Skip to main content
sharethis

นางสาวซูไบดะห์ ดอเลาะ เตรียมรับรางวัล เนื่องในวันสตรีสากล จากจำเลยคดีความมั่นคง สู่แกนนำผู้หญิงภาคประชาสังคม ผู้ประสานความเข้าใจรัฐกับชาวบ้าน

นางสาวซูไบดะห์ ดอเลาะ

 

โครงการผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ แจ้งว่า นางสาวซูไบดะห์ ดอเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามบูรพา (ปอเนาะสะปอม) ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ได้รับรางวัล สตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ปี 2556

โดยนางสาวซูไบดะห์ จะเดินทางไปรับรางวัลจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2556 ณ ห้องรอยัล จูบิลีบอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

โครงการผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ แจ้งด้วยว่า สำหรับประวัติของซูไบดะห์ ดอเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามบูรพา เคยตกเป็นจำเลยในคดีที่โรงเรียนอิสลามบูรพาถูกทางการสั่งปิดเนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุไม่สงบในพื้นที่ เมื่อปี 2550 แต่ได้รับอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนอีกครั้งในปี 2554 โดยคดีของเธอพร้อมอุสตาส (ครูสอนศาสนาอิสลาม) ถูกศาลพิพากษายกฟ้อง

โครงการผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ แจ้งอีกว่า นางสาวซูไบดะห์มีบทบาทในการทำงานด้านสันติภาพ โดยเป็นแกนนำเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ที่มีบทบาทด้านการสื่อสารสาธารณะและการรณรงค์ เพื่อให้สังคมได้เห็นผลกระทบของผู้ที่ตกเป็นจำเลยในกระบวนการยุติธรรม การต่อสู้โดยใช้สันติวิธี และการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

“นางสาวซูไบดะห์ ยังยืนหยัดในการต่อสู้เพื่อให้เด็กๆด้อยโอกาสในพื้นที่ ได้รับการศึกษาทั้งด้านศาสนา และสามัญ ที่จะเป็นทางเลือกใหม่ในชีวิต ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนอิสลามบูรพา ได้กลายเป็นปอเนาะในโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”

โครงการผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ระบุอีกว่า นางสาวซูไบดะห์ ต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ตัวเองและโรงเรียนอิสลามบูรพา ที่ถูกสั่งปิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 โดยคดีอาญาในข้อหา “ใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่น ใช้สถานที่หรือบริเวณโรงเรียนทำการสอนหรือฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนซึ่งลัทธิที่เป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศ หรือขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญหรือทำการอื่นใดขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความไม่สงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่โรงเรียน”

โดยเป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า มีคนร้ายมาหลบซ่อนในโรงเรียน จึงได้ปิดล้อมตรวจค้น จนสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไว้ได้ 6 คน

โครงการผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ระบุต่อไปว่า ระหว่างที่นางสาวซูไบดะห์ ถูกดำเนินคดีและโรงเรียนถูกสั่งปิดเป็นเวลาประมาณ 5 ปี นางสาวซูไบดะห์ได้ต่อสู้เรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ตนเองและโรงเรียนมาโดยตลอด โดยใช้แนวทางสันติวิธี และเคารพในกระบวนการยุติธรรม นับตั้งแต่การทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเชื่อมประสานกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรภาครัฐ และภาคประชาสังคมอื่นๆที่ทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชน การประสานหาทนายความในการต่อสู้คดีให้แก่ตนเองและคณะ

“การที่คดีของซูไบดะห์ได้รับการยกฟ้อง นับว่าเป็นชัยชนะและความสำเร็จของซูไบดะห์ ในฐานะที่ได้ยืนหยัดใช้สันติวิธี และกระบวนการยุติธรรมในการต่อสู้ และเป็นแบบอย่างหรือแรงบันดาลใจของคนที่ยืนหยัดต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรม โดยใช้แนวทางสันติวิธี และกระบวนการยุติธรรม เพราะการยืนยันการใช้แนวทางดังกล่าว ทำให้เธอต้องทำหน้าที่เป็นคนกลางในการสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบรรดาครู นักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง ระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายโรงเรียนได้มาก ในภาวะที่ทั้งสองฝ่ายมีความหวาดระแวงต่อกัน”

โครงการผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ระบุอีกว่า การสื่อสารเพื่อสะท้อนเรื่องราวการเรียกร้องความเป็นธรรมโดยใช้สันติวิธี ความอดทนอดกลั้น กระบวนการยุติธรรม การเป็นคนกลางสร้างความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับทางโรงเรียน โดยใช้สื่อประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเวทีภาคประชาสังคม สื่อวิทยุ รายการเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ 17 แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รายการโทรทัศน์เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ ทางช่อง 9 ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2555 รวมทั้งร่วมเขียนหนังสือ “เสียงของความหวัง เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว ซึ่งเป็นการสื่อสารกับคนในวงกว้าง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ กำลังใจและแบบอย่างของการทำงานเพื่อสันติภาพของผู้หญิง ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากล ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคม ตระหนักถึงความสำคัญของวันสตรีสากล สนับสนุน และและมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากลให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้สตรีและบุรุษมีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกด้าน และทุกระดับในสังคม ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ และเสริมสร้างเจตคติของสังคมในการคำนึงถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ ส่งเสริมศักยภาพและพิทักษ์คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสตรี และส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย

กิจกรรม “วันสตรีสากล” ประจำปี 2556 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “หญิงชายรวมพลัง สู่ความเสมอภาคและสันติสุข” เนื่องจากเห็นว่าความสำคัญในพลังของหญิงและชาย ซึ่งไม่ว่าจะเพศใดต่างก็มีพลังที่สร้างสรรค์ที่แฝงอยู่ในตน และหากนำพลังสร้างสรรค์นั้นมารวมกัน ก็จะนำความเสมอภาค ความสุขและสันติสุขมาสู่สังคมได้ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับพลังของสตรี ในการขับเคลื่อนประเทศไทย

สำหรับกรอบ หลักเกณฑ์การคัดเลือกสตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง ประกอบด้วย 1.เป็นบุคคลที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมของตนเอง ตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2.เป็นบุคคลที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยตนเอง และได้รับสิทธิโดยชอบ เป็นที่ยอมรับ เป็นตัวอย่างแก่สตรีไทยทั่วไป 3.การปกป้องสิทธิของตนเองเป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรม และไม่อยู่ในระหว่างดำเนินการในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม 4.เหตุการณ์การปกป้องสิทธิของตนเอง เกิดขึ้นแล้วไม่นานกว่า 3 ปี 5.การปกป้องสิทธิของตนเองสามารถนำไปใช้เป็นบทเรียนหรือแนวทางสำหรับการปกป้องสิทธิของตนเองแก่บุคคลอื่นในสังคม และ 6.ไม่เคยได้รับรางวัลประเภทนี้ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาก่อน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net