Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

(อ่านตอนแรกได้ที่ลิงก์ด้านล่าง)

 

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ 3 ครั้งคือ เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516, เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 และเหตุการณ์ 17 พ.ค. 2535 ทั้ง 3 ครั้งก่อให้เกิดการนองเลือดและการเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ในเวลาต่อมา

ผู้เขียนเห็นว่า ประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ทั้ง 3 ครั้งนี้น่าสนใจ และสามารถนำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค. 53 จึงขอนำเสนอเพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาออกกฎหมายนิรโทษกรรม ในเร็วๆ นี้

 

14 ตุลาคม 2516-6ตุลาคม 2519 กับการนิรโทษกรรม

9 ต.ค. 2516 ธีรยุทธ บุญมี และสมาชิกกลุ่มที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ อีก 10 คนเดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทั้งหมดถูกตำรวจจับกุม และถูกกล่าวหาว่า กระทำการเป็นคอมมิวนิสต์ (ก้องเกียรติ คงคา นักศึกษา ม.รามคำแหง ถูกจับกุม แต่ ไขแสง สุกใส อดีต ส.ส.นครพนม เข้ามอบตัวกับตำรวจในเวลาต่อมา) สร้างความไม่พอใจให้กับนักศึกษา/ประชาชนจำนวนมากจนนำไปสู่การ ชุมนุมครั้งใหญ่ที่ ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล จอมพลถนอม กิติขจร ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คนก่อนเวลา 12.00 น. ของวันที่ 13 ต.ค. 2516 แต่รัฐบาลอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2515 มาตรา 17 ที่ให้อำนาจรัฐบาลสามารถปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรได้

13 ต.ค. 2516 รัฐบาลจอมพลถนอมไม่ยอมปฏิบัติตามคำขอ นักศึกษา/ประชาชนจำนวนมากจึงเดินขบวนจาก ม.ธรรมศาสตร์ ผ่าน ถ.ราชดำเนิน สู่พระบรมรูปทรงม้า แกนนำการประท้วงบางส่วนเข้าเจรจากับรัฐบาล รัฐบาลยอมรับเงื่อนไขปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด และยอมที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในปีหน้า

14 ต.ค. 2516 ช่วงเช้าตรู่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อตำรวจขัดขวางการเดินขบวนกลับของนักศึกษา/ประชาชนจนเกิดการปะทะอย่างรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ช่วงเย็น จอมพลถนอม ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร.9 ทรงแต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน แม้ จอมพลถนอม จะประกาศลาออกแล้ว แต่เหตุการณ์ยังคงตึงเครียด นักศึกษา/ประชาชนยังคงชุมนุมกันอยู่

16 ต.ค. 2516 จอมพลถนอม เดินทางลี้ภัยไปไต้หวัน กรุงเทพกลับสู่ความสงบอีกครั้ง ช่วงเย็นรัฐบาลสัญญาออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้อยู่ในมาตรา 3 ซึ่งระบุว่า
 

"บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของ นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2516 และได้กระทำในระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2516 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2516 ไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"


พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับนักศึกษา/ประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมระหว่างวันที่ 8-15 ต.ค. 2516 แต่ไม่นิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะทหาร/ตำรวจที่เข้าปราบปรามนักศึกษา/ประชาชน

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 นักศึกษา/ประชาชนชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และนัดหยุดงานประท้วงบ่อยครั้ง จนทำให้เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบ ต่อมาบุคคลที่ต่อต้านการชุมนุมของนักศึกษา/ประชาชนจัดตั้งกลุ่มต่างๆขึ้นหลายกลุ่ม เช่น นวพล, กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการฝึกการใช้อาวุธจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยอ้างเรื่องการรักษาความมั่นคงของประเทศ

เดือน ส.ค. 2519 จอมพลถนอมเดินทางกลับเข้าประเทศไทย แต่ถูกนักศึกษา/ประชาชนชุมนุมขับไล่จึงต้องยอมเดินทางออกนอกประเทศ แต่แอบกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้ง โดยบวชเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2519 นักศึกษา/ประชาชนจึงชุมนุมขับไล่อีกครั้งที่ ม.ธรรมศาสตร์

24 ก.ย. 2519 วิชัย เกษศรีพงษา และ ชุมพร ทุมไมย พนักงานการไฟฟ้า จ.นครปฐม เสียชีวิตระหว่างออกติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านพระถนอม และถูกนำศพไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม ตำรวจสรุปสำนวนคดีว่า เกิดจากการผิดใจกับคนในที่ทำงาน สร้างความไม่พอใจให้กับนักศึกษา/ประชาชนเป็นอย่างมากจึงชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

25 ก.ย. 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ ถูกกดดันอย่างหนักจากหลายฝ่ายจนประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ได้รับการเลือกกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันเดียวกัน

4 ต.ค. 2519 อภินันท์ บัวหภักดี นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ แสดงละครล้อเลียนการเสียชีวิตของพนักงานการไฟฟ้า จ.นครปฐม ด้วยการแขวนคอ วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์บางฉบับแสดงภาพการแขวนคอดังกล่าว สถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีกล่าวหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเรียกร้องให้กลุ่มคนที่ต่อต้านฯออกมาชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาล

6 ต.ค. 2519 เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างนักศึกษา/ประชาชนที่ชุมนุมอยู่ใน ม.ธรรมศาสตร์ และเจ้าหน้าที่รัฐ/กลุ่มคนที่ต่อต้านฯจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก นักศึกษา/ประชาชนจำนวนมากถูกจับกุม ช่วงค่ำ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผบ.สส. นำทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ โดยอ้างเหตุการณ์การปราบปรามนักศึกษา/ประชาชนของรัฐบาล

คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินออกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 8 ซึ่งสาระสำคัญในข้อ 1 กำหนดให้การกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ต้องอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร

8 ต.ค. 2520 ธานินทร์ กรัยวิเชียร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการเสนอชื่อของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

24 ธ.ค. 2519 รัฐบาลธานินทร์ออก พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 โดยสาระสำคัญของ พรบ. ฉบับนี้อยู่ในมาตรา 3 ซึ่งระบุว่า

"บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใด ๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว ซึ่งได้กระทำไปด้วยความมุ่งหมายที่จะให้บังเกิดความมั่นคงของราชอาณาจักร ของราชบัลลังก์และเพื่อความสงบสุขของประชาชนก็ดี และการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอันได้กระทำไปเพื่อการที่กล่าวนั้นรวมถึงการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่นก็ดี การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่ากระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"

พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ก่อการรัฐประหาร 2519 แต่ไม่นิรโทษกรรมให้กับนักศึกษา/ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมใน ม.ธรรมศาสตร์ และเจ้าหน้าที่รัฐ/ผู้ต่อต้านฯที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม

แม้นักศึกษา/ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา แต่ยังเหลือผู้ต้องหา 19 คนที่ไม่ได้รับการประกันตัวคือ บุญชาติ เสถียรธรรมมณี ผู้จัดการแสดงละครล้อเลียนการเสียชีวิตของพนักงานการไฟฟ้า จ.นครปฐม ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและข้อหาอื่น (คดีหมายเลขดำที่ 4418/2520 ของศาลอาญา) ส่วน สุธรรม แสงประทุม เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) และพวกอีก 17 คนถูกฟ้องในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์และข้อหาอื่น (คดีหมายเลขดำที่ 253ก/2520 ของศาลทหารกรุงเทพ)

20 ต.ค. 2520 พล.ร.อ.สงัด นำทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ โดยอ้างว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ/สังคม/อุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ, ปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดเห็นของประชาชน และท่าทีของรัฐบาลต่อความพยายามการลอบปลงพระชนม์ ร.9 ที่ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2520

11 พ.ย. 2520 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการเสนอชื่อของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

ปี 2521 รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ออก พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยสาระสำคัญของ พรบ. ฉบับนี้มี 3 มาตราคือ

"มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใด ๆ ที่เกิดขึ้นในหรือเกี่ยวกับการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และได้กระทำในระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะได้กระทำในหรือนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
  
มาตรา 4 ให้ศาลทหารกรุงเทพดำเนินการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 253ก/2520 ของศาลทหารกรุงเทพ (ใช้กฎ 6 ต.ค. 19) และให้ศาลอาญาดำเนินการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 4418/2520 ของศาลอาญา

บรรดาการกระทำที่เป็นเหตุให้จำเลยถูกฟ้องในคดีตามวรรคหนึ่งถ้ามิได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 3 และการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้จำเลยพ้นจากความผิดและความรับผิดด้วย

มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะฟ้องร้องเรียกสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น"

พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมแบบ "เหมาเข่ง" ให้กับทุกฝ่าย รวมทั้งคดีหมายเลขดำที่ 253ก/2520 ของศาลทหารกรุงเทพ และคดีหมายเลขดำที่ 4418/2520 ของศาลอาญา ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเรื่องแปลกที่มีการระบุคดีที่จะนิรโทษกรรมไว้ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ทั้งที่มาตรา 3 ก็เป็นการนิรโทษกรรมคดีทั้ง 2 นี้อยู่แล้ว

หากมองประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 จะเห็นได้ว่า หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 นักศึกษา/ประชาชนแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองมากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อน สิ่งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายตรงข้ามจนนำมาซึ่งการปลุกระดมประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกของนักศึกษา/ประชาชนเหล่านี้จนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างนักศึกษา/ประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ/ผู้ต่อต้านฯ

สิ่งนี้คล้ายคลึงกับเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ที่เริ่มจากการที่สื่อมวลชนบางแห่งพยายามปลุกระ ดมประชาชนต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนนำไปสู่การรัฐประหาร 2549 และการจัดตั้งรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากการสนับสนุนของทหาร ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ จนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ กับทหาร

การนิรโทษกรรมเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 รัฐบาลสัญญาเลือกที่จะนิรโทษกรรมให้เฉพาะนักศึกษา/ประชาชนเท่านั้น ไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนักศึกษา/ประชาชน โดยเฉพาะ "ทหาร" ต้องถูกไต่สวนเช่นเดียวกับที่ DSI ส่งฟ้องเพื่อให้ศาลอาญาไต่สวนการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ในปัจจุบัน สิ่งนี้อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่สร้างความไม่พอใจต่อทหารอย่างมาก เนื่องจากหลายคดีถูกไต่สวนจนใกล้จะมีคำตัดสิน

ต่างจากเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ซึ่งรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ที่มาจากการรัฐประหารโดย พล.ร.อ.สงัด เลือกที่จะนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่ายในอีกเกือบ 2 ปีต่อมา ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า หลังการรัฐประหาร 2519 คดีไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ก็สะดุดหยุดลงทั้งหมด โดยไม่สามารถลงโทษเจ้าหน้ารัฐเหล่านี้ได้แม้แต่รายเดียว

ผู้เขียนเห็นว่า บทเรียนนี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ การเลือกที่จะนิรโทษกรรมให้เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจมีผลสร้างความไม่พอใจให้กับอีกฝ่ายที่ไม่ได้รับการนิรโทษกรรมได้ นอกจากนี้ผู้เขียนยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็มักจะมีการนิรโทษกรรมเสมอ

บทเรียนนี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ การเลือกที่จะนิรโทษกรรมให้เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจมีผลสร้างความไม่พอใจให้กับอีกฝ่ายที่ไม่ได้รับการนิรโทษกรรมได้ นอกจากนี้ผู้เขียนยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็มักจะมีการนิรโทษกรรมเสมอ
 

พฤษภาทมิฬ 2535 กับการนิรโทษกรรม

23 ก.พ. 2534 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เตรียมนำ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีต ผบ.ทบ. และรองนายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าในหลวง ร.9 ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ โดยขึ้นเครื่องบิน C130 จากท่าอากาศยานทหาร บน. 6 (ดอนเมือง) แต่ถูกทหารที่อยู่บนเครื่องบินควบคุมตัวไว้

คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ., พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี รอง ผบ.ทบ. และ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. โดยอ้างว่า รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย มีพฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวง, ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต, เป็นเผด็จการทางรัฐสภา, ทำลายสถาบันทางทหาร และบิดเบือนคดีลอบสังหาร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และบุคคลสำคัญอื่นๆ เมื่อปี 2525

25 ก.พ. 2534 รสช. ออกประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26 เรื่อง ให้อายัดและห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สิน โดยมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ซึ่งมี พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธาน และทำการอายัดทรัพย์สินของอดีตรัฐมนตรีจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย จำนวน 25 คนจาก 7 พรรคการเมือง พล.อ.ชาติชาย เดินทางลี้ภัยไปเดนมาร์ก

2 มี.ค. 2534 อานันท์ ปันยารชุน รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จากการเสนอชื่อของ รสช. บุคคลหลายคนใน รสช. ได้รับตำแหน่งในรัฐบาลอานันท์

2 พ.ค. 2534 รัฐบาลอานันท์ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 โดยสาระสำคัญของ พรบ. ฉบับนี้อยู่ในมาตรา 3 ซึ่งระบุว่า

"บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใด ๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว และการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น รวมถึงการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"

พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับ รสช. ซึ่งก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2534 แต่ไม่นิรโทษกรรมให้กับข้อกล่าวหาฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาลชาติชาย ส่งผลให้ คตส. ยังคงพิจารณาคดีกับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชาติชายต่อไป
ธ.ค. 2534 รัฐบาลอานันท์ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 และประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 22 มี.ค. 35

3 ม.ค. 2535 พรรคสามัคคีธรรมถือกำเนิดขึ้นจากรวบรวมนักการเมืองจากหลายพรรคการเมือง และบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับ รสช. โดยมี ณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และ น.ต.ฐิติ นาครทรรพ เป็นเลขาธิการพรรค

22 มี.ค. 2535 พรรคสามัคคีธรรมได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. มากที่สุด 79 คนจากเก้าอี้ ส.ส. ทั้งหมด 360 ที่นั่ง และพยายามรวบรวมพรรคการเมืองอื่นอีก 4 พรรคคือ พรรคชาติไทย (74 ที่นั่ง), พรรคกิจสังคม (31 ที่นั่ง), พรรคประชากรไทย (7 ที่นั่ง) และพรรคราษฎร (4 ที่นั่ง) เพื่อจัดตั้งรัฐบาล 195 ที่นั่ง

ณรงค์ วงศ์วรรณ ถูกกล่าวหาว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาปฏิเสธการออกวีซ่าเข้าประเทศให้กับเขา เนื่องจากเขามีความใกล้ชิดกับขบวนการค้ายาเสพติด แม้เขาจะปฏิเสธ แต่ 5 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลหันไปสนับสนุน พล.อ.สุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

7 เม.ย. 2535 พล.อ.สุจินดา รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยปฏิเสธการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สร้างความไม่พอใจให้กับหลายฝ่ายอย่างมาก เนื่องจากถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ รสช.

4 พรรคการเมืองฝ่ายค้านคือ พรรคความหวังใหม่, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ ออกแถลงการณ์คัดค้านการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา เนื่องจากเขาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

8 เม.ย. 2535 ร.ต.ฉลาด วรฉัตร อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ประกาศอดข้าวประท้วงหน้ารัฐสภาจนกว่า พล.อ.สุจินดา จะลาออก แต่หลายวันต่อมาเขาเกิดอาการช๊อกจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แม้จะมีบุคคลจากหลายฝ่ายร้องขอให้เขาเลิกล้มการอดอาหารในประท้วงครั้งนี้ แต่เขาก็ยังยืนยันที่จะอดอาหารประท้วงต่อไป จนทำให้มีผู้สนับสนุนหลายคนร่วมอดอาหารประท้วงด้วย

17 เม.ย. 2535 ร.9 ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดนี้หลายคนเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับ รสช. หรือเป็นอดีตรัฐมนตรีที่ถูกยึดทรัพย์ตามประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ทั้งที่การพิจารณาคดียังไม่เป็นที่สิ้นสุด สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างมาก

20 เม.ย. 2535 4 พรรคการเมืองฝ่ายค้านจัดการปราศรัยที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อประท้วงรัฐบาล พล.อ.สุจินดา โดยมีประชาชนเข้าร่วมฟังการปราศรัยนับแสนคน การชุมนุมยุติลงอย่างสงบในวันเดียวกัน
4 พ.ค. 2535 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ประกาศอดอาหารประท้วงร่วมกับ ร.ต.ฉลาด โดยมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมนับหมื่นคนที่หน้ารัฐสภา

6 พ.ค. 2535 พล.อ.สุจินดา แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาวันแรก โดยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการอดอาหารประท้วงของบุคคลต่างๆ และอ้างว่า รัฐบาลชุดนี้ชอบด้วย รธน. ส.ส. ฝ่ายค้านหลายคนประกาศไม่เข้าร่วมการแถลงนโยบายรัฐบาลในครั้งนี้ และเข้าร่วมประท้วงกับผู้ชุมนุมที่หน้ารัฐสภา พรรคชาติไทยเตรียมนำเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเพื่อลดความขัดแย้ง

7 พ.ค. 2535 พล.อ.สุจินดา แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเป็นวัน ที่ 2 โดยกล่าวหาว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยแบบ "สภาเปรซิเดียม (ระบอบสภาสูงสุดก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต)" จนถูก ส.ส. ฝ่ายค้านหลายคนประท้วง หลังจากนั้น อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานรัฐสภาประกาศปิดการแถลงนโยบายรัฐบาล

พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.สส. ประกาศเตรียมสลายการชุมนุม ส่งผลให้แกนนำการชุมนุมต้องเคลื่อนผู้ชุมนุมนับแสนคนที่กำลังประท้วงที่หน้ารัฐสภาไปชุมนุมที่สนามหลวงแทนเพื่อความปลอดภัย

8 พ.ค. 2535 พล.ต.จำลอง ยื่นเงื่อนไขให้ พล.อ.สุจินดา ออกมาแถลงการณ์ด้วยตนเองว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายใน 1 เดือน และต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ ต่อมาผู้ชุมนุมแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกติดตาม พล.ต.จำลอง ไปชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนิน ขณะที่ส่วนหลังชุมนุมต่อที่สนามหลวง

9 พ.ค. 2535 พล.ต.จำลอง ขอมติจากผู้ชุมนุมเลิกการอดอาหารประท้วงเพื่อชุมนุมต่อไป และประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรมเพื่อป้องกันข้อครหา แต่ ร.ต.ฉลาด และผู้สนับสนุนหลายคนยังไม่ยอมยุติการอดอาหารประท้วง

อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรแถลงข่าวมติการประชุมของพรรคการเมืองในรัฐสภา 9 พรรค โดยอ้างว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายประเด็น เช่น ประธานสภาผู้เป็นแทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยจะยื่นวาระให้ประธานรัฐสภาในวันที่ 15 พ.ค. 2535

11 พ.ค. 2535 แกนนำการชุมนุมประกาศยุติการชุมนุมชั่วคราวเพื่อรอท่าทีจาก 9 พรรคการเมือง โดยนัดที่จะจัดการชุมนุมที่สนามหลวงอีกครั้งในวันที่ 17 พ.ค. 2535

15 พ.ค. 2535 5 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเปลี่ยนท่าทีเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่า เป็นการให้สัมภาษณ์โดยพลการของประธานสภาผู้แทนราษฎรเพียงผู้เดียว และยืนยันว่า จะต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อให้ พล.อ.สุจินดา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนครบวาระ 4 ปี

รัฐบาล พล.อ.สุจินดา ออกคำสั่งไปถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัดห้ามไม่ให้ประชาชนเดินทางเข้ามาในกรุงเทพเพื่อชุมนุม และเตรียมจัดคอนเสิร์ต "รวมใจต้านภัยแล้ง” ที่สนามกีฬากองทัพบกในวันที่ 17 พ.ค. 2535

17 พ.ค. 2535 พล.อ.สุจินดา เดินทางไป จ.น่าน พรรคราษฎรแสดงความไม่เห็นด้วยหากนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต

รัฐบาลจัดงานคอนเสิร์ต "รวมใจต้านภัยแล้ง” ที่สนามกีฬากองทัพบกและวงเวียนใหญ่ มีผู้ร่วมงานนับหมื่นคน ส่วนแกนนำการชุมนุมจัดการชุมนุมที่สนามหลวง โดยมีผู้ร่วมชุมนุมนับแสนคน กลุ่มรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ประกาศบนเวทีพร้อมจะหยุดงานทันทีหากรัฐบาลให้กำลังสลายการชุมนุม

แกนนำการชุมนุมประกาศบนเวทีเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมเดินเท้าไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงถามคำตอบจาก พล.อ.สุจินดา ผู้ชุมนุมบางส่วนจึงเดินทางออกจากสนามหลวงไปทำเนียบรัฐบาลผ่านทาง ถ.ราชดำเนิน ขณะที่ผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่งยังคงปักหลักที่สนามหลวง เมื่อผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศเกิดการปะทะกับตำรวจ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก การปะทะยุติลงชั่วคราว โดยผู้ชุมนุมสามารถยึดสะพานผ่านฟ้าลีลาศได้

ผู้ชุมนุมบางส่วนบุกยึดสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง อีกบางส่วนเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง แกนนำการชุมนุมประกาศบนเวทีปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น

18 พ.ค. 2535 พล.อ.สุจินดา และ พล.อ.อ.อนันต์ กลินทะ รมว. มหาดไทย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยห้ามมีการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 10 คน

ทหาร/ตำรวจใช้อาวุธเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ 2 ครั้งจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก จนต้องมีการเจรจาระหว่างแกนนำการชุมนุมและ พล.ต.ฐิติพงษ์ เจนนุวัตร ผู้บัญชาการกองพล 1

ทหารปิดกั้นสะพานพระปิ่นเกล้า, ท่าพระจันทร์, สี่แยกคอกวัว และ ถ.ราชดำเนิน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมใหม่เข้ามา ซึ่งขณะนั้นมีผู้ชุมนุมนับหมื่นคน พล.อ. สุจินดา ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์กล่าวหา พล.ต.จำลอง และบุคคลบางคนเป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และยุยงปลุกปั่นให้การชุมนุมเกิดความรุนแรงจนทำร้ายเจ้าหน้าที่และทำลายสถานที่ราชการจึงต้องใช้กำลังทหารตำรวจเข้าปราบปรามขั้นเด็ดขาดเพื่อยุติความเสียหาย

ทหารเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศอีกครั้ง เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงอีกครั้ง ผู้ชุมนุมจำนวนมากต้องแตกกระจาย พล.ต.จำลอง ยอมมอบตัว ผู้ร่วมชุมนุมถูกจับกุมนับพันคน

แม้ว่า พล.ต.จำลอง จะถูกจับกุมตัวไปแล้ว แต่ผู้ชุมนุมที่เหลือยังคงไม่ยุติการชุมนุม และรวมตัวกันอีกครั้งที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ ผู้ชุมนุมบางส่วนบุกยึดรถบรรทุกน้ำ/เสบียงของทหารและเผาทำลาย ขณะที่ 4 พรรคการเมืองฝ่ายค้านออกประกาศร้องขอให้รัฐบาลยุติการปราบปรามผู้ชุมนุม และขอให้มีการสอบสวนการสลายการชุมนุมในครั้งนี้

รัฐบาล ออกประกาศจับแกนนำ 7 คนคือ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, น.พ.เหวง โตจิราการ, น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์, สมศักดิ์ โกศัยสุข, ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ, น.ส.จิตราวดี วรฉัตร และ วีระ มุสิกพงศ์ ต่อมา น.ส.จิตราวดี วรฉัตร เข้ามอบตัวต่อตำรวจ ขณะที่ผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บย้ายเข้าไปหลบในโรงแรมรัตนโกสินทร์

ผู้ชุมนุมบางส่วนบุกเผาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล อีกบางส่วนพยายามเผากรมประชาสัมพันธ์ แต่ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งดับได้ทัน นอกจากนี้ยังมีขบวนการมอเตอร์ไซค์เคลื่อนขบวนไปตามถนนหลายแห่งในกรุงเทพ เช่น ถ.พระรามสี่, สะพานขาว, เยาวราช, ราชวงศ์, สถานีรถไฟหัวลำโพง, ท่าพระ เพื่อทำลายทรัพย์สินของทางราชการ และชักชวนประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมที่สนามหลวง ตำรวจจึงจัดชุดไล่ล่าเพื่อปราบปรามขบวนการมอเตอร์ไซด์

19 พ.ค. 2535 เกิดเหตุไฟไหม้กรมประชาสัมพันธ์ซ้ำ โดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมาทหารเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศอีกครั้ง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมากอีกครั้ง ผู้ชุมนุมต้องถอยร่นไปโรงแรมรัตนโกสินทร์ และถูกทหารจับกุมจำนวนมาก วีระ มุสิกพงศ์ เข้ามอบตัวกับตำรวจ โดยไม่ขอประกันตัว ผู้ชุมนุมบางส่วนบุกเผากรมสรรพากร

พ.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการกองทัพบก แถลงข่าวที่หอประชุมกองทัพบกปฏิเสธข่าวทหารยิงประชาชน ประชาชน/สถาบันการศึกษา/แพทย์ชุมนุมในหลายจังหวัด เช่น มหาสารคาม, ศรีสะเกษ, ภูเก็ต, อุบลราชธานี, สงขลา และเชียงใหม่ ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรง และให้ พล.อ.สุจินดา ลาออก

พรรคความหวังใหม่เรียกร้องให้มีการปล่อยตัว พล.ต.จำลอง เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดห้ามมิให้จับกุม ส.ส. ในระหว่างสมัยประชุม ผู้ชุมนุมบางส่วนย้ายมาชุมนุมที่ ม.รามคำแหง โดยสร้างแนวรั้วป้องกันการสลายการชุมนุม ขณะที่ทหารเตรียมกำลังเพื่อสลายการชุมนุมที่ ม.รามคำแหง

20 พ.ค. 2535 สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เผยแพร่ภาพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯประทานสัมภาษณ์ที่ฝรั่งเศสถึงเหตุการณ์ในประเทศไทย โดยทรงร้องขอให้ทุกฝ่ายเลิกรุนแรง

ผู้ชุมนุมบางส่วนรวมตัวกันที่ ถ.ราชดำเนิน แต่ทหารเข้าสลายการชุมนุมอย่างรวดเร็ว ขณะที่ต่างจังหวัดยังมีผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง พล.อ.สุจินดา ออกแถลงข่าวทางโทรทัศน์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิต 40 คน และผู้ได้รับบาดเจ็บ 600 คนเท่านั้น ต่อมารัฐบาลออกประกาศห้ามบุคคลในท้องที่ กทม. ออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. แต่ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักใน ม.รามคำแหง นับแสนคน

โทรทัศน์ เผยแพร่การเข้าเฝ้าของ พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง ต่อในหลวง ร.9 โดยทรงชี้แนะให้ทั้ง 2 ฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ต่อมา พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง ออกแถลงข่าวร่วมกัน โดย พล.อ. สุจินดา แถลงว่า จะปล่อยตัว พล.ต.จำลอง และออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุม และจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ส่วน พล.ต.จำลอง แถลงว่า ขอให้ผู้ก่อความวุ่นวายยุติการกระทำ

21 พ.ค. 2535 แกนนำการชุมนุมตัดสินใจสลายการชุมนุมในเวลา 4.00 น. แม้จะผิดหวังที่ พล.อ.สุจินดา ยังไม่ประกาศลาออก

23 พ.ค. 2535 รัฐบาล พล.อ.สุจินดา ออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้อยู่ในมาตรา 3 ซึ่งระบุว่า
 

"บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าวไม่ว่าได้กระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง"
 

พ.ร.ก. ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมแบบ "เหมาเข่ง" ให้กับผู้ชุมนุม/เจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุการณ์การชุมนุมทางเมืองระหว่างวันที่ 17-21 พ.ค. 2535 สร้างความกังขาให้กับหลายฝ่ายที่มองว่ากฎหมายนิรโทษกรรม นี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับการสังหารผู้ชุมนุม

24 พ.ค. 2535 พล.อ.สุจินดา ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้ มีชัย ฤชุพันธ์ รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 48 วัน มีชัยมีคำสั่งให้ยกเลิกประกาศห้ามบุคคลในท้องที่ กทม. ออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-04.00 น ส่วน ร.ต.ฉลาด ประกาศยุติการอดอาหาร

ปลาย พ.ค. 2535 4 พรรคการเมืองฝ่ายค้านยื่นคำร้องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (ในขณะนั้นยังไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยังเป็นส่วนหนึ่งของศาลฎีกา) วินิจฉัยถึงความชอบธรรมของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจตาม รธน. มาตรา 173

3 มิ.ย. 2535 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 1/2535 โดยวินิจฉัยว่า
 

"ตามบทบัญญัติของมาตรา 173 วรรคหนึ่งจะเห็นได้ว่า กรณีที่สมาชิกวุฒิสภาก็ดี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ดี จะมีสิทธิเสนอความเห็นว่า พระราชกำหนดใดไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะต้องเป็นกรณีที่ พระราชกำหนดนั้นไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 172 วรรคหนึ่งเท่านั้น กล่าวคือ พระราชกำหนดนั้นไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเสนอความเห็นให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนอกเหนือจากกรณีเงื่อนไขตามมาตรา 172 วรรคหนึ่งไม่ได้"
 

จากสาระสำคัญในส่วนนี้ชี้ชัดว่า 4 พรรคการเมืองฝ่ายค้านไม่สามารถอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 173 เพื่อขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงความชอบธรรมของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ดังนั้นความหวังในการคัดค้าน พรก. ฉบับนี้ในครั้งที่ 1 จึงต้องจบสิ้นลง

9 มิ.ย. 2535 4 พรรคการเมืองฝ่ายค้านยื่นคำร้องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงความชอบธรรมของ พ.ร.ก. ฉบับนี้อีกครั้ง โดยอ้างว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 172

10 มิ.ย 2535 พรรคร่วมรัฐบาลเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ อาทิตย์ อุไรรัตน์ ตัดสินใจนำชื่อ อานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯแทน ส่งผลให้อานันท์ได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

30 มิ.ย. 2535 อานันท์ประกาศยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 13 ก.ย. 2535 5 พรรคร่วมรัฐบาลถวายฎีกาคัดค้าน แต่ไม่เป็นผล

22 ก.ค. 2535 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 2/2535 โดยวินิจฉัยว่า
 

"การตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ก็เป็นวิธีที่แก้ไขเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นนั้นให้เรียบร้อยลงได้ และให้เกิดความสามัคคีในประชาชนชาวไทยและเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติต่อไป ดังนั้นการตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมฉบับนี้ จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษารักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และเพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 172 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ส่วนที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และคณะเห็นว่า การออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมนี้ คณะรัฐมนตรีมิได้มีการประชุมปรึกษาหารือกัน เพียงแต่ออกหนังสือเวียนแทนการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมตินั้น เป็นปัญหาตามมาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่สามารถวินิจฉัยให้ได้ เพราะมาตรา 173 ให้สิทธิสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอความเห็นเพื่อให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เฉพาะความเห็นที่ว่า พระราชกำหนดไม่เป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่งเท่านั้น"
 

จากสาระสำคัญในส่วนนี้ชี้ชัดว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ส่วนวรรคสองนั้นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่สามารถวินิจฉัยให้ได้ ดังนั้นความหวังในการคัดค้าน พ.ร.ก. ฉบับนี้ในครั้งที่ 2 จึงต้องจบสิ้นลง

13 ก.ย. 2535 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. มากที่สุด 79 คนจากเก้าอี้ ส.ส. ทั้งหมด 360 ที่นั่ง และรวบรวมพรรคการเมืองอื่นอีก 4 พรรคคือ พรรคความหวังใหม่ (51 ที่นั่ง), พรรคพลังธรรม (47 ที่นั่ง), พรรคกิจสังคม (22 ที่นั่ง) และพรรคเอกภาพ (8 ที่นั่ง) เพื่อจัดตั้งรัฐบาล 207 ที่นั่ง

23 ก.ย. 2535 ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

9 ต.ค. 2535 รัฐบาลชวนออกประกาศประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การไม่อนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกัน ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ระบุว่า

 "ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอขอให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกัน ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 นั้น

ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ประจำปี พ.ศ.2535 ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญ ครั้งที่หนึ่ง) วันพุธที่ 7 ตุลาคม 2535 ที่ประชุมได้ลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าว จึงทำให้พระราชกำหนดตกไป

 จึงประกาศมาตามความในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย"
 

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้เป็นการยกเลิก พ.ร.ก. ฉบับนี้ เพื่อเปิดทางสู่การดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 นำมาซึ่งข้อสงสัยว่า แม้จะมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ออกมา แต่จะมีผลย้อนหลังต่อการนิรโทษกรรมจาก พ.ร.ก. ฉบับนี้หรือไม่

28 ต.ค. 2535 รัฐบาลชวนส่งคำร้องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้มีผลย้อนหลังต่อการนิรโทษกรรมจาก พ.ร.ก. ฉบับนี้หรือไม่

9 พ.ย. 2535 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3/2535 โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า


"โดยที่มาตรา 172 วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 บัญญัติว่า การที่พระราชกำหนดตกไปไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น ดังนั้นกิจการนั้นจึงไม่ถูกกระทบกระเทือน แม้ว่าพระราชกำหนดนั้นจะตกไป ส่วนปัญหาที่ว่าข้อความดังกล่าวมีผลเกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 3 ของพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกัน ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 เพียงใดนั้น มาตรา 3 ของพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติว่า "บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกัน ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าวไม่ว่าได้กระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง" ฉะนั้นข้อความที่ว่ากิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้นจึงมีผลว่า นับตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าว ถ้าการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ผู้กระทำย่อมพ้นความผิดจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงไปทันที และการพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงนี้ย่อมมีอยู่ตลอดไป โดยไม่ถูกกระทบกระเทือนจากการที่พระราชกำหนดฉบับนี้ตกไป เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ เพราะพระราชกำหนดก็มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2534 .... และการที่พระราชกำหนดตกไปนั้น มาตรา 172 วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2534 ก็บัญญัติว่า ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น กิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนี้ก็คือ การพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงนั่นเอง หากรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้พระราชกำหนดไม่มีผลบังคับมาตั้งแต่ต้นก็จะต้องบัญญัติไว้โดยชัดเจน"
 

จากสาระสำคัญในส่วนนี้ชี้ชัดว่า แม้ว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้จะตกไป แต่การนิรโทษกรรมยังมีผลอยู่ตลอดไป ดังนั้นความหวังในการคัดค้าน พ.ร.ก. ฉบับนี้จึงต้องจบสิ้นลงตลอดกาล

หากมองประวัติศาสตร์ช่วงพฤษภาทมิฬจะเห็นได้ว่า การปะทะกันระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐนำมาซึ่งเหตุการณ์เผา/ทำลายสถานที่ราชการต่างๆ ซึ่งไม่ชัดเจนว่า เกิดจากผู้ชุมนุมหรือเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามผู้ชุมนุม สิ่งนี้คล้ายคลึงกับเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 แต่การนิรโทษกรรมเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ รัฐบาล พล.อ.สุจินดา เลือกที่จะนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย โดยการออกเป็น พ.ร.ก. เพื่อความรวดเร็ว แม้ว่าจะมีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะคัดค้านการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ แต่ก็ไม่เป็นผล

ผู้เขียนเห็นว่า บทเรียนนี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับ การนิรโทษกรรมในครั้งนี้ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ขณะที่ยังมีอำนาจ แม้ภายหลังจะหมดสิ้นอำนาจ กฎหมายนิรโทษกรรม นั้นก็ยังมีผลบังคับใช้ตลอดไป


====

หมายเหตุ ผู้เขียนมีการแก้ไขเนื้อหาบางส่วน (4 มี.ค.56)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net