Skip to main content
sharethis

5 มี.ค.56 ที่ศาลแพ่ง รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ 19386/2555 ซึ่งเว็บไซต์ประชาไทอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งที่พิพากษายกฟ้องเมื่อ 23 เม.ย.53 กรณีประชาไทเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้เกี่ยวข้อง 5 ราย หลังจากถูก ศอฉ.สั่งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ในช่วงเหตุการณ์ประท้วงทางการเมืองเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.53 โดยศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้รับฟ้องจำเลยที่ 4-5 คือ กระทรวงไอซีทีและกระทรวงการคลัง แต่ไม่อาจฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. และ ศอฉ. ได้

(อ่านสรุปคำฟ้องและคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ในล้อมกรอบด้านล่าง)

หลังอ่านคำพิพากศาลอุทธรณ์ ศาลแพ่งได้นัดชี้สองสถานในวันที่ 27 พ.ค.56 เวลา 9.00 น.

สำหรับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่อ่านในวันนี้นั้น ลงวันที่ 8 ต.ค.55 สรุปสาระสำคัญได้ว่า ตามคำฟ้องโจทก์ยืนยันว่าเว็บไซต์ของโจทก์ไม่ได้นำเสนอข่าวสารที่อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว เจตนาบิดเบือนทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ถ้าข้อเท็จจริงเป็นตามฟ้องโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนได้

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 บัญญัติว่า หน่วยงานรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานรัฐดังกล่าวได้โดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานรัฐแห่งใด ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง 

ดังนั้นโจทก์ย่อมฟ้อง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร จำเลยที่ 4 และ กระทรวงการคลัง จำเลยที่ 5 ให้รับผิดได้ แต่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เจ้าหน้าที่ของรัฐให้รับผิดในมูลละเมิดที่กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันมีการประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว และประชาชนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ของโจทก์ได้ ในประเด็นที่โจทก์ขอให้เพิกถอนคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลจะพิจารณา

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รับฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่อไปตามกฎหมาย 

คำพิพากษาลงชื่อโดย นายนิติ เอื้อจรัสพันธุ์ นายประพันธ์ ทรัพย์แสง นายราเชนทร์ เรืองทวีป

นายธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายโจทก์กล่าวว่า คดีนี้น่าจะเป็นบรรทัดฐานให้พื้นที่ที่ยังมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง เช่น พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะทำให้ประชาชนเห็นว่าสามารถใช้กลไกของศาลยุติธรรมในการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารได้ แม้ในกฎหมายอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง จะเขียนยกเว้นไว้ชัดเจนว่าการใช้อำนาจภายใต้กฎหมายเหล่านี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองก็ตาม

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเกิดขึ้นสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ออกหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) อ้างอำนาจตามมาตรา 9 ข้อ 2 แห่งพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอให้ปิดเว็บไซต์ www.prachatai.com พร้อมกับเว็บไซต์อื่นอีกรวม 36 แห่ง ด้วยเหตุผลว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลต่อความมั่นคง ทำให้ www.prachatai.com ไม่สามารถเข้าได้ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.53 เป็นต้นมา ประชาไทได้แก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนโดเมนเนมเป็นชื่ออื่น เช่น www.prachatai.info, www.prachatai1.info, www.prachatai2.info, www.prchatai3.info รวมถึงใช้ช่องทางสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ก็พบว่ามีการถูกปิดกั้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยไม่ได้รับทราบถึงเอกสารคำสั่งหรือเหตุผลในการปิดกั้นแต่อย่างใด

ช่วงเวลาดังกล่าวมีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง รัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 7 เม.ย.53 จากนั้นเว็บไซต์ประชาไท ในนามมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นจำเลยที่ 1 ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (สุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นจำเลยที่ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จุติ ไกรฤกษ์) เป็นจำเลยที่ 3, กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นจำเลยที่ 4, กระทรวงการคลัง เป็นจำเลยที่ 5 ฐานละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เรียกค่าเสียหายเป็นจำนวน 350,000 บาท เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1455/2553

เว็บไซต์ประชาไทได้ยื่นฟ้องในวันที่ 23 เม.ย.53 รวมทั้งขอไต่สวนฉุกเฉินแต่ศาลไม่อนุญาต และได้มีคำพิพากษายกฟ้องในวันเดียวกันนั้นเอง

ต่อมา วันที่ 21 ธ.ค.53 คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 4 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไป เป็นเหตุให้อำนาจในการปิดกั้นเว็บไซต์หมดไป อย่างไรก็ดี เว็บไซต์ประชาไท ภายใต้โดเมน www.prachatai.com ยังไม่สามารถเข้าชมได้ตามปกติกับผู้ให้บริการทุกราย

 

 

เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลศูนย์ข้อมูลและคดีเสรีภาพ โดยไอลอว์ สรุป คำฟ้องของโจทก์และคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่สั่งยกฟ้องไว้ ดังนี้

 

คำฟ้องสรุปได้ความว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกันดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ข่าวประชาไท http://www.prachatai.com ของโจทก์ โดยปรากฏข้อความว่า This website has been block by ICT ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เว็บไซต์นี้ถูกปิดกั้นการเข้าถึงโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อ สาร” และปรากฏภาพสัญลักษณ์ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำเลยที่ 4 บนเว็บไซต์ของโจทก์แทน โจทก์จึงไม่สามารถนำเสนอข่าวสารเหตุการณ์และบทความต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ข่าวประชาไทได้ ส่งผลให้ให้ประชาชนไม่สามารถใช้บริการข่าวสารเหตุการณ์และบทความต่างๆ จากเว็บไซต์ของโจทก์ได้อีกต่อไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐ ธรรมนูญ แม้จะมีพระราชกำหนดให้อำนาจในการจำกัดสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 45 รับรองไว้แต่รัฐก็ไม่สามารถกระทำการใดๆอันเป็นการจำกัด ลิดรอน หรือละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองคุ้มครอง ไว้ ตามอำเภอใจ โดยไม่มีพยานหลักฐานหรือเหตุผลที่มีน้ำหนักสนับสนุน และไม่อาจจำกัดสิทธิจนกระทบสาระสำคัญแห่งสิทธิคือทำให้สิทธิดังกล่าวหมดไป อย่างสิ้นเชิงได้

โดยที่จำเลยที่ 1, ที่ 2 ,ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ชี้แจงแสดงเหตุผลและพยานหลักฐานใด ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า การประกอบกิจการหรือการกระทำของโจทก์เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีมติให้ปิดกั้นเว็บไซต์ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ลงนามสั่งการให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์อาศัยข้อเท็จจริงใดหรือพฤติการณ์ใดเป็นหลักในการ พิจารณาว่าเว็บไซต์ข่าวประชาไทของโจทก์ มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาที่จะบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสี่มีอำนาจกระทำการดังกล่าวได้ และคณะกรรมการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือจำเลยที่ 2 ก็ไม่เคยแจ้งหรือบอกกล่าวในทางใดๆให้โจทก์ทราบถึงเหตุแห่งการมีคำสั่งให้ ปิดกั้นเว็บไซต์ของโจทก์ หรือเปิดโอกาสให้โจทก์ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งที่โจทก์อยู่ตกในฐานะเสมือน ผู้ถูกกล่าวหา และได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว

การที่คณะกรรมการสถานการณ์ฉุกเฉินมีมติให้ปิดกั้นเว็บไซต์ และจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์จำนวน 36 เว็บไซต์ ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์ข่าวประชาไทของโจทก์ด้วย ทั้งที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข่าวสาร เหตุการณ์ บทความ หรือความคิดเห็น ที่นำเสนอผ่านเว็บไซต์ข่าวประชาไทของโจทก์ มีเรื่องใด ตอนใด ข้อความใด ที่เป็นข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเป็นข้อความที่นำเสนอโดยมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นการใช้วินิจฉัยสั่งการโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำโจทก์ได้รับความเสียหาย

ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1455/2553 โดยผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์เวลา 16.30 น. สรุปใจความได้ว่า

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีเจตนารมณ์ที่จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในการ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรหรือในบางเขตท้องที่ ได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ ดังนั้นการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแก่นายกรัฐมนตรีในการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 7 เมษายน 2553 ย่อมเป็นการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ กำหนดไว้โดยเฉพาะ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 1/2553 ให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถาการณ์ฉุกเฉิน กับมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 2/2553 ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจตามความในมาตรา 9 (2) (3) แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวที่จะใช้มาตรการอันจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุก เฉินได้

แม้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 15 วรรคสี่ ที่ว่าการห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็น ทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของ รัฐ ฯลฯ แต่ก็ได้ให้อำนาจแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ตามมาตรา 45 วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้

ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ดำเนินการตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ในการปิดกั้นเว็บไซต์ของโจทก์ โดยอาศัยอำนาจของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ให้ไว้ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้

พิพากษายกฟ้อง

ลงชื่อ ผู้พิพากษา นางสาวณัชชา น้อยเชื้อเวียง นายชัยวัฒน์ ธนวัฒนตระกูล

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net