพร่บทความของคุณสมยศในฐานะบรรณาธิการไม่อาจจัดว่าเป็นอุปสรรคของการ Enlightenment  

Kant บอกตั้งแต่ต้นบทความว่าความเกียจคร้านและความขลาดเป็นเหตุผลของอาการไม่โตพอที่จะคิดได้ด้วยตนเองของมนุษย์ และความเกียจคร้านและความขลาดของมนุษย์นี้มีสาเหตุมาจากเหล่าเทพารักษ์ (guardians) ที่ใช้ทั้งไม้นวมไม้แข็งนวดจนมนุษย์ส่วนใหญ่เซื่องและหงอเป็นสัตว์ใช้งานหรือสิ่งมีชีวิตที่คิดเองไม่เป็น

ในแง่นี้ เหล่าเทพารักษ์ต่างหากคืออุปสรรคที่ขวางกั้น Enlightenment เหล่าเทพารักษ์นี้มีอิทธิฤทธิ์ร้ายกาจอย่างไรต่อการขัดขวางกระบวนการคิดได้เองของคนในสังคมลองอ่านจากคำของ Kant เองดังนี้

“The guardians who have so benevolently taken over the supervision of men have carefully seen to it that the far greatest part of them (including the entire fair sex) regard taking the step to maturity as very dangerous, not to mention difficult. Having first made their domestic livestock dumb, and having carefully made sure that these docile creatures will not take a single step without the go-cart to which they are harnessed, these guardians then show them the danger that threatens them, should they attempt to walk alone.”

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net