Skip to main content
sharethis



 

เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้

ตามแผนการเดินทางเยือนสหภาพยุโรปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม จะมีการประกาศเปิดการเจรจาโดยมีกรอบครอบคลุมในด้านการค้า การลงทุน และลดอุปสรรคการค้า

“ยืนยันว่าไทยจะได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ และเอฟทีเอจะทดแทนกรณีอียูตัดการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี)ในปี 2557”  บุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีพาณิชย์กล่าว

สิทธิพิเศษทางภาษีดูจะเป็นประเด็นที่รัฐบาลและภาคเอกชนให้ความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อมันกำลังจะหมดลงภายในปี 2557 นี้ และหากไม่มีการเจรจาเอฟทีเอ อียูก็อาจไม่ต่อสิทธิพิเศษนี้ให้

ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมก็ส่งเสียงค้านกันจ้าละหวั่น เพราะเห็นว่าในเนื้อหาส่วนที่ไม่ใช่เรื่องการค้าโดยตรง อย่างบทว่าด้วยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีปัญหาที่จะทำให้ราคายาพุ่งสูง และการคุ้มครองสิทธิของนักลงทุนจะมีความสำคัญมากกว่าสวัสดิการของประชาชน

สิ่งที่เป็นคีย์เวิร์ดในเรื่องนี้ที่เราได้ยินบ่อยก็คือ “ทริปส์พลัส” หรือข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มากไปกว่าที่องค์การการค้าโลกกำหนด และแน่นอน มันถูกบรรจุอยู่ในเอฟทีเอฉบับต่างๆ ทั้งของอเมริกาและยุโรป

แม้ว่ารัฐมนตรีพาณิชย์ จะออกมายืนยันว่า “การเจรจาจะไม่เกินหลักเกณฑ์องค์การการค้าโลก” แต่คำพูดสวยหรูนี้ก็ไม่อาจเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 1. กระบวนการเจรจาขาดความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ 2. ความเคี่ยวของประเทศมหาอำนาจเอง

ในกรณีหลังนี้เราจะลองเทียบจากประสบการณ์ของอินเดียที่เริ่มต้นเจรจากับอียูมาก่อนหน้านี้หลายปี และยังยื้อกันอยู่อย่างแข็งแกร่ง เพราะอะไร? มีอะไรน่ากังวล?  

 

มหากาพย์ของ ‘เด็กดื้อ’ - อินเดีย

Kajal Bhardwaj นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา เดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลุ่มเอ็นจีโอไทย เธอเล่าประสบการณ์ของอินเดียให้ฟังว่า

อินเดียนั้นเป็น ‘เด็กดื้อ’ ตั้งแต่สมัยองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เริ่มสร้างหลักเกณฑ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่เรียกว่า ทริปส์ (TRIPS) ในปี 2538 แล้ว เพราะอินเดียเห็นว่าให้การคุ้มครองเจ้าของสิทธิบัตรมากเกินไปถึง 20 ปี จึงไม่รับ และยอมรับกติกานี้อีก 10 ปีให้หลัง ทำให้อุตสาหกรรมยาของอินเดียวพัฒนาไปได้ไกลมากจนกลายเป็น “เบอร์หนึ่ง” ของการผลิตยาราคาถูกเป็นที่พึ่งให้ประเทศยากจนทั่วโลก

ปี 2548 เมื่ออินเดียรับทริปส์ กฎหมายสิทธิบัตรของอินเดียก็แข็งแกร่งมาก และใส่กลไกยืดหยุ่นต่างๆ เต็มที่ และมีการนำไปใช้จริงมากที่สุด ยาสำคัญ อย่างยาต้านไวรัสจะไม่ติดสิทธิบัตรในอินเดียว โดยมีการคัดค้านคำขออย่างเต็มที่ ทั้งก่อนขอสิทธิบัตร หลังขอสิทธิบัตร หรือกระทั่งฟ้องร้องให้ยกเลิกสิทธิบัตร

การผลิตยาชื่อสามัญของอินเดียมีผลอย่างสำคัญต่อราคายาในตลาดโลก ยกตัวอย่าง ยาต้านไวรัสในสหรัฐ ราคา 10,439 เหรียญต่อคนต่อปี เมื่อบราซิลผลิตยาชื่อสามัญตัวนี้ได้ ราคายาตัวนี้ลดลงเหลือ 2,700 เหรียญต่อคนต่อปี เมื่ออินเดียสามารถผลิตยาชื่อสามัญตัวนี้ได้ ราคายาก็ลดลงไปอีก เหลือ 295 เหรียญต่อคนต่อปี

 

 

ปี 2544 มีการเจรจากันที่โดฮา ต้องให้มีการแปลความทริปส์ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์การเข้าถึงยามากขึ้น โดยระบุช่องทางการใช้กลไกยืดหยุ่นในการใช้หลักเกณฑ์ด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นระบบ เช่น การบังคับใช้สิทธิเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นต้น  แต่เอฟทีเอ เป็นกลไกกีดกัดประสิทธิภาพของความยืดหยุ่นเหล่านี้

“ทริปส์เป็นข้อตกลงที่ประนีประนอม ประเทศพัฒนาแล้วอยากได้หลายอย่างกว่านี้ แต่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายรวมตัวกันต่อรอง ประเทศพัฒนาแล้วจึงไม่พอใจทริปส์มากนัก แล้วหันไปเจรจาแบบจับคู่” นักกฎหมายด้านสิทธิฯ จากอินเดียกล่าว

กล่าวสำหรับเอฟทีเอที่อียูเริ่มเจรจากับอินเดียนั้น เริ่มตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว Kajal บอกว่าภาคสังคมของอินเดียได้เห็น กรอบการเจรจาเกือบทุกฉบับของอียูที่ทำกับประเทศอื่นๆ แล้วนำมาถอดบทเรียน โดยเฉพาะกรณีเอฟทีเออียู-เกาหลีใต้ ที่มีผลบังคับใช้แล้วและมีการเปิดเผยกรอบข้อตกลง ปรากฏหมาย มีทริปส์พลัส เต็มไปหมด และอียูยังบอกอีกว่าจะใช้กรณีนี้เป็นต้นแบบในการเจรจากับทุกประเทศ

“เป็นเรื่องน่าห่วงมก เพราะเอฟทีเอเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลทางกฎหมาย รัฐบาลเอาตัวออกมาไม่ได้ และถ้าเซ็นแล้วต้องแก้กฎหมายภายในให้เป็นไปตามข้อตกลงเท่านั้น” Kajal กล่าว

สำหรับรัฐบาลอินเดีย น่าสนใจว่านิสัย ‘เด็กดื้อ’ ยังคงติดตัวมาจนปัจจุบัน

การเจรจาระหว่างอียูและอินเดีย ‘ปิดลับ’ (เหมือนกรณีอื่นๆ รวมทั้งไทยด้วย) ก็จริง แต่ก็มีเอกสารหลุดรอดออกมาให้ได้ศึกษาโดยตลอด เท่าที่แอบดูและวิเคราะห์สรุปได้ว่า

ปี 2009 รัฐบาลอินเดีย ปฏิเสธ ความต้องการเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของอียู ทั้งหมด

ปี 2010 อียู ส่งรายละเอียดขยายความสิ่งที่ต้องการให้ใหม่ รัฐบาลอินเดียยืนยันว่าจะรับเพียงทริปส์เท่านั้น

ปี 2011 อียู ขอเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการยึดจับยาที่ “สงสัย” ว่าละเมิดสิทธิบัตร ณ ท่าเรือ และมีบทว่าด้วย การลงทุน เพิ่มเติม

สำหรับเนื้อหาเด่นๆ ในส่วนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของอียู ได้แก่ 1.การขอขยายอายุสิทธิบัตร, 2.การผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity-DE), 3.การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา, 4.การคุ้มครองการลงทุน

1.

สิทธิบัตร

ว่ากันเฉพาะการขอขยายอายุสิทธิบัตรเกิน 20 ปี มีที่น่าสังเกตคือ ในข้อตกลงไม่ได้กล่าวตรงๆ เหมือนของสหรัฐอเมริกา แต่ใช้คำว่า ‘supplement certificate’ ต้องอ่านดีๆ จึงจะรู้ว่ามีนัยยะเพิ่มอายุสิทธิบัตร โดยอ้างว่ากระบวนการขอสิทธิหรือขึ้นทะเบียนยานั้นล่าช้าจึงต้องชดเชยให้ด้วยการขยายอายุสิทธิบัตร

คนส่วนใหญ่เห็นแล้วก็ไม่ตะขิดตะขวงอันใดนัก คิดว่าการเพิ่มการคุ้มครองอีก 3-4 ปีคงไม่เป็นไร

แต่โชคดูไม่เข้าข้างอียู เมื่อภาคสังคมของอินเดียพบข้อมูลว่าที่เกาหลีใต้ สปสช.ของเกาหลีใต้คำนวณไว้ว่า ผลกระทบจากเอฟทีเอที่ทำกับสหรัฐ ซึ่งขยายอายุสิทธิบัตรอีก 3 ปีนั้น ทำให้เกาหลีใต้เสียค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้น 727 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ส่วนออสเตรเลียก็พบว่าหลังเจรจาเอฟทีกับอียูแล้ว ยาตัวสำคัญ 5 อันดับแรกที่มีการขยายอายุสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น 2 ปีนั้น มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม 1,500 ล้านเหรียญออสเตรเลียต่อปี

จากนั้น เสียงประท้วงในอินเดียวก็เกิดขึ้นทั่วสารทิศ จนล่าสุด อียูประกาศถอนข้อเรียกร้องเรื่องการขยายอายุสิทธิบัตรแล้ว !

2.

ผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusive)

ในส่วนการผูกขาดข้อมูลยา Kajal บอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายกังวล มากที่สุด เพราะเป็นลักษณะผูกขาดไม่ว่ายาตัวนั้นจะมีสิทธิบัตรหรือไม่ก็ตาม

หายอธิบายให้เข้าใจง่าย โดยระบบการขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญ เมื่อมียาต้นแบบ(ของบริษัท)แล้ว องค์กรที่ผลิต เช่น องค์การเภสัช ไม่จำเป็นต้องทำการทดลองใหม่ เพียงแค่พิสูจน์ให้ได้ว่ายาที่จะขึ้นทะเบียนนี้มีคุณสมบัติเหมือนยาต้นแบบ ทำให้ประหยัดเวลาและประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้เร็ว  การผูกขาดข้อมูลยานั้นจะทำให้ เมื่อยาต้นแบบขึ้นทะเบียนแล้ว ในช่วง 10-15 ปี ยาชื่อสามัญจะขึ้นทะเบียนไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีความน่ากังวลว่าสมุนไพรพื้นฐานซึ่งมีมากในประเทศแถบร้อน จะถูกบริษัทนำไปศึกษาทดลองแล้วนำไปขึ้นทะเบียนยา ซึ่งจะเป็นการผูกขาดตลาดทำให้สมุนไพรที่ใช้กันโดยทั่วไปไม่อาจใช้ได้อีก 


Coluchicum

 

Kajal  ยกตัวอย่างกรณีสมุนไพร Colchicum ซึ่งทราบกันดีว่าใช้รักษาโรคเก๊าต์ และมีการสกัดขายเป็นแคปซูลกันทั่วไปเพราะไม่มีสิทธิบัตร ใช้กันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ต่อมามีบริษัทในสหรัฐอเมริกานำสมุนไพรนี้ไปทดลองในมนุษย์ แล้วทำรายงานขอขึ้นทะเบียนยาเป็นเจ้าแรกในสหรัฐ ซึ่งได้รับ Data Exclusivity ด้วย ทำให้เจ้าอื่นๆ ต้องออกไปจากตลาด ราคายาจึงพุ่งจาก 0.09 เหรียญเป็น 4.85 เหรียญ

ส่วนประสบการณ์ Data Exclusivity ในประเทศอื่นๆ ที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา (ระหว่าง 2544-2547) ซึ่งมีหลักเกณฑ์ของการผูกขาดข้อมูลยาด้วยนั้น มีดังนี้  

  • จอร์แดน (2549) อ๊อกแฟมศึกษาค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลแห่งหนึ่งพบว่า ค่ายาพุ่งขึ้น 6 เท่า ขณะที่งบประมาณสาธารณสุข 1 ใน 4 ถูกใช้ไปกับค่ายา ทั้งที่จอร์แดนมีอุตสาหกรรมยาของตัวเอง แต่การยอมรับ DE ทำให้ขัดขวางยาชื่อสามัญที่จะเข้าตลาดราว 79% แม้ว่ายาส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิบัตรก็ตาม

 

  • โคลัมเบีย มีค่าใช้จ่ายด้านยาราว 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หลังเซ็นเอฟทีเอ มีการคำนวณกันว่า จนถึงปี 2030 หากไม่เพิ่มงบประมาณ คนจนจะต้องลดการใช้ยาลง 44%

 

  • กัวเตมาลา ดูจากค่าใช้จ่ายในการรักษาในหมวดเดียวกัน พบว่าการรักษานั้นมีราคาต่างกัน 845,000% หลังเซ็นเอฟทีเอ

 

3.

การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาฉบับเข้ม

 

การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญานั้น Kajal ระบุว่า ภาคสังคมเพิ่งเห็นเรื่องนี้โผล่มาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งจะพบว่าอียูและสหรัฐอเมริกาต่างก็เน้นเรื่องนี้ค่อนข้างมาก

Kajal อธิบายนัยยะของมันว่า เนื้อหาส่วนนี้จะทำให้รัฐต้องแบกภาระเพื่อพิทักษ์เอกชน เพราะเรื่องของสิทธิบัตรนั้นถือเป็นเรื่องทรัพย์สินเอกชน เอกชนต้องเป็นผู้ชี้ผู้กระทำผิด ตำรวจจะจับเองไม่ได้ แต่การกำหนดเงื่อนไขนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งใน ทริปส์พลัส จะทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมด ไม่ว่า ตำรวจ ศาล เจ้าหน้าที่องค์การอาหารและยา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้น จากที่แต่เดิมเมื่อเกิดการละเมิดก็จะฟ้องคนผลิต ก็เปลี่ยนมาเป็นการฟ้องทั้ง supply chain พูดง่ายๆ ว่า คนงานที่ผลิต คนขนส่ง ใครก็ตามที่เกี่ยวข้องล้วนมีสิทธิถูกหางเลขด้วย

“มันสร้างบรรยากาศความกลัว ทำให้คนไม่อยากสังฆกรรมกับอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ” Kajal กล่าว

เธอให้ข้อมูลอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเกี่ยวกับกา ยึดสินค้าต้องสงสัยว่าละเมิดสิทธิที่ท่าเรือได้ด้วย ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นอยู่แล้วและกำลังเป็นกรณีอยู่ในองค์การการค้าโลก คือ กรณีที่อินเดียจะส่งยาชื่อสามัญไปยังบราซิล แต่ต้องผ่านและจอดยังท่าของประเทศในยุโรป ยุโรปได้ทำการยึดยาเหล่า เพราะถือว่าละเมิดสิทธิบัตรตามกฎหมายยุโรป ทำให้ยาตกค้างที่ยุโรปหลายล็อตแม้ว่าจะเป็นแค่ ‘การผ่านทาง’ ก็ตาม

 

4.

การคุ้มครองการลงทุน

ในบทว่าด้วยการลงทุนนั้นก็มีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ด้วย โดยระบุว่าหากมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไม่ว่าโดยเอกชนด้วยกันหรือรัฐ แล้วส่งผลต่อผลกำไรของนักลงทุน ให้นักลงทุนฟ้องอนุญาโตตุลาการได้

 


presentation ของ Kajal

 

ยกตัวอย่าง ประเทศอุรุกวัย ไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลอุรุกวัยมีนโยบายควบคุมยาสูบ โดยขยายคำเตือนบนซองบุหรี่ บริษัท Philips Moris (สาขาสวิสเซอร์แลนด์) ได้ฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยชี้ว่านโยบายนี้กระทบต่อเครื่องหมายการค้า โดยอ้างข้อตกลงด้านการลงทุนที่ระบุอยู่ในเอฟทีเอระหว่างอุรุกวัยกับสวิสเซอร์แลนด์

ประเทศออสเตรเลีย มีนโยบายเกี่ยวกับยาสูบเช่นกัน โดยกำหนดให้มีซองบุหรี่สีเดียว บริษัท Philips Moris ฟ้องร้องศาลในประเทศว่าการทำเช่นนี้กระทบต่อการค้าการลงทุนของบริษัท แต่ศาลสูงของออสเตรเลียตัดสินว่ารัฐสามารถทำได้ เนื่องจากเป็นนโยบายเรื่องสุขภาพ บริษัทบุหรี่ (สาขาฮ่องกง) จึงได้ฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการโดยอ้างถึงข้อตกลงระหว่างออสเตรเลียกับฮ่องกงซึ่งมีกรอบการตกลงว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน

 

ความคืบหน้าล่าสุดของการเจรจาระหว่างอินเดียกับอียู ทีมเจรจาอินเดียยังคงยืนยันเรื่องไม่เอาทริปส์พลัสทั้งหลายทั้งปวง โดยเฉพาะ 4 ประเด็นที่กล่าวมา ยันมาได้เรื่อยๆ ทุกรอบจนถึงปัจจุบัน โดยเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การนำเอาภาคประชาสังคมที่เชี่ยวชาญเรื่องเหล่านี้เข้าไปมีส่วนให้ข้อมูล รวมถึงมีการทำความเข้าใจภายในคณะเจรจาอย่างทั่วถึง เนื่องจากแต่ละคณะอาจมุ่งแต่ประเด็นของตัวเองโดยไม่เห็นผลกระทบข้ามประเด็น

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ ข่าวสารที่เดินทางไกลมาจากอินเดียให้คนไทยร่วมพิจารณา

  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net